'เพื่อไทย' ชูธงตั้ง 'ส.ส.ร.' ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน แล้วจัดทำประชามติ

พรรคเพื่อไทย เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน ชง ส.ส. เสนอสภาฯแก้ไข รธน.60 บางมาตรา เปิดทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในร่าง รธน.ใหม่ ตั้ง ส.ส.ร. 200 คน  แบ่งตามสัดส่วนประชากรในแต่ละจังหวัด ร่างให้เสร็จภายใน 240 วัน จากนั้น ตั้ง กมธ.ยกร่าง รธน. และทำประชามติ เช่นเดียวกับ ครป. เตรียมผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ

6 ส.ค.2562 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (6 ส.ค.62) ที่พรรคเพื่อไทย โภคิน พลกุล พร้อมด้วย วัฒนา เมืองสุข คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ถึงกรณีความคืบหน้าในการแก้รัฐธรรมนูญ

โภคิน กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญในปัจจุบันสามารถกระทำได้ 3 วิธี คือ 1. การที่คณะรัฐมนตรีเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 2. สมาชิกวุฒิสภาเสนอ และ 3. ประชาชนเข้าชื่อ 50,000 คน ซึ่งในขั้นตอนนี้มีความยุ่งยากและซับซ้อนมาก เพราะต้องมีการตรวจสอบรายชื่อและต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน ซึ่งการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้อยากให้เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เราจึงจะให้ ส.ส. เป็นผู้นำเสนอเข้าสู่สภาฯ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 บางมาตรา เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเลือกตัวแทนของตนในแต่ละจังหวัดให้ได้ทั้งหมดรวมกัน 200 คน แล้วตัวแทน 200 คน จะเป็นผู้ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 29 คน โดยจะประกอบด้วย ประชาชน นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิจากด้านต่างๆ

โภคิน กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเป็นการร่างใหม่โดยประชาชน และผ่านความเห็นชอบโดยประชาชนด้วนการทำประชามติ ทั้งนี้เห็นว่าควรมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มีสมาชิก 200 คน แบ่งตามสัดส่วนของประชากรในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ จากนั้นต้องร่างให้เสร็จภายใน 240 วัน

ขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญ จะกำหนดให้มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาชุดหนึ่ง จำนวน 29 คน แบ่งเป็น ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 15 คน, ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ 5 คน ,ผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ 5 คน ,ผู้มีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน 4 คน เมื่อยกร่างแล้วเสร็จจะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภารัฐธรรมนูญ จากนั้นจึงส่งไปยัง กกต. เพื่อจัดทำประชามติ

วัฒนา กล่าวว่า ถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านประชามติ แต่ก็เป็นการฟังความข้างเดียว จำกัดคนเห็นต่าง ไม่เคารพเจตนารมณ์ประชาชน ไม่มีความเป็นเอกภาพเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ อาจนำพาประเทศไปสู่วิกฤติ เป็นความขัดแย้งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และที่สำคัญยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ถูกกำหนดมาไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

วัฒนา ย้ำว่า เรื่องเศรษฐกิจปากท้องเป็นปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาปากท้อง เพราะการแก้รัฐธรรมนูญเป็นการทำงานของสภาฯ ส่วนการแก้ปัญหาปากท้องประชาชนคืองานของรัฐบาล ซึ่งเป็นคนละส่วนกันกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยจะเป็นผู้ดูแลเนื้อหา เปิดเว็บไซต์ และเวทีสาธารณะ เพื่อเป็นพื้นที่ให้กับประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความต้องการในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

(ที่มา : ไทยพีบีเอส และ เว็บไซต์ PT Cyber Talk)

ครป. เตรียมผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งว่า ครป. เตรียมผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย ครป. ชี้ว่า ปัจจุบันแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง 1) การรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ชูธงเขียวแบบรธน. ปี 2540 เสนอแก้ไขบางมาตราเพื่อผลักดัน ส.ส.ร.แบบปี 2540 มาทำหน้าที่ร่างฉบับใหม่ ซึ่งแนวทางแก้ไขนี้หลังจากผ่านการรับรองจากรัฐสภาตามมาตรา 265 แล้ว ต้องทำประชามติ 

2) ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนคู่ขนาน เพื่อทำงานความคิดกับสังคม เนื่องจากมีการมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยากหากทหารไม่เปิดทาง นายกไม่ตกลง หรือ ส.ว.ไม่เห็นด้วย เพราะ รธน. ต้องใช้เสียง ส.ว.หนึ่งในสาม หรือ 84 เสียงเพื่อรับรอง ดังนั้นไม่ควรไปเดินตามเส้นทางที่รางเลือน และแนวทางที่ 3) ต้องการให้มีการเสนอแก้ไขในบางมาตราที่เป็นไปได้และทำได้จริงภายใต้กติกาที่ไม่เป็นธรรมในปัจจุบัน โดยการแก้ไขนั้นไม่จำเป็นต้องทำประชามติตามรธน. เพราะถ้าหากการแก้ไขไม่เกี่ยวข้องกับหมวดการแก้ไขรธน., หมวดพระมหากษัตริย์ และหมวดโครงสร้างหน้าที่องค์กรอิสระต่างๆ ก็ไม่จำเป็นต้องทำประชามติหรือผ่านกลไกที่ คสช.ล็อคไว้ 8 ชั้น 9 วรรค เช่น การเสนอให้แก้ไขให้การเลือกนายกฯ มาจาก "สภาผู้แทนราษฎร" แทนที่คำว่า "รัฐสภา" เป็นต้น ฯลฯ

ครป. ในฐานะที่มีบทบาทในการรณรงค์แก้ไข รธน. ให้เป็นประชาธิปไตย มาตั้งแต่ปี 2522 และช่วงแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2538-2540 จึงได้ร่วมผลักดันให้มีการรวมตัวกันของภาคประชาชนทุกฝ่ายจัดครั้งคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขรธน.60 ภาคประชาชนขึ้น เพื่อขับเคลื่อนร่วมกันไม่ว่ามีความคิดทางการเมืองแตกต่างหลากหลายแต่ถ้าเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญก็ร่วมกันได้หมด 

ก่อนหน้านี้มีการประชุมร่วมกันเพื่อวางแนวทางเคลื่อนไหว ทั้ง ครป. ทั้งกลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย, กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ฯลฯ เป็นต้น เห็นร่วมกันเพื่อรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะยากเพียงไหนก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญต้องรับใช้ปัญหาปากท้องของประชาชน และจัดวางความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เป็นธรรม ไม่ใช่เหลื่อมล้ำทางอำนาจและเศรษฐกิจแบบเช่นทุกวันนี้

โดยเครือข่ายคณะกรรมการรณรงค์แก้ไข รธน.60 ภาคประชาขน จะส่งผู้แทนไปยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภาแห่งใหม่ที่เกียกกาย ในวันพรุ่งนี้ (7 ส.ค.) เวลา 11.00 น. เพื่อแสดงเจตจำนงค์ขอริเริ่มแก้ไขรธน.ตามกลไกและกระบวนการตามรธน.ที่บัญญัติไว้ หลังจากนั้นจะมีการเคลื่อนไหวรณรงค์ทั่วประเทศต่อไป โดยมีคณะกรรมการภูมิภาคช่วยดูแลรณรงค์

ในส่วนของครป. จะมีการประชุมใหญ่ 4 ทศวรรษ ครป. ที่จะเชิญที่ปรึกษาและเครือข่ายภาคประชาชนที่เคยร่วมขับเคลื่อนสังคมมากว่า 40 ปี มาร่วมกันปรึกษาหารือและหาทางออกของประเทศ มองสถานการณ์บ้านเมือง และหาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกัน ในวันที่ 17 ส.ค.นี้ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เพื่อวางแนวทางเคลื่อนไหวทั่วประเทศ เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ใช่ของใครกลุ่มหนึ่งหรือเพื่อพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่งเท่านั้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท