Skip to main content
sharethis

5 เรื่องเกี่ยวกับการประชุมอาเซียนภาคประชาชน 2562 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เขาจะคุยอะไรกันในเวทีนี้ เรื่องไหนน่าติดตาม อะไรคือดราม่าคลาสสิคยาวนานระหว่างรัฐ-ประชาสังคม และระหว่างประชาสังคมด้วยกันเองที่เคยหนักสุดถึงการอุ้มหาย ทำไมปีนี้ฝ่ายความมั่นคงอยากขอดูรายชื่อผู้เข้าร่วม ทำไมปีนี้งบจากรัฐ 10 ล้านถึงปลิวหายไปกับสายลม และอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้

พิธีเชิญธงชาติสมาชิกเวทีประชาชนอาเซียนในช่วงพิธีเปิด เช้า 10 ก.ย.

10 ก.ย. 2562 ที่ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) รังสิต มีการจัดงานมหกรรมการประชุมภาคประชาสังคม/เวทีอาเซียนภาคประชาชน (ACSC/APF) ประจำปี 2562 โดยมีภาคประชาชนจากทั่วประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่นๆ เข้าร่วมงานจำนวนราว 1,000 คน โดยปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพตามวงรอบที่หมุนเวียนคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรืออาเซียนซัมมิท

การรับรู้จางๆ เกี่ยวกับอาเซียนอาจทำให้การประชุมนี้ไม่เป็นที่รู้จักในหมู่คนไทย แต่เวทีภาคประชาชนอาเซียนนี้มีประเด็นที่น่าสนใจและน่าจับตามองหลายเรื่อง เพราะทั้งการจัดงาน และเนื้อหาที่พูดคุยกันนั้นสะท้อนอย่างชัดเจนว่า ภายใต้การยืนถ่ายรูปจับมือคล้องกันฉันท์มิตรของผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน มีเรื่องราวอีกมากมายที่ถูกทำให้ลืมเลือนและไม่กล่าวถึงเต็มไปหมด และหลายเรื่องก็เอากันถึงตาย

สำหรับวันนี้ที่การประชุมเพิ่งเริ่มต้น ประชาไทชวนดู 5 ข้อเพื่อเป็นความรู้พื้นฐานและเรื่องที่น่าจับตามองในเวทีประชาชนครั้งนี้

1. เวทีภาคประชาชนอาเซียนคืออะไร มาจากไหน

เวทีภาคประชาชน หรือเวทีภาคประชาสังคมอาเซียนได้รับการริเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อสุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพราะมีข้อครหาว่าเวทีความร่วมมืออาเซียนเป็นเวทีความร่วมมือของรัฐบาลเท่านั้น ในช่วงแรกเริ่มเป็นการประชุมกันระหว่างนักวิชาการและภาคประชาชน

ต่อมาในปี 2548 ในปีที่มาเลเซียเป็นเลขาธิการอาเซียน ได้มีการจัดตั้งเวทีภาคประชาชนอาเซียนที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยปรกติ ในการประชุมทุกปี แต่ละชาติจะส่งตัวแทนภาคประชาชนไปกล่าวแถลงการณ์กับผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนหรือที่เรียกว่า Interface Meeting การพบปะของภาคประชาสังคมกับผู้นำรัฐครั้งสุดท้ายที่มีการทำเป็นกิจลักษณะมีขึ้นในปี 2558 ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ

2. ปีนี้เขาคุยเรื่องอะไรกัน

สำหรับปีนี้ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ คณะทำงานที่ประกอบด้วยภาคประชาสังคมทั้งไทยและประเทศสมาชิกอื่นรวม 11 ประเทศ (มีติมอร์-เลสเต) ใช้ธีม “พัฒนาการเคลื่อนไหวของประชาชน เพื่อความเป็นธรรม สันติภาพ ความเท่าเทียม ความยั่งยืนและประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชาสังคมจากหลายแวดวงจะแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ร่วมกันกำหนดอนาคตประชาชนอาเซียนผ่าน 7 หัวข้อใหญ่ ได้แก่ 1) สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยและการเข้าถึงความยุติธรรม 2) การค้าการลงทุนและอำนาจของภาคธุรกิจ 3) สันติภาพและความมั่นคง 4) การอพยพย้ายถิ่น การค้ามนุษย์และผู้ลี้ภัย 5) งานที่มีคุณค่า สุขภาพ และการคุ้มครองทางสังคม 6) ความยั่งยืนทางนิเวศวิทยา 7) นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่และสิทธิทางดิจิทัล ก่อนที่จะร่วมกันร่างแถลงการณ์เพื่อส่งถึงผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน เพื่อให้รับรู้ถึงสภาวะปัญหาและข้อเรียกร้องของภาคประชาชนตามกลไกอาเซียน

ในวันที่ 12 ก.ย. วันสุดท้ายของการประชุม จะมีการพบปะ พูดคุยระหว่างภาคประชาสังคมและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและ/หรือ นักการทูตของบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่เรียกว่า Town Hall Meeting โดยชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ประธานอำนวยการร่วม กรรมการจัดงานประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าตอนนี้มีการยืนยันว่ารัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศจากไทย มาเลเซีย และทูตจากติมอร์-เลสเตและฟิลิปปินส์จากสถานทูตประจำประเทศไทยมาเข้าร่วมงาน

3. ดราม่าคลาสสิค (1) : งบสนับสนุน แบล็คลิสต์ และภาวะไม่เชื่อใจระหว่างรัฐ-ประชาสังคม

ภาวะการเผชิญหน้าระหว่างรัฐและประชาสังคมในเวทีอาเซียนภาคประชาชนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมายาวนานและต่อเนื่อง แต่ละประเทศมีระดับของการเผชิญหน้ารุนแรงไม่เท่ากัน และนั่นเป็นที่มาของดราม่าในการประชุมแต่ละปีที่แสดงออกผ่านหลายปรากฏการณ์ เช่น การที่ผู้นำชาติสมาชิกไม่ยอมรับตัวแทนที่ภาคประชาสังคมเลือกมาพบใน Interface Meeting หรือการไม่ให้ทั้งงบประมาณในการจัดประชุมและการให้มีการพบปะกับผู้นำประเทศอย่างที่เกิดขึ้นที่สิงคโปร์ในปี 2561

สำหรับประเทศไทยในปีนี้ ในช่วงเริ่มต้นการเป็นประธานอาเซียน คณะทำงานทั้งจากประชาสังคมและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หัวเรือใหญ่ในฝั่งภาครัฐ มีความมุ่งมั่นในการจัดเวทีภาคประชาชนอาเซียนร่วมกัน โดย พม. ตั้งงบประมาณให้จัดงานถึง 9.8 ล้านบาท มีการทำงานร่วมกันในการกำหนดประเด็น จัดหาที่พัก สถานที่จัดงาน (เดิมจะจัดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเดือน มิ.ย. แต่ต้องเลื่อน เนื่องจากความไม่พร้อมของคณะทำงาน จากนั้นย้ายไปที่โรงแรมเบิร์กลีย์ ประตูน้ำ) จนกระทั่งการประชุมในช่วงต้นเดือน ก.ย. นี้เองที่มีจุดพลิกผันอย่างหนัก เมื่อคณะทำงานภาคประชาชนออกมาแถลงข่าวเมื่อ 3 ก.ย. ตัดสินใจไม่รับงบประมาณจาก พม. ทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าหาข้อสรุปกับ พม. ไม่ได้ในส่วนการให้รายชื่อผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศจำนวนราว 500 คน ให้กับ พม. เพราะว่าฝ่ายความมั่นคงของไทยพยายามแทรกแซงด้วยการขอรายชื่อนั้นมาดูว่าใครติดแบล็คลิสต์ของรัฐบาลเพื่อนบ้านบ้าง

การปฏิเสธงบประมาณก้อนที่มีสัดส่วนแทบจะทั้งหมดของการจัดงานในช่วง 1 สัปดาห์สุดท้ายก่อนจัดงาน ทำให้ต้องเปลี่ยนสถานที่จัดงานและการจัดการงบประมาณที่มีโดยฉับพลัน สถานที่จัดงานต้องเปลี่ยนมาเป็นศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ห้องนอนเปลี่ยนเป็นห้องพักรวม 50 คนและห้องน้ำรวม ภายใต้ความฉุกเฉินนี้ ภาคประชาสังคมได้รับงบประมาณและความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศจนมีงบประมาณทั้งสิ้น 3 ล้านบาทจาก Taiwan Foundation for Democracy, AIDS Healthcare Foundation, SIDA Sweden, Heinrich Boll Stiftung Southeast Asia จากเยอรมนี นอกจากนั้นยังได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลแคนาดาและเยอรมนีด้วย

การที่การประชุมตามกลไกอาเซียนที่ต้องใช้เงินจากนอกภูมิภาคฟังดูเป็นเรื่องขำขื่น แต่คำอธิบายจากภาครัฐก็ทำให้เห็นปัญหาในอีกมุม แสงดาว อารีย์ ผู้อำนวยการ (ผอ.) กองการต่างประเทศ พม. ให้ข้อมูลว่าเรื่องหลักที่ทำให้ไม่ได้ดำเนินการจัดเวที APF กับภาคประชาชนเป็นเพราะภาคประชาชนไม่ได้จัดส่งรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมที่มาจากต่างประเทศให้กับทาง พม. ดังนั้น ตามระเบียบของหน่วยงานราชการ เมื่อไม่มีรายชื่อมาแนบก็ดำเนินการทางการเงินไม่ได้ ในส่วนประเด็นเรื่องฝ่ายความมั่นคงนั้นทางกระทรวงไม่ทราบ

อย่างไรก็ดี ภายใต้ข้อเท็จจริงเรื่องการไม่มีงบสนับสนุนจากรัฐ สิ่งที่ยังกำกวมอยู่ก็คือ สรุปว่ารัฐเป็นคนตัดงบ หรือประชาสังคมเป็นคนตัดสินใจไม่รับงบประมาณ หรือความมั่นคงไม่ใช่ประเด็นหลักประเด็นเดียว ซึ่งทั้งสองฝั่งยังไม่มีข้อโต้แย้งที่ทาบทับกันในส่วนนี้ พูดแบบภาษาข่าวบันเทิงคือยังไม่รู้ว่า "ใครเลิกกับใครก่อน"

แต่ดราม่ากลับซับซ้อนไปอีกเมื่อ พม. ได้ใช้เงินก้อนเดียวกันนั้นที่ภาคประชาสังคมไม่รับมา ไปจัดงานชื่อ “โครงการประชุมภาคประชาชนอาเซียน” จัดที่โรงแรมเบิร์กลีย์ ประตูน้ำ ในวันที่ 9-12 ก.ย.  โดยเชิญชวนกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. ในประเทศจำนวนราว 1,000 คนหน่วยงานในสังกัดสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ พม. บ้านพักเด็ก กลุ่มอาสาพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำหมู่บ้าน (อพม.) และเครือข่ายทั่วประเทศ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัดและ สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนงานวิชาการ (สสว.) 12 แห่ง โดยจะเป็นเวทีให้ความรู้เรื่องการดำเนินงานอาเซียนของประเทศไทยในเสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรม

การแทรกแซงโดยฝ่ายความมั่นคง และการจัดงานโดยใช้งบก้อนเดิม จัดในที่เดิม ใช้ชื่อเดิม ซึ่งอาจเป็นไปตามระเบียบทางราชการที่อนุมัติงบประมาณใต้ชื่อโครงการไปแล้ว แต่ภาคประชาสังคมก็มีความอ่อนไหวและผิดหวังอย่างมาก คณะทำงานจากหลายประเทศต่างแสดงความผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น จะมีที่ดูเห็นต่างก็คือตัวแทนคณะทำงานจากประเทศลาวที่มองว่าควรเข้าใจว่าการจัดประชุมคู่ขนานนั้นเป็น “เรื่องปกติ” เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2555 ที่กัมพูชา ที่รัฐบาลจัดอาเซียนภาคประชาชนอีกเวทีคู่ขนาน ซึ่งเป็นที่ครหาว่าแสดงถึงความไม่ยอมรับภาคประชาสังคม

อาเซียนภาค ปชช. ถูกรัฐตัดงบ เหตุฝ่ายความมั่นคงแทรกแซงจนคณะทำงานรับไม่ได้

นักกิจกรรม LGBT-ชาวโรฮิงญาถูกข่มขู่-ตามเช็คก่อนร่วมงานอาเซียนภาคประชาชน

“เรารู้สึกผิดหวัง และยากลำบากที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจาก พม. ที่ปฏิเสธพวกเราด้วยเหตุผลทางความมั่นคง ต้องการคัดคนเข้าร่วมประชุม และควบคุมการประชุมของภาคประชาชนเพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนการประชุมใหญ่ที่เป็นทางการ แม้จะมีความยากลำบาก แต่พวกเราก็ยึดมั่นในหลักการของการประชุมอาเซียนภาคประชาชนที่ตัวแทนภาคประชาชนต้องปรึกษาหารือและมีความเห็นร่วมกันอย่างเหนียวแน่น”

“การดื้อรั้นจัดการประชุมประชาชนอาเซียนแม้จะยกเลิกกับพวกเราไปแล้วด้วยงบประมาณที่ตั้งขึ้นมา เพื่อให้มีการใช้งบให้หมดตามที่ตั้งไว้เป็นการใช้เงินโดยไม่ชอบ เป็นการผลาญงบประมาณแผ่นดิน และเป็นการใช้เงินในทางที่ไม่ควร” ตอนหนึ่งจากจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ระบุ

ตัวละครที่ยังไม่ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้คือหน่วยงานความมั่นคงว่ามีการกดดันภาคประชาชนเช่นนั้นจริงหรือไม่ แต่กระแสการคุกคามจากหน่วยงานความมั่นคงต่อนักกิจกรรม หรือภาคประชาสังคมที่จะเข้าร่วมเวทีภาคประชาชนอาเซียนนั้นมีอยู่จริงและเกิดขึ้นในไทยด้วย ดังที่จะเล่าในข้อต่อไป ทั้งนี้ คำถามที่น่าคิดในปรากฏการณ์นี้คือ ควรหรือไม่ที่งบประมาณของรัฐจะต้องมีเงื่อนไขเรื่องความมั่นคงเข้ามาผูก และระดับความไว้วางใจของประชาสังคมต่อรัฐ เหตุใดถึงย่ำแย่ได้ขนาดนี้

4. ดราม่าคลาสสิค (2): เรื่องที่รัฐไม่อยากให้พูด เวทีที่รัฐไม่อยากให้เข้าร่วม (และอาจต้องจ่ายด้วยชีวิต)

หนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจในการประชุมภาคประชาชนคือครั้งนี้คือการการมีพื้นที่ที่สามารถแสดงออกได้อย่างเสรี หรืออย่างน้อยก็สูงกว่าปกติ ถือเป็นคุณูปการหนึ่งของการมีเวทีประชาชนอาเซียน และภายใต้บรรยากาศนี้เองที่ทำให้ผู้เข้าร่วมหลักพันเกิดการกระทบกระทั่งกันอย่างน้อยในสองระดับ หนึ่ง ในเชิงประเด็น และสอง ในเชิงที่มาของภาคประชาสังคม

ในเรื่องประเด็น ในเวทีภาคประชาชนครั้งที่ผ่านๆ มาจะพบว่ามีการถกเถียงในประเด็นที่อ่อนไหว เช่น โครงการพัฒนาเขื่อนในประเทศลาวที่มักถูกภาคประชาสังคมโจมตีในเรื่องผลกระทบของชุมชนและการขาดการมีส่วนร่วม แต่จะมีภาคประชาสังคมบางส่วนจากประเทศลาวโต้แย้งว่าโครงการดังกล่าวชอบธรรมแล้ว เพราะจะนำมาซึ่งการพัฒนาและแก้ไขปัญหาความยากจน ในช่วงเช้าของวันนี้ (10 ก.ย.) ชาวโรฮิงญาที่มาร่วมงานคนหนึ่งก็ได้ออกมาเรียกร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเอาผิดพม่าในกรณีการใช้ความรุนแรงกับชาวโรฮิงญา (ประเด็นโรฮิงญาจะมีการพูดในวันที่ 10 ก.ย.)

ในเรื่องที่มาของกลุ่มประชาสังคม เนื่องด้วยแต่ละรัฐมีวิธีการจัดการกับประชาสังคมไม่เหมือนกัน บางประเทศก็เปิดกว้าง ในขณะที่บางประเทศ ประชาสังคมต้องจดทะเบียนกับรัฐ บางประเทศไปไกลจนถึงสร้างประชาสังคมหรือเอ็นจีโอของรัฐหรือที่เรียกกันในชื่อ ‘กองโก’ (Government-Organized Non-Governmental Organization) ส่วนคนที่ไม่เป็นที่พึงพอใจจากภาครัฐหนักๆ ก็ต้องลี้ภัยออกไปอยู่ประเทศอื่น หนักกว่านั้นก็ถูกคุกคามหลายระดับ

มีบ่อยครั้งที่นักกิจกรรมที่ลี้ภัยมาพบกับประชาสังคมของรัฐในเวทีประชาชนอาเซียนและทั้งสองฝ่ายมีความเห็นที่แตกต่างกัน ในขั้นตอนการร่างแถลงการณ์ของเวทีประชาชนอาเซียนที่ฟิลิปปินส์ในปี 2560 ก็มีความพยายามจากประชาสังคมจากเวียดนามและลาวบางส่วนที่ไม่ต้องการให้แถลงการณ์กล่าวถึงการบังคับสูญหายของสมบัด สมพอน และการจับกุมตัวนักกิจกรรมตามอำเภอใจในกรณีเวียดนาม ซึ่งนักกิจกรรมชาวลาวและเวียดนามที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศก็มีการโต้เถียงในกรณีนี้

ประเด็นความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมเป็นเรื่องที่น่ากังวล และน่าแปลกใจอย่างยิ่งที่การเข้าร่วมงานตามกลไกอาเซียนกลายเป็นภัยต่อความมั่นคงของชีวิต อ็อด ไชยวงศ์ นักกิจกรรมชาวลาวที่ลี้ภัยในไทย (ได้สถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แล้ว) ได้หายตัวไปและไม่สามารถติดต่อได้ตั้งแต่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยเพื่อนผู้ลี้ภัยสันนิษฐานว่าอาจถูกควบคุมตัวโดยรัฐ เนื่องจากอ็อดเคยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลลาวอย่างรุนแรง และคาดว่าอ็อดกำลังวางแผนกับเพื่อนบางคน เตรียมเคลื่อนไหวประท้วงที่งานประชุมอาเซียนภาคประชาชน ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศและแรงงานบริการ ก็ได้รับอีเมล์ลึกลับข่มขู่ในเรื่องท่าทีการแสดงออกในเวทีภาคประชาชน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แหล่งข่าวจากกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่มาร่วมงานก็ถูกติดตามโดยเจ้าหน้าที่สันติบาลมายังงานประชุมภาคประชาชนด้วย

อีกแล้ว! ผู้ลี้ภัยชาวลาวหายตัวในไทย เพื่อนหวั่นถูกอุ้ม

ภาคประชาชนหาทางเดินหน้าต่อ ครบรอบ 6 ปีการหายตัวไปของสมบัด สมพอน

ที่ผ่านมา มีภาคประชาสังคมที่ถูกคุกคามหลังจากเข้าร่วมงานอาเซียนภาคประชาชนมาแล้ว เรื่องนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คณะทำงานกังวลอย่างมากกับการให้รายชื่อผู้เข้าร่วมงานต่อภาครัฐและหน่วยงานความมั่นคงที่มีประวัติการร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อนบ้านในการช่วยเหลือกันจับกุมและส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทางดังเช่นกรณีของสมบัด สมพอน นักกิจกรรมชาวลาวที่ถูกลักพาตัวไปจากกลางกรุงเวียงจันทน์ ซึ่งรัฐบาลลาวคอยปฏิเสธประชาคมนานาประเทศมาตลอดเวลาว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ป้ายรณรงค์ตามหาตัวสมบัด สมพอนที่ติดในงาน

“มีภัยคุกคามที่ร้ายแรง โดยเฉพาะเมื่อเราได้เห็นว่าแนวโน้มความร่วมมือระหว่างทางการไทยกับรัฐบาลที่กดขี่ในภูมิภาคนี้ในช่วงปีที่ผ่านมา เราเห็นภัยคุกคามของการบังคับสูญหาย บังคับส่งกลับประเทศและการลักพาตัวจากประเทศไทย” เด็บบี้ สโตธาร์ด เลขาธิการสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) กล่าวในห้องแถลงข่าวถึงกรณีการที่เจืองซุยเญิ้ต บล็อกเกอร์ชาวเวียดนามที่ถูกลักพาตัวจากไทยกลับไปคุมขังและดำเนินคดีที่เวียดนามเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา และการหายตัวไปของอ็อด ไชยวงศ์

'แอมเนสตี้' ร้องประธานอาเซียนคุ้มครองผู้ลี้ภัย สืบสวนการลักพาตัวนักข่าวเวียดนามในไทย

“แม้แต่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มาจากประเทศอื่นแล้วเดินทางกลับประเทศหลังร่วมงานอาเซียนภาคประชาชนก็มีความเสี่ยงที่จะถูกตอบโต้และคุมขัง สิ่งนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อกลุ่มชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยทางศาสนาจากเวียดนามเข้าร่วมงานประชุมที่จัดในติมอร์-เลสเตเมื่อหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาถูกสอดแนมและรายงานกลับไป เมื่อพวกเขาเดินทางกลับไปถึงเวียดนาม พวกเขาถูกคุมขัง”

เด็บบี้ยังกล่าวว่า เดิมทีที่ภาคประชาชนร่วมมือกับรัฐในการจัดงานครั้งแรกที่มาเลเซีย เพื่อผลักดันในเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยและการเปลี่ยนผ่านของอาเซียนร่วมกับรัฐมีความสำคัญอย่างยิ่ง และเมื่อการรวมตัวเกิดขึ้นแล้ว มันจะไม่สามารถหยุดยั้งได้ แม้รัฐพยายามจะสร้างประชาสังคมคู่ขนานที่เชื่อฟังรัฐก็ตาม

“อาเซียนตัดสินใจว่า จริงๆ แล้วไม่ได้ชอบภาคประชาสังคมขนาดนั้น พวกเขาจึงพยายามสร้างประชาสังคมที่ว่าง่ายึ้น พวกเขาพยายามสร้างประชาสังคมคู่ขนานที่เชื่อฟังทางการ แต่นั่นจะไม่ได้ผลเมื่อยักษ์จินนี่ได้ออกจากตะเกียงแล้ว”

“อาเซียนต้องเข้าใจจริงๆ ว่าตอนนี้โลกเป็นอย่างไร ถ้าพวกเขายังคงกดดันประชาสังคมต่อไป พวกเราก็ไม่สามารถทำงานเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามต่อสังคมซึ่งก็เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐด้วย นั่นหมายถึงอาเซียนก็กำลังขุดหลุมฝังตัวเอง”

5. สิ่งหลักๆ ในงานที่ต้องดูระหว่างและหลังประชุม

หลังจากนี้ สิ่งที่ต้องดูในอาเซียนภาคประชาชนครั้งนี้คือเนื้อหาในการพูดคุยระหว่างภาคประชาสังคมในหัวข้อที่อ่อนไหวและเคยเป็นประเด็นถกเถียงกันมาในปีก่อนๆ ว่าจะมีการโต้แย้งกันอย่างไรอย่างเรื่องสันติภาพชายแดนใต้ของไทย เขื่อนในลาว การละเมิดสิทธิมนุษยชนในเวียดนาม รวมถึงเรื่องชาวโรฮิงญาที่เดิมก็มีประเด็นว่า พม. ไม่อยากให้เข้าร่วมงาน เพราะกลัวจะกระทบกับความสัมพันธ์กับรัฐบาลพม่า แต่ตอนนี้ก็ได้รับการตอบรับให้เข้าร่วมงานแล้ว

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือท่าทีของรัฐมนตรีและนักการทูตของอาเซียนเมื่อเจอกับภาคประชาสังคมว่าจะเกิดภาวะเผชิญหน้า หรือต้องถกเถียงอะไรในประเด็นที่อ่อนไหวหลายประการ รูปร่างหน้าตาของแถลงการณ์ว่าจะมีความแหลมคมแค่ไหนในวันสุดท้ายของงาน

หลังจากงานประชุมเสร็จสิ้น สิ่งที่ต้องตามต่อคือโอกาสในการเข้าพบผู้นำชาติสมาชิกในอาเซียนซัมมิทครั้งที่ 2 ในเดือน พ.ย. นี้ สำหรับความคืบหน้าในเรื่องนี้ ชลิดาให้ข้อมูลว่ายังไม่มีการยืนยันใดๆ ว่าการพบปะจะเกิดขึ้น เรื่องนี้จะถูกผลักดันอีกครั้งเมื่อภาคประชาสังคมเข้าพบกับเจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียน (Senior Official Meeting – SOM) ในวันที่ 17 ก.ย. ณ โรงแรมแชงกรีลา

และที่สำคัญที่สุดคือสวัสดิภาพของผู้เข้าร่วมงานประชุมทั้งในและต่างประเทศหลังจากการร่วมประชุม สิ่งนี้จะเป็นปรอทวัดระดับเสรีภาพ และความหน้าบางของชาติสมาชิกอาเซียนอย่างดีว่าพวกเขายอมรับการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนตามสโลแกน “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” แค่ไหน หรือจะเป็น “โสมมประชาคมอาเซียน” ตามที่คนเขาเหน็บแนม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net