Skip to main content
sharethis

กลุ่มฮักบ้านเกิด จ.ขอนแก่น ชี้กระบวนการรับฟังความเห็นไม่ชอบธรรม ถูกกีดกันไม่ได้เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นครั้งที่ 1 ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม หวั่นเกิดนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุตภาคอีสาน ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านจำนวนมาก

11 ก.ย. 62 เวลา 8.30 น.วันนี้ ณ ที่ว่าการ อ.ชนบท จ.ขอนแก่น กลุ่มฮักบ้านเกิด จ.ขอนแก่น ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกีดกันจากเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 กรณีโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล บ้านไผ่

บรรยากาศช่วงเช้ากลุ่มฮักบ้านเกิดได้มีการเดินขบวนมาถึงที่ว่าการอำเภอ พร้อมมีการกล่าวปราศรัย กรชนก แสนประเสริฐ ผอ.ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม กล่าวว่า 

“ผมเป็นลูกหลานชาวบ้านเมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ปู่ย่าตายายก็เคยอยู่ที่ อ.ชนบท จ.ขอนแก่น อยากบอกกับพี่น้องเราที่มาว่า กระบวนเวทีรับฟังความเห็นในวันนี้ไม่ชอบธรรม ตอนนี้เก้าโมงกว่าแล้ว แต่ชาวบ้านที่มีความกังวลและคัดค้านโครงการยังไม่สามารถเข้าเวทีได้ นั่นหมายความว่ากระบวนการมีส่วนร่วมของเวทีนี้ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นพวกเราจะรายงานเรื่องนี้ไปที่ สผ.หรือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม"

นอกจากนี้สิ่งที่กลุ่มฮักบ้านเกิดกังวลคือโครงการที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่เพียงแค่โรงงานน้ำตาล แต่จะกลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพซึ่งจะมีทั้งโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้า คลังน้ำมันและอื่นๆ อีกที่บริษัทอาจยังไม่เปิดเผย เปรียบเสมือนยกมาบตาพุตมาตั้งไว้ที่ภาคอีสาน และจะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านจำนวนมาก
แฟนเพจขบวนการอีสานใหม่ยังรายงานว่า เวลา 09.40 น.ไม่มีนายอำเภอลงมาพูดคุยกับชาวบ้านอย่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งไว้ จากนั้นเริ่มมีการดันกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับชาวบ้านกลุ่มคนฮักบ้านเกิดอีกครั้ง จนชาวบ้านสามารถทลายกำแพงชั้นที่ 1 ของตำรวจได้ จากนั้นชาวบ้านได้เริ่มขยับมาที่กำแพงกั้นชั้นที่ 2 โดยในวันนี้มีตำรวจตรึงกำลังประมาณ 250 นาย

ต่อมาเวลา 10.40 น. ชาวบ้านกลุ่มฮักบ้านเกิด เลิกพยายามเข้าไปรับฟังความคิดเห็นครั้งที่1 กรณีโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล หลังถูกกีดกันจากตำรวจและโรงงาน พร้อมประกาศว่าเวทีวันนี้คือเวที "ไม่" รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน . ทั้งนี้ยังเหลือการจัดเวทีดังกล่าวอีก 1 วันที่น่าติดตามคือพรุ่งนี้12 ก.ย.62 ที่ อ.โนนศิลา ซึ่งอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ของโครงการเช่นเดียวกับ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น

อนึ่งกรณีโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล บ้านไผ่ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ได้ตั้งข้อสังเกตว่าปัจจุบันหลายจังหวัดในภาคอีสานมีโรงงานน้ำตาลทรายเกิดขึ้นหลายแห่ง แต่ละแห่งจะมีการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลโดยการใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เพื่อเป็นโครงการภาคสนับสนุน

ซึ่งกระบวนการที่สำคัญก่อนการตั้งโครงการนั้น ต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจและต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อประกอบคำขอรับใบอนุญาตโรงงานตามกฎหมาย เพื่อนำเสนอรายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษาและการประเมินทางเลือกต่อโครงการ โดยต้องพิจารณาข้อมูลหลายด้านประกอบกัน เพื่อป้องกันปัญหาและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

แต่การจัดทำรายงา EIA ที่ผ่านมาไม่ได้แก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่ประสบผลสำเร็จมากนัก ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากความน่าเชื่อถือของรายงาน EIA รวมถึงในส่วนกระบวนการของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่มีการจำกัดผู้มีส่วนได้เสียและกีดกันไม่ให้ผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net