การดูดกลืนชาวแคชเมียร์ด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมสุดโต่งและความรุนแรงทางทหารของอินเดีย

รายงานสถานการณ์ใน 'จัมมูและแคชเมียร์' หลังรัฐบาลอินเดียยกเลิกมาตรา 370 ในรัฐธรรมนูญ ยกเลิกสถานภาพพิเศษเปิดทางรัฐบาลกลางเข้าควบคุมกิจการในแคว้น ตัดสิทธิพิเศษชาวแคชเมียร์ในพื้นที่ตนเอง ย้อนดูการเปลี่ยนแคว้นแคชเมียร์ให้เป็นคุกขนาดใหญ่ของโลก การก่อตัวของอุดมการณ์ชาตินิยมฮินดูสุดขั้วของอินเดีย และการดูดกลืนชาวแคชเมียร์ด้วยความรุนแรงทางทหาร

ภาพทหารในพื้นที่แคชเมียร์ (ที่มา : แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล)

  • นักรัฐศาสตร์ชี้รัฐบาลอินเดียบั่นทอนความเป็นพลเมืองและสถานะการปกครองตนเองของชาวแคชเมียร์และจัมมู สะท้อนให้เห็นถึงความถดถอยของระบอบประชาธิปไตย และก่อรูประบอบคณาธิปไตยขึ้นมาภายใต้พรรครัฐบาลคือพรรคภารติยะ ชนตะ
  • ความเป็นเผด็จการของนายกฯอินเดียก่อความกังวลในอนาคตของภูมิภาค เหตุมักใช้กองกำลังทหารสร้างความกลัวให้แก่ประชาชนคนธรรมดาที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนาอยู่ 
  • ความแข็งแกร่งของเผด็จการในประเทศใดประเทศหนึ่งจะเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่เผด็จการในที่อื่น ขณะที่อินเดียมีรากเหง้าของการเป็นอาณานิคม เมื่อได้รับเอกราชได้สร้างความขัดแย้งด้านอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติศาสนาในภูมิภาคนี้มาโดยตลอด 

ท่ามกลางการเฉลิมฉลองวันประกาศอิสรภาพของอินเดียซึ่งครบรอบ 73 ปีในวันที่ 15 สิงหาคม 2562 ที่เสียงดังอึกทึกไปทั่วนั้น กลบเสียงของประชาชนในแคว้นแคชเมียร์ให้เงียบงัน เพราะผู้นำอินเดียเปลี่ยนดินแดนแห่งนี้ให้เป็นค่ายกักกันขนาดใหญ่ โดยปิดถนน ปิดกั้นช่องทางการสื่อสารทั้งหมดและใช้โดรนสอดแนมประชาชน 7 ล้านคน รัฐบาลได้ตัดขาดประชากรส่วนนี้ทั้งหมดออกจากส่วนที่เหลือของโลกได้อย่างง่ายดายมาเป็นเวลาหลายวันแล้ว

การเปลี่ยนแคว้นแคชเมียร์ให้เป็นคุกขนาดใหญ่ของโลก

เมื่อรัฐจัมมูและแคชเมียร์ถูกกองกำลังทหารของอินเดียบุกยึดพื้นที่ สำนักข่าว Dawn ปากีสถาน (ในบทบรรณาธิการ Resistance of IHK) ได้รายงานว่า หลังจากที่รัฐบาลนายนาเรนดรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียยกเลิกสถานะพิเศษของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ตามมาตรา 370 ในรัฐธรรมนูญก็เกิดการต่อต้านของประชาชน เนื่องจากนายโมดี นายกฯอินเดีย สั่งกองกำลังทหารให้เข้าจับกุมผู้ปกครองรัฐทั้งสอง ประกาศเคอร์ฟิว รวมทั้งได้ปิดกั้นการสื่อสารทั้งหมดซึ่งนำไปสู่สถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน จึงได้มีการประท้วงเดินขบวนไปยังที่ทำการของกลุ่มผู้สังเกตการณ์ทหารอินเดียและปากีสถานของสหประชาชาติในเมืองหลวงศรีนคร อีกทั้ง มีการประท้วงเกิดขึ้นทั่วไปในเขตซูระ (Soura) ของเมืองศรีนคร แม้แต่เด็กตัวเล็กๆ ก็ขว้างปาก้อนหินใส่กองกำลังทหารของอินเดีย บางคนก็ถือธงปากีสถานร้องตะโกนต่อต้านทหารอินเดีย 

จากการประท้วงที่ปะทุขึ้นแม้จะถูกสั่งห้าม ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บแล้วกว่า 150 คนเพราะเจ้าหน้าที่ทหารใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม จากรายงานเมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ของ Ipsita Chakravarty และ Safwat Zargar ในเว็บไซต์ข่าว Scroll.in ทหารได้เข้าไปยึดพื้นที่ทางตอนใต้ของแคว้นแคชเมียร์ซึ่งก็คือเขตปุลวามา (Pulwama)

ประชาชนในเขตปุลวามา ให้สัมภาษณ์กับ Scroll.in ว่า ทหารบุกรุกสถานที่ต่างๆ ในวันที่ 27 กรกฎาคม 3 สิงหาคม และ 4 สิงหาคม ยานพาหนะส่วนตัวประมาณ 200 คันถูกทำลาย คนขับแท็กซี่คนหนึ่ง กล่าวว่า รถยนต์ของเขาถูกทำลายโดยกองกำลังรักษาความปลอดภัยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมขณะจอดอยู่ที่สถานีรถประจำทางในหมู่บ้าน Arihal “พวกเขาบอกให้ผมดึงลมยางออก จากนั้นก็ริบโทรศัพท์ของผม แล้วทุบตีผม” และคนขับแท็กซี่ดังกล่าว อ้างว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนำตัวเขาเข้าค่ายทหาร Rashtriya Rifles ที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งเขาถูกทุบตีอีกครั้ง

ในขณะที่ตอนกลางวัน ทหารออกมาแจกใบปลิวยื่นข้อเสนอ 11 ข้อ อ้างว่า ระบบใหม่ที่จะนำมาปกครองแทนนี้จะให้ประโยชน์ต่างๆ เช่น สิทธิในการศึกษาภาคบังคับแก่ผู้หญิง จัดหาอาหารกลางวันให้แก่โรงเรียนรัฐบาล จัดให้มีศูนย์ฝึกอบรมสิทธิในสุขภาพ สร้างโรงพยาบาล ศูนย์ท่องเที่ยวและการโรงแรม สร้างเขตอุตสาหกรรมใหม่ มีการกำกับดูแลด้านกฎหมายและความสงบเรียบร้อยที่จะเปลี่ยนแคว้นแคชเมียร์ให้เป็นรัฐปอนดีเชอรี (Pondicherry) รัฐทางตอนใต้ของอินเดีย ปราบปรามการทุจริตและให้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ผู้หญิงจะมีสิทธิในทรัพย์สินและที่ดินจะมีราคาสูงขึ้น เป็นต้น

กระนั้นประชาชนก็ยังประท้วงการตัดสินใจของรัฐบาลอินเดีย เนื่องจากพบว่า ในเวลากลางคืนทหารเข้าไปบุกบ้านของประชาชน ทุบตีเด็ก ผู้สูงอายุและผู้หญิง และทำลายมัสยิดตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ร้านค้ายังคงปิดเพื่อประท้วงรัฐบาลอินเดีย ตั้งแต่เขตปูลวามาในแคว้นแคชเมียร์ตอนใต้จนถึงเขตบารามูลลา (Baramulla) ในตอนเหนือ เมืองศรีนคร (Srinagar) และเขตบุดกัม (Budgam) ในแคชเมียร์ตอนกลาง การปิดทำการเป็นรูปแบบการต่อต้านรูปแบบเก่าในหุบเขาแคชเมียร์ ทั้งมีรูปแบบการลุกฮือของประชาชนเช่นเมื่อปี 2551, 2553 และ 2559 แต่ถ้าว่าในครั้งนี้นับตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคมมีการกล่าวกันว่ากองกำลังทหารได้จับกุมประชาชนไปแล้ว 4,000 กว่าคนภายใต้พระราชบัญญัติความปลอดภัยสาธารณะ กฎหมายการควบคุมตัวเฉพาะสำหรับแคว้นจัมมูและแคชเมียร์

อรุณธวตี รอย นักเขียนและนักสิทธิมนุษยชนชาวอินเดีย กล่าวไว้ในบทความ The Silence is the Loudest Sound ใน New York Times ว่า เมื่อความเป็นรัฐของทั้งสองรัฐถูกถอน จะมีสถานะเป็นดินแดนสหภาพ (Union territories) กล่าวคือ อย่างแรก จัมมูและแคชเมียร์จะถูกปกครองโดยตรงจากรัฐบาลกลางนิว เดลี แม้ว่ามันจะยังคงมีสภานิติบัญญัติที่ได้รับการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น อย่างที่สอง ดินแดนลาดักห์จะถูกปกครองโดยตรงจากนิวเดลีและจะไม่มีสภานิติบัญญัติ

ที่มา : google.com/maps

อุดมการณ์ชาตินิยมฮินดูสุดขั้วของอินเดีย

Umair Javed อาจารย์สอนรัฐศาสตร์และสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยการบริหารจัดการกรุงลาฮอร์ปากีสถาน มองว่า รัฐบาลอินเดียปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมเผด็จการ บั่นทอนความเป็นพลเมืองและสถานะการปกครองตนเองของชาวแคชเมียร์และจัมมู สะท้อนให้เห็นถึงความถดถอยของระบอบประชาธิปไตย และก่อรูประบอบคณาธิปไตยขึ้นมาภายใต้พรรครัฐบาลคือพรรคภารติยะ ชนตะ (BJP)

Umair Javed มองว่า ความเป็นเผด็จการของนายโมดีทำให้เกิดความกังวลในอนาคตของภูมิภาคนี้ เนื่องจากมีผู้ที่นิยมตัวนายโมดีซึ่งเห็นได้จากผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด และมักใช้กองกำลังทหารสร้างความกลัวให้แก่ประชาชนคนธรรมดาที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนาอยู่ การถอนสถานะพิเศษเป็นการถอนสิทธิในที่ดินของประชาชนด้วย นั่นคือการที่พลเมืองของทั้งสองรัฐจะมีสถานะที่สั่นคลอน ไม่ได้รับการคุ้มครองและหลักประกันใดๆ

ฐานสังคมฮินดูเป็นแรงหนุนให้กับการปกครองแบบอำนาจนิยมของนายโมดี บั่นทอนระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียใต้ และพฤติกรรมแบบนี้ก็จะเป็นเชื้อให้พวกอำนาจนิยมในปากีสถานออกมามีปฏิกิริยาต่อต้าน เข้าทำนอง ความแข็งแกร่งของเผด็จการในประเทศใดประเทศหนึ่งจะเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่เผด็จการในที่อื่น  อินเดียซึ่งมีรากเหง้าของการเป็นอาณานิคม เมื่อได้รับเอกราช ก็สร้างความขัดแย้งด้านอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติศาสนาในภูมิภาคนี้มาโดยตลอด

สอดคล้องกับ อรุณวตี รอย ที่ระบุว่า องค์กรชาตินิยมฮินดูที่มีอิทธิพลที่สุดในอินเดียคือ องค์กรราษฏรียะ สวยัมเสวก สังฆ์ (Rashtriya Swayamsevak Sangh) หรือ R.S.S. มีสมาชิกมากกว่า 600,000 คน รวมทั้งนายโมดีและรัฐมนตรีอีกหลายคน องค์กรนี้คอยฝึกฝนอาสาสมัครพลเรือน กองหนุนของทหาร โดยได้รับแรงบันดาลใจจากกองอาสาชุดดำของมุสโสลินี เผด็จการฟาสซิสต์ องค์กร RSS เข้าเกาะกุมทุกสถาบันของรัฐอินเดีย จนมาถึงจุดที่กลายมาเป็นรัฐไม่มากก็น้อย

มาตรการเผด็จการของนายโมดี อรุณธตี รอย ระบุว่า พลเมืองอินเดียจะสามารถซื้อที่ดินและตั้งถิ่นฐานในดินแดนใหม่นี้ ดินแดนใหม่จะเปิดทางให้ธุรกิจต่างๆ แม้แต่ในเขตเทือกเขาหิมาลัย พื้นที่อันเปราะบางของลาดักห์และแคชเมียร์ รวมถึงธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ ทะเลสาบและแม่น้ำสายหลักทั้งห้า

