Skip to main content
sharethis

วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งในพื้นที่ชายแดนใต้กับ 'รอมฎอน ปันจอร์' มองปรากฏการณ์ 'ประชาชาติ-อนาคตใหม่' ขณะที่หลายพื้นที่เกิดจากมีคู่เปรียบคู่เทียบคู่สู้ที่หลากหลาย ช่วงที่ประชาธิปัตย์กระแสลงและแตก รวมทั้งผลด้านบวกต่อสถานการณ์ในพื้นที่

รอมฎอน ปันจอร์ Curator จาก Deep South Watch

หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา แม้การจัดการเลือกตั้ง การประกาศผลของ กกต. จะมีความไม่ราบรื่นและสร้างความไม่ไว้วางใจของประชาชน อย่างไรก็ตามในระดับเขตผลก็ค่อนข้างมีความชัดเจนในระดับหนึ่ง พื้นที่ชายแดนใต้จังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ตั้งแต่ปี 2548 พรรคประชาธิปัตย์ชนะกลุ่มวาดะห์ซึ่งย้ายมาอยู่ภายใต้พรรคไทยรักไทยเกือบทุกเขต หรือปี 2554 แม้พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ชนะแบบถล่มทลาย แต่ก็ยังครองที่นั่งส่วนใหญ่ คือ 9 ที่นั่ง ขณะที่ปีนี้ เหลือเพียงแค่ จ.ปัตตานีเขต 1 เท่านั้นที่พรรคประชาธิปัตย์ได้มา ขณะที่พรรคประชาชาติซึ่งนำโดยกลุ่มวาดะห์กลับได้ถึง 6 ที่นั่งจาก 11 ที่นั่งในพื้นที่ 3 จังหวัด

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ประชาไท จึงใช้โอกาสนี้พูดคุยกับ รอมฎอน ปันจอร์ Curator จาก Deep South Watch ผู้ศึกษาความเป็นไปในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรือ ปาตานี มาอย่างต่อเนื่อง

เทียบผลเลือกตั้ง 2554 กับ 2562 (อย่างไม่เป็นทางการ)

 

ปี 2554

ปี 2562

ปัตตานี เขต 1

อันวาร์ สาและ ประชาธิปัตย์  28,733 คะแนน

อันวาร์  สาและ ประชาธิปัตย์ 19,883 คะแนน

ปัตตานี เขต 2

อิสมาแอล  เบญอิบรอฮีม ประชาธิปัตย์ 38,164 คะแนน

อับดุลบาซิม อาบู ภูมิใจไทย 17,652 คะแนน

ปัตตานี เขต 3

อนุมัติ  ซูสารอ มาตุภูมิ 27,142 คะแนน

อนุมัติ ซูสารอ ประชาชาติ 36,799 คะแนน

ปัตตานี เขต 4

สมมุติ  เบ็ญจลักษณ์ ภูมิใจไทย 21,510 คะแนน

สมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ประชาชาติ 29,323 คะแนน

ยะลา เขต 1

ประเสริฐ  พงษ์สุวรรณศิริ ประชาธิปัตย์ 40,190 คะแนน

อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ พลังประชารัฐ 23,745 คะแนน (ขณะที่ ภูริพงศ์ พงษ์สุวรรณศิริ ลูกชายประเสริฐ ได้เพียงที่สาม 19,705 คะแนน)

ยะลา เขต 2

อับดุลการิม  เด็งระกีนา ประชาธิปัตย์ 28,385 คะแนน (ชนะซูการ์โน  มะทา จากเพื่อไทยเพียง 48 คะแนน)

ซูการ์โน มะทา ประชาชาติ 37,368 คะแนน

ยะลา เขต 3

ณรงค์  ดูดิง ประชาธิปัตย์ 33,433 คะแนน

อับดุลอายี สาแม็ง ประชาชาติ 38,666 คะแนน (ณรงค์ แชมป์เก่าได้ที่สอง 16,816 คะแนน)

