นัดสุดท้าย 'จตุพร-ณัฐวุฒิ' ขึ้นศาลคดีก่อการร้ายช่วงสลายชุมนุม นปช.53 นัดฟังคำพิพากษา 14 ส.ค.นี้ 

'จตุพร-ณัฐวุฒิ' ขึ้นศาลอาญาคดีก่อการร้ายช่วงสลายชุมนุม นปช.ปี 53 เผยเป็นพยานจำเลย 2 ปากนัดสุดท้าย มั่นใจใช้สิทธิตาม รธน.เรียกร้องยุบสภา เชื่อยุติธรรมเกิดในแผ่นดินนี้ นัดฟังคำพิพากษา 14 ส.ค.นี้ ขณะที่ ทนายวิญญัติ-อานนท์ โพสต์ภูมิใจที่ร่วมสู้ในคดีนี้มา 9 ปี

26 เม.ย.2562 PEACE NEWS รายงานว่า วันนี้ ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานจำเลยนัดสุดท้าย 2 ปากในคดีก่อการร้าย โดยพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ประกอบด้วย วีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. พร้อมด้วยแกนนำ เหวง โตจิราการ ก่อแก้ว พิกุลทอง ยศวริศ ชูกล่อม อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อดีตแกนนำ และแนวร่วม นปช. กับพวกรวม 24 คน

โดยจำเลยทั้ง 24 คนถูกฟ้องในความผิดร่วมกันก่อการร้าย ตามประมวลกฏหมายอาญา ม.135/1, ม.135/2 และร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา ให้ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตาม ม.116, 215, 216 และร่วมกันชุมนุม ฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 รวม 6 ข้อหา

ต่อมา หลังจากไต่สวนพยานจำเลย 2 ปากสุดท้ายเสร็จสิ้นลงแล้ว ศาลกำหนดวันฟังคำพิพากษาคดีนี้ ในวันที่ 14 ส.ค. 2562 เวลา 9.00 น. โดยให้คู่ความยื่นคำแถลงปิดคดีส่งศาลภายใน 45 วันนับจากวันนี้

สำหรับดคีนี้ ฝ่ายโจทก์อ้างว่า เหตุเกิดช่วงจำเลยยุยงปลุกปั่นประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.- 20 พ.ค.2553 เพื่อกดดันต่อต้านรัฐบาล และบังคับขู่เข็ญ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ให้ประกาศยุบสภา

จตุพร ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้พยานจำเลย 2 คนคือตัวเองกับณัฐวุฒิ จะเป็นสองปากสุดท้ายและยุติการสอบสวน หลังจากนั้นศาลจะนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้ง

“ในระยะเวลาที่ผ่านมา ทุกคนมีเจตนาที่จะต่อสู้และยึดแนวทางประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขเท่านั้น ไม่ยึดระบบอื่น ในขณะนั้นก็ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา ดังนั้นเรื่องราวอื่นๆที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาได้ชี้แจงเป็นรายลักษณ์อักษรกันหมดทุกคน และมีการซักถามตอบกลับเป็นจำนวนหลายครั้ง” จตุพร กล่าวด้วยความมั่นใจในความบริสุทธิ์ และเชื่อว่าสุดท้ายกระบวนการยุติธรรมจะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในแผ่นดินรัชกาลที่ 10 นี้

วิญญัติ ชาติมนตรี หนึ่งในทีมทนายโพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คหลังไต่สวนเสร็จด้วยว่า วันนี้จำเลยในคดีก่อการร้ายทั้ง 24 คน เดินทางมาศาลครบทุกคน ซึ่งเป็นนัดสืบพยานนัดสุดท้าย ฝ่ายจำเลยอ้างพยานที่ยังเหลือเป็นตัวจำเลย 2 ปาก คือ จตุพร และณัฐวุฒิ ส่วนพยานหมายที่ฝ่ายจำเลยยังติดใจสืบพยานอีก 10 ปากศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาเพียงพอต่อการวินิจฉัยแล้ว หากให้ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบอีก ก็ไม่ได้ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป ศาลจึงให้งดสืบพยานจำเลย

"มหากาพย์คดีชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองในประเทศไทย ที่เป็นผลมาจากการชุมนุมเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาล “ยุบสภา” เท่านั้น แต่อำนาจรัฐขณะนั้นกลับใช้มาตรการทางการทหารและยุทธวิธีการสงครามกับประชาชนที่ชุมนุมอย่างไร้มนุษยธรรม เสียชีวิต 98 คน บาดเจ็บกว่า 2,000 คน ในช่วง เม.ย.-พ.ค. 53 เราทีมทนายความหลายชีวิตยืนหยัดปฏิบัติหน้าที่ร่วมกัน 9 ปีเต็ม เรามุ่งมั่นทำงานด้วยอุดมการณ์และใช้ความรู้ตามจริยธรรมของทนายความ ตั้งแต่นัดแรก ส.ค.53 จวบจนนัดสุดท้ายอย่างภาคภูมิ" วิญญัติ โพสต์

อานนท์ นำภา หนึ่งในทีมทนายความโพสต์ผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวหลังจบการไต่สวนด้วยว่า "9 ปี กับคดีก่อการร้ายที่อัยการฟ้องแกนนำเสื้อแดงและชาวบ้านที่ร่วมชุมนุม จากทนายหำน้อยจนเป็นทนายหำใหญ่ เมื่อวานยกฟ้องไป 3 คน อีก 21 คนศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 14 ส.ค.62  ขอบคุณความไว้เนื้อเชื่อใจ และประสบการณ์จากพี่ๆ ทุกคน" 

ทั้งนี้ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช. ปี 53 แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่ม 10 เม.ย.นั้น มีคำสั่งศาลในการไต่สวนการตายมาแล้วว่าผู้ตายถูกกระสุนจากฝั่งทหาร เช่น เกรียงไกร คำน้อย หรือ จรูญ ฉายแม้น เป็นต้น  ส่วนกลุ่ม พ.ค.53 นั้นมีหลายศพที่ศาลมีคำสั่งว่าผู้ตายถูกกระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่เช่นกัน หรือในส่วนของ 6 วัดปทุมฯ ศาลสั่งว่าถูกกระสุนจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ คดี 6 วัดปทุมวนาราม ศาลมีคำสั่งในการไต่สวนการเสียชีวิตตั้งแต่ 6 ส.ค.2556 แล้ว ว่า สุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1, อัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคําแห่ง ผู้เสียชีวิตที่ 2, มงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ผู้เสีย ชีวิตที่ 3, รพ สุขสถิต อายุ 66 ปี อาชีพพนักงานขับ รถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4, กมนเกด ฮัคอาด อายุ 25 ปี อาชีพพยาบาลอาสา ผู้เสียชีวิตที่ 5, และ อัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้เสียชีวิตที่ 6 โดยทั้ง 6 ศพ ถูกยิงเสียชีวิตที่วัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. สมัย อภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ศาลสั่งว่าผู้ตายที่ 1,3-6 ถึงแก่ความตายเนื่องจากกระสุนปืน .223 จากทหารกองพันจู่โจมพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี ที่ประจำอยู่บริเวณรางรถไฟฟ้า BTS หน้าวัดปทุมฯ ขณะเกิดเหตุ ส่วนผู้ตายที่ 2 ตายจากกระสุน .223 จากกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ที่ประจำการอยู่บริเวณถนนพระราม 1 ช่วงเกิดเหตุ ภายใต้คำสั่งของ ศอฉ.  และผลการตรวจจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ไม่พบร่องรอยการยิงปืนของมือทั้ง 6 ศพ จึงเชื่อว่าทั้ง 6 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อาวุธปืน รวมทั้งขณะเกิดเหตุมีด่านเจ้าหน้าที่ตรวจค้นอาวุธแน่นหนา 

นอกจากนี้ ภายหลังการอ่านคำสั่งในวันนั้น ผู้สื่อข่าวประชาไทยังรายงานด้วยว่า ศาลกล่าวสรุปประเด็นให้ผู้ที่เข้าร่วมฟังด้วยว่า 1.เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานทหาร 2.ผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่มือทั้งสองข้าง แสดงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนมาก่อน 3.การตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมวนาราม ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดจริง และ 4.กรณีชายชุดดำ ไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าว โดยศาลมีคำสั่งในครั้งนั้นให้นำคำสั่งนี้ส่งต่อให้พนักงานอัยการ เพื่อดำเนินการต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท