Skip to main content
sharethis

องค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลประณามรัฐบาลอิหร่านกรณีที่มีการสั่งลงโทษ นาสริน โซตูเดห์ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและผู้ปกป้องสิทธิสตรีด้วยการโบย 148 ครั้งและจำคุก 33 ปีจากข้อหาจารกรรม เผยแพร่ข้อมูลเท็จต้านรัฐ หมิ่นผู้นำสูงสุด โดยบอกว่าเป็นเรื่องที่ "อยุติธรรมอย่างมหันต์"

นาสริน โซตูเดห์ (ที่มา: วิกิพีเดีย)

13 มี.ค. 2562 นาสริน โซตูเดห์ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและผู้ปกป้องสิทธิสตรีชาวอิหร่านเคยถูกทางการอิหร่านจับกุมตั้งแต่เมื่อเดือน มิ.ย. 2561 และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเอวิน กรุงเตหะราน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เธอถูกตั้งข้อหา "จารกรรม" "เผยแพร่ข้อมูลเท็จต่อต้านรัฐ" และ "หมิ่นผู้นำสูงสุดของอิหร่าน"

โซตูเดห์เคยถูกสั่งลงโทษจำคุก 5 ปี ในคดีอื่นมาก่อนหน้านี้เมื่อปี 2559 และในครั้งล่าสุดทางการอิหร่านสั่งลงโทษเธอเพิ่มจากข้อหาล่าสุดทำให้โซตูเดห์ต้องโทษโบย 148 ครั้งและจำคุกรวม 38 ปี

องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนลประณามทางการอิหร่านในเรื่องนี้ ฟิลิป ลูเธอร์ นักวิจัยและผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือของแอมเนสตี้ฯ กล่าวว่า การที่โซตูเดห์ถูกลงโทษด้วยการโบยและจำคุกเป็นเวลานานเกือบ 40 ปี เพราะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างสันติถือเป็นเรื่องน่าตกตะลึงอย่างมาก งานสิทธิมนุษยชนที่โซตูเดห์ทำนั้นรวมถึงงานคุ้มครองสตรีอย่างการร่วมประท้วงต่อต้านกฎหมายบังคับสวมฮิญาบ และเป็นตัวแทนว่าความให้ผู้หญิงที่ถูกทางการจับกุมในการฝ่าฝืนข้อห้ามนี้ ลูเธอร์กล่าวอีกว่าทางการอิหร่านต้องปล่อยตัวโซตูเดห์โดยทันทีและยกเลิกคำพิพากษาลงโทษ "ที่น่ารังเกียจ" ดังกล่าว

มีการตั้งข้อสังเกตจากสื่อฮาเร็ตซ์ว่าการสั่งลงโทษโซตูเดห์ล่าสุดเกิดขึ้นหลังจากที่เอบราฮิม ไรซี ผู้นำทางศาสนาหัวแข็งได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าตุลาการคนใหม่

นอกจากข้อกล่าวหาดังกล่าวแล้วโซตูเดห์ยังถูกตั้งข้อหาอื่นๆ อย่าง "ยุยงให้เกิดความเสื่อมทรามและการค้าประเวณี" "ปฏิบัติสิ่งที่เป็นบาปอย่างเปิดเผยโดยการปรากฏตัวในที่สาธารณะโดยไม่มีฮิญาบ" และ "ก่อกวนความสงบเรียบร้อย"

แอมเนสตี้ฯ ระบุอีกว่าการลงโทษครั้งนี้เป็นการลงโทษอย่างหนักที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลอิหร่านเริ่มเพิ่มการกดขี่ปราบปรามนักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

โซตูเดห์เคยได้รับรางวัลเกียรติยศด้านสิทธิมนุษยชน 'ซาคารอฟ' ในปี 2555 จากงานปกป้องสิทธิมนุษยชนและงานการเมืองที่เธอทำ เช่น ประเด็นโทษประหารชีวิตต่อเยาวชนในอิหร่าน นอกจากนี้เธอยังเป็นทนายความให้กับนักข่าวและนักกิจกรรมหลายคนที่ถูกจับกุมในประท้วงช่วงปี 2552 รวมถึง ชิริน เอบาดี นักกิจกรรมที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่โซตูเดห์ถูกสั่งจำคุก ในปี 2553 เธอเคยถูกจับกุมและลงโทษจำคุก 11 ปีมาก่อนรวมถึงถูกสั่งห้ามไม่ให้ทำงานด้านกฎหมายเป็นเวลา 20 ปี ก่อนที่ศาลทนายความแห่งสมาคมทนายความเตหะรานสั่งยกเลิกคำตัดสินนี้ในปี 2557 ในช่วงที่โซตูเดห์อยู่ในเรือนจำเธอทำการอดอาหารประท้วง 2 ครั้ง เพื่อประท้วงสภาพของเรือนจำเอวินและประท้วงที่ทางการห้ามไม่ให้เธอเจอกับลูกชายและลูกสาว โซตูเดห์ได้รับการปล่อยตัวในปี 2556 ไม่นานหลังจากที่ฮัสซัน รูฮานี ชนะการเลือกตั้ง รูฮานีเป็นผู้ที่รณรงค์หาเสียงด้วยการให้สัญญาว่าจะพัฒนาเรื่องสิทธิพลเมือง

ทั้งนี้ ลูเธอร์จากแอมเนสตี้ฯ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศอื่นๆ ที่มีอิทธิพลเหนืออิหร่านช่วยให้มีการปล่อยตัวโซตูเดห์ โดยกล่าวถึงสหภาพยุโรปที่กำลังมีการเจรจาหารือกับอิหร่านให้มีจุดยืนต่อต้านการตัดสินคดีที่ "ไร้เกียรติ" เช่นนี้ และ "เข้าแทรกแซงโดยทันทีเพื่อทำให้แน่ใจว่าเธอจะได้รับการปล่อยตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข"

เรียบเรียงจาก

Iranian Human Rights Lawyer Sentenced to 38 Years in Jail, 148 Lashes, Haaretz, Mar. 12, 2019

Amnesty: Sentencing of Iran lawyer Sotoudeh 'outrageous', Aljazeera, Mar. 12, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net