นราธิวาส เขต 1

กูอาเซ็ม  กูจินามิง ประชาธิปัตย์ 37,903 คะแนน

วัชระ ยาวอหะซัน พลังประชารัฐ 32,268 (แชมป์เก่า กูอาเซ็ม ได้ที่สาม 15,122 คะแนน)

นราธิวาส เขต 2

สุรเชษฐ์  แวอาแซ  ประชาธิปัตย์ 26,638 คะแนน

สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ พลังประชารัฐ 34,211 คะแนน

นราธิวาส เขต 3

รำรี  มามะ ประชาธิปัตย์ 24,647 คะแนน

กูเฮง ยาวอหะซัน ประชาชาติ 39,438 คะแนน (ขณะที่ รำรี ย้ายไปรวมพลังประชาชาติไทย ได้ 19,525 คะแนน)

นราธิวาส เขต 4

เจะอามิง  โตะตาหยง ประชาธิปัตย์ 28,498 คะแนน

กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ประชาชาติ 40,807 คะแนน

 

ปรากฏการณ์ 'ประชาชาติ-อนาคตใหม่'

รอมฎอน เริ่มต้นด้วยการอธิบายว่า เราอยู่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งมา 15 ปี แล้วเราอยู่ในพื้นที่ที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง ใน 13 เขตเลือกตั้งในพื้นที่นี้ หากรวมเอา 4 อำเภอ 2 เขตเลือกตั้งจาก จ.สงขลา หลายคนก็ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเลือกตั้งที่คึกคักที่สุดในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา สำหรับสาเหตุที่คึกคักเนื่องจากทั้งเงื่อนไขปัจจัยในการเมืองระดับชาติ เพราะไม่ได้มีการเลือกตั้งมานาน แต่อีกประเด็นที่คนพูดถึงกันคือเรามีผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวนมากในรอบนี้ พรรคต่างๆ ลงประชันแข่งขันกัน ครั้งนี้มีพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นมาและมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ในพื้นที่อย่างพรรคประชาชาติรวมทั้งมีสีสันใหม่ๆ อย่างพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งผลการเลือกตั้งที่ออกมาคงต้องพูดก่อนว่าพรรคอนาคตใหม่สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับพื้นที่นี้ เพราะว่าไม่มีใครนึกว่าพวกเขาจะได้รับการตอบรับอย่างที่ผลเลือกตั้งปรากฏ จึงถือเป็นกระแสใหม่ที่น่าสนใจ เกมของอนาคตใหม่ทำให้บางคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นคนที่เปลี่ยนเกม เป็นหน่ออ่อนที่พยายามจะเปลี่ยนเกมการเลือกตั้งในพื้นที่นี้ ที่แต่เดิมการยึดถือตัวบุคคลเป็นหลักมากกว่าตัวนโยบาย เครือข่ายของบรรดาหัวคะแนน เปลี่ยนมาเป็นพรรคการเมืองที่เน้นไปในทางอุดมการณ์และจุดยืนทางการเมือง และเหมือนกับกระแสในระดับชาติด้วย คือ กระแสคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนเกมในแง่ที่ว่าในเขตเมืองหรือเขตที่มีผู้มีสิทธิลงคะแนนที่เป็นนักศึกษา ที่เป็นชนชั้นกลางก็เทให้กับพรรคอนาคตใหม่จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว แม้ผลการเลือกตั้งจะอยู่ในอันดับที่ 4 -5 แต่ก็เห็นได้ชัดว่าการตอบรับแบบนี้มีนัยสำคัญ และอาจทำให้การเลือกตั้งในอนาคตของพื้นที่แห่งนี้เปลี่ยนเกมไป รวมทั้งการใช้เงินในการหาเสียงในการเลือกตั้งด้วย อาจจะเปลี่ยนไป

