Skip to main content
sharethis

เปิดผลสำรวจความเห็นจากประชาชนกว่า 6,000 คน ประมวลออกมากลายเป็นข้อเสนอ 7 ข้อต่อพรรคการเมืองให้ปรับนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ มีตั้งแต่ให้ยกระดับการพูดคุยสันติภาพ ปกป้องพลเมืองจากความรุนแรงและการละเมิดสิทธิ กระจายอำนาจ เปิดพื้นที่ให้กับการถกเถียงทางการเมือง และอื่นๆ ชี้ผู้ให้ความเห็นมองว่าปัญหาใหญ่สุดในพื้นที่คือเรื่องยาเสพติด ขณะที่องค์กรสิทธิฯ ชู 4 ข้อ แก้ปัญหา ใช้หลักการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านนำทาง

แฟ้มภาพ

28 ก.พ.2562 วันนี้ที่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่าย Peace Survey 19 องค์กร ร่วมกับศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม และ ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ จัดเวทีนำเสนอ 7 ข้อเสนอจากประชาชนสู่นโยบายชายแดนใต้หลังเลือกตั้ง ปี 62 โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองจาก 9 พรรคเข้าร่วมรับฟังและนำเสนอนโยบายที่แต่ละพรรคมีต่อสถานการณ์ความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยข้อเสนอทั้ง 7 ข้อ ประกอบด้วย 1. ยกระดับให้การพูดคุยสันติภาพเป็นแกนกลางในการแก้ไขความ
ขัดแย้งทางการเมือง 2. เร่งปกป้องพลเรือนจากความรุนแรงและการละเมิดสิทธิ์ 3. ทบทวนประสิทธิผลการแก้ปัญหายาเสพติดและเร่งตั้งกลไกพิสูจน์ข้อเท็จจริงเหตุรุนแรง 4. ตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งบประมาณด้านการพัฒนาในพื้นที่

5. ออกแบบระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและสะท้อนวิถีอัตลักษณ์วัฒนธรรม 6. กระจายอำนาจมากขึ้นด้วยโครงสร้างการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่ และ 7. เปิดพื้นที่ให้คนได้ถกเถียงเรื่องอ่อนไหวทางการเมืองโดยไม่ถูกคุกคามจากทุกฝ่าย

Patani NOTES รายงานด้วยว่า ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ว่านี้ เป็นผลมาจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต่อกระบวนการสันติภาพ (PeaceSurvey) จำนวน 4 ครั้ง โดยเริ่มต้นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จนถึงครั้งล่าสุดในเดือนกันยายน 2561 รายงานระบุไว้ว่าการสำรวจทั้งหมดมาจากตัวอย่างหรือผู้ให้ความเห็นรวมทั้งสิ้นจำนวน 6,321 คน มาจากทั้งหมด 622 หมู่บ้าน ในวิธีการที่ผู้ดำเนินการระบุว่า มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) ที่ลงไปจนถึงระดับครัวเรือน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนทุกคนและทุกกลุ่มมีโอกาสถูกเลือกในการแสดงความเห็นอย่างเท่าเทียมกัน

สำหรับการสำรวจนั้นครอบคลุมเรื่องของทัศนคติต่อสภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่ สาเหตุของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ความพยายามในการแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการสันติภาพ และข้อเสนอแนะต่อแนวทางแก้ปัญหาในอนาคต

ผลของการสำรวจความเห็น ได้ข้อมูลโดยสรุปว่า ที่ผ่านมามีประชาชนเพียง 1 ใน 4 (ร้อยละ 25.6) ที่รู้สึกว่าสถานการณ์ดีขึ้น แต่ประชาชนที่เหลืออีกราว 1 ใน 5 (ร้อยละ 21.7) มองว่าสถานการณ์แย่ลง และมีอีกเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 42.6) ที่มองว่าเหมือนเดิม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ในความรู้สึกของผู้ถูกสอบถามนั้น มาตรการแก้ปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้ที่ดำเนินการมายังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในพื้นที่ให้ดีขึ้นได้ ทั้งหมดนี้เน้นย้ำให้เห็นว่ามีความจำเป็นที่พรรคการเมืองควรจะปรับนโยบายที่มีต่อสามจังหวัดภาคใต้ ในส่วนหนึ่งของการประมวลความเห็น รายงานของผู้ดำเนินการสำรวจระบุว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่ให้ความเห็นคือ 65.4% ไม่ว่าจะมาจากศาสนาใดล้วนสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพ

สามารถดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ที่ https://deepsouthwatch.org/th/node/11910

องค์กรสิทธิฯชู 4 ข้อเสนอ

ขณะที่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากฎหมายพิเศษ ในนามองค์กรสิทธิมนุษยชน เผยแพร่ 4 ข้อเสนอ ต่อนโยบาย กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ต่อพรรคการเมือง ซึ่งประกอบด้วย 1. นำพาจังหวัดชายแดนใต้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุดโดยมีเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ นโยบายและมาตรการที่ชัดเจน 2. ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม 3. นำหลักการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice – TJ) มาใช้ และ 4. การตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเยียวยา

รายละเอียดมีดังนี้ : 

ข้อเสนอองค์กรสิทธิมนุษยชน ต่อนโยบาย กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ต่อพรรคการเมือง

จากการทำงานส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) มากว่า 10 ปี มูลนิธิผสานวัฒนธรรม  กลุ่มด้วยใจ  เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากฎหมายพิเศษ พบว่า

  • นับแต่เหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส ในปี 2547 เป็นต้นมา ประชาชนทั้งชาวมุสลิมและชาวพุทธจำนวนมาก ได้ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความรุนแรงตลอดมา ทั้งจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐบางคนและกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ โดยไม่เลือกอายุ เพศ ชาติพันธุ์ หรือศาสนา
  • รัฐมีหน้าที่ในการยอมรับนับถือ เคารพ ปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน แต่ปรากฎว่ารัฐบาลที่ผ่านมาและกองทัพ ยังไม่เข้าใจบทบาทของตนในด้านสิทธิมนุษยชน กระทั่งในบางกรณีกลับมีนโยบายและการปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง
  • สันติภาพและสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก ที่ใดไม่มีความเป็นธรรม มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่นั้นย่อมปราศจากสันติภาพ ที่ใดต้องการสันติภาพ ที่นั้นต้องมีความเป็นธรรมและเคารพสิทธิมนุษยชน
  • เหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความรุนแรง มักเป็นประชาชนในกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธหรือมุสลิม โดยเฉพาะหญิงและเด็ก ประชาชนกลุ่มนี้ ถูกกดทับโดยสถานทางสังคม วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อบางประการ และโครงสร้างหรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มักตกเป็นเบี้ยล่างในสังคม จึงขาดศักยภาพในการปกป้องคุ้มครองตนเอง หรือเรียกร้องสิทธิและแสวงความเป็นธรรม
  • การประกาศกฎอัยการศึกและสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ ภายใต้ กอ.รมน.ภาค 4 ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมคุมขัง  ผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบได้อย่างกว้างขวาง โดยขาดการตรวจสอบถ่วงดุลตามหลักนิติธรรมที่กระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะศาลไม่สามารถปกป้อง  คุ้มครอง สิทธิมนุษยชนอย่างได้ผล หรือในบางกรณีองค์กรหรือเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมกลับเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง เช่น การซ้อมทรมาน ระหว่างการจับกุมและการควบคุมตัว  การห้ามเยี่ยม ห้ามพบและปรึกษาทนายความ การใช้คำรับสารภาพที่ได้จากการซักถามผู้ที่ถูกคุมขังตามกฎหมายพิเศษ มาใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี การออกหมายจับหรือหมาย ฉฉ. โดยปราศจากพยานอันเพียงพอ การตั้งข้อหาหนักเกินกว่าพฤติกรรมของการกระทำผิด และการห้ามประกันตัวในระหว่างการพิจารณา ทั้งในศาลชั้นต้น อุทธรณ์ และฎีกา การอายัดตัวซ้ำซาก และการเลือกปฏิบัติที่และการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่กระทำต่อชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู รวมทั้งความล้มเหลวในการฟื้นฟูเยียวยาความผิดพลาดที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐบางคน เป็นต้น ได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนมุสลิมอย่างกว้างขวาง ทำให้บางส่วนขาดความไว้วางใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เคียดแค้นและเอาใจออกห่างจากรัฐในที่สุด
  • นอกจากนี้สิทธิมนุษยชนของชาวพุทธ ซึ่งถือเป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ จชต. ยังไม่ได้รับการเคารพ ปกป้องอย่างได้ผล ทั้งสิทธิในการดำรงรักษาวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของกลุ่มตน สิทธิในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากมีการก่อความรุนแรงต่อกลุ่มชาวพุทธอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการโจมตีพลเรือนชาวพุทธโดยกองกำลังติดของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน โดยเหยื่อของความรุนแรงดังกล่าวยังไม่สามารถเข้าถึงการฟื้นฟูเยียวยาอย่างได้ผล และกระบวนการยุติธรรมล้มเหลวในการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด  ความรุนแรงที่มีต่อชาวพุทธอย่างต่อเนื่องยืดเยื้อยาวนานโดยที่รัฐไม่สามารถแก้ไขอย่างได้ผล เป็นเงื่อนไขให้เกิดความแตกแยกระหว่างชาวพุทธและมุสลิม บางส่วนเกิดความามรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจและต้องการที่จะแก้แค้นเอาคืน  อันจะมีผลทำให้สถานการณ์ขัดแย้งรุนแรงมากยิ่งขึ้น และอาจบานปลายเป็นความขัดแย้งหรือสงครามทางศาสนา ทำให้ควาพยายามในการสร้างสันติภาพจากการร่วมไม้ร่วมมือกันในกลุ่มประชากรต่างๆ ในช่วง 15 ปี ที่ผ่านมายังไม่บรรลุผลเท่าที่ควร

องค์กรสิทธิมนุษยชนฯยังยืนยันว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นได้จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน ทั้งกระบวนการยุติธรรมจะต้องมีบทบาทในการให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย มีตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างได้ผล เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติ จึงได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอด้านนโยบาย กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ดีขึ้น เพื่อเสนอต่อพรรคการเมือง ซึ่งจะมีบทบาทต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งรุนแรงใน จชต. ไม่มากก็น้อย ดังนี้

1. นำพา จชต. กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด โดยมีเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ นโยบายและมาตรการที่ชัดเจน รวมทั้ง

 1.1 ใช้นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ยกเลิกนโยบาย “ทหารนำการเมือง” ซึ่งสท้อนให้เห็นถึงการที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คชส. ภายหลังการรัฐประหาร ได้ใช้อำนาจรัฐประหารให้ กอ.รมน. ภาค 4 เป็นหน่วยงานนำ บังคับบัญชาและกำกับดูแลหน่วยงานราชการทุกแห่งใน จชต. รวมทั้ง ศอ.บต. ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติที่ตราโดยรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง หน่วยงานด้านการยุติธรรม พลเรือนต่างๆรวมทั้งหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงโดยตรง การประกาศใช้กฎหมายพิเศษ ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน    และพ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฯ การเน้นการใช้กำลังในการปราบปรามผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับความไม่สงบ มีผลทำให้เกิดช่องว่าง ความแปลกแยกห่างเหินระหว่างประชาชนกับหน่วยงานราชการ

การใช้นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” จะนำไปสู่การปรับปรุงการใช้กฎหมาย โครงสร้างการบริหาราชการแผ่นดิน การปฏิบัติและมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” อย่างเป็นรูปธรรมและมีขั้นตอนที่ชัดเจน

ทำให้ ศอบต. มีความเป็นอิสระ มีความเป็นประชาธิปไตยและยกระดับให้เป็นหน่วยงานที่มีผู้นำสูงสุดมาจากการเลือกตั้งทางตรงเพื่อกระจายอำนาจสู่พื้นที่ ยกเลิกการนำ ศอ.บต. ไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กอ.รมน. 4 โดยให้ กอ.รมน. 4 กำกับดูแลเฉพาะหน่วยกำลัง เพื่อรักษาความสงบ และให้ กอ.รมน. ปฏิบัติตามนโยบายเกี่ยวกับจชต. ที่ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ส่งผ่าน ศอ.บต. เท่านั้น

ปรับปรุงคณะเจรจา โดยมีพลเรือนเป็นหัวหน้าคณะ เปิดการเจรจาสันติภาพกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอย่างจริงจังโดยมีตัวแทนภาคประชาสังคมที่เป็นอิสระในการทำงานรวมทั้งชาวพุทธ และมุสลิมกลุ่มต่างๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพอย่างแข็งขัน

ยกเลิกกฎอัยการศึกและสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเริ่มจากการจำกัดและตรวจสอบการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกและสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเข้มข้น และดำเนินการตามขั้นตอนที่ชัดเจนเพื่อยกเลิกกฎอัยการศึกและสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเร็วในที่สุด

1.5 เคารพยึดถือหลักสิทธิมนุษยชน ขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ศาสนา ที่เกิดกับชนทุกกลุ่ม เปิดพื้นที่สำหรับเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพทางวิชาการ เพื่อให้ประชาชนที่มีข้อมูล ทัศนะ ความเชื่อ และมีข้อเสนอแนะต่างๆกัน สามารถแสดงออกได้อย่างสร้างสรรค์ โดยไม่สร้างความเกลียดชังทางเชื้อชาติ ศาสนา หรือยุยงให้เกิดความรุนแรง

หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐ จะต้องยุติการสร้างความแตกแตก โดยไม่เข้าไปมีส่วนร่วม สนับสนุน โฆษณา ชี้นำ ทั้งในทางตรงและทางอ้อมในความขัดแย้งแตกแยกในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาวพุทธและชาวมุสลิม รวมทั้งการฝึกอาวุธให้ประชาชนและปฏิบัติการด้านการปล่อยข่าวเท็จ และการป้ายสี สร้างมลทิน (Information Operation -IO) ที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่บางคน จากหน่วยงานด้านความมั่นคงบางแห่ง

ยุติการข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล นักวิชาการ หรือองค์การภาคประชาสังคมที่ติดตามสถานการณ์ สอดส่องการทำงานของหน่วยงานรัฐและการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายต่างๆ

2. ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม

 2.1 เคารพยึดถือปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมและหลักนิติธรรม เพื่อให้ประชาชนทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านความยุติธรรมได้ ทั้งในทางแพ่ง อาญา และปกครอง ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษหรือกฎหมายอื่นใด เช่น สิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวในการที่จะได้รับการเยี่ยมเยียนจากญาติพี่น้อง ปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัว ไม่ถูกทรมาน บังคับขู่เข็ญ  สิทธิของบุคคลที่จะไม่ถูกตรวจดีเอ็นเอ โดยไม่เต็มใจ หรือกระทำการด้วยประการใดใด  ในลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรีของความ

เป็นมนุษย์ ทั้งให้ศาลสามารถตรวจสอบการกระทำของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลตามหลักนิติธรรม

2.2 หลีกเลี่ยงการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษในขณะที่ยังไม่มีการยกเลิก ทั้งในเรื่องการตั้งด่าน ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบ และยกเลิก การใช้ “กรรมวิธี” ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษเสี่ยงต่อการถูกทรมาน โดยประชาชนที่เป็นชาวมุสลิมมักตกเป็นเป้าหมายของการปฏิบัติงานดังกล่าวของเจ้าหน้าที่

2.3  ยุติการดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม เอาเปรียบผู้ต้องหา ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม หรือ Fair Trial ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และมาตรฐานระหว่างประเทศเช่น ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ จับและคุมขังผู้ต้องสงสัยไว้ก่อน แล้วหาพยานหลักฐานทีหลัง ใช้คำซัดทอดของผู้ถูกคุมขังตามกฎหมายพิเศษ ใช้เป็นพยานหลักฐานในการตัดสินลงโทษจำเลย สืบพยานล่วงหน้าโดยไม่มีเหตุอันสมควรเพื่อปรักปรำผู้ต้องหาและตัดโอกาสผู้ต้องหาในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ นำพยานหลักฐาน ทั้งพยานวัตถุและบันทึกถ้อยคำของบุคคล ที่เจ้าหน้าที่ได้มาจากการปิดล้อม ตรวจค้น ยึด จับกุม คุมขัง หรือซักถาม ตาม “กรรมวิธี” คลิป ทั้งที่ตัดตอนและบันทึกหรือจัดทำขึ้นโดยไม่โปร่งใส ภายใต้การใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ มาใช้ในการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา)  อันเป็นกระบวนการได้มา ส่งต่อ เก็บรักษา ตรวจสอบ และเสนอพยานหลักฐานต่อศาล ที่ไม่สอดคล้องกับหลักของการดำเนินคดีที่เป็นธรรม

2.3 ยกเลิกการออกหมายจับและหมายขังซ้ำซ้อน ทั้งการออกหมายจับและหมายขังตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ (หมาย ฉฉ.)  ที่ศาลได้ออกให้แก่เจ้าหน้าที่ แม้บุคคลตามหมายต้องหมายจับตามป.วิอาญาอยู่แล้ว ซึ่งนำไปสู่การเอาตัวผู้ต้องหาที่ต้องหมายจับตามป.วิอาญา ไปคุมขังไว้ตามหมาย ฉฉ. ทำให้ผู้ต้องหาในคดีอาญาถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นสิทธิในการพบและปรึกษาทนายความ สิทธิในการที่จะให้การหรือไม่ให้การอย่างใดก็ได้เป็นต้น  หรือการออกหมายจับตาม ป.วิอาญาที่ศาลออกให้แก่เจ้าหน้าที่อีกคดีหนึ่ง แม้บุคคลตามหมายจับต้องหมายจับ    ตาม ป.วิอาญาในคดีอื่นอยู่แล้ว ทำให้พนักงานสอบสวนสามารถอายัดตัวผู้ต้องหาหลังจากศาลมีคำพิพากษาคดีหนึ่งแล้ว โดยอ้างว่ายังมีหมายจับอีกคดีหนึ่งเป็นการรอายัดตัวซ้ำซาก ทำให้ผู้ต้องหาถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีต่างๆต่อๆไปไม่มีสิ้นสุด

2.4 ให้ศาลปกครองมีอำนาจที่จะพิจารณาคดีปกครองที่เกิดจากการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษ และคดีละเมิดทางปกครอง ก่อนที่คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลจะวินิจฉัยให้ศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาคดีละเมิดที่เจ้าหน้าที่กระทำต่อพลเมืองใน จชต.  ผู้เสียหายมีความรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมและการเยียวยาจากศาลปกครองมากกว่า เนื่องจากแนวคิดและการไต่สวนในระบบการพิจารณาคดีของศาลปกครองสามารถตรวจสอบการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ดีกว่า ดังนั้นศาลปกครองควรจะมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีละเมิดทางปกครองเช่นเดิม และคดีที่เกี่ยวกับการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษด้วย

3. นำหลักการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice – TJ) มาใช้

โดยให้นำมาใช้ทั้งกับการก่ออาชญากรรมร้ายแรง ทั้งจากฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบและเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อลดความขัดแย้ง เกลียดชังโดยประสานกับหลักการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restroative Justice -RJ) โดยจะต้องยึดหลักการดังนี้

การตรวจสอบค้นหาความจริง จากคณะกรรมการอิสระที่เป็นอิสระ เช่นนักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และภาคประชาสังคมที่ได้รับความเคารพเชื่อถือ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเหยื่อของความรุนแรงและสังคมรับทราบความจริง เข้าใจปัญหาและรากเหง้าของความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในแง่มุมต่างๆ อย่างเป็นภาวะวิสัย

(2) การชดเชย ฟื้นฟู แก้ไข เยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ทั้งชาวมุสลิมและชาวพุทธ ไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใด เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขเช่นเดิม รวมทั้งการเยียวยาทางด้านจิตใจ ซึ่งที่ผ่านมาบุคคลดังกล่าวยังไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐเท่าที่ควร ความคับแค้นใจที่ยังคงดำรงอยู่ไม่เป็นดีอย่างยิ่งต่อกระบวนการสันติภาพและการสร้างความปรองดองใน จชต.

(3) การนำผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ลงโทษผู้กระทำผิด โดยเฉพาะผู้มีอำนาจไม่ว่าจะฝ่ายใด ที่สั่งการ สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจในการก่ออาชญากรรมร้ายแรง โดยอาจนำหลักการของความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice-RJ) มาใช้สำหรับการกระทำผิดของผู้ใต้บังคับบัญชาของทั้งสองฝ่ายด้วย

(4) การปฏิรูปเชิงสถาบัน ทั้งในทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ จชต. โดยกระบวนการของการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่สันติสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืน บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

4. การตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเยียวยา

 พัฒนากลไกในการรับเรื่องร้องเรียน โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมที่สามารถเข้าถึงชุมชนและผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและได้รับผลกระทบมากกว่ากลไกของรัฐ โดยรัฐจะต้องประกันความปลอดภัยและความเป็นธรรม เพื่อให้ผู้ร้องเรียนมีความมั่นใจและกล้าร้องเรียน การร้องเรียนเป็นการเปิดเผยความจริงของความขัดแย้งและปัญหาต่อรัฐต่อสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการแก้ไขปัญหาและกระบวนการสันติภาพ

4.2 พัฒนากลไกการร้องเรียนและตรวจสอบกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพื่อป้องปราม ค้นหาความจริงและให้มีการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างได้ผล ทั้งการตรวจสอบโดยกลไกในท้องถิ่น กลไกประเทศและกลไกระหว่างประเทศ ที่เป็นอิสระ โดยกลไกเหล่านี้ต้องสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงต่างๆ และข้อเสนอแนะได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานของรัฐและรัฐบาล

4.3 การเยียวยาเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งมิใช่เพียงการชดใช้เป็นตัวเงินเท่านั้น แต่รวมถึงการฟื้นฟูเยียวยาด้านจิตใจ การทำให้กลับสู่สถานะเดิมเท่าที่จะทำได้ การช่วยเหลือดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเหยื่อและครอบครัว ฯลฯ การเยียวยาเป็นการบรรเทาความขัดแย้งที่ได้ผลระดับหนึ่ง ในขณะที่กระบวนการสันติภาพยังไม่ได้รับความสำเร็จ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net