Skip to main content
sharethis

หลังสหภาพยุโรปห็นชอบร่างข้อบังคับด้านลิขสิทธิ์ฉบับล่าสุดที่บีบให้ผู้ให้บริการพื้นที่อย่างยูทูบต้องรับผิดชอบกับการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย แต่ด้วยข้อกำหนดที่คลุมเครือและระบบตรวจจับที่มีปัญหาของยูทูบ อาจทำให้เกิดการปิดกั้นเนื้อหามากเกินความจำเป็น ชาวเน็ตและเหล่ายูทูบเบอร์พากันต้านข้อบังคับ ระบุ เป็นวันที่มืดมนสำหรับเสรีภาพทางเน็ต

ที่มา: Pexels

29 มี.ค. 2562 สภานิติบัญญัติของสหภาพยุโรปอนุมัติร่างกฎหมายข้อบังคับด้านลิขสิทธิ์ (Copyrights Directive) ของอียูในที่สุดในวันที่ 26 มี.ค. เนื้อหากฎหมายทั้งหมดมี 17 มาตรา แต่ส่วนที่มีการถกเถียงหนักอยู่ที่มาตรา 11 ที่ให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการสืบค้นหรือเสิร์ชเอนจิ้น เช่น กูเกิ้ล ต้งอจ่ายเงินสำหรับการใช้ลิงค์จากเว็บต้นทาง และมาตรา 13 หรือที่คนเรียกกันว่ามาตราแบนมีม (Meme ban) ที่ให้เจ้าของแพล็ตฟอร์มผู้ให้บริการพื้นที่อัพโหลดเนื้อหา เช่น ยูทูบรับผิดชอบกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์

สิ่งที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับเนื้อหาของข้อบังคับนี้คือการให้ยูทูบที่ให้บริการผู้คนอัพโหลดนำเสนอวิดีโอต้องรับผิดชอบกับกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย การบีบคั้นเช่นนี้ทำให้ผู้สร้างผลงานวิดีโอกังวลว่าระบบการตรวจจับอัตโนมัติของยูทูบที่เรียกว่า Content ID ซึ่งเดิมทีก็สร้างปัญหาอยู่แล้ว หากผสมกับข้อบังคับเช่นนี้จะยิ่งทำให้ยูทูบปรับระบบแบบรุกล้ำผู้ผลิตเนื้อหามากขึ้นเพื่อตอบรับกับข้อบังคับใหม่

จูเลีย เรดา นักการเมืองจากพรรคโจรสลัด (ไพเรท) เยอรมนีผู้ที่เป็นหนึ่งในคนนำต่อต้านข้อบังคับนี้กล่าวว่าเป็น "วันที่มืดมนสำหรับเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต" ในขณะที่ แอนดรัส อันซิป รองประธานกรรมการยุโรปผู้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการผลักดันข้อบังคับนี้กล่าวว่ามันเป็น "ความก้าวหน้าครั้งใหญ่" ในการรวมตลาดดิจิทัลยุโรปให้เป็นหนึ่งไปพร้อมๆ กับการ "คุ้มครองการสร้างสรรค์ในโลกออนไลน์"

ผู้ผลิตรายการในยูทูบที่ชื่อ Dr. Grandayy คนมีชื่อเสียงในยูทูบจากการสร้างมีมหรือวัฒนธรรมสื่อที่มีการผลิตซ้ำต่อกันเป็นทอดๆ โดยมีผู้ลงทะเบียนติดตามเขามากกว่า 2 ล้านรายกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่จะจริงจังกับเรื่องนี้ เขาบอกอีกว่าชาวยูทูบทุกคนต่างต่อต้านมาตรา 13 เป็นเสียงเดียวกัน

"เรื่องเศร้าก็คือชาวยูทูบไม่มีกลุ่มล็อบบี้หรือสหภาพที่จะต่อสู้และหารือกับนักการเมืองโดยตรง นักการเมืองส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับปัญหาที่ยูทูบกำลังเผชิญเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ หรือเนื้อหาแบบใดที่ชาวยูทูบมักจะผลิตออกมา" Dr. Grandayy กล่าว

ผู้นำเสนอรายการในยูทูบอีกรายหนึ่งชื่อฟิลิป เดอฟรังโก จาก The Philip DeFranco Show กล่าวว่าหลังจากข้อบังคับนี้ออกมาเป็นไปได้ว่ายูทูบน่าจะพยายามปกป้องตนเองด้วยการบล็อกเนื้อหา ซูซาน วอยจ์ชิกสกี ซีอีโอของยูทูบแสดงความกังวลต่อข้อบังคับใหม่นี้เช่นกัน โดยบอกว่ามาตรา 13 นี้ขาดคะแนนโหวตคัดค้านเพียง 5 คะแนน เท่านั้นในสภายุโรป ไม่เช่นนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็จะต่างออกไป

Grandayy วิจารณ์ความไม่รู้ของเหล่านักการเมืองอียูต่อไปว่า นักการเมืองส่วนใหญ่ที่ร่างข้อบังคับนี้ไม่เข้าใจว่า "มีม" คืออะไรด้วยซ้ำก่อนที่จะมีคนวิพากษ์วิจารณ์ เขาบอกอีกว่าเขาได้เข้าพบปะกับ ส.ส. ยุโรป 2 รายเพื่อพูดถึงปัญหาในเรื่องนี้ ขณะที่ฝ่ายบริหารของยูทูบก็เปิดเผยเช่นกันว่าพวกเขาจะทำงานร่วมกับ ส.ส. ยุโรปเพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่ทางบริษัทกังวล นี่ถือเป็นหนึ่งในน้อยเรื่องที่ผู้สร้างเนื้อหาและผู้บริหารยูทูบต่อสู้ร่วมกัน

ที่ผ่านมายูทูบถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการจัดการระบบลิขสิทธิ์ในวิดีโอด้วยโปรแกรมอัตโนมัติ และมักจะเข้าข้างฝ่ายบรรษัทเวลามีการอ้างอย่างไม่เป็นธรรมว่าวิดีโอใดๆ ละเมิดลิขสิทธิ หลังจากที่ยูทูบออกนโยบายเช่นนี้ในปลายปี 2556 ก็มีวิดีโอหลายชิ้นที่ถูกอ้างว่าผิดลิขสิทธิ์ถูกนำออก โดยวิดีโอที่ถูกอ้างเหล่านี้เป็นวิดีโอชวนผู้ชมรับชมการเล่นเกมแบบที่เรียกว่า "Let's plays" ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายในปัจจุบัน แม้กระทั่งวิดีโอวิจารณ์ภาพยนตร์ก็ถูกถอดออกเนื่องจากข้ออ้างเรื่องลิขสิทธิ์ด้วย

ฝ่ายผู้ผลิตเนื้อหาพยายามต่อสู้กับเรื่องคนอ้างลิขสิทธิ์ด้วยเช่นกัน โดยที่มีหลายกรณีที่คนจากบริษัทที่มาอ้างลิขสิทธิ์ในวิดีโอต่างๆ ไม่ได้มีเนื้อหาอะไรที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่พวกเขาอ้างลิขสิทธิ์เลย บางครั้งก็มีพวกโทรลมากลั่นแกล้งด้วยการรายงานอ้างลิขสิทธิ์ หรือแม้กระทั่งกรณีที่ค่ายเพลงอ้างลิขสิทธิ์กับการที่วิดีโอนำเสนอคลิปเพียงเล็กน้อย นั่นทำให้ Grandayy ผู้บอกว่ามีประสบการณ์แย่ๆ กับลิขสิทธิ์มาก่อนหวังว่ากรณีมาตรา 13 จะเป็นสิ่งที่ปลุกให้ผู้ผลิตเนื้อหาในยูทูบรายอื่นๆ และคนทั้งโลกต่อสู้โต้ตอบกลับสิ่งที่เป็นภัยต่อความคิดสร้างสรรค์อย่างข้อบังคับใหม่นี้

"เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการสร้างสรรค์บนอินเทอร์เน็ตถูกขัดขวางโดยค่ายเพลงไปเรียบร้อยแล้วในตอนนี้ ...จนถึงจุดนี้ผมแทบจะหยุดการสร้างมีมหรือการล้อเลียนเพลงกระแสหลักไปแล้ว แล้วก็ไม่ใช่แค่ผมหรอก(ที่ทำแบบนี้)" Grandayy กล่าว

เรียบเรียงจาก

YouTube creators are still trying to fight back against European copyright vote, The Verge, Mar. 27, 2019

Europe’s controversial overhaul of online copyright receives final approval, The Verge, Mar. 26, 2019

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/YouTube_copyright_issues

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net