ดังนั้น กระแสของคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่า มันก็เป็นกระแสในเชิงเปรียบเทียบด้วย เมื่อเทียบกับพรรคอื่นๆ โดยเฉพาะพรรคที่มีฐานที่มั่นในพื้นที่นี้ก็มีจุดอ่อนตรงที่ว่าส่วนใหญ่ผู้สมัครของพวกเขาก็เป็นผู้อาวุโสหรือผู้ที่มีประสบการณ์ทางการเมืองแล้วมารวมตัวกันตั้งเป็นพรรคประชาชาติ ดังนั้นสำหรับคนที่อาจรู้สึกเบื่อๆ หรือรู้สึกไม่ได้ชอบใจเท่าไรกับประสบการณ์ที่ตัวเองเคยพบกับพรรคการเมืองหรือนักการเมืองรุ่นอาวุโสเหล่านี้ก็มีทางเลือกที่หลากหลาย และทางเลือกที่น่าสนใจก็คือพรรคอนาคตใหม่ด้วย

มีคู่เปรียบคู่เทียบคู่สู้หลากหลาย

รอมฎอน มองว่า พรรคคู่แข่งก็มีหลากหลายมากขึ้นด้วย แต่เดิมการต่อสู้ที่นี่จะเป็นการต่อสู้ที่ชัดเจนมากคือว่า เป็นการสู้กันระหว่างกลุ่มวาดะห์กับพรรคประชาธิปัตย์ และผลของการต่อสู้ตลอด 15 ปี หรือว่าก่อนหน้านั้นก็ไม่มีใครเรียกได้ว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ แม้ได้รับการเลือกตั้งแต่ก็อยู่ไม่ได้นาน มีเพียงบางเขตเลือกตั้งเท่านั้นที่จะมีลักษณะที่ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามพื้นที่นี้มีลักษณะพิเศษที่ไม่อาจบอกได้ว่าเป็นพื้นที่ของใคร แต่เดิมเป็นการต่อสู้ของ 2 กลุ่มการเมือง แต่ในครั้งนี้เป็นการสู้กันที่มีคู่เปรียบคู่เทียบคู่สู้หลากหลาย ในบางเขตอาจเป็นพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์ บางเขตก็เป็นพรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาชาติ บางเขตเป็นพรรคประชาชาติกับพรรคพลังประชารัฐ จึงมีคู่เปรียบที่หลากหลายเพราะเสียงแตกกันและผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็สะท้อนสิ่งนี้คือมีความหลากหลายตามไปด้วย สูตรที่ได้คือ 6 3 2 2 คือ 6 ที่นั่งจากพรรคประชาชาติ 3 ที่นั่งจากพรรคประชารัฐ 2 ที่นั่งจากพรรคภูมิใจไทยและ 2 ที่นั่งจากพรรคประชาธิปัตย์

ประชาธิปัตย์กระแสลงและแตก

กระแสลงของพรรคประชาธิปัตย์นั้น รอมฎอน กล่าวว่า ก็ทำให้เขายึดครองพื้นที่ได้ 2 เขต และถือได้ว่าน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ ด้วยเหตุที่มีความขัดแย้งภายในและแตกเป็นพรรคต่างๆ เช่น พรรครวมพลังประชาชาติไทย และมีพรรคพลังประชารัฐเข้ามาอีก  จึงทำให้เสียงมันแตก เขาก็ครองได้ในที่ที่เป็นฐานที่มั่นจริงๆ คือ เขต 1 จ.ปัตตานี และเขต 8 อ.จะนะและ อ.เทพา จ.สงขลา และมีบางเขตที่ ส.ส.เก่าไม่สามารถลงเลือกตั้งได้ คือเขต 1 ยะลา จึงต้องหลุดให้กับคนหน้าใหม่ๆ ในพรรคที่ทรงอิทธิพลอย่างพรรคพลังประชารัฐ

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนอย่างเห็นได้ชัดคือใน 13 เขตส่วนใหญ่ หรือหากเอาเพียง 3 จังหวัดชายแดนใต้ 11 เขต ถือได้ว่า ส.ส.ที่ได้เป็นคนมลายูมุสลิมทั้งหมดเลย ผลคะแนนมันสะท้อนความคิดของพฤติกรรมการเลือกที่สะท้อนออกมาผ่านตัวแทนของพวกเขาที่ยังโยงกับเรื่องอัตลักษณ์ เรื่องวิถีวัฒนธรรม และก็สะท้อนมาจากการเลือกผู้สมัคร ส.ส.ของแต่ละพรรคด้วย

เดิมการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ก็จะมีผู้สมัครที่ไม่ใช่มุสลิมได้รับเลือกตั้งด้วย เว้นในเขต จ.สงขลาที่ในรอบนี้ในเขต 7 อ.สะบ้าย้อย, อ.นาทวี และอ.สะเดา (เฉพาะ ต.สำนักแต้วและ ต.สำนักขาม) ที่เป็นชาวไทยพุทธ ที่เหลือ 12 เขตเป็นมุสลิมและส่วนใหญ่ความเป็นมุสลิมนั้นก็เป็นชาวมลายู นี่เป็นภาพรวมคร่าวๆ

ผลการเลือกตั้งต่อสถานการณ์ในพื้นที่

รอมฎอน มองว่า ไม่มากก็น้อยคาดว่าเปลี่ยนแน่ๆ ไม่ว่าพรรคประชาชาติจะได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม แต่คิดว่าการมี ส.ส.และมีกลไกของรัฐสภาน่าจะเปลี่ยนเกมหลายอย่างเลยโดยเฉพาะการกำหนดนโยบายของภาครัฐที่เดิมเรามีรัฐบาลทหารมา 4-5 ปี และยังมีกลไก มาตรการ นโยบายมากมาย แผนบูรณาการในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ กำลังและงบประมาณที่อาจจะขาดด้อยเรื่องของการตรวจสอบถ่วงดุลไป อย่างน้อยการมีรัฐสภาและเสียงของ ส.ส.ที่นี่ที่เป็นชาวมลายูมุสลิม แม้จะต่างพรรคกัน

หากพรรคประชาชาติได้ร่วมรัฐบาล อำนาจต่อรองของเขาก็น่าจะมีน้ำมีเนื้อที่จะทำให้เขาสามารถต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีบางส่วนได้ และน่าเชื่อว่าเป็นรัฐมนตรีที่มีส่วนในการกำกับดูแลทิศทางที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ด้วย ความเป็นก้อนแบบนี้มันค่อนข้างมีน้ำหนัก ประกอบกับหัวหน้าพรรค (วันมูหะมัดนอร์ มะทา)และหากเลขาธิการพรรค (ทวี สอดส่อง)ได้ขึ้นมาด้วยก็จะได้เห็น ส.ส.ที่เป็นทั้งคนในพื้นที่และคนที่มีความเชี่ยวชาญอย่างที่เขาประกาศ มีประสบการณ์ในการทำงานคลี่คลายปัญหาในพื้นที่มาก่อน

ส่วนข้อที่เป็นความท้าทายคือคาดการณ์ได้ว่าทิศทางของพรรคประชาชาติคงจะมีแรงเสียดทานจากฝ่ายความมั่นคงแน่นอน คงจะไม่ง่ายที่จะผลักดันอะไรได้อย่างง่ายดาย แต่กลไกการเมืองแบบรัฐสภาและการบังคับบัญชาในองค์กรต่างๆ ที่เป็นฝ่ายบริหารก็น่าจะทำให้การตัดสินใจผลักดันปฏิบัติการหรือการดำเนินการบางอย่างมีความรอบคอบรัดกุมมากขึ้น แต่เดิมในยุคทหาร คสช.ให้ฝ่ายความมั่นคงน่าจะคุมเบ็ดเสร็จ รอบนี้ก็จะมีนักการเมืองที่จะเข้าไปสร้างความสมดุลได้

รวมทั้งการพูดคุยสันติภาพ ทวี สอดส่อง ก็มีประสบการณ์ในเรื่องของการพูดคุย หากพรรคประชาชาติได้รวมกับพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ที่มีแนวทางที่เกี่ยวกับชายแดนใต้ค่อนข้างสอดคล้องต้องกันก็เข้าใจว่าหลายเรื่องจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการพูดคุยสันติภาพ และการพยายามคิดหาทางออกทางการเมืองในทิศทางอื่นที่อาจจะแตกต่างในยุค คสช.

ภาพรวมของ ปชป.ที่สูญเสียหลายพื้นที่ทั้ง กทม. ภาคใต้และชายแดนใต้

รอมฎอน กล่าวว่า หากมองจากชายแดนใต้ขึ้นไปเราเห็นข้อต่างคือการต่อสู้ทางการเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ต่างจากการเมืองส่วนข้างบน หากดูเพียง 3 จังหวัดขึ้นไปคงต้องบอกว่าจริงๆ แล้ว พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ สำหรับคนในพื้นที่มีบางส่วนที่อาจจะยึดติดกับพรรคที่เป็นฐานมวลชนของพรรค แต่สำหรับชาวมลายูมุสลิมพฤติกรรมในการเลือกตั้งของเขาจะถือตัวบุคคลและเครือข่ายของบรรดาหัวคะแนนมากกว่าจึงขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละครั้งพรรคประชาธิปัตย์ส่งใครมาลงสมัครรับเลือกตั้ง เห็นได้ชัดว่าอย่างอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ย้ายพรรคไปพรรครวมพลังประชาชาติไทยก็ถือว่าเป็นเจ้าของพื้นที่เดิม แต่ในท้ายที่สุดไม่ได้รับการเลือกตั้ง

จะบอกว่าความขัดแย้งในระดับชาติและความขัดแย้งในระดับภายในของพรรคก็มีส่วนในการที่จะทอนกำลัง นี่คือปัจจัยที่หนึ่ง ส่วนปัจจัยที่สอง มี ส.ส.บางคนที่ยึดเก้าอี้นี้มานานแต่ไม่สามารถที่จะลงแข่งขันได้อย่างคุณประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ ในเขต 1 จ.ยะลา (ศาลสั่งอดีต ส.ส.ยะลา ปชป.‘ประเสริฐ’ล้มละลาย หนี้ 131 ล. ตามรอย 17 นักการเมือง - 17 ก.ค.59, สำนักข่าวอิศรา) พรรคประชาธิปัตย์ก็จะเป็นอีกเขตหนึ่งที่มีปัญหา ส่วนที่ได้มาในเขต 1 จ.ปัตตานี ก็เป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน เข้าใจว่าได้มา 2 สมัยแล้ว ขณะที่เขต 2 ก็สูญเสียให้กับพรรคพลังประชารัฐ

ข้อสรุปโดยรวมคือท่าทีการเมืองระดับชาติอาจจะไม่ได้มีผลมากต่อการตัดสินใจของคนแต่มันอยู่ที่ตัวบุคคลในระดับพื้นที่เป็นปัจจัยระดับพื้นที่มากกว่า แม้ในระดับชาติจะเกิดวิกฤตการณ์ อย่างไรก็ตามหากข้างในพรรคสามารถเคลียร์กันได้และมีคนลงเป็นคนเก่าที่เคยถือที่นั่งนี้มาก่อนก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่พรรคประชาธิปัตย์จะสามารถได้รับเลือกตั้ง แต่รอบนี้ทั้งคู่แข่งที่หลากหลายและถูกทอนกำลัง คนเก่าที่เคยได้รับเลือกตั้งก็ไม่ได้ลง ปัจจัยหลายอย่างที่ซ้อนๆ กันจึงทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เพียง 2 ที่นั่งในพื้นที่นี้ คือ อ.จะนะ จ.สงขลา และเขต 1 จ.ปัตตานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net