Skip to main content
sharethis


ที่มาภาพประกอบ: Mr.TinDC (CC BY-ND 2.0)

รัฐบาลอินโดนีเซียสั่งตัดอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ปาปัวตะวันตก หลังจากที่มีการเพิ่มกำลังทหารและตำรวจในพื้นที่เพื่อปราบปรามผู้ประท้วง โดยที่ โจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียแถลงเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมาว่าปาปัวตะวันตก "กลับสู่สภาวะปกติแล้ว" แต่ผู้ประท้วงให้สัมภาษณ์โต้แย้งว่าพวกเขาจะยังคงชุมนุมต่อไป การประท้วงรอบล่าสุดในอินโดนีเซียเกิดขึ้นหลังจากที่เจ้าหน้าที่ทางการใช้กำลังบุกจับกุมและยิงแก็สน้ำตานักศึกษาชาวปาปัวรวมถึงเรียกเหยียดเชื้อชาติพวกเขาว่าเป็น "พวกลิง"

มีการประท้วงต่อต้านในปาปัวตะวันตกและหลายพื้นที่ของอินโดนีเซียหลังจากที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจับกุมและเหยียดเชื้อชาตินักศึกษาชาวปาปัว โดยที่เจ้าหน้าที่เรียกนักศึกษาชาวปาปัวว่าเป็น "พวกลิง" และบุกเข้าไปยิงแก็สน้ำตารวมถึงจับกุมตัวพวกเขา เรื่องนี้ทำให้เกิดความไม่พอใจจนมีผู้ประท้วงในหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นจาการ์ตา บาหลี และ หลายเมืองในปาปัว

ในการประท้วงที่ปาปัวตะวันตกซึ่งดำเนินมาเป็นเวลาปลายวันแล้วจนกลายเป็นความรุนแรงที่มีเหตุการณ์ระปะทะกันระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุมในวันที่ 21 ส.ค. รวมถึงมีการเผาตลาด ตู้เอทีเอ็ม และร้านค้า โดยที่ตำรวจใช้แก็สน้ำตายิงใส่ผู้ชุมนุม รวมถึงมีการจับกุมผู้ชุมนุมแล้ว 45 ราย ทั้งนี้ฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซียยังได้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าไปในพื้นที่มากกว่า 1,000 นาย และทำการตัดอินเทอร์เน็ต โดยที่เดอะการ์เดียนระบุว่าการประท้วงในครั้งนี้เป็นการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีของพื้นที่นี้

โจโค วิโดโด กล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ว่าทางการอินโดนีเซียมีปฏิบัติการต่อการชุมนุมด้วยการส่งกองกำลังเสริมไปในพื้นที่ปาปัวและปาปัวตะวันตกรวมถึงให้สัญญาว่าจะมีปฏิบัติการต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติสีผิวซึ่งเป็นชนวนเหตุให้เกิดการประท้วงในครั้งนี้ ทั้งนี้กระทรวงการสื่อสารแถลงก่อนหน้านี้ว่าสาเหตุที่พวกเขาตัดอินเทอร์เน็ตในพื้นที่เพราะต้องการสกัดกั้นข่าวปลอมแต่นักกิจกรรมแสดงความกังวลว่าการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นการสกัดกั้นการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในช่วงที่มีเหตุการณ์วุ่นวาย ซึ่งทางการเปิดเผยว่าพวกเขาปิดกั้นอินเทอร์เน็ตเป็นการชั่วคราวเพื่อ "เร่งกระบวนการทำให้เกิดความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย" และคำสั่งปิดอินเทอร์เน็ตนี้จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ "จนกว่าสถานการณ์ในปาปัวจะกลับมาดำเนินไปได้อย่างปกติ"

อย่างไรก็ตามการปิดอินเทอร์เน็ตในครั้งนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กร "เครือข่ายเพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" (SAFEnet) ที่เรียกร้องกดดันให้รัฐบาลยกเลิกการสั่งปิดอินเทอร์เน็ตในครั้งนี้ โดยที่ดามาร์ จูนีอาร์โต ผู้อำนวยการบริหารของ SAFEnet กล่าวว่าการสั่งปิดอินเทอร์เน็ตในครั้งนี้อาจจะเป็นการที่รัฐบาลละเมิดกฎหมายของประเทศตัวเอง จากการที่พวกเขาขัดขวางไม่ให้ผู้คนสามารถทำงานได้และนับเป็น "ความล้าหลังต่อประชาธิปไตย" ซึ่งถือเป็น "การละเมิดกฎหมายอย่างร้ายแรง"

ทั้งนี้ ยังมีการชุมนุมในพื้นที่อื่นๆ อย่างจากาตาร์ที่แสดงความไม่พอใจต่อเหตุเหยียดเชื้อชาติที่เกิดขึ้น โดยที่ประชาชนในจากาตาร์ชุมนุมที่หน้าอาคารกระทรวงกิจการภายในและหน้าศูนย์บัญชาการทหารของอินโดนีเซียถือป้ายข้อความระบุว่า "ชาวปาปัวไม่ใช่พวกลิง" มีผู้ประท้วงรายหนึ่งกล่าวว่าพวกเขาขอประณามเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุในการจับกุมชาวปาปัวที่สุบารายา และขอให้มีการดำเนินการทางกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่ๆ ก่อเหตุจับกุมและพูดเหยียดเพศต่อเพื่อนของพวกเขา

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าในการชุมนุมครั้งนี้หลายคนสวมเสื้อผ้าตามประเพณีของชาวปาปัวขณะที่บางคนก็เปลือยท่อนบน มีผู้ประท้วงบางส่วนที่ใช้สัญลักษณ์รูป "ดาวประกายพรึก" ที่เป็นสัญลักษณ์เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องอิสรภาพของปาปัวด้ววย


เรียบเรียงจาก
West Papua protests: Indonesia deploys 1,000 soldiers to quell unrest, cuts internet, The Guardian, 22-08-2019
https://www.theguardian.com/world/2019/aug/22/west-papua-protests-indonesia-deploys-1000-soldiers-to-quell-unrest
West Papua: Indonesia claims province has 'returned to normal' amid internet blackout, The Guardian, 23-08-2019
https://www.theguardian.com/world/2019/aug/23/west-papua-indonesia-claims-province-has-returned-to-normal-amid-internet-blackout
Indonesia blocks internet in West Papua as protest rages, Aljazeera, 23-08-2019
https://www.aljazeera.com/news/2019/08/indonesia-blocks-internet-west-papua-protest-rages-190822022809234.html
Protests against racial abuse of Papuans kick off in Jakarta, The Jakarta Post, 22-08-2019
https://www.thejakartapost.com/news/2019/08/22/protests-against-racial-abuse-of-papuans-kick-off-in-jakarta.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net