Skip to main content
sharethis

รัฐบาลจาซินดา อาร์เดิร์น ของนิวซีแลนด์ประกาศแผนงบประมาณปีล่าสุดโดยเน้นเรื่อง "ความเป็นอยู่ที่ดี" ซึ่งฉีกแนวทางเดิมๆ ในการมองเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชนในหลายประเทศที่มักจะเน้นใช้จีดีพีมาเป็นมาตรวัดเท่านั้น ทั้งที่มีการถกเถียงกันมาสักระยะหนึ่งแล้วว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นไม่ได้สะท้อนปัญหาอื่นๆ อย่างความเหลื่อมล้ำหรือปัญหาด้านคุณภาพชีวิตต่างๆ

ภาพกรุงเวลลิงตัน เมืองหลวงนิวซีแลนด์ (ที่มา:pixabay)

13 มิ.ย. 2562 "เรื่องเศรษฐกิจกำลังบูมนั้นถือเป็นมาตรวัดอย่างเดียวสำหรับคุณภาพชีวิตในประเทศหนึ่งๆ หรือไม่" คือคำถามจากกองบรรณาธิการของสื่อคริสเตียนไซเอนซ์มอนิเตอร์ (CSmonitor) ในบทบรรณาธิการเกี่ยวกับแผนนโยบายของประเทศนิวซีแลนด์ที่เน้นเรื่องสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนเป็นหลัก

CSmonitor ระบุว่าคำถามดังกล่าวนี้มีการนำมาถกเถียงอภิปรายกันอย่างจริงจังในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีนักวิจารณ์ค้นพบว่ามาตรวัดด้านการเงินอย่างผลผลิตมวลรวมประชาชาติหรือ "จีดีพี" (GDP) นั้นไม่เหมาะสมกับการนำมาใช้วัดสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของคนในประเทศนั้นๆ ทำให้มีการพยายามนำเอามาตรวัดอื่นๆ มาใช้ไม่ว่าจะเป็นรายงานความสุขโลกประจำปีและเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติอย่างไรก็ตามในช่วงปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมารัฐบาลนิวซีแลนด์ที่นำโดยนายกรัฐมนตรีหญิง จาซินดา

อาร์เดิร์น ได้ออกแบบงบประมาณซึ่งเป็นครั้งแรกของโลกที่เรียกว่า "แผนงบประมาณสภาพความเป็นอยู่ที่ดี" (wellbeing budget) โดยกำหนดให้การเสนองบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ของรัฐบาลในส่วนนี้จะต้องอยู่ในเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง 5 เป้าหมาย ได้แก่ การสนับสนุนด้านสุขภาพจิต (รวมถึงการที่มีคนฆ่าตัวตายน้อยลง) การลดปัญหาความยากจนในเด็ก การช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยเช่นชาวเมารีหรือชาวเกาะแปซิฟิก การพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือการปรับเปลี่ยนไปสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างสำเร็จลุล่วง

"พวกเราเคยบอกว่าพวกเราจะเป็นรัฐบาลที่ทำในสิ่งที่ต่างออกไป และสำหรับงบประมาณชุดนี้ พวกเราก็ได้ทำในสิ่งที่ต่างออกไปแล้ว...ในวันนี้พวกเราได้วางรากฐานให้กับสิ่งที่ไม่เพียงแค่เป็นงบประมาณด้านสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี แต่รวมไปถึงแนวทางการตัดสินใจของรัฐบาลที่ต่างออกไปด้วย" อาร์เดิร์น กล่าว

แกรนต์ โรเบิร์ตสัน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของนิวซีแลนด์ที่นำเสนอนโยบายนี้ผ่านทางวิดีโอร่วมกับอาร์เดิร์นกล่าวว่าพวกเขาต้องการทำให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจของประเทศพวกเขาจะเติบโตในรูปแบบที่ยั่งยืน เขายังบอกอีกว่าการที่กำหนดแนวทางการใช้งบประมาณเพื่อเน้นเรื่องการสนับสนุนครอบครัวคนทำงานและคนที่มีรายได้น้อยกับการเน้นความเป็นอยู่ที่ดีของคนที่เคยมีอำนาจทางการเมืองน้อยมาก่อนจะเป็นกุญแจสำคัญในการใช้วัดความสำเร็จของประเทศนิวซีแลนด์ในช่วงไม่กี่ปีถัดจากนี้แทนการใช้แค่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม "ความสำเร็จคือการที่ทำให้นิวซีแลนด์กลายเป็นทั้งสถานที่ๆ ดีที่จะหาเลี้ยงชีพ และเป็นสถานที่ๆ ยอดเยี่ยมในการใช้ชีวิต" โรเบิร์ตสันกล่าว

บท บก. ของ CSmonitor ระบุว่าถึงแม้การเติบโตของ GDP จะเกี่ยวพันกับการเติบโตของความมั่งคั่งและความเป็นอยู่ที่ดีได้ในบางส่วน แต่ GDP ก็ไม่ได้สะท้อนให้เห็นว่ายังคงมีปัญหาเรื่องรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันเช่นในประเทศสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ จึงทำให้น่าสงสัยว่า GDP สะท้อนแค่ความเป็นอยู่ที่ดีของคนที่มีอภิสิทธิ์เพียงบางกลุ่มแต่ไม่ได้เห็นภาพรวมเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน

สำหรับรัฐบาลปัจจุบันของนิวซีแลนด์ งบประมาณด้านความเป็นอยู่ที่ดีไม่ได้ละเลยเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่อาร์เดิร์นก็กล่าวไว้ว่า "แค่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้นำประเทศไปสู่ความยิ่งใหญ่" อาร์เดิร์นยอมรับว่าถึงแม้เศรษฐกิจของนิวซีแลนด์จะเข้มแข็ง แต่ก็ยังคงเผชิญกับปัญหาสังคมหลายด้านไม่ว่าจะเป็นปัญหาการฆ่าตัวตาย ปัญหาคนไร้บ้าน ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาความยากจนในเด็ก

แผนงบประมาณของอาร์เดิร์นถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ฝ่ายซ้ายมองว่ามันไปไม่สุดเพราะยังไม่มีการขึ้นภาษีกำไรส่วนทุนที่จะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ขณะที่ฝ่ายขวากลางวิจารณ์ว่าแผนงบประมาณนี้เป็นแค่ "การโฆษณารณรงค์ทางการตลาด" ที่เบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในอนาคต

ทั้งนี้ ในเรื่องนิยามที่ว่าอะไรคือความสุขหรือความเป็นอยู่ที่ดีนั้นยังคงเป็นเรื่องเถียงกันไม่จบ แม้กระทั่งสิ่งที่โทมัส เจฟเฟอร์สัน บุคคลในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เคยพูดถึงวลีดังที่ว่า "การได้ไล่ตามหาความสุข" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกาในฐานะสิทธิโดยกำเนิด ก็มีคนตีความในเชิงวิพากษ์ว่าวลีของเจฟเฟอร์สันเป็นแค่คำที่ปั้นให้ดูสวยหรูเอาไว้พูดถึงการไล่ตามความมั่งคั่งเท่านั้น แต่การตีความนี้จะถูกต้องจริงหรือ หรือเจฟเฟอร์สันเองก็คำนึงถึงเรื่องการคิดเผื่อคนอื่น และความพึงพอใจในระดับลึกซึ้งของมนุษย์ แบบที่รัฐบาลควรจะเล็งเห็นในเรื่องนี้ด้วย

บท บก. CSMonitor สรุปว่า ไม่ว่าทางเลือกของนิวซีแลนด์จะเป็นทางเลือกที่ถูกต้องและได้ผลในแง่ความเป็นอยู่ที่ดีหรือไม่ก็ตาม แต่การทดลองเลือกไปในทางนี้ถือเป็นบทเรียนสำหรับที่อื่นๆ ได้ ถึงแม้ว่าประเทศนิวซีแลนด์จะเป็นประเทศเล็กๆ อยู่บนเกาะที่ห่างไกล และมีประชากรอยู่น้อยกว่า 5 ล้านคน แต่ก็เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยเบ่งบานโดยพยายามผสมกลมกลืนทั้งประชากรที่มาจากยุโรปและประชากรชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นความท้าทายสำหรับประเทศอื่นๆ อีกจำนวนมาก นั่นทำให้การทดลองที่ยิ่งใหญ่ของประเทศเล็กๆ เกี่ยวกับงบประมาณด้านความเป็นอยู่ที่ดีนี้ สมควรได้รับการจับตามองจากที่อื่นๆ ของโลก

เรียบเรียงจาก

Centering a nation’s budget on 'well-being’, The Christian Science Monitor, Jun. 10, 2019

Applause for New Zealand 'Wellbeing Budget' That Dedicates Billions to Mental Health Care and Ending Child Poverty, Common Dreams, May 30, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net