Skip to main content
sharethis

เปิดและอธิบาย 7 เหตุการณ์หมุดหมายทางการเมืองและการนองเลือดในเดือนตุลาคม บางเหตุการณ์ยังไม่มีใครรับผิดชอบ แต่ปฏิทินไทยกลับไม่จดจำ

เป็นเรื่องบังเอิญเหลือเกินที่ประวัติศาสตร์ทำให้หลายวันในเดือนตุลาคมของประเทศไทยมีความสำคัญในทางการเมือง แต่ก็คงไม่เป็นเรื่องบังเอิญที่วันเหล่านั้นไม่ได้ปรากฏอยู่บนปฏิทิน เพราะมันคือความทรงจำไม่พึงประสงค์ ไม่อยากกล่าวถึงของอนุรักษ์นิยมผู้กุมอำนาจเหนือปลายปากกาการลงตารางในปฏิทิน

ประชาไทเปิด 7 วันสำคัญในเดือนตุลาคมที่แม้ไม่ใช่วันหยุดนักขัตฤกษ์ ไม่ใช่วันสำคัญทางพุทธศาสนาและราชประเพณี แต่ก็มีความสำคัญยิ่งยวดและน่าจดจำ

(ดูภาพขนาดใหญ่)

1.) 6 ต.ค. 2519 เหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาฯ 

เหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ สนามหลวง และบริเวณโดยรอบเป็นโศกนาฏกรรมของการฟาดฟันกระแสสังคมนิยมที่เริ่มแพร่หลายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 (จะกล่าวถึงต่อไป) เมื่ออุดมการณ์สังคมนิยมถูกใช้ในการวิพากษ์ระบบชนชั้นที่กดขี่และความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย ดังที่เห็นได้จากการพูดถึงในหมู่นักศึกษา แรงงาน ชาวนา ทั้งยังมีพรรคแนวร่วมสังคมนิยมได้รับเลือกตั้งเข้าสภาถึง 3 พรรครวม 37 ที่นั่ง กระแสหวาดกลัวคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมในยุคสงครามเย็นทำให้ฝ่ายรัฐสร้างนโยบาย เรื่องเล่า และจัดตั้งกลุ่มประชาชนเพื่อตอบโต้ มีการโจมตีพรรคสังคมนิยม กลุ่มแรงงาน นักศึกษาว่าเป็นพวกขายชาติ หนักแผ่นดิน เป็นสายลับเวียดนาม โซเวียต ฯลฯ 

การกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกฯ ที่ถูกประชาชนขับไล่ไปเมื่อปี 2516 ในฐานะพระภิกษุในวันที่ 19 ก.ย. 2519 และข้อความของสถานีวิทยุยานเกราะที่บอกว่าการกลับมาไม่มีความมุ่งหมายทางการเมือง ทั้งยังเตือนไม่ให้นักศึกษาก่อความวุ่นวาย ตามมาด้วยการเคลื่อนไหวต่อต้านถนอมของขบวนการนักศึกษาและประชาชนซึ่งถูกตอบโต้จากกลุ่มฝ่ายขวา เหตุการณ์เหล่านี้ดำเนินไปท่ามกลางการลอบฆ่าและลอบทำร้ายผู้นำแรงงาน ชาวนาและนักศึกษา ที่ได้ยินกันบ่อยคือชุมพร ทุมไมย และวิชัย เกษศรีพงศา 2 พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครปฐมที่ถูกฆาตกรรมแล้วนำไปแขวนคอที่ประตูทางเข้าที่ดินจัดสรรบริเวณหมู่บ้าน 2 ตำบลพระประโทน

ในวันที่ 4 ต.ค. กลุ่มนักศึกษาใน มธ. รณรงค์ให้นักศึกษางดสอบแล้วมาร่วมประท้วงขับไล่ถนอม ในการรณรงค์มีการแสดงละครที่มีฉากการแขวนคอสะท้อนถึงเหตุการณ์ 2 ช่างไฟฟ้าที่นครปฐม ฉากดังกล่าวถูกเผยแพร่ต่อครั้งแรกในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ซึ่งหน้าของผู้ถูกแขวนคอ (อภินันท์ บัวหภักดี) บังเอิญไปคล้ายกับพระบรมโอรสาธิราช จากนั้นหนังสือพิมพ์ดาวสยามจึงได้เผยแพร่ภาพการแขวนคอต่อ พร้อมมีข้อความโจมตีขบวนการนักศึกษาว่าจงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำลายสถาบันกษัตริย์ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการคอมมิวนิสต์ สถานีวิทยุทหารทุกแห่งขยายข้อความด้วยการปลุกระดมให้ทำลายพวกคอมมิวนิสต์ใน มธ. นำมาซึ่งการปิดล้อม มธ. โดยกลุ่มพลังฝ่ายขวาเช่นกลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มนวพลในดึกวันที่ 5 ต.ค. ก่อนที่เช้าวันที่ 6 ต.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มใช้อาวุธสงครามกับผู้ชุมนุมใน มธ. ตามมาด้วยการปราบปรามใหญ่ด้วยน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่ถูกปลุกระดม (ข้อมูลจากเว็บบันทึก 6 ตุลา)

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ 2519

ฉันไม่รู้จัก 6 ตุลา (1): สำรวจแบบเรียน-ความเข้าใจของนักเรียนไทยในปี 2562

ฉันไม่รู้จัก 6 ตุลา (2): นักสืบประวัติศาสตร์ผู้(กำลัง)ทำงานแข่งกับเวลา

2.) 7 ต.ค. 2551 สลายการชุมนุมพันธมิตรฯ

การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง ที่ล้อมรัฐสภาในวันนั้นถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต มีการนำอาวุธปืน วัตถุระเบิดเข้ามาใช้ในการสลายการชุมนุมโดยไม่ได้ปฏิบัติตามหลักมาตรฐานสากลจากหนักไปหาเบา มีผู้บาดเจ็บ 443 คน เสียชีวิต 2 คน

หลังการรัฐประหาร 2549 กลุ่มพันธมิตรฯ ที่มีบทบาทในการทำให้เกิดทางตันทางการเมืองก่อนรัฐประหาร ได้ตัดสินใจกลับมาชุมนุมในวันที่ 25 พ.ค. 2551 เพื่อขับไล่รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ที่มีสมัคร สุนทรเวชเป็นนายกฯ (ต่อมาเป็นสมชาย วงศ์สวัสดิ์) โดยอ้างว่ารัฐบาลเป็น “นอมินี” หรือตัวแทนของสิ่งที่กลุ่มพันธมิตรฯ เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” ที่จะใช้อำนาจช่วยเหลือคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย โดยมีการชุมนุมและเข้ายึดพื้นที่ในรัฐสภาเมื่อ 26 ส.ค. 2551 ด้วย

7 ต.ค. เป็นวันที่รัฐบาลสมชายนัดแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนจะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ในวันนั้นผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ได้ปิดล้อมทางเข้า-ออกของรัฐสภาเพื่อตอบโต้ที่ตำรวจจับ 2 แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อ 3 ต.ค. 51 และเพื่อขัดขวางการแถลงนโยบาย โดยรัฐบาลสมชายแต่งตั้งให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ เป็นผู้นำในการเจรจาและคลี่คลายสถานการณ์กับผู้ชุมนุม โดยทำงานร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล

กำหนดการแถลงนโยบายจากเดิมที่จะใช้เวลา 3 วัน ได้ร่นลงเหลือ 2 ชั่วโมง ตลอดวันมีการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อเปิดทางให้ ส.ส. ส.ว. และฝ่ายบริหารได้เข้าและออกจากที่ประชุมสภา รวมถึงเพื่อควบคุมผู้ชุมนุม โดยผู้ชุมนุมได้มีการตอบโต้จนมีผู้บาดเจ็บทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจและรัฐบาลทำให้เกิดแนวร่วมต่อต้านรัฐบาล ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นแกนนำฝ่ายค้าน และ ส.ว. บางส่วนไม่เข้าร่วมฟังแถลงนโยบาย

การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ยังดำเนินต่อไป ทั้งยังขยายวงไปบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองในวันที่ 25 พ.ย. 2551 เพื่อกดดันให้สมชายลาออก ต่อมา เมื่อ 2 ธ.ค. 2551 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตยด้วยมติ 9-0 เสียง และยุบพรรคชาติไทยด้วยมติ 8-1 เสียง พร้อมตัดสิทธิทางการเมืองของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี 

กลุ่มการเมืองที่น่ากล่าวถึงในเหตุการณ์ 7 ต.ค. 2551 คือบทบาทกลุ่ม 40 ส.ว. ในฐานะที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับพรรคพลังประชาชน มีการอภิปรายเรียกร้องให้สมชายลาออกหรือยุบสภากรณีสลายการชุมนุม 7 ต.ค. ก่อนหน้านี้ก็ยื่นศาลวินิจฉัยกรณีสมัคร สุนทรเวชจัดรายการชิมไปบ่นไปขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ จนมีอันต้องพ้นจากตำแหน่ง รวมถึงไม่เข้าร่วมประชุมสภาในวันแถลงนโยบายของรัฐบาลสมชายอีกด้วย

หลายคนในกลุ่ม 40 ส.ว. ยังคงมีที่ทางในการเมืองไทยในสมัยรัฐบาลเพื่อไทย และรัฐบาล คสช. ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ ส.ส. เช่น ไพบูลย์ นิติตะวัน คำนูณ สิทธิสมาน ประสาร มฤคพิทักษ์ ตวง อันทะไชย สมชาย แสวงการ เจตน์ ศิรธรานนท์ รสนา โตสิตระกูล วัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นต้น กลุ่มคนเหล่านี้มีจุดยืนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จากการรัฐประหารให้สืบทอดอำนาจต่อไป ดังที่เห็นจากจุดยืนในการลงคะแนนเสียงเลือกนายกฯ ในวันที่ 6 มิ.ย. 2562 

เมื่อ 31 ม.ค. 2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย 254 รายจากการสลายการชุมนุม 7 ต.ค. 2551 โดยสั่งให้จ่ายเงิน ตั้งแต่ 7,120 - 4,152,771.84 บาท ต่อคน ภายใน 60 วัน

ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 7 ต.ค. 2551 มี 2 ราย ได้แก่ พ.ต.ต.เมธี ชาติมนตรี อดีตสารวัตรป้องกันปราบปราม จ.บุรีรัมย์ และอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือน้องโบว์

อ่านเรื่องราวของกลุ่ม 40 ส.ว.

ที่มา: คมชัดลึก ไทยพีบีเอส วิกิพีเดีย เบนาร์นิวส์

3.) 7 ต.ค. ของทุกปี วันงานที่มีคุณค่าสากล

“วันงานที่มีคุณค่า” (World Day for Decent Work) ซึ่งมีที่มาจากการประชุมใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) ครั้งที่ 87 พ.ศ. 2547 ขบวนการแรงงานทั่วโลกได้จัดรณรงค์เพื่อการจ้างงานที่ดีและมั่นคง โดยเชื่อว่างานที่มีคุณค่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานและส่งเสริมให้มีการพัฒนาแรงงานที่ยั่งยืน “งานที่มีคุณค่า” หมายถึง งานซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการเกี่ยวกับวิถีชีวิตและการทำงานของมนุษย์ อันประกอบด้วย หลักการที่สำคัญ ดังนี้

1. การมีโอกาสและรายได้ (Opportunity and income)

2. การมีสิทธิ (Rights) 

3. การได้แสดงออก (Voice)

4. การได้รับการยอมรับ (Recognition)

5. ความมั่นคงของครอบครัว (Family stability)

6. การได้พัฒนาตนเอง (Personal development)

7. การได้รับความยุติธรรม (Fairness) 

8. การมีความเท่าเทียมทางเพศ (Gender equality)

แรงงานจัดงาน 'วันงานที่มีคุณค่าสากล'

4.) 11 ต.ค. 2540 วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540

รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 (ฉบับที่ 16) ที่ว่ากันว่าเป็นฉบับที่สมบูรณ์ที่สุดและมีส่วนร่วมจากประชาชนมากที่สุด ถูกประกาศใช้ในวันนั้นหลังมีกระแสการเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์พฤษภาฯ ทมิฬเมื่อปี 2535 มีหลายองค์กรออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

9 มิ.ย. 2537 มารุต บุนนาค ประธานสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้นประกาศตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) จนมีข้อเสนอในเดือน เม.ย. 2538 และมีการพูดถึงการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อสร้างสถาบันการเมือง ระบบการตรวจสอบฝ่ายการเมือง ต่อมารัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง (คปก.) เพื่อทำข้อเสนอแนะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 211 เพื่อสร้างกลไกยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ 

การแก้ไขมาตรา 211 เป็นที่พูดถึงอย่างแพร่หลายในสาธารณะ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเมื่อ 1 ธ.ค. 2539 พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นควรให้มีการปฏิรูปการเมืองโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขมาตรา 211 เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือที่เรียกว่า สสร.

สสร. ถูกฟอร์มขึ้นมาจากตัวแทนจังหวัดละ 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการแต่ละสายเมื่อ 26 ธ.ค. 2539 มีอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธาน สสร. และอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ นำเสนอต่อประชาชนมี 3 กรอบ ได้แก่ สิทธิหน้าที่และการมีส่วนร่วมของพลเมือง การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และสถาบันการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมือง

หลังวิเคราะห์ความเห็นประชาชนหลังการรับฟังความคิดเห็น สสร. เห็นชอบในการพิจารณาในวาระที่ 1 ถึง 3 เมื่อมีการเห็นชอบ แล้วก็มีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญให้รัฐสภาพิจารณาต่อ ก่อนลงมติเห็นชอบให้นำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อ 11 ต.ค. 2540

รัฐธรรมนูญ 2540 มีการทำประชาพิจารณ์ในทุกจังหวัด และมีความพยายามสร้างความรู้ ความเข้าใจและตระหนักในความสำคัญของกฎหมายรัฐธรรมนูญ  มีการร่างบทบัญญัติใหม่ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพของประชาชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สร้างสถาบันการเมืองใหม่เพื่อตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ เช่น ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นจุดกำเนิดของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปรับสัดส่วนที่มา ส.ส. และมี ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 

รัฐรรมนูญ 2540 ถูกฉีกและแทนที่ด้วยฉบับ พ.ศ. 2550 โดยการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อ 19 ก.ย. 2549

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2540

5.) 14 ต.ค. 2516 วันมหาวิปโยค

เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เป็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาและประชาชนจำนวนมากชุมนุมเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเดินประท้วงในถนนราชดำเนิน เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการทหาร ภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจร อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวรัฐบาลใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

ต่อมา ร.9 และสมเด็จย่ามีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ ต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ ในเวลาต่อมาจอมพลถนอม กิตติขจรประกาศลาออกและได้เดินทางออกต่างประเทศ 

แม้เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 จะถูกบอกเล่าถึงชัยชนะของประชาชนที่ออกมาขับไล่เผด็จการทหาร แต่ก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ได้มีเพียงมิตินั้นอย่างเดียว ซึ่ง พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง อธิบายไว้ในบทความ '14 ตุลาคม 2516 คือชัยชนะของพลังจารีตนิยมไทย' เมื่อปี 2556 โดยชี้ให้เห็นว่าเหตุที่มวลชนคนเสื้อแดงจำนวนมากมีความเย็นชาต่อการรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา นั้นไม่ใช่เพียงแค่เพราะไม่พอใจอดีตผู้นำนิสิตนักศึกษา 14 ตุลา ที่เกือบทั้งหมดปัจจุบันเป็นพวกนิยมกษัตริย์และสนับสนุนรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 หากแต่เพราะพวกเขามองบริบททางประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์นั้นถึงปัจจุบันแล้วสรุปด้วยตัวเองว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นการเคลื่อนไหวของขบวนการที่นิยมกษัตริย์ด้วย 

โดย พิชิต ยังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า นิสิตนักศึกษาปัญญาชนที่เคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการถนอม-ประภาสในเวลานั้นประกอบด้วยผู้คนที่หลากหลาย ตั้งแต่ฝ่ายขวาที่เป็นกษัตริย์นิยมไปจนถึงพวกเสรีนิยมและพวกสังคมนิยม พวกเขามีจุดร่วมกันเพียงประการเดียวคือ ต่อต้านกลุ่มถนอม-ประภาส แต่แกนนำสำคัญของขบวนในเวลานั้นส่วนใหญ่เป็นพวกนิยมกษัตริย์ มีสัมพันธ์เกื้อหนุนส่วนบุคคลกับเครือข่ายจารีตนิยมมาตั้งแต่ต้น จนสิ้นสุดลงเมื่อกลุ่มสังคมนิยมสามารถเข้ายึดกุมการนำขบวนการนิสิตนักศึกษาไว้ได้ในต้นปี 2518

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับวันที่ 14 ตุลา 2516 

6.) 25 ต.ค. 2547 สลายการชุมนุมตากใบ

วันที่ 25 ตุลาคม 2547 เป็นวