ตร.มาเลเซียอ้าง จับ-ส่งกลับคนอียิปต์เอี่ยวก่อการร้าย ภรรยาตามหาข้อมูลถึงไทย

ตำรวจมาเลเซียรายงานปฏิบัติการกวาดล้างเครือข่ายก่อการร้ายรัฐอิสลามและอัลเคดาในประเทศ เริ่มปฏิบัติการในซาราวักตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ตรวจเจอและส่งกลับไป ด้านภรรยาผู้ถูกส่งกลับเดินทางมาหาข้อมูลต่อที่ไทยเนื่องจากเป็นประเทศเปลี่ยนเครื่อง ยืนยัน สามีไม่ได้ทำอะไรผิด ข้องใจเหตุใดไม่ให้โอกาสสามีสู้คดี

ภาพการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยในแคว้นซาราวัก (ที่มา: สำนักงานตำรวจมาเลเซีย)

11 มี.ค. 2562 จากกรณีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของมาเลเซียกักตัวชาวอียิปต์สี่คนภายใต้ปฏิบัติการของหน่วยข่าวกรองของตำรวจมาเลเซียชื่อว่า สเปเชียล แบรนช์ (Special Branch) และหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และส่งตัวกลับไปยังประเทศอียิปต์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (5 ก.พ. 2562) โดยใช้ไทยเป็นจุดเปลี่ยนเครื่องไปยังกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ที่ซึ่งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและภรรยาของผู้ถูกส่งกลับกังวลว่าพวกเขาอาจถูกทรมานหรือถูกสังหารทิ้ง

เมื่อวานนี้ (10 มี.ค.) สื่อฟรีมาเลเซียทูเดย์ รายงานการแถลงข่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ปฏิบัติการเกิดขึ้นในแคว้นซาราวักเพื่อค้นหาและจับกุมตัวผู้มีส่วนเกี่วข้องกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่มีฐานที่มั่นในทวีปแอฟริกา โดยปฏิบัติการดังกล่าวมีขึ้นในวันที่ 2-9 ก.พ. ที่ผ่านมา และสามารถจับกุมคนได้เก้าคน รวมถึงชาวอียิปต์ห้าคนที่ถูกส่งกลับแล้วด้วยเมื่อ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา 

ฟูซี ฮารัน สารวัตรตำรวจกล่าวระหว่างแถลงข่าวว่าผู้ต้องสงสัยสองคนที่เป็นชาวตูนีเซียและชาวอียิปต์นั้นเป็นที่เชื่อได้ว่าเป็นนักรบของกลุ่มอันซาร์ อัล ชารีอะห์ อัล ตูนีเซีย เครือข่ายของกลุ่มก่อการร้ายอัล เคดาที่ปฏิบัติการในแอฟริกาเหนือ ทั้งสองคนเดินทางมายังมาเลเซียผ่านความช่วยเหลือของชาวมาเลเซียสองคนและชาวอียิปต์ห้าคนที่ช่วยเหลือเรื่องที่พัก ค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่นๆ

“การสืบสวนจากหน่วยต่อต้านการก่อการร้าย สเปเชียล แบรนช์ พบว่าผู้ก่อการร้ายต่างชาติพยายามทำให้มาเลเซียเป็น ‘ที่หลบภัย’ รวมถึงเป็นจุดเปลี่ยนเครื่องและชุมทางการขนส่ง” ฟูซีกล่าว และยังเพิ่มเติมด้วยว่าผู้ต้องสงสัยเหล่านี้มักใช้เอกสารเดินทางปลอม เปิดธุรกิจหรือแต่งงานกับชาวมาเลเซียเพื่ออยู่อาศัยในประเทศได้แบบไม่ถูกตรวจพบ ทั้งนี้ ผู้ต้องสงสัยที่เป็นชาวต่างชาติจำนวนเจ็ดคนถูกส่งกลับประเทศต้นทางไปเมื่อ 5 มี.ค. และถูกขึ้นบัญชีดำไม่ให้เข้ามาเลเซียตลอดชีวิต

ด้านสื่อเดอะเสตรตไทม์ รายงานว่า เครือข่ายผู้ก่อการร้ายให้ความสนใจมายังมาเลเซียหลังจากการล่มสลายของกลุ่มรัฐอิสลามหรือไอซิส (ISIS) ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยคนกลุ่มนี้จะเดินทางเข้าประเทศในฐานะนักเรียน นักศึกษาหรืออาจารย์ โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตำรวจมาเลเซียได้จับกุมนักรบจากต่างชาติที่ใช้มาเลเซีย รวมถึงแคว้นซาบาห์เป็นจุดส่งต่อตัวจากตะวันออกกลางไปยังตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นที่มั่นของนักรบหลายกลุ่ม และบางกลุ่มก็เป็นเครือข่ายของไอซิสด้วย

ภรรยาผู้ถูกส่งกลับข้องใจ เหตุกุมเร่งรัด ไม่ให้โอกาสสู้คดี หวั่นสามีถูกฆ่า

พฤติกรรมการใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายของมาเลเซียสร้างความกังขาต่อกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มเรื่องการตีความภัยคุกคามที่กว้างจนเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐลุแก่อำนาจจนไปละเมิดสิทธิของประชาชน

ด้านอาห์เหม็ด อัซซัม รักษาการเลขาธิการสหภาพเอ็นจีโอโลกอิสลาม (Union of Non-Governmental Organizations in the Islamic World) กล่าวหาทางการมาเลเซียเรื่องความพยายามปกปิดการส่งตัวกลับ โดยบอกว่าเป็นพฤติการณ์ที่ “น่าอับอาย” อัซซัมอ้างว่าตำรวจมาเลเซียและหน่วยข่าวกรองอียิปต์อาจจะร่วมกันวางแผนส่งผู้ถูกกักตัวทั้งสี่ข้ามแดนโดยที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลไม่รับรู้

อาห์เหม็ดกล่าวกับอัลจาซีราว่า กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายของมาเลเซียให้อำนาจเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและตำรวจดำเนินการโดยไม่ต้องแจ้งให้รัฐบาลทราบ ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ของมาเลเซียก็กล่าวกับอัลจาซีราว่าไม่ทราบเรื่องการกักตัวดังกล่าว

ประชาไทได้สัมภาษณ์โจดี้ แฮร์ริส (Jodi Harris) หญิงชาวออสเตรเลียผู้เป็นภรรยาของอับดุลลาห์ มาห์มูด ฮิชัม มอสตาฟา โมฮาเหม็ด (จากนี้เรียกอับดุลลาห์) ที่เดินทางจากมาเลเซียมาที่ประเทศไทยตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้วเพื่อหาข้อมูล หลักฐานและความคืบหน้าเกี่ยวกับชะตากรรมของสามีเธอ โดยโจดี้กล่าวว่า สามีของเธอถูกจับกุมตัวไปเมื่อ 2 ก.พ. 2562 หลังเจ้าหน้าที่ได้บุกเข้ามาในที่พักอาศัยที่เป็นคอนโดมิเนียมที่เป็นชุมชนชาวอียิปต์และคนพูดภาษาอารบิกอยู่กันจำนวนมาก

(เสื้อเหลือง) อับดุลลาห์ สามีของโจดี้ขณะถูกจับกุมตัว (ที่มา: สำนักงานตำรวจมาเลเซีย)

เธอแสดงเอกสารใบแจ้งจับกุมของทางตำรวจมาเลเซียที่ระบุว่าจับตัวไปด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง อัลดุลลาห์ถูกนำตัวไปคุมขังและสอบสวน ระหว่างถูกคุมขังเธอพอได้ติดต่อกับสามีอยู่บ้างซึ่งเขาบอกว่าคงไม่คิดว่าจะมีการส่งตัวกลับ แต่ในช่วงวันที่ 25-26 ก.พ. ซึ่งเป็นวันท้ายๆ ที่ได้พบปะกับอับดุลลาห์ เธอพบว่าเขามีสีหน้าผิดหวังและซูบผอมลง อับดุลลาห์บอกว่าความผิดที่เจอนั้นเกี่ยวข้องกับอดีตของเขา จากนั้นในวันที่ 4-5 มี.ค. ก็ได้รับแจ้งมาว่ามีการส่งตัวกลับแล้ว นักกฎหมายที่เธอแต่งตั้งมาให้ติดตามเรื่องก็ถูกกีดกันออกจากการหาข้อมูล ทั้งนี้ เธอเชื่อว่าสามีรวมทั้งคนอื่นๆ ที่ถูกส่งตัวกลับอาจถูกทำร้ายอย่างหนักหรือไม่ก็ถูกทำให้เสียชีวิต ปัจจุบันเธอยังไม่ทราบชะตากรรมของอับดุลลาห์และคนอื่นๆ

ใบจับกุมเป็นหลักฐานทางการชิ้นเดียวที่โจดี้มีติดตัวในตอนนี้ เอกสารระบุว่าอับดุลลาห์ถูกจับกุมด้วยข้อหาความมั่นคง

โจดี้เล่าว่า ในอดีต อับดุลลาห์เคยถูกทางการอียิปต์จับกุมด้วยข้ออ้างว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่เคยชนะเลือกตั้งหลังอาหรับสปริง ข้อหาดังกล่าวถูกนำมาใช้กับคนอีกนับพันคนหลังจากอับเดล ฟัตตอห์ อัลซิซีรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้งเมื่อปี 2556 แล้วขึ้นเป็นประธานาธิบดีเอง

หลังยึดอำนาจ รัฐบาลอัลซิซีจับกุมผู้ที่แสดงความไม่พอใจหลักพันคน ในจำนวนนั้นรวมไปถึงนักกิจกรรม สื่อมวลชน และผู้สนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม อียิปต์ยังเคยถูกกล่าวหาว่ามีการกักขังโดยพลการ การทำให้บุคคลสูญหาย การซ้อมทรมาน และยังคอยปิดปากสื่ออิสระหลายสำนักด้วย

องค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ ประเมินว่าอียิปต์คุมขังนักกิจกรรมการเมืองมากถึง 60,000 คน แต่ในการสัมภาษณ์กับอัลจาซีราเมื่อปลายปี 2561 ประธานาธิบดีอัลซิซีปฏิเสธเรื่องการคุมขังนักโทษการเมือง

โจดี้เล่าต่อไปว่า การเดินในถนนในเมืองของอียิปต์จะมีทางที่รถหุ้มเกราะใช้เป็นเส้นทางสัญจร การเดินข้ามถนนบริเวณนั้นจะต้องได้รับการประทับตราอนุญาต ซึ่งวันหนึ่งสามีเธอเดินข้ามถนนเส้นนั้นและถูกจับกุมตัว การจับกุมตัวตามมาด้วยการฟ้องและตัดสินโทษจำคุกสองปีเมื่อปี 2557 ซึ่งสามีเธอเล่าว่าถูกซ้อมทรมานในนั้นด้วย

หลังออกจากคุก อับดุลลาห์ไปหางานทำที่ต่างประเทศจนมาลงเอยที่ประเทศมาเลเซียที่ซึ่งเขาพบโอกาสทางธุรกิจและโจดี้ก่อนที่จะแต่งงานกัน อับดุลลาห์ขอวีซ่ามาเรียนต่อและทำงานในเวลาเดียวกัน ก่อนจะถูกจับกุมเมื่อ 2 ก.พ. พร้อมกับอับเดลรามัน อับเดลลาซิซ อาเหม็ด อับเดลลาซิซ มอสตาฟา (ชายเสื้อสีขาวภาพด้านบนสุด) ครูสอนศาสนาที่มีลูกห้าคนที่โจดี้ก็รู้จัก

โจดี้ระบุว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีข่าวในชุมชนชาวอียิปต์ว่ามีการล่าแม่มดเกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่มาเลเซีย โดยพยายามสืบสาวหาคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือติดต่อกับคนสองคนที่เป็นชาวตูนีเซียและลูกครึ่งอียิปต์ ซึ่งตำรวจพบว่าสามีเธอเป็นหนึ่งในนั้น กระนั้นเธอยังไม่ปักใจเชื่อเรื่องความเกี่ยวข้องกับผู้ก่อการร้าย เธอกล่าวว่าอับดุลลาห์และคนอื่นที่เธอรู้จักภายในชุมชนคนอียิปต์นั้นเป็นคนที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือต่อคนที่มาร้องขอ

ในประเด็นเรื่องเอกสารเดินทางปลอมนั้น เธอระบุว่าในพาสปอร์ตของสามีเธอมีตราประทับเข้าประเทศ และเมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาเธอเพิ่งพาสามีไปต่ออายุวีซ่า และได้รับการรับรองไปแล้วแต่ยังไม่ได้ประทับตรา ซึ่งวีซ่าเดิมนั้นหมดไปเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2562 ซึ่งก็ยังไม่ขาดไปก่อนจะมีการส่งตัวกลับ

เธอเดินทางมายังประเทศไทยในวันศุกร์ที่ผ่านมา เพราะว่าเส้นทางบินตรงไปยังกรุงไคโรมีทางเดียวก็คือต้องมาเปลี่ยนเครื่องที่กรุงเทพฯ เธอจึงพยายามติดตามเรื่องจาก ตม. และ UNHCR โดยได้ยื่นคำร้องฉุกเฉินไปยังข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่ไทยแล้ว ทั้งนี้ เธอกังวลว่าสามีและคนอื่นๆ ที่ถูกส่งกลับจะถูกทำร้ายอย่างสาหัส ซึ่งในกรณีร้ายแรงที่สุดคือถูกประหารชีวิต

ปัจจุบันเธอยังไม่ทราบชะตากรรมของสามีของเธอว่าอยู่ที่ไหนและสภาพเป็นอย่างไร นอกจากยืนยันความบริสุทธิ์ของสามีแล้ว สิ่งที่เธอสงสัยก็คือทำไมกระบวนการการจับกุมถึงลัดขั้นตอนจากการกักตัวไปถึงการส่งกลับประเทศทันที เหตุใดสามีเธอจึงไม่มีโอกาสสู้คดี ทั้งๆ ที่มาเลเซียรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับคนเหล่านั้นหากถูกส่งกลับไปยังอียิปต์ ทั้งๆ ที่มาเลเซียเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายเป็นหลัก ตอนนี้เธอดีใจที่เขากับเธอไม่มีลูกด้วยกัน เพราะเธอไม่สามารถจินตนาการชีวิตที่ลูกต้องโตขึ้นมากับเรื่องราวเหล่านี้ที่เธอและเขาพบเจอ แต่สำหรับคนที่มีลูกห้าคนอย่างอับเดลรามันนั้น เธอก็คิดแทนว่าในอนาคตคงเป็นเรื่องที่ลำบากใจสำหรับคนที่อยู่ด้านหลังมากๆ

โจดี้ทิ้งท้ายว่า เธอออกมาเป็นปากเสียงผ่านสื่อหลายครั้งแล้ว เนื่องจากญาติของคนที่ถูกจับตัวไปนั้นหลายคนไม่สามารถพูดหรือเขียนภาษาอังกฤษได้ ส่วนตัวเธอเองกังวลว่าเธออาจกลับเข้ามาเลเซียไม่ได้เช่นกัน

ปัจจุบันมีรายงานว่า การถูกส่งตัวกลับเริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมาแล้วโดยใช้ไทยเป็นจุดเปลี่ยนเครื่องตามเส้นทางการบินตรงไปยังกรุงไคโร เมื่อ 9 มี.ค. 2562 กองบังคับการคนเข้าเมือง 2 ให้ข้อมูลกับประชาไทว่าไม่ได้รับแจ้งจากทางการมาเลเซียเรื่องการส่งตัวมาเปลี่ยนเครื่องยังประเทศไทย

แปลและเรียบเรียงจาก

9 linked to Africa-based al-Qaeda terror group nabbed, Free Malaysia Today, Mar. 10, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท