Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วันที่ 30 กันยายน 2564 เป็นช่วงที่ชาวชัยภูมิกำลังเผชิญอุทกภัยครั้งใหญ่ทั้งจังหวัด แต่ก็เป็นวันแห่งชัยชนะของภาคประชาชนและท้องถิ่นในสนามการต่อสู้กับกลุ่มทุนใหญ่ เพื่อรักษาสิทธิและเสรีภาพที่จะกำหนดใช้ทรัพยากรของท้องถิ่นด้วยตนเอง ชัยชนะที่ได้นั้นตัดสินโดยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเดินทางฝ่าน้ำท่วม มาลงมติด้วยคะแนน 25 ต่อ 0 คัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงโม่หิน ในจังหวัดชัยภูมิ

การต่อสู้เริ่มต้นจากกลุ่มเกษตรกร ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เลี้ยงจิ้งหรีด เลี้ยงแพะ ใน อ.หนองบัวแดง อ.เกษตรสมบูรณ์ โดยทั้งสองอำเภอยังเป็นพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐให้เป็น “หุบเขาอินทรีย์” ที่ทำการเกษตรปลอดสารและส่วนหนึ่งส่งออกไปยังต่างประเทศ สร้างรายได้ให้กับชุมชนจำนวนมาก 

ส่วนทาง อ.คอนสาร ชุมชนบ้านตาดปูน มีพื้นที่ติดกับโรงโม่หินศักดิ์ชัย ได้รับผลกระทบจากแรงระเบิด ทำให้หินกระเด็นตกลงสู่บ้านเรือน เกิดฝุ่นละอองครอบคลุมพื้นที่การเกษตร แรงระเบิดทำลายแหล่งน้ำใต้ดินทางธรรมชาติและกระทบต่อเขตโบราณสถานภูซำผักหนาม ภูถ้ำแกลบ (ภูถ้ำเฟีย) และภูเขาลูกโดดใกล้ถ้ำวังปลาก้อน

การพัฒนาของคนในพื้นที่เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ เป็นแนวทางการพัฒนาที่สวนทางกันกับการตั้งโรงงานขนาดใหญ่ ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่นเป็นต้นทุน ซึ่งจะมีขึ้นมา ถึง 3 แห่ง ในจังหวัดชัยภูมิ คือ

1. โรงงานผลิตน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทมิตรผล จำกัด ในเขต อ.หนองบัวแดงและอ.เกษตรสมบูรณ์ 

2. บริษัทพารุ่ง อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด ได้ยื่นขอสัปทานบัตรเหมืองแร่หินปูน ที่บริเวณ ต.ทุ่งพระ อ.คอนสารจ.ชัยภูมิ

3. โรงโม่หินศักดิ์ชัย ในเขตพื้นที่ป่าสงวนภูซำผักหนาม อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ (ได้รับการต่อประทานบัตรไปแล้วเมื่อปี 2562 แต่กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่ต่อใบอนุญาตโรงงานให้)

ในขณะที่พื้นที่ของจังหวัดชัยภูมิ โรงงานน้ำตาลจำนวน 4 โรง แบ่งเป็นโรงงานในจังหวัด 2 โรง และอยู่ในบริเวณใกล้เคียง 2 โรง คือ 

1.โรงงานรวมเกษตรอุตสาหกรรมชัยภูมิ อำเภอภูเขียว (มิตรภูเขียว)

2.โรงงานน้ำตาลระยอง อำเภอบำเหน็จณรงค์

3.โรงงานรวมเกษตรอุตสาหกรรมขอนแก่น อำเภอหนองเรือ (มิตรภูหลวง)

4.โรงงานอุตสาหกรรมอ่างเวียน (ราชสีมา) อำเภอแก้งสนามนาง

และใช้พื้นที่ปลูกอ้อยในจังหวัดให้กับโรงงานอุตสาหกรรมจำนวน 624,702 ไร่

ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อการรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ (EHIA) ของโรงงานน้ำตาลไม่ครอบคลุมกลุ่มประชาชนส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ และยังมีมติ ครม. 1 มิถุนายน 64 เห็นชอบให้ที่ดินประเภทสีเขียว บริเวณหมายเลข 2.3 ใน จ.ชัยภูมิ ยกเว้นให้ทำโรงงานน้ำตาลได้ ทำโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากความร้อนที่ไม่ใช่ถ่านหินได้ 

ต่อมาสภา อบจ. มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการ และอนุกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดชัยภูมิ จนนำไปสู่การขอมติสภาฯ ดังนี้

1.เห็นควรคัดค้านการอนุญาตให้สร้างโรงงานผลิตน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่อ.เกษตรสมบูรณ์จ.ชัยภูมิ

2. เห็นควรผลักดันให้พื้นที่ อ.หนองบัวแดง อ.เกษตรสมบูรณ์ อ.ภักดีชุมพล อ.คอนสาร เป็นพื้นที่หุบเขาเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ 

3. เห็นควรสนับสนุนการประกาศยกเลิกแหล่งแร่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ต.ทุ่งนาเลา อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิและมีคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และเคลื่อนย้ายเครื่องจักรออกจากพื้นที่ของกรมศิลปากร 

4. เห็นควรคัดค้านการออกใบอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ ในบริเวณต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ

5. เห็นควรสนับสนุนการผนวกป่าบริเวณที่ขออนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ จำนวน 655.06 ไร่ ให้อยู่ในพื้นที่ของเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง และจัดสรรพื้นที่บางส่วนเป็นป่าชุมชน เพื่อรักษาสิทธิ์การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของคนในชุมชนต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ


(กลุ่มเกษตรอินทรีย์ บ้านหนองหอย ตำบลกุดชุมแสง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ)


(กลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีด ขายจิ้งหรีด ตำบลหนองข่า อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ)


(คำบรรยายภาพ : ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอิสาน (ทุ่งนาเลา) ให้ข้อมูลเพื่อศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดชัยภูมิ (กรณีโรงโม่หิน)
 

(คำบรรยายภาพ : ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดชัยภูมิ 
(กรณีโรงโม่หิน) ที่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง และลงพื้นที่บริเวณที่ตั้งโรงโม่หิน)

ผลจากการลงมติของสมาชิกสภาฯ ด้วยคะแนน 25 ต่อ 0 ได้ส่งผลให้ขั้นตอนการทำรายงานสิ่งแวดล้อม EHIA ของโรงงานน้ำตาล และโรงโม่หินพารุ่ง ต้องนำผลกระทบจากคณะกรรมการที่ลงไปศึกษา และมติสภาฯ เข้าไปอยู่ในรายงานด้วย 

หลังจากภาคประชาสังคมได้รับชัยชนะ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ในเครือข่าย อ.หนองบัวแดง และ อ.เกษตรกรสมบูรณ์ กำลังรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ทำเกษตรอินทรีย์กว่า 10 กลุ่ม เพื่อยกระดับให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารที่มีคุณภาพและปลอดสารเคมี
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net