Skip to main content
sharethis

ประชาไทสนทนากับ นัฏฐิกา โล่ห์วีระ ผู้สมัคร ส.ส.ชัยภูมิ เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ ผ่านความท้าทายในฐานที่มั่นของเพื่อไทย บทบาทของ New Dem ในพรรค นักการเมืองหญิงคนรุ่นใหม่ในการเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน กระแส “นโยบายเกิดปุ๊บรับเงินแสน” ในชัยภูมิ จนถึงมุมมองต่อการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองและผู้ลี้ภัยทางการเมือง การแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นพ.ร.บ.ไซเบอร์ พ.ร.บ.คอม และพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ รวมทั้งทางออกของ ม.112

ประชาไท : จากที่ตอนแรกเป็นนักข่าว ทำไมถึงลงเล่นการเมือง

นัฏฐิกา : การเป็นผู้สื่อข่าวทำให้เราเห็นความจริง ไม่ได้เห็นแค่มุมมอง เราเห็นความจริงในหลาย ๆ มุมมอง และพบว่าเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม พลังของการเป็นผู้สื่อข่าวมันช่วยได้อยู่แล้วในระดับหนึ่ง ในการที่จะแก้ไขปัญหาสังคม แต่งานการเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียมกันและเป็นธรรม

หนึ่ง เราเห็นปัญหาจากอาชีพของเรา สอง การเมืองคือการจัดสรรผลประโยชน์ สาม แรงบันดาลใจของคนรุ่นที่เกิดขึ้นมาแล้วเกิดในทุก ๆ พรรคทำให้เราเห็นว่าเราเป็นคนหนึ่งคนในสังคม ที่เกิดมาพร้อมกับปัญหาใหม่ ๆ และเติบโตมากับปัญหาเดิม ๆ ในเมื่อเรามีโอกาส เป็นช่วงจังหวะที่สังคมเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้เข้ามามีส่วนร่วม มันก็เลยตัดสินใจทำให้เราทำงานการเมืองด้วย เพราะว่าเป็นคนรุ่นใหม่เป็นตัวแทนของคนรุ่นของเขา คนรุ่นใหม่จะต้องมีชีวิตไปอีก 50-60 ปี เขาควรที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการบริการบ้านเมือง

ในความเห็นของคุณ อะไรคือปัญหาเก่าและอะไรคือปัญหาใหม่บ้าง

ปัญหาเก่าคือเรื่องความเหลื่อมล้ำทุกด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่มีแค่คนเฉพาะกลุ่มเท่านั้นที่ผูกขาดอำนาจเหล่านี้ ส่วนปัญหาใหม่ ๆ ก็เป็นปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ คือเป็นผลพวงจากปัญหาเก่า ๆ ที่กำลังผลิตปัญหาใหม่ ๆ ขึ้นมา เช่น การมีส่วนร่วมทางการเมืองมันก็ไม่มีตั้งแต่ที่เราถูกรัฐประหาร รัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ คือสังคมไม่ได้ต่อต้านยุทธศาสตร์ชาติ แต่มันต้องมีการพูดถึงการมีส่วนร่วม ที่มาและที่ไปของยุทธศาสตร์ชาติ เพราะฉะนั้นปัญหาเก่า ๆ มันกำลังขุดปัญหาใหม่ ๆ ให้กับคนที่จะต้องอยู่กับสังคมต่อ หรือการออกกฎหมายต่าง ๆ ที่ขาดการมีส่วนร่วม เช่น พ.ร.บ. ไซเบอร์มันสอดคล้องกับบริบทหรือไม่ ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมายนี้มากน้อยแค่ไหน อันนี้คือความเหลื่อมล้ำทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำทางด้านสิทธิและเสรีภาพ

อะไรคือโอกาสเฉพาะหน้าที่พานัฏฐิกามาสู่เวทีการเมือง

โอกาสมาเมื่อรัฐบาลประกาศว่าจะมีการเลือกตั้ง พอปลดล็อกอะไรต่าง ๆ พรรคการเมืองก็มีการสรรหาผู้สมัคร ในเมื่อกฎหมายกำหนดไว้ว่า สส. จะต้องสังกัดพรรคการเมือง เราเลยคุยกับครอบครัว ด้วยความที่สนใจการเมือง ก็เลยคิดว่าจะเข้าสังกัดพรรคแล้วก็สมัครลงผู้แทน นี่คือจุดพลิก

เนื่องจากประเทศเริ่มมีการเลือกตั้ง มันไม่ใช่แค่นัฏฐิกาที่ลงสมัครผู้แทน พรรคอื่น ๆ อย่างพรรคอนาคตใหม่ มีคนสมัครที่มีอาชีพวินมอเตอร์ไซค์ คนขับแท็กซี่ เป็นผู้สมัคร มันเลยทำให้คนเข้ามีส่วนร่วม ยังไม่ต้องถึงขั้นบริหารประเทศหรอก แค่เสนอนโยบายก็เป็นโอกาสของสังคมแล้ว

คนในพรรคประชาธิปัตย์มองนัฏฐิกาอย่างไรในฐานะคนรุ่นใหม่ และนัฏฐิกาอยู่ตรงไหนในพรรคประชาธิปัตย์ที่คนในสังคมมองว่าเป็นพรรคอนุรักษ์นิยม

พรรคประชาธิปัตย์มีกลุ่มยุวประชาธิปัตย์อยู่แล้ว และ new dem เป็นการต่อยอดของกลุ่มยุวประชาธิปัตย์ เราปลูกฝังประชาธิปไตยให้กับประชาชน แล้ว new dem คือกลุ่มที่สามารถลงสมัครได้ ศึกษาและเสนอนโยบายได้ คนในพรรคไม่ได้มอง new dem ว่าเป็นเด็ก แต่ว่าเป็นกลุ่มคนที่ทำงานให้กับพรรค เพราะว่าหลาย ๆ นโยบายก็เสนอโดย new dem เราก็อยากจะถามสังคมว่าที่มองว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคอนุรักษ์นิยมนี่มองอย่างไร ในเมื่อประชาธิปัตย์ก็ส่งเสริม LGBT พูดเรื่องเพศ ส่งเสริมสิทธิสตรี เราเลยคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่แม้แต่เราก็เคยมอง เมื่อเราเข้ามาอยู่ในพรรค เราก็เห็นกระบวนการทำงานของ new dem เราก็เริ่มรู้สึกว่าเราเห็นการเปลี่ยนแปลงของประชาธิปัตย์

ยุวประชาธิปัตย์กับ new dem มีการทำงานต่างกันอย่างไร

ยุวประชาธิปัตย์คือกลุ่มน้อง ๆ นักเรียน ที่เป็นเครือข่ายที่เราสร้างขึ้นมาให้น้องมีส่วนร่วมกับพรรค อาจจะมีการจัดกิจกรรมและการจัดเสวนา ส่วน new dem อาจจะเรียกได้ว่าเป็นรุ่นพี่ แล้วก็มาจากหลากหลายอาชีพ ไม่ใช่น้อง ๆ นักเรียนแล้ว อาจเรียกได้ว่าเป็นรุ่นช่วงอายุ 25-35 ช่วงสิบปีนี้ ส่วน new dem จะมีบริบทกับภาคสังคมด้วย ไม่ใช่แค่ในโรงเรียน

อาจจะบอกได้หรือไม่ว่ายุวประชาธิปัตย์เป็น intern ส่วน new dem เป็นคนทำงานจริง ๆ

ใช่ แล้ว new dem บางคนก็ไม่ได้เป็นยุวชนประชาธิปัตย์ new dem ก็จะมีความหลากหลายด้วยวัย ด้วยอาชีพ และแต่ละคนที่เข้ามา

ตอนที่ new dem เสนอนโยบาย มีนโยบายไหนที่ถูกปัดตกบ้างหรือไม่ 

พรรคไม่ได้ปัดตกหรือปฏิเสธ ที่เรามองเห็นคือพรรคยังไม่ได้ชูจนกลายเป็นนโยบายเด่น เขาจะให้ความสำคัญกับเรื่องของปากท้องมากกว่า มันก็จะมีการเรียงลำดับความสำคัญ เขารู้สึกว่ามันจับต้องได้ง่ายกว่า พูดแล้วประชาชนรู้สึกว่าชีวิตความเป็นอยู่ของเขาจะดีขึ้น ส่วนเรื่องสิทธิและเสรีภาพต้องยอมรับว่ามีประชาชนบางกลุ่มที่มองว่าปัญหาเรื่องปากท้องสำคัญกว่า อย่างพรรคบางพรรคเสนอเลยว่าเบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุเดือนละ 5,000 แล้วชาวบ้านก็เฮ แต่เขาไม่ได้คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของเขาเลย เขาแค่ต้องการให้มีชีวิตรอดแบบเดือนต่อเดือน เราก็ต้องยอมรับ แต่ว่าอย่างน้อยคือ ถึงมันจะไม่ใช่นโยบายที่พรรคชูขึ้นมาเลยอย่างที่มีสิทธิและเสรีภาพมาก ๆ แต่เราต้องบอกว่าพรรคเราก็มีนโยบายเรื่องสิทธิและเสรีภาพ และกลุ่มที่เห็นเรื่องสิทธืเสรีภาพนี่แหละก็จะมาผลักดัน ก็คือกลุ่ม new dem ซึ่งปัญหาเรื่องปากท้อง พรรคก็มีนักวิชาการและนักเศรษฐกิจอยู่แล้ว

ช่วงที่ผ่านมาอภิสิทธิ์ตอบคำถามในรายการดีเบตว่า ไม่เข้าร่วมรัฐบาลกับประยุทธ์ แต่เข้าร่วมกับพลังประชารัฐได้ ถ้าพรรคดังกล่าวยอมรับเงื่อนไขที่ตนตั้ง คิดว่า new dem สามารถเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐได้หรือไม่

พรรคปชป.มีอุดมการณ์ยึดมั่นกับประชาธิปไตยและประชาชน พรรคพลังประชารัฐจะยอมรับกับเงื่อนไขได้ไหมหากเราให้ปรับและทำงานโดยยึดหลักการประชาธิปไตยเป็นตัวตั้ง เจตนารมณ์ของเราตรงกันหรือไม่ในการที่จะทำงานร่วมกัน

ถามในฐานะคนรุ่นใหม่ไปแล้ว ถามในฐานะผู้สมัครหญิงกันบ้าง คนมองความเป็นผู้หญิงของนัฏฐิกาอย่างไร เวลาลงสนามเลือกตั้ง         

เราอยู่ในสนามการเมืองที่มีผู้ชายเยอะและชายเป็นใหญ่ ในสภาผู้ชายก็เยอะ ผู้สมัครที่เป็นผู้ชายก็เยอะ การที่มีผู้หญิงมาลงสมัคร เราได้รับคำชื่นชมว่าเป็นหญิงแกร่ง การที่ผู้หญิงมาลงสมัครคือความกล้าหาญ แล้วก็ทำให้ผู้หญิงในพื้นที่เขารู้สึกว่าตัวเองมีศักยภาพที่จะกำหนดบทบาทบ้านเมืองได้ เขาเห็นความเข้มแข็งของตัวเขาเอง เลยกลายเป็นว่าเวลาลงพื้นที่ก็จะได้รับคำชม เช่น “โอ๊ย หญิงแกร่ง ตัวเล็กแค่นี้”

เวลาที่เราหาเสียง นัฏฐิการู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติต่างจากผู้ชายที่ลงสนามเลือกตั้งหรือไม่

ไม่ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกัน เป็นครั้งแรกที่เราลงสมัคร แต่ว่าเวลาที่เราลงไปในพื้นที่แล้วได้รับการต้อนรับ เราก็จะแบบ “ไม่ต้องขนาดนี้หรอกค่ะ หนูไม่ถือ” หรืออะไรอย่างนี้ แต่ว่ามันไม่ใช่ เขาเคยดูแลผู้สมัครแบบไหนมา เขาก็จะดูแลแบบนั้น เรื่องเพศ เขาไม่ได้ปฏิบัติแตกต่างกัน

เวลาตอนที่ลงพื้นที่ ไม่ได้คนคอมเมนต์เรื่องไร้สาระใช่ไหม เช่น เรื่องการแต่งกาย

มันกลายเป็นว่าสังคมที่ผู้ชายมีบทบาทมาก แล้วพอเรามีผู้หญิง เขาก็บอกว่า “เลือกผู้สาวนี่แหละ ใจร้อย ใจสู้” เวลาเราลงสมัคร สังคมเห็นเป็นความกล้าหาญ คำคอรหาเรื่องไร้สาระมันไม่มี เพราะว่าเวลาที่เรานำเสนอตอนลงพื้นที่ เราไม่ได้นำเสนอเรื่องไร้สาระ เราชูเรื่องนโยบายพรรค แล้วก็อุดมการณ์ประชาธิปไตย คือ สิทธิเท่าเทียมกัน เสรีภาพ ความเป็นภราดรภาพ เพราะฉะนั้น เรื่องเพศเป็นเรื่องของความเท่าเทียมกัน ในเมื่อเรายึดมั่นในหลักการนี้ เวลาที่เรานำเสนอตอนลงสนามก็จะเป็นแบบนี้ เขาก็ไม่เคยใช้เรื่องแบบนี้มาโจมตีเรา เราชี้ให้เห็นปัญหาของสังคมบ้านเมือง ไม่ได้มาชูว่าเราเป็นผู้หญิง เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ 

เวลาที่ลงไปในพื้นที่เห็นบทบาทของผู้หญิงและ LGBT ในพื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง

เวลาลงพื้นที่เราจะเห็นผู้หญิงที่เป็นผู้นำชุมชนเยอะ เป็นผู้นำกลุ่มสตรี กลุ่มแม่บ้าน แล้วก็ อบต. กลุ่มผู้สูงอายุก็เป็นผู้หญิง ซึ่งบุคลิกของผู้หญิงเขามีความดูอ่อนโยน แล้วกลุ่มที่ต้องการการดูแลอย่างเช่นผู้สูงอายุ เราจะเห็นหัวหน้ากลุ่มเป็นผู้หญิง หางานมาให้ทำ ดูแล มีสันทนาการ ส่วนกลุ่มผู้ชาย เราก็จะเห็นอยู่ในทุกกลุ่มนั่นแหละค่ะ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อะไรแบบนี้ แต่เรารู้สึกว่าเรื่องเพศเนี่ย ความดีงามมันอยู่ที่ตัวบุคคล คนที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเขาเป็นเพศไหน เราก็เห็นผู้ใหญ่บ้านที่เป็นคนดีเหมือนกันเวลาลงพื้นที่ ส่วนเพศทางเลือก เราก็ต้องเห็นว่าเขาเป็นคน ๆ หนึ่ง มันไม่ใช่เกี่ยวกับเรื่องเพศ

ถามในฐานะคนรุ่นใหม่และผู้หญิงไปแล้ว เรารู้กันอยู่ว่าในภาคอีสานเป็นฐานเสียงหลักของพรรคเพื่อไทย/พรรคเพื่อชาติ ตอนที่ไปหาเสียงมีความท้าทายอะไรบ้าง

ความท้าทายคือทัศนคติของประชาชน ที่เราเห็นว่ามันคือฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ทีนี้ ทัศนคติของประชาชน ถ้าเขาไม่ชอบเลย เราก็ต้องยอมรับเพราะว่ามันเป็นสิทธิของเขา แต่ถ้าเราพูดคุยได้ เราก็ต้องเปลี่ยนทัศนคติของเขา เราก็ต้องบอกว่ามันมีนโยบายที่แก้ไขปัญหา และเราในฐานะผู้สมัคร เรามาเป็นผู้แทนของคนทุกคน นโยบายที่เราเสนอ เราไม่ได้มาแก้ปัญหาของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือแก้ปัญหาของคนพรรคนั้นพรรคนี้ แต่เรามันเป็นนโยบายที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคน และเราก็ไม่ได้โจมตีใคร ทำให้เขาเห็นว่าเราต้องการแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจ

กลับไปคำถามแรกที่ถามเราว่าทำไมถึงมาลงการเมือง เพราะว่าเราต้องการแสดงวัตถุประสงค์นั้นให้เขาเห็น ในการต่อสู้กับทัศนคติของประชาชนที่มองไม่ดีต่อพรรคเรา

ตอนที่ลงไปหาเสียง มีคนตะโกนด่าบ้างไหม

ความขัดแย้ง รู้ไหม เรารู้สึกว่ามันลดลงนะ เราอาจจะอ่านในโซเชียลแล้วมันแรงมากเลย คำด่าทอต่าง ๆ แต่พอมาลงในพื้นที่แล้ว มันลดน้อยลง อย่างรถแห่ เขาพูดกับเราตอนหาเสียงช่วงแรก ๆ เขาบอกเลยว่า เขากลัว เขาไม่กล้าเข้าพื้นที่หรอกนะ ถ้าจะจ้างเขาคันเขา เขาไม่เอา มันต้องใช้สองคัน แต่มันก็มีค่าใช้จ่าย ก็เลยคุยกันว่าทำไมล่ะพี่ พอเราลงพื้นที่ไป ปรากฏว่าเมื่อก่อนมันมีปาของใส่ รถแห่จ้างเขาเล่าให้ฟัง แต่พอเราทำเองแล้วมันไม่มี เขาก็ให้การต้อนรับ ถ้าเราไปเคาะประตูบ้าน แล้วเขาไม่ชอบ เขาก็ไม่พูดด้วย แต่มันไม่ได้มีความรุนแรง และมันก็ไม่มีความหยาบคาย

พอคุณอภิสิทธิ์มาลงพื้นที่ที่ชัยภูมิ มันก็มีคนต้อนรับแหละ เรามีให้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราเห็นก็คือคนหลากหลายอุดมการณ์ เขาก็ออกมาต้อนรับ เพราะฉะนั้นในฐานะนักรัฐศาสตร์ ไม่ใช่ในฐานะผู้สมัคร มันเป็นเรื่องที่คนในสังคมควรจะดีใจไม่ใช่หรือว่าความขัดแย้งมันลดลง

จากที่คุณบอกว่าความขัดแย้งในพื้นที่ลดลง คุณเห็นด้วยหรือไม่ และคิดเห็นอย่างไร หากมีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองและผู้ลี้ภัยทางการเมืองในอนาคต

ความขัดแย้งในพื้นที่ลดลงเมื่อเรามองเห็นประโยชน์ของประเทศชาติเป็นตัวตั้ง ความทุกข์ร้อนไม่ได้แบ่งขั้วแบ่งฝ่าย เมื่อเรานำเสนอทางออกของปัญหา พร้อมด้วยเจตนาที่มุ่งมั่น เรามองเห็นปัญหาเหมือนกัน และต้องการการแก้ไข เมื่อเราเสนอเรื่องแบบนี้ทำให้หลายฝ่ายๆมองว่าเราไม่ได้มาสร้างความขัดแย้ง และมันตรงกับเจตนารมณ์ของเรา

เราเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมการเมืองในคดีความผิดทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เขาควรจะได้รับการนิรโทษกรรมเพื่อกลับเข้าสู่การปรองดอง ส่วนคนที่ลี้ภัยทางการเมืองด้วยคดีอื่นๆเราต้องพิจารณารายละเอียดว่าเกี่ยวข้องกับประเด็นใด

ตอนที่ลงไปหาเสียง คนชอบนโยบายอะไรของเราเป็นพิเศษไหม

นโยบายที่ชอบเป็นพิเศษก็คือนโยบาย “เกิดปุ๊บรับเงินแสน” นโยบายนี้ถูกโจมตีว่าทำให้คนอยากมีลูก แต่ว่าพอไปดูจริง ๆ พ.ร.บ. เด็ก เขาจะมีเงินเลี้ยงดูให้เดือนละ 600 แต่เวลาที่พ่อแม่ไปแจ้งเกิด เขาจะต้องโชว์ statement ปรากฏว่าถ้ามีรายได้ เลี้ยงดูบุตรได้ เขาก็จะไม่ได้รับค่าเลี้ยงดู

เราอธิบายกับผู้ปกครองว่าสิทธินี้มันเป็นสิทธิของเด็ก ไม่ใช่สิทธิของคุณพ่อคุณแม่ การได้รับการเลี้ยงดูมันคือสิทธิของเขา นโยบายก็เลยเปลี่ยนเป็นให้แบบถ้วนหน้า แล้วก็เพิ่มค่าเลี้ยงดูเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 1,000 บาท จนถึง 8 ขวบ แรกคลอดมี 5,000 แล้วก็มีการศึกษาว่าช่วง 0-8 ขวบเป็นช่วงพัฒนาการนะ ช่วงนี้แหละที่ควรได้รับการเลี้ยงดู เราก็เลยมองว่าในการดูแลประชาชนของเรา เขาควรที่จะได้รับการดูแลทุกคน ไม่ใช่มาโชว์ statement มันเป็นเรื่องของเด็ก เด็กเขาเกิดมา เขาผิดอะไร ทำไมจึงจะไม่ได้เงินดูแล ผู้ปกครองเขาเห็นเขาก็บอกว่าใช่ 

แล้วมีนโยบายไหนที่คนในพื้นที่ตั้งคำถามไหม เราจัดการกับความท้าทายแบบนี้อย่างไร

นโยบายที่ได้รับการตั้งคำถามคือนโยบายเรื่องการเกณฑ์ทหาร เขาถามว่าแล้วความมั่นคงของชาติล่ะ เวลาน้ำท่วม เวลาไฟไหม้ มีแต่ทหารที่มาช่วย เราก็ต้องอธิบายว่าเขาไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของนโยบาย เหมือนไม่เข้าใจนโยบายเด็กแรกเกิด หาว่าจะทำให้อยากมีลูก เขาเข้าใจว่าจะไปลดกำลังพล ยิ่งทำให้ชาติไม่มั่นคง เราก็เลยต้องอธิบายว่าวัตถุประสงค์เพื่ออะไร

หนึ่ง เราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในกองทัพ ลดทหารรับใช้ มีทหารที่มีศักยภาพ แล้วก็ให้คนที่เป็นแรงงานได้ไปทำงาน เราต้องอธิบายนโยบายให้ชัดเจน เพราะถ้าหากเราไม่อธิบายนโยบายให้ชัดเจน ก็จะเกิดการตั้งคำถาม แล้วก็ถูกโจมตี การมองในเชิงอำนาจมันเป็นเรื่องของโครงสร้าง แต่ในตัวประชาชน เขาไม่ได้มองในมุมนั้น

คิดว่าจังหวัดชัยภูมิมีความแตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสานหรือไม่ อะไรเป็นลักษณะที่โดดเด่นของการหาเสียงในจังหวัดชัยภูมิ

ความแตกต่างคือชัยภูมิมีผู้สมัครที่เป็นคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่แค่เรา (อยู่เขต 1) แต่มีอีกคนอยู่เขต 3 เป็นทนาย แต่ว่าด้วยความที่ (เม้าได้ใช่ไหม) เป็นทนายลูกทุ่ง แต่เรามองว่าเขาคือคนรุ่นใหม่คนหนึ่ง เราก็เห็นเขาเป็นทนายใจซื่อ ซื่อตรง อะไรทำนองนี้ มีความมุ่งมั่นตั้งใจ แล้วก็มันเป็นจุดเด่น คือ การต่อสู้การทางการเมืองกับพรรคที่ครองพื้นที่มาตั้งกี่สมัย มีตระกูลการเมืองแข่งขันกันอีกสองสามตระกูล เราจะเอาชนะได้ก็ต้องมีตัวเลือกที่น่าสนใจ ไม่ใช่ตัวเลือกที่ซ้ำกัน ถ้าเขตอื่น หรือจังหวัดอื่น แล้วเป็นตระกูลเดิม ๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ผลก็เป็นแบบนั้นแหละ ผลการเลือกตั้งก็คาดเดาได้ง่าย แต่ชัยภูมิมีผู้สมัครที่เป็นคนรุ่นใหม่ เราเลยว่ามันเกิดความที่เรียกว่าปรวนแปร กระแสของคนรุ่นใหม่ก็มีมาว่า ไม่ได้ดูพรรคเลย ต้องการคนใหม่ มันก็เป็นความแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ เราเคยเห็นโพสต์ของใครสักคน ที่บอกว่าที่บ้านเขาหน้าเดิมหมดเลย ถ้าที่ชัยภูมิเป็นแบบนั้นประชาธิปัตย์ก็รอดูผลได้เลยว่าจะเป็นยังไง

ช่วงก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยชนะที่ชัยภูมิมาตลอดหรือไม่

ก็มีสองพรรค คือ เพื่อไทยกับภูมิใจไทย เป็นตระกูลการเมืองที่แข่งขันกันมาตลอด ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ สส. คนสุดท้ายนานมากแล้ว ตั้งแต่รุ่นเราเกิดมั้ง มันก็เลยต่อสู้ยากนะ

แล้วเรามียุทธศาสตร์ในการหาเสียงอย่างไรบ้าง

การเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ ไม่เคยลงเลือกตั้ง เพิ่งลงเป็นครั้งแรก เราก็ต้องทำให้ประชาชนเห็นหน้าเราก่อนด้วย ให้ได้เห็นหน้าให้มากที่สุด และการได้พูดคุยกันมันทำให้เราได้แลกเปลี่ยนปัญหาและเสนอวิธีการแก้ไข การปราศรัยก็จำเป็น แต่ว่าเขาไม่รู้จักเรา มันก็ต้องมีวิธีการทำให้เขารู้จักเราให้มากที่สุด ส่วนเรื่องของโซเชียล ตอนแรกเราคิดว่ามันจะช่วยเราได้ แต่ปรากฏว่าพื้นที่ของเราร้อยละ 20 เท่านั้นที่เป็นเขตเมือง อีกร้อยละ 80 คือทำอาชีพเกษตรกรรม เราก็ต้องให้ความสำคัญกับการทำงานออฟไลน์มาก

คนในพื้นที่เกษตรไม่ใช้สมาร์ทโฟนเลยหรือ

ใช่ เขาใช้ไม่เป็น ลงพื้นที่ไปเจอแต่ผู้สูงอายุที่เลี้ยงหลาน ส่วนคนทำงาน เขาก็เป็นเสียงร้อยละ 20-30 ของเรา ที่เราจะมีผลต่อคะแนนกับเรา ที่เราจะต้องใช้โซเชียลมีเดีย ดูสัดส่วนแล้ว เราทิ้งการทำงานออฟไลน์ไม่ได้เลย เราจะทำการหาเสียงเหมือนคนในกรุงเทพไม่ได้ เราก็ต้องไปมีส่วนร่วมกับคนในสังคม เช่น ทำบุญ ตักบาตร งานบุญ

เวลาที่ลงไปในพื้นที่ มีประโยคอะไรที่คนในพื้นที่โดนใจไหม

พอได้เบอร์ 12 เราก็จะบอกว่า “กล้าทำ กล้าลอง เบอร์ 12” แล้วก็ “เลือกคนแก้ปัญหา เลือกนัฏฐิกา โล่วีระ” แล้วเบอร์ 12 ก็จะบอกว่า “เลือก 1 คนเหมือนได้ 1 โหล” เพราะว่าวิธีการทำงานของเราเหมือนเดินขบวน เราก็จะบอกว่า “เนี่ย เลือก 1 คน ได้เป็นโหลเลย” เราหาเสียงด้วยการสร้างรอยยิ้ม บอกการแก้ปัญหา ไม่ได้สร้างความเกลียดชัง

เราได้เห็นในโซเชียล การปราศรัยของพรรคคนนู้นคนนี้ โจมตีคนนู้นคนนี้ แล้วมันก็มีหน้าม้าบอกว่าชอบมากที่ด่าเขา มันฟังดูถูกอะ พูดแล้วปัง แต่พอเราพูด เมื่อวานนี้เพิ่งได้ดีเบต ก็เป็นตัวแทนของพรรค ๆ นึงแล้วก็พูดกันเหมือนกับที่พรรคพูดนั่นแหละ เหมือนพวกที่ปราศรัยในกรุงเทพพูด บรรยากาศในต่างจังหวัดไม่ใช่แบบนั้น ชาวบ้านไม่ชอบ เบื่อ ไม่ฟัง หน้าบูด คือเขาไม่อยากฟังเรื่องความเกลียดชัง แต่ว่าพอพูดว่า “เฮ้ แก้ปัญหานี้นะ” เขาก็เฮปรบมือ

เหมือนเขาอยากรู้ว่าเราทำอะไรได้บ้าง มากกว่าสิ่งที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ วิจารณ์คนนู้นคนนี้

ใช่ เพราะว่ามันเป็นอย่างนั้นแหละ ไม่อย่างนั้นพรรคพลังประชารัฐจะได้เสียงจากคนที่ถือบัตรคนจนได้อย่างไร เขาต้องการเรื่องแบบนั้น ไม่ต้องมาพูดกับเขาหรอกว่า ไม่เอาคนนั้น ไม่เอาคนนี้ ชาวบ้านยังคงเห็นเรื่องปากท้องเป็นสื่งสำคัญ

ในฐานะนักการเมืองรุ่นใหม่ เรามองการเมืองในช่วงการเปลี่ยนผ่านอย่างไรบ้าง คิดว่าจากตรงนี้จะไปไหนต่อ

การเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่าน ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่สังคมอาจจะต้องอึดอัดนิดนึงกับปัญหา อันที่หนึ่งก็คือปัญหาเรื่องโครงสร้าง เช่น รัฐธรรมนูญ ที่มา สว. ผูกพันเราไปอีกหลายปี เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ เป็นการเมืองระยะยาวที่จะต้องทำงานอย่างละเอียดรอบคอบ เราก็คิดนะว่าถ้าเราเข้าไปในสภาได้ เราจะดูแลปัญหาพวกนี้อย่างไร ให้มีสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ได้มากที่สุด ภายใต้บริบทกฎหมายที่เกิดขึ้น

ส่วนการเปลี่ยนแปลงในสังคม เรามองว่ามันกำลังเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เพราะว่าคนรุ่นถัดมา เขาเริ่มมีความคิดทางการเมือง มองเห็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ เรามีอีกอาชีพหนึ่งเป็นครูสอนภาษาอังกฤษด้วย เด็ก ป.5 (ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งเลย) ที่เราสอนเขาถามเราว่า ถ้าครูได้เป็น สส. ครูจะทำอะไร นี่คือคำถามของน้อง ไม่ใช่คำถามของคุณพ่อคุณแม่เลย คุณพ่อแม่ที่เป็นรุ่นผู้ใหญ่มีแต่เห็นหน้าเราแล้วบอกว่าเราทำอะไรเกินตัว เราเลยเห็นว่าสังคมกำลังเปลี่ยนแปลง เด็กไม่ได้เห็นค่าของเงิน 100 บาทที่จะให้เขาไปนั่งฟัง หรือมาจ้างเขาซื้อเสียง เขาบอกว่า เขาแค่เอาไปเติมเกมก็หมดแล้ว คนรุ่นหลัง ๆ เขาเริ่มมีมุมมองด้านการเมืองมากขึ้น ถึงแม้จะยังไม่ได้เร็ว เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา ถ้าคุณจะไม่ต้องใช้เวลา คุณต้องปฏิรูปปฏิวัติประเทศแล้ว 

คุณบอกว่า หากได้เข้าไปในสภาจะแก้ปัญหาเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุดภายใต้บริบทกฎหมาย คุณมองปัญหาเรื่องกฎหมายที่มีข้อวิจารณ์ว่าถูกใช้เพื่อขัดขวางเสรีภาพการแสดงออก เช่น ม.112 พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ฯลฯ อย่างไร บ้าง

พ.ร.บ.ไซเบอร์ พ.ร.บ.คอม และพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ต้องได้รับการแก้ไขและการพิจารณาโดยประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ว่ากฎหมายอะไรก็ตามที่ขัดกับหลักสิทธิและเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน หากกฎหมายให้อำนาจรัฐล้วงข้อมูลส่วนบุคคล หรือการแสดงความเห็น แล้วเอาผิดประชาชนเรื่องความมั่นคงต้องได้รับการแก้ไข

ประเด็นมาตรา112 เกี่ยวข้องกับประมุขของประเทศ และสังคมมีความเห็นแตกต่างหลากหลายกัน จึงเป็นเรื่องของทุกพรรคการเมืองและทุกภาคส่วนร่วมกันหาทางออกว่าระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะอยู่อย่างไร ความเหมาะสมของหลักประกันเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชนกับเรื่องนี้อยู่ที่ไหน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งและนำไปสู่ความรุนแรง

ใครที่เป็นฐานเสียงหลักของเราเวลาที่ลงพื้นที่ กลุ่มคนรุ่นใหม่เขามองเราอย่างไรบ้าง

กลุ่มคนรุ่นใหม่ เขาชอบที่มีคนรุ่นเขาที่มาเสนอเป็นตัวแทนพูด ส่วนคนรุ่นที่เกิดก่อนเรา เขามองว่าเราคือตัวเลือกที่น่าสนใจ เมื่อก่อน เขาเห็นเราว่าเป็นเด็ก แต่เราบอกว่าไม่ เราคือคน ๆ หนึ่งในสังคมที่มีสิทธิในการแก้ปัญหาด้วย เขาก็มองว่าคนรุ่นนี้ที่เขามองว่าเหมาะสมที่จะมาดูแลบ้านเมือง ฐานเสียงของเรา เราคิดว่าเราสามารถดึงได้ทุกเสียง แล้วเราก็ได้เปรียบด้วยซ้ำในฐานะที่เราสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้ง่าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net