แถลงผลกระทบ 3 ปี (หลังรัฐประหาร) ของประชาชนเหนือจรดใต้

22 ก.ค.2560 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเวทีเสวนา อีสานกลางกรุง ครั้งที่ 2 “แถลงผลกระทบ 3 ปี ของประชาชน” จัดโดยขบวนการอีสานใหม่ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

ในช่วงแรกเป็นการสะท้อนประเด็นปัญหาของตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ที่ต่อสู้ในประเด็นสิทธิในที่ดิน สิทธิชุมชน แต่คัดค้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในช่วงเวลา 3 ปีนับตั้งแต่รัฐประหาร 2557

สุรพล สงฆ์รักษ์ สหพันธ์เกษตกรภาคใต้ (สกต.)

  • สกต.เป็นขบวนการของแรงงานไร้ที่ดิน ที่ดินจำนวนมากในภาคใต้อยู่ในมือของบริษัทน้ำมันปาล์ม ในจังหวัดกระบี่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พบว่ามีอยู่จังหวัดละแสนกว่าไร่ หลายส่วนเป็นที่ดินที่หมดสัญญาเช่าแล้ว แต่กลับไม่มีการจัดสรรให้เกษตรกรตามที่ระบุในกฎหมาย
  • ปัจจุบันรัฐบาลเตรียมแจกที่ดินให้คนจนประมาณ 6 ไร่ต่อครอบครัว รวมแล้ว 300,000 ไร่ ขณะที่เตรียมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นกินพื้นที่ 3.7 ล้านไร่ บ่งบอกถึงช่องว่าง ความไม่เท่าเทียมทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประชาชนที่ทำการผลิตกับนายทุนนักธุรกิจ
  • สถานการณ์ปัญหาในจังหวัดสุราษฎร์ธานีหลังรัฐประหาร 2557 สะท้อนโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เปลี่ยนไป ดังตัวอย่างเช่น เดือนกันยายน 2557 ทหาร 50 นายพร้อมอาวุธครบมือบุกเข้าชุมชนคลองไทรพัฒนา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เรียกร้องดูเอกสารสิทธิในที่ดินของชาวบ้านประมาณ 70 หลังคาเรือน ทั้งที่ชาวบ้านเรียกร้องกับ สปก.มาตั้งแต่ปี 2546 ให้ขับไล่นายทุนออกจากพื้นที่หลังหมดสัญญาสัมปทานแต่คดียังยืดเยื้อ จนปี 2552 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติผ่อนผันให้ชาวบ้านอาศัยอยู่ชั่วคราว

“ทหารไปพร้อมกลุ่มผู้มีอิทธิพล รัฐร่วมมือใกล้ชิดกับทุนท้องถิ่นที่มีลักษณะเป็นอิทธิพลมืด จากนั้นอาทิตย์ถัดมาก็มีการเชิญตัวแทน สกต.ไปชี้แจงกับ กอ.รมน. มีทหารมาติดตามความเคลื่อนไหวของชาวบ้านอีกราว 10 ครั้ง เดือนตุลากคมทหารเข้ามาตั้งที่พักเพื่อเฝ้าดูตรวจสอบชุมชนอยู่ประมาณ  1 เดือนเต็ม”

  • ชุมชนเพิ่มทรัพย์ อยู่ในพื้นที่ป่าสงวน บริษัทหมดสัญญาไปแล้วประมาณ 15 ปี มีเกษตรกรหลายกลุ่มเข้าไปอยู่ รวมถึงสมาชิก สกต. 37 ครัวเรือน มีการเรียกร้องรัฐให้ปฏิรูปจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรแต่ก็ไม่คืบหน้า จากนั้นทหารในจังหวัดได้เรียกแกนนำคนหนึ่งไปปรับทัศนคติเป็นเวลา 2 วันโดยระบุว่าเป็นแกนนำที่ระดมมวลชนได้ จึงต้องการให้มีการสลายการชุมนุมยึดพื้นที่ป่าสงวนดังกล่าว แต่แกนนำคนดังกล่าวระบุว่าไม่สามารถที่จะสั่งการชาวบ้านได้ เพราะเป็นเจตจำนงของชาวบ้านเอง
  • สกต.เคยทำหนังสือไปยังหน่วยงานสนับสนุนด้านธนาคารชุมชนของรัฐ แต่รัฐตอบกลับว่าไม่มีงบประมาณ และสามารถสนับสนุนได้เพียงไม่กี่พื้นที่เท่านั้นซึ่งเต็มโควตาแล้ว

“รัฐบาลไม่ได้สนับสนุนเรื่องนี้ ทั้งที่เราเรียกร้องเรื่องนี้มานานเพื่อเป็นกลไกในการแก้ปัญหาที่ดิน เพื่อให้ชาวบ้านซื้อที่ดินได้ในราคาที่เป็นธรรม”

  • ปัจจุบันแรงงานไร้ที่ดินทั้งหมดตกอยู่ภายใต้กฎระเบียบของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งมีเกณฑ์ในการแจกที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้คนจนครอบครัวละประมาณ 6 ไร่ รวมแล้วประมาณสามแสนไร่ สิ่งที่พบ คือ 1. จัดที่ดินทำกิน 5 ไร่และที่อยู่อาศัยให้เพียง 150 ตารางวา 2.คนจนที่จะได้สิทธินั้นต้องเป็นคนสิ้นไร้ไม้ตอก มีรายได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน  “แม้แต่ขอทานยังมีรายได้มากกว่านี้ ถ้าตั้งเกณฑ์แบบนี้คนจนอดตายหมด”
  • สปก.บอกการปฏิรูปที่ดินต้องทำให้ที่ดินเป็นศูนย์ใครมีสิ่งปลูกสร้างอะไรต้องรื้อถอน และต้องปรับแผนผังการจัดสรรในส่วนที่ประชาชนอยู่กันอยู่แล้วซึ่งเป็นการทำร้ายชาวบ้าน

“แนวคิดนี้เหมาะกับที่ที่เกษตรไม่ได้อาศัยอยู่ก่อน รัฐบาลและสปก.ต้องออกแรงไปขับไล่นายทุนเอาเอง ไม่ใช่ชาวบ้านเขาสู้มาแทบตายแล้วมาสั่งแบบนี้ สมาชิกสกต.ตายไปแล้ว 4 คน สู้มาขนาดนี้แล้ว สปก.จะเอาคืน นี่เท่ากับหลอกใช้ชาวบ้าน เอาเป็นหนังหน้าไฟ ถึงเวลาเจ้าหน้าที่รัฐเอาความดีความชอบ”

สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย

  • รัฐบาลคสช.แก้ปัญหาไม่ตรงจุด การที่ราคายาง ราคาข้าว ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ สร้างความเดือดร้อนกับประชาชนทั่วไปในพื้นที่มาก ชาวบ้านที่ต่อสู้เรื่องเหมืองก็เดือดร้อนเช่นกันเพราะต้องใช้ทุนในการต่อสู้
  • ปัญหาสำคัญหลังการรัฐประหาร 2557 คือ การออกคำสั่งไม่ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น และให้ชุดเดิมรักษาการไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนด ชาวบ้านอยากเลือกตั้ง อบต. และอยากมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องเหมืองแร่ในพื้นที่ ปัจจุบันไม่สามารถพูดเรื่องนี้กันได้ และท้องถิ่นก็ไม่มีอำนาจตัดสินใจอะไร รอแต่คำสั่งจากส่วนกลาง

“นโยบายส่วนกลางว่ายังไง ส่วนล่างอย่าง อบต.ไม่มีสิทธิออกเสียง เราเกรงว่าจะมีการอนุมัติเรื่องเหมืองตามพ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น อีไอเอก็ไม่ต้องทำ การมีส่วนร่วมก็สั้นลงมาก สิ่งที่เราต่อสู้กันมาถูกตัดออกหมด”

  • กฎหมายใหม่ๆ ที่ออกหลังการรัฐประหาร เช่น พ.ร.บ.ชุมนุม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทำให้ชาวบ้านถูกฟ้องมากขึ้นจากการพยายามเคลื่อนไหวต่อต้านเหมือง

“ก่อนรัฐประหารนี่บริษัทจะเป็นคนฟ้องชาวบ้าน แต่หลังรัฐประหาร รัฐฟ้องเอง เหมือนเรากลายเป็นศัตรูกับรัฐ”

  • คำสั่ง 72/2559 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกเมื่อปลายปี 2559 การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ที่กำหนดให้ยุติการทำเหมืองทองทั่วประเทศ ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง บริษัทไม่ปฏิบัติตามและรัฐก็ทำอะไรไม่ได้ แต่กับชาวบ้านรัฐกลับไล่บี้ติดคุกติดตะราง

“บริษัทยังต้องการขยายเขตพื้นที่เหมืองแร่อีกเยอะ ที่เราต่อสู้กันมานั้นแค่ 6 แปลงแรก และมันยังเหลืออีก  90% ที่ต้องขยาย”

  • คดีที่ชาวบ้านถูกบริษัทฟ้องร้องทั้งหมดมีราว 22 คดี ปัจจุบันเหลืออยู่ 5 คดีเพราะบางส่วนชนะคดี บางส่วนยกฟ้อง บางส่วนจบที่การทำ MOU อย่างไรก็ตาม วันที่ 25 ก.ค.นี้น่าจะมีชาวบ้านถูกฟ้องจากพ.ร.บ.ชุมนุมด้วย

ยุทธ แพงดี กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูน-ดูนสาด

  • ปัญหาใหญ่คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ากดดันชาวบ้านไม่ให้แสดงออกหรือชุมนุม โดยข่มขู่ว่าจะมีการจับกุมดำเนินคดี
  • อยากให้ยกเลิกมาตรา 44 ที่ทำให้เจ้าหน้าที่จับกุมคุมขังใครก็ได้ เพราะเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมาก เป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง

“คำสั่งของตัวเองอยู่เหนือกฎหมายและรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แล้วอย่างนี้จะยังนับเป็นคำสั่งที่ชอบธรรมได้อย่างไร”

ดิเรก กองเงิน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)

  • ชาวบ้านใช้มาตรา 6 ประมวลกฎหมายที่ดินในการยึดคืนที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ยาวนาน แต่ศาลกลับมองว่าชาวบ้านทำผิดกฎหมาย

"บุคคลมีสิทธิในที่ดินตามโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หากบุคคลนั้นทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดินหรือปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าเกินกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

(1)  สำหรับที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน เกินสิบปีติดต่อกัน

(2)   สำหรับที่ดินที่มีหนังสือสรับรองการทำประโยชน์เกินห้าปีติดต่อกัน

ให้ถือว่าเจตนาสละสิทธิในที่ดินเฉพาะส่วนที่ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือที่ปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าเมื่ออธิบดีได้ยื่นคำร้องขอศาล และศาลได้สั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าว ให้ที่ดินนั้นตกเป็นของรัฐเพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายนี้ต่อไป”

  • สกน.พยายามผลักดันการกระจุกตัวของที่ดินของนายทุน โดยผ่านกฎหมายภาคประชาชน 4 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็นภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า โฉนดชุมชน ธนาคารชุมชน และร่วมผลักดันการแก้ปัญหาในเชิงนโยบายกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move)

“ไม่ว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง รัฐบาลจากการยึดอำนาจซึ่งก็ผ่านมา 2 ชุดแล้ว ไม่มีผลสำเร็จเรื่องการผลักดันกฎหมายประชาชนเลย ปัญหาขัดขวางสำคัญคือ ข้าราชการ แต่ยิ่งกว่านั้นก็คือหัวหน้ารัฐบาลไม่เคยรับฟังปัญหาประชาชนจริงๆ”

  • ปัญหาที่เจอคือ การที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไม่อนุญาตแกนนำในพื้นที่เคลื่อนไหว จัดประชุม แม้แต่การออกไปร่วมประชุมกับราชการในกรุงเทพฯ ก็ยังเป็นไปอย่างยากลำบาก
  • คำสั่ง 64, 66 เรื่องทวงคืนผืนป่า สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมาก แม้จะมีการกำหนดว่าหากเป็นคนยากจนจะได้รับการยกเว้น แต่หากดูผลงานที่รัฐบาลยึดคืนมาได้ 200,000 กว่าไร่นั้นล้วนแต่เป็นของคนจนทั้งนั้น

ระเบียง แข็งขัน กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้นและโคกหินขาว

  • รัฐบาลต้องดูแลเศรษฐกิจด้านการเกษตร เพราะราคาพืชผลตกต่ำมาก ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่สามารถมีเงินไปใช้หนี้ ธกส.ได้
  • พื้นที่น้ำพองเต็มไปด้ยอุตสาหกรรม ทั้งโรงงานน้ำตาล โรงงานกระดาษ โรงงานสุรา โรงงานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ซึ่งสร้างผลกระทบที่เห็นได้จริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยน้ำเสีย และมลภาวะทางอากาศของกลิ่นเหม็น ทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันคัดค้าน ที่ผ่านมาคัดค้านโรงงานแป้งมันในปี 2554-2555 มีการฟ้องศาลปกครองโดยมีกลุ่มนักศึกษาดาวดินช่วยเหลือในทางกฎหมาย  แม้โรงงานสร้างไปแล้วราว 50% แต่เราก็สู้กันจนชนะคดี นอกจากนี้ยังมีโรงงานเชือดไก่ของ CP ที่จะเข้ามาตั้งและต้องเผชิญกับการต่อต้านจากชาวบ้านเช่นกัน
  • หลังรัฐประหาร 2557 ชาวบ้านอยากเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให่ ไผ่ ดาวดิน ที่ถูกจับกุมคุมขังในคดี 112 จากการแชร์บทความจากเว็บบีบีซีไทย

“เราอยากเคลื่อนไหวช่วยไผ่ เรียกร้องเรื่องความไม่ยุติธรรมทั้งหลาย แต่เรารวมตัวกันไม่ได้ พอรวมกันตำรวจก็มาบอกไม่ให้เคลื่อนไหวขู่จะดำเนินคดี เขาจับตาทุกเรื่อง แม้แต่เรื่อง 30 บาทที่เราอยากจะไปเรียกร้องกับนายกฯ ตอนมาประชุมที่ขอนแก่น ก็ไปไม่ได้ ชาวบ้านกลัวจะโดนคดี”

เสมอ เถินมงคล กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์  จ.ชัยภูมิ

  • สถานการณ์ของเหมืองแร่โปแตชนั้นดูเหมือนจะยุติลงชั่วคราว นอกเหนือจากโครงการเหมืองแร่ยังมีโรงงานไฟฟ้าถ่านหินด้วย ตอนนี้ทางเหมืองเปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล

“ชาวบ้านเรียกร้องให้ถอนอีไอเอฉบับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อยู่ที่ สผ.ออกให้เรียบร้อยก่อนแล้วค่อยว่ากันเรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวล ตอนนี้จะมาประชาคมอีกวันที่  24 ก.ค.นี้ ชาวบ้านตั้งรับไม่ทัน ไม่รู้ข้อมูล มีแต่ทางเหมืองที่บอกว่าดี”

สมัย มังทะ กลุ่มคนรักษ์น้ำอูน จังหวัดสกลนคร

  • ในพื้นที่กำลังต่อต้านโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ที่พ่วงด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งมีการรับฟังความคิดเห็นมา 2-3 ครั้งแล้ว ทั้งนี้ในปี 2532 มีมติครม.อนุญาตให้บริษัทแห่งหนึ่งย้ายโรงงานและพื้นที่ปลูกอ้อยมาที่จังหวัดสกลนคร มีการยื่นอีไอเอระบุว่าจะใช้อ้อย 40,000 ตันต่อวัน แต่ไม่ผ่านอีไอเอจึงปรับลดเหลือ  12,000 ตันต่อวัน
  • จุดตั้งโรงงานขนาดใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่ 3 อำเภอใกล้ลำน้ำอูน และมี  17 หมู่บ้านที่อยู่ใกล้พื้นที่โรงงาน โดยหมู่บ้านที่ใกล้ที่สุดคือ 200 เมตร
  • ความกังวลของชาวบ้านคือ ผลกระทบด้านมลภาวะที่จะทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำเสียที่จะถูกปล่อยลงลำน้ำอูน หรือการต้องมีพื้นที่ปลูกอ้อยขนาดใหญ่มาก จะมีการเผาไร่อ้อย การแย่งชิงน้ำดิบ หรือแม้กระทั่งการขนส่งที่ระบุว่าจะมีรถวิ่ง 695-2,223 เที่ยวต่อวัน หรือชั่วโมงละ 18 คัน ในขณะที่อาชีพหลักของชาวบ้านคือ การทำข้าวอินทรีย์ ซึ่งมีสายพันธ์ท้องถิ่นกว่าร้อยชนิด
  • ปัจจุบันแม้อีไอเอของโรงงานยังไม่ผ่าน แต่มีการกว้านซื้อที่ดินและแผ้วถางป่าไปแล้วกว่า  1,400 ไร่

“ตอนนี้ลำรางสาธารณะก็ถูกปิดกั้น ถนนที่ชาวบ้านเคยใช้ก็ใช้ไม่ได้ เขาถมคลอง ชาวบ้านไปร้องเรียน เขาก็ขุดคืน แล้วก็ฟ้องชาวบ้านข้อหาหมิ่นประมาท ตอนนี้มีชาวบ้าน 20 คนที่โดนฟ้อง เคยมีการไกล่เกลี่ยแต่ชาวบ้านไม่ยอม ศาลจะนัดไต่สวนวันที่ 3-4 ตุลาคมนี้”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท