Skip to main content
sharethis

ถอยจากดราม่ากระทงลายการ์ตูน แก๊งนักบินรีดไถ มองผ่านตัวละครเหล่านี้ลงไปให้ลึกกว่าเดิม เรื่องนี้เกิดขึ้นได้เพราะกฎหมายนโยบายของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่มุ่งคุ้มครองผู้ทรงสิทธิ์จนเกินเลย กรณีกระทงลายการ์ตูนไม่ใช่กรณีแรก และถ้าไม่แก้ไข นี่ก็จะไม่ใช่กรณีสุดท้าย

  • กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้ทรงสิทธิ์ กระทั่งละเลยแนวคิดอีกด้านของระบบทรัพย์สินทางปัญญานั่นคือการคืนประโยชน์กลับสู่สังคม
  • แก๊งนักบินเป็นขบวนการรีดไถโดยอ้างว่าตนเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ แล้วทำการบังคับ ข่มขู่ ให้เหยื่อจ่ายเงินเพื่อยอมความแลกกับการไม่ต้องขึ้นศาล
  • กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรสร้างฐานข้อมูลของบริษัทผู้ถือลิขสิทธิ์ รายชื่อตัวแทนลิขสิทธิ์ และวันหมดอายุของใบมอบอำนาจการตรวจสอบสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเข้าถึงได้เพื่อตรวจสอบและป้องกันการก่ออาชญากรรม
  • ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิทธิ์ของเอกชน ไม่ควรใช้ทรัพยากรและบุคลากรของรัฐเข้าไปดูแลให้เป็นภาระงบประมาณ และควรตัดโทษทางอาญาออกจากกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเหลือเพียงโทษทางแพ่ง

กรณีกระทงลายการ์ตูนที่จังหวัดนครราชสีมาโดยผู้ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ว่าจ้างให้ทำและล่อซื้อจากเด็กอายุ 15 เพื่อหาเงินค่าเทอม เป็นประเด็นดราม่าในโลกโซเชียลมีเดีย เดือดร้อนถึงผู้บริหารบริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ตัวแทนลิขสิทธิ์จำหน่ายสินค้าบริษัท ซานเอ็กซ์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ต้องออกมายืนยันว่ากรณีดังกล่าวไม่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ และบริษัท เวอริเช็ค จำกัด ที่ผู้ล่อซื้ออ้างว่าเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ก็ถูกยกเลิกสัญญาไปแล้ว กลายเป็นเรื่องหักมุมจบที่ฝ่ายขบวนการรีดไถกำลังจะเปลี่ยนสถานะจากโจทก์เป็นจำเลย

แก๊งรีดไถทำนองนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมานานแล้ว คนในวงการเรียกกันว่า นักบิน และใช้วิธีการเดียวกันกับกรณีนี้ ในช่วงหลัง เมื่อคนรู้ทันมากขึ้นโดยเฉพาะในกรุงเทพ ไม่ยอมจ่าย แต่ขอขึ้นศาล แก๊งพวกนี้ก็จะถอย แล้วไปแพร่ระบาดตามต่างจังหวัดแทน ดังที่เห็นว่าหลังกรณีกระทงลายการ์ตูนก็มีข่าวลักษณะเดียวกันตามมา โดยเหยื่อส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้หญิง

แต่นี่ไม่ใช่ข่าวอาชญากรรม ไปให้ไกลกว่านั้นมันเป็นปัญหาเชิงกฎหมายและนโยบายที่ภาครัฐสร้างขึ้น กล่าวให้เจาะจงก็คือกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กล่าวให้หนักขึ้นอีก การรีดไถรูปแบบนี้เกิดขึ้นได้เพราะการค้ำจุนจากนโยบายรัฐ

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) (ที่มาภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)

นักบินและการรีดไถที่กฎหมายรองรับ

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) อธิบายว่าหลักคิดของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ต้องการปกป้องลิขสิทธิ์จนเกินเลย เป็นเหตุให้ทางกรมฯ และบริษัทผู้ทรงสิทธิ์ไม่สามารถออกไปตรวจสอบเองได้ทั้งหมด ประมาณ 10 ปีที่แล้วจึงเกิดระบบตัวแทนลิขสิทธิ์ที่ต้องมีใบมอบอำนาจการตรวจสอบสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์จากผู้ทรงสิทธิ์ ย้อนความทรงจำกลับไปจะเห็นข่าวการจับกุมการละเมิดลิขสิทธิ์ตามร้านอาหาร คาราโอเกะ

ใบมอบอำนาจนี้สนนราคาประมาณ 2,000 บาท มีอายุประมาณ 1 เดือน เป็นช่วงเวลาที่มากพอจะแสวงหาผลประโยชน์จากการรีดไถในนามของการประนีประนอมยอมความ เกิดเป็นแก๊ง เป็นเครือข่าย ที่ไปนั่งตามร้านอาหารและขอให้เปิดเพลง เปิดภาพยนตร์ หรือในกรณีซอฟต์แวร์ก็ให้เจ้าของร้านไปหามาให้ก่อนแสดงตัว

“เมื่อประมาณ 8-9 ปีที่แล้วมีเคสในกรุงเทพเยอะมากที่เจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งถูกแจ้งจับ แต่ไม่ยอมจ่าย แก๊งพวกนี้ก็เอาเขาขึ้นรถมีคนประกบ 4-5 คน แล้วก็ขับวนไปเรื่อยๆ รอบสถานีตำรวจ กล่อมและขู่ว่ายังไงคุณต้องยอมจ่าย จนในที่สุดเขาต้องยอม แล้วการจ่ายก็คือการจ่ายข้างโรงพัก ตรงลานจอดรถนั่นแหละ ตำรวจไม่รู้เหรอ ซึ่งในที่สุดมันก็มีความชัดเจนมากขึ้นว่าเวลาพวกนี้ทำงานก็คือเอาวงเงินมาแบ่งกันสามส่วนแทบไม่ต้องไปส่งส่วนกลางหมายถึงเจ้าของสิทธิ์เลย เป็นการแบ่งกันระหว่างตำรวจท้องที่ ทนาย และแก๊งนี้” กรรณิการ์ เล่า

สถานการณ์ข่มขู่รีดไถเช่นนี้มีมากขึ้นๆ จนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ออกระเบียบว่า ต้องทำการแจ้งความก่อนจึงจะไปแสดงตัวจับกุมและดำเนินคดีได้ ทำให้การรีดไถซาลง แต่กระจายไปในต่างจังหวัดแทน

กรรณิการ์ยืนยันว่ากรณีกระทงลายการ์ตูนไม่ใช่กรณีเดียวแน่นอน

“ประเด็นก็คือกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่รับผิดชอบอะไรเลย คุณทำแค่ว่าชวนสมาคมผู้ทรงสิทธิ์มาพูดคุยว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร แต่จริงๆ แล้วที่ผ่านมาคุณอนุญาตให้มีระบบแบบนี้เกิดขึ้น แล้วคุณก็ไม่ไปกำกับดูแลมัน คุณก็ปล่อย คิดว่าดี ทำให้คนละเมิดสิทธิ์น้อยลง แต่ไม่สนใจก็เข้าไปล่อซื้อไปจงใจทำให้เกิดเคสเพราะไม่มีเคส เคสคนเล็กคนน้อยแบบนี้คุณก็ไม่สนใจเพราะอย่างน้อยก็ทำให้การละเมิดสิทธิ์น้อยลง”

การคิดด้านเดียวของกรมทรัพย์สินทางปัญญา

ถอยออกมาให้ไกลกว่าเดิมเพื่อมองให้เห็นภาพกว้างขึ้น ก็อย่างที่ตั้งคำถามไปตอนแรกว่า ทำไมการรีดไถของพวกนักบินจึงเกิดขึ้นได้ กรรณิการ์ อธิบายว่า

“ระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยถ้าย้อนกลับไปดู แผนยุทธศาสตร์ของกรมฯ หรือการตั้งต้นมันมาจากแนวคิดการคุ้มครองสิทธิ์และการปราบปราม คือปกป้องสิทธิ์ของผู้ทรงสิทธิ์และปราบปราม แต่จริงๆ แล้วรากฐานของระบบทรัพย์สินทางปัญญาตั้งแต่เริ่มแรกคิดเพื่อให้มีระบบที่จะคุ้มครองสิทธิ์เพื่อให้มีการสนับสนุนและให้กำลังใจคนที่คิดให้คิดมากขึ้นและเมื่อคุ้มครองในช่วงระยะเวลาหนึ่งคุณได้ประโยชน์จากตรงนั้นพอสมควรก็ให้สังคมได้ประโยชน์ด้วย”

สิ่งที่เกิดขึ้นในไทยคือกรมทรัพย์สินทางปัญญามีวิธีคิดเพียงด้านเดียวว่าต้องคุ้มครองสิทธิ์ของผู้ทรงสิทธิ์ ละเลยว่าการให้สิทธิ์นั้นเกินเลยไปหรือไม่และนำมาซึ่งการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับสังคมไทยหรือไม่

ทาง เอฟทีเอ ว็อทช์ เคยทำหนังสือถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หลายครั้งว่ายุทธศาสตร์นี้เป็นยุทธศาสตร์ที่ผิด กรรณิการ์กล่าวว่าในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำเรื่องการเข้าถึงยา เราติดตามเรื่องนี้มาตลอด พบว่าแม้ทางกรมฯ จะมีฐานข้อมูลการยื่นคำขอสิทธิบัตร แต่มีระบบฐานข้อมูลที่แย่มาก ไม่มีการปรับปรุงฐานข้อมูลให้ดีขึ้นเพื่อให้คนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ว่าสิทธิบัตรอะไรที่กำลังจะหมดอายุ สิทธิบัตรอะไรที่ประชาชน บริษัทต่างๆ หรือนักวิจัยจะสามารถพัฒนาต่อยอดได้หรือผลิตเป็นยาชื่อสามัญได้ เมื่อฐานข้อมูลแย่มากทำให้ไม่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดหรือสร้างนวัตกรรมได้จากการที่กรมฯ ให้สิทธิ์ผู้ยื่นขออย่างเต็มที่

เมื่อฐานข้อมูลไม่ดีทำให้การคัดค้านสิทธิบัตรที่ไม่ควรได้เกิดขึ้นได้ยาก กรรณิการ์เล่าว่าตั้งแต่ติดตามปัญหาเรื่องนี้มามีเพียง 2 คำขอสิทธิบัตรเท่านั้นที่คัดค้านได้ตรงเวลา ผลที่ตามมาอีกประการหนึ่งจากการใช้เวลาที่ยืดยาวในการขอสิทธิบัตรคือความไม่ชัดเจน

“ยิ่งเวลาลากไปยาวเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นประโยชน์กับผู้ขอ ผู้ขอก็เอาความไม่ชัดเจนนี้ไปเที่ยวข่มขู่พวกบริษัทยาชื่อสามัญว่าฉันขออยู่นะ ถ้าฉันได้ขึ้นมาสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ ขายอยู่ จะละเมิดสิทธิบัตร จะถูกฟ้องร้อง บริษัทที่ไม่กล้าสู้ก็เลิกทำไป ตั้งแต่สู้กันมา เราพบว่าถ้าเป็นบริษัทยาชื่อสามัญใหญ่ๆ ที่กล้าสู้ต้องใช้เวลา หลายเคสเป็น 10 ปี สู้แล้วมีเคสเดียวที่ชนะ แม้ว่า อีก 4-5 เคสบริษัทยาชื่อสามัญไม่แพ้ก็ตาม นี่คือปัญหาในส่วนของสิทธิบัตร แต่โชคยังดีที่สิทธิบัตรเกี่ยวข้องกับเรื่องยา จึงมีนักวิชาการ มีภาคประชาสังคมเข้าไปร่วมติดตามตรวจสอบการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรที่ให้ประโยชน์กับผู้ทรงสิทธิ์อย่างเกินเลย ตอนนี้ก็ยังค้างคาอยู่ในกฤษฎีกา”

ทว่า...

ปัญหาจากลิขสิทธิ์กำลังขยายตัว

“เรื่องลิขสิทธิ์ต้องยอมรับว่าเราไม่มีแรงทำ เรามีปัญญาทำเฉพาะส่วนที่เขาจะแก้กฎหมายเครื่องหมายการค้าและกฎหมายศุลกากรที่จะกระทบเรื่องยา แต่พอเป็นเรื่องลิขสิทธิ์ที่ไม่เกี่ยวกับยาเลยเราไม่มีแรงทำขนาดนั้น พอไม่มีแรงทำ ไม่มีนักวิชาการติดตาม เราก็จะพบว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาสมคบหรือร่วมมือกับประเทศใหญ่ๆ และผู้ทรงสิทธิ์บริษัทใหญ่ๆ ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หนัง เพลง เกม โปรแกรมคอมพิวเตอร์มาแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์บ้านเรา

“มีงานวิจัยชัดว่ากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของบ้านเรามีบทลงโทษที่ติดอันดับที่สูงมากและเกินเลยกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งในประเทศพัฒนาแล้วบทลงโทษของเขาจะอยู่ในเรื่องแพ่ง แต่ของไทยมีความผิดอาญาเต็มไปหมด ถ้าสมมติทำเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งข้อเรียกร้องเดิมก็จะให้เป็นอาญาแผ่นดินซึ่งหมายความว่านอกจากมีโทษจำคุกแล้ว ถ้าตำรวจไม่จับ ตำรวจผิด แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงขนาดนั้นตอนนี้อยู่ที่อาญา ซึ่งถ้าไปดูประเทศด้อยพัฒนาที่ถูกกดดันหน้าตาก็จะเป็นแบบบ้านเรา แต่ประเทศพัฒนาแล้วไม่ทำแบบนี้”

ประเด็นลิขสิทธิ์ในการเจรจาเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอไทยกับสหรัฐและสหภาพยุโรป มีข้อเจรจาที่เหมือนกันซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าของลิขสิทธิ์ขนาดใหญ่อยากได้ ไม่ว่าจะเป็นการขยายอายุลิขสิทธิ์จาก 50 ปีเป็น 70 ปี ขยายให้เป็นความผิดอาญาและอาญาแผ่นดิน ซึ่งปัญหาการล่อจับการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาใหญ่มากถึงขั้นที่คดีต่างๆ ในสหรัฐเกินครึ่งเป็นเรื่องนี้

ในต่างประเทศที่รุนแรงกว่านี้เพราะเป็นการจับจากอินเทอร์เน็ต เนื่องจากข้อเรียกร้องของอเมริกาคือการเก็บ temporary file ในเครื่องก็ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นปัญหามากเพราะการเก็บ temporary file ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ไม่ได้ทำเองแต่เครื่องทำไปโดยระบบ เมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่งมันก็จะถูกลบออก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือมีคนจำนวนหนึ่งเข้าไปในเว็บ bit torrent โดยไม่ได้โหลดไฟล์ใดๆ ที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่คอมพิวเตอร์เก็บ temporary file ไว้ ซึ่งถูกทำให้เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

“ถ้ายังปล่อยประเด็นปัญหาแบบนี้ แล้วก็มีการแก้ไขกฎหมายทำตามเอฟทีเอ กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่มีคนเฝ้าระวังปัญหานี้จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เวลาเราเข้าเว็บไซต์ผ่านมือถือก็ไม่รู้ว่ามันเก็บ temporary file อะไรบ้าง ถ้าวันหนึ่งกฎหมายพวกนี้ผ่าน เขาก็เข้ามาดูมือถือเราได้”

สร้างฐานข้อมูลและตัดโทษทางอาญา

แล้วอะไรที่ทำได้เพื่อบรรเทาการรีดไถจากแก๊งอาชญากรรมนักบิน กรรณิการ์มีข้อเสนอแนะ 2 ประการ

ประการแรก กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องทำและทำได้โดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย คือการทำฐานข้อมูลตัวแทนสิทธิให้ประชาชนตำรวจสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ตลอดเวลา บริษัทนี้ถือสิทธิ์อะไรอยู่บ้าง ขายสิทธิ์ให้กับใคร ใบมอบอํานาจมีอายุเท่าไหร่

“การแจ้งจับเคสกระทง ถ้าขั้นตอนถูกต้องจะต้องแจ้งความก่อน ตำรวจจะขอดูใบมอบอำนาจว่ามีหรือเปล่า ทุกวันนี้เขาอาจจะเอาใช้ใบเก่าหรือใบที่ทำขึ้นเอง ตำรวจก็ไม่รู้เพราะไม่มีระบบตรวจสอบ แต่ถ้ากรมฯ ทำแบบนี้ขึ้นมาร่วมมือกับสมาคมผู้ทรงสิทธิ์ ตำรวจก็ตรวจได้ว่าใบมอบอำนาจหมดอายุหรือยัง เรื่องก็จะไม่เป็นแบบนี้ตำรวจที่พร้อมจะทำหน้าที่ดีๆ ก็ทำได้ ประชาชนที่ถูกขู่ขอดูก่อนเลยว่าถือใบอะไร คุณเป็นใคร อยู่บริษัทอะไร บริษัทคุณถือสิทธิ์จริงหรือเปล่า แต่ถ้าไม่ทำกรมทรัพย์สินทางปัญญากำลังสนับสนุนให้องค์กรอาชญากรรมเหล่านี้รีดไถประชาชนอย่างถูกกฎหมาย

“แต่กรมฯ ไม่ทำ แล้วกรมก็บอกว่าทำได้แค่ขอความร่วมมือ ซึ่งมันต้องขอความร่วมมือมากกว่านี้ ไม่ใช่ขอความร่วมมือทุกปีจัดปีละครั้งแล้วก็ขอความรู้จากสมาคมให้มาบริจาคของ บริจาคเงิน เข้าร่วมกีฬา แล้วกรมฯ ก็ได้ประโยชน์ตรงนั้น แบบนี้ไม่ใช่วิธีการทำงานที่ถูกต้อง ทำให้สมาคมพวกนี้ทำงานร่วมมือกันด้วยดีกับกรมฯ แต่ว่ากรมฯ ไม่เคยคิดจะทำอะไรเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนจากที่คุณให้สิทธิ์ผูกขาดเหล่านั้นไป”

ประการที่ 2 แก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์โดยนำโทษทางอาญาออก มีบทลงโทษสมเหตุสมผลเฉพาะที่จงใจละเมิดสิทธิ์เพื่อการค้าและต้องเป็นโทษทางแพ่งเท่านั้น เพราะสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิทธิ์ของเอกชนจึงเป็นเรื่องของเอกชนกับเอกชน รัฐไม่ควรนำทรัพยากร บุคลากรไปปกป้องทรัพย์สินเอกชน แต่พอเป็นความผิดทางอาญา ตำรวจทำสำนวน อัยการต้องฟ้อง โดยที่ผู้ทรงสิทธิ์ไม่ฟ้องเองแต่ขอเป็นโจทก์ร่วม เท่ากับรัฐต้องทุ่มงบประมาณทำคดีเพื่อปกป้องสิทธิของเอกชน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ผู้ทรงสิทธิ์ในการเจรจาเอฟทีเอต้องการ

“ตัดโทษอาญาออกไปเลย ไม่อย่างนั้นจะเป็นภาระของตำรวจและอัยการ เป็นภาระมหาศาลและประเทศชาติไม่ได้อะไรเลย แถมยังเป็นช่องทางให้แก๊งอาชญากรรมถูกกฎหมายเหล่านี้ไปข่มขู่ประชาชนว่าต้องจ่ายค่ายอมความเพื่อไม่ต้องติดคุก ถ้าไม่แก้ไขปัญหานี้กรณีกระทงลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่ว่ามันจะดังหรือไม่ดังเท่านั้นเอง

“ที่ผ่านมาผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาเองก็บอกว่าโทษมันเกินไปแต่เขาจะทำอย่างไรได้ เคยมีเคสหนึ่งที่แม่ลูกติดขายซีดีมือสอง ช่วงนั้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาบอกว่ากฎหมายบ้านเรามันเป็นแบบนี้จริงๆ ตามข้อกฎหมายมันระบุว่าต้องลงโทษเท่าไหร่ ตอนที่กรมฯ ไปทำกฎหมายที่ละเมิดสิทธิ์ประชาชนแบบนี้ ลงโทษประชาชนเกินจำเป็น ก็ไม่เคยใส่ใจที่จะฟังความคิดเห็นคนอื่นเลย มีแต่ฟังความคิดเห็นของผู้ทรงสิทธิ์กับประเทศยักษ์ใหญ่”

กรรณิการ์เสริมตอนท้ายว่า ต้องการให้นักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและด้านกฎหมายระหว่างประเทศให้ความสนใจกับระบบทรัพย์สินทางปัญญาแบบที่มีหลักการครบถ้วนทั้งสองด้าน ช่วยกันกดดันกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่สนใจเฉพาะผู้ทรงสิทธิ์ โดยไม่สนใจว่าสิทธิ์ที่ให้ไปมันละเมิดประชาชนอย่างไร อีกทั้งการพยายามใช้ทรัพยากรของรัฐไปคุ้มครองสิทธิ์ของเอกชนก็เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง

"กรมทรัพย์สินทางปัญญายอมรับว่าเคยออกระเบียบขึ้นทะเบียนตัวแทนผู้ทรงสิทธิ์ ออกมาตั้งแต่ปี 2552 แต่ไม่มีคนมาขึ้นทะเบียน กรมฯอ้างว่า จะไปบังคับก็ไม่ได้ เพราะกลัวว่าจะขัดสิทธิของเอกชนที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ ถ้าคุณอ้างแบบนี้ ความผิดนี้ต้องไม่เป็นความผิดทางอาญา ไม่มีสิทธิ์ไปเอาผิดประชาชนเอาทรัพยากรของรัฐไปปกป้องสิทธิของเอกชนไม่ได้” กรรณิการ์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net