การดูดกลืนชาวแคชเมียร์ด้วยความรุนแรงทางทหาร

อรุณธตี รอย  ยังระบุว่า ทุกวันนี้แคชเมียร์เป็นหนึ่งในเขตที่มีทหารหนาแน่นที่สุดในโลก ทหารกว่าครึ่งล้านถูกนำไปต่อต้าน “ผู้ก่อการร้าย” เพียงไม่กี่คนในแคชเมียร์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นศัตรูตัวจริงของอินเดีย

กระแสหลักในอินเดียมักพูดว่า แคชเมียร์เป็นธุรกิจที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แสดงให้เห็นว่า เมื่อปี 1947 ที่อังกฤษแบ่งเขตดินแดนในอนุทวีปอย่างเลินเล่อ ไม่คำนึงเลยว่า มีดินแดนที่มีเจ้าปกครองอยู่แล้วนับร้อยๆ ดินแดน ซึ่งมีการเจรจาต่อรองเงื่อนไขที่จะรวมเข้ากับอินเดียหรือปากีสถาน และหลายแห่งก็ไม่ต้องการรวมกับสองประเทศนี้แต่ถูกบังคับ

แม้จะมีการมอบสัตยาบันโดยผู้ปกครองรัฐจัมมูและแคชเมียร์ คือ กษัตริย์หะริ สิงห์ โดกราให้แก่อินเดีย แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องมีการลงประชามติของประชาชนรัฐดังกล่าวเสียก่อน ทว่าตลอด 72 ปีมานี้ อินเดียไม่เคยจัดประชามติ

การเมืองของการแบ่งแยกและใช้ความรุนแรงกับคนในอนุทวีปนี้ ได้สร้างบาดแผลลึกที่ไม่ได้รับการเยียวยา ความรุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งอินเดียและปากีสถานพยายามดูดกลืนคนในแคว้นนี้ การดูดกลืนให้อยู่ภายใต้ธงชาติเดียวกันนั้น ไม่เคยมีปีไหนนับตั้งแต่ปี 2490 ที่กองทัพอินเดียจะไม่ถูกนำไปใช้ต่อต้านคนในเขตแดนนี้เลย

การดูดกลืนนั้นซับซ้อนและเจ็บปวดยิ่งนัก เพราะสังเวยคนทั้งสองด้านของชายแดนของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ไปหลายหมื่นชีวิต และการดูดกลืนยังไม่เสร็จสิ้น สิ่งที่อินเดียทำกับชาวแคชเมียร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานั้นยกโทษให้ไม่ได้ คือ คนราว 70,000 คน ซึ่งเป็นพลเรือน นักเคลื่อนไหวและกองกำลังรักษาความปลอดภัยถูกเข่นฆ่าหลายพันคน “หายตัวไป” และอีกนับหมื่นเคยถูกทรมาน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วัยรุ่นในแคชเมียร์หลายร้อยคนเข้าร่วมกองกำลังติดอาวุธ ส่วนใหญ่ปฏิบัติงานในหุบเขา พวกเขามีอาวุธและได้รับการฝึกฝนจากคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ พวกเขาทำสิ่งที่พวกเขารู้ดีว่า นาทีที่หยิบปืน ชีวิตของพวกเขาไม่น่าจะอยู่เกินหกเดือน พวกเขาถูกมองว่าเป็นผู้ก่อการร้าย และถ้าหากมีใครถูกฆ่าตาย คนนับหมื่นในแคชเมียร์จะแห่กันทำพิธีฝังชายหนุ่มที่พวกเขาเคารพนับถือในฐานะเป็นผู้พลีชีพ

จากสุนทรพจน์ในวันประกาศอิสรภาพของนายโมดี เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา กล่าวว่า ในที่สุดรัฐบาลของเขาก็บรรลุความฝันของอินเดียในเรื่อง “หนึ่งประเทศ หนึ่งรัฐธรรมนูญ” จากมาตรการที่ทำกับแคชเมียร์  แต่กลุ่มกบฏในหลายรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียที่มีสถานะพิเศษเช่นเดียวกับรัฐจัมมูและแคชเมียร์ในอดีตก็ประกาศคว่ำบาตรวันประกาศอิสรภาพ เพราะนายโมดีมีนโยบายจะทำให้ประชากรมีวิถีชีวิตแบบฮินดูเท่านั้น ในขณะที่ผู้คนมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ และหากใครต่อต้านก็จะใช้วาทกรรม “ผู้ก่อการร้าย” เพื่อปราบปราม ซึ่งขณะนี้ รัฐสภาอินเดียเพิ่งเห็นชอบการแก้ไขกฎหมายป้องกันการกระทำอันผิดกฎหมาย ให้นิยามการก่อการร้ายครอบคลุมไปถึงระดับปัจเจกบุคคล โดยไม่ต้องมีกระบวนการพิสูจน์

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงจากนี้ คือ แนวชาตินิยมฮินดูภายใต้รัฐบาลนายโมดีจะเป็นภัยคุกคามชาวมุสลิมในอินเดียและรัฐที่มีสถานะพิเศษอื่นๆ ด้วย และรัฐอาจฉวยโอกาสเล่นงานนักเคลื่อนไหว นักกฎหมาย นักศึกษา ผู้สื่อข่าว ปัญญาชนที่ออกมาต่อต้านรัฐบาล” จากบทความ The Silence is the Loudest Sound ของอรุณธตี รอย

ข้อเรียกร้องจากภาคประชาสังคมและฝ่ายการเมือง จากรายงานของสำนักข่าวอัลจาซีรา เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีปากีสถาน นายอิมราน คาน แถลงในที่ประชุมซิกห์ระหว่างประเทศในกรุงละฮอร์ว่า ปากีสถานจะไม่เป็นผู้เริ่มก่อสงครามกับอินเดีย แต่มีความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามหากมีความตึงเครียดมากขึ้น และทั้งสองประเทศต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ หากรัฐบาลอินเดียยกเลิกประกาศเคอร์ฟิวและถอนทหารออกจากพื้นที่แคชเมียร์ ก็จะมีการเจรจาเพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาพปกติและสร้างความสัมพันธ์ตามเดิม และเมื่อวันที่ 1 กันยายน ประชาชนหลายพันคนในปากีสถานออกมาประท้วงรัฐบาลอินเดียอย่างต่อเนื่อง เรียกร้องให้สหประชาชาติเข้ามาดูสถานการณ์ในเมืองศรีนคร แคชเมียร์และขอให้ประชาคมโลกหามาตรการกดดันอินเดียให้คืนเสรีภาพแก่ชาวแคชเมียร์ทันที

 

แปลและเรียบเรียงจาก : 

  1. Resistance in IHK. (26 August 2019).  In Dawn.  https://www.dawn.com/news/1501738/resistance-in-ihk?fbclid=IwAR2bTYnsKvlO0PR5KaWxAs2eZcCLfkjRJKmpxcH0fPUl46cXMGqs1gm-DY4
  2. Ipsita Chakravarty & Safwat Zargar.  (27 August 2019).  Jammu and Kashmir.  Raids at night, handbills by day: Army siege in South Kashmir escalates after special status revoked.  in Scroll.in. https://scroll.in/article/935245/raids-at-night-handbills-by-day-army-siege-in-south-kashmir-escalates-after-special-status-revoked?fbclid=IwAR17M3i1SoGpAGSluoNSe5sD0oH3WRQGOfPJIKT5atdX40T0GlMszSqNbY8
  3. Arundhati Roy.  (15 August 2019).  The Silence is the Loudest Sound.  in New York Times.  https://www.nytimes.com/2019/08/15/opinion/sunday/kashmir-siege-modi.html
  4. Umair Javed.  (26 August 2019).  India as an Example.  in DAWN.  https://www.dawn.com/news/1501741/india-as-an-example?fbclid=IwAR1WJlROytHkJgeYfsLaBE1RBiUsuw0T4q_XE3iAKgPcqBSbWV9htu27PvE
  5. India revokes Kashmir's special status: All the latest updates. (3 September 2019).  In Al Jazeera.  https://www.aljazeera.com/news/2019/08/india-revokes-kashmir-special-status-latest-updates-190806134011673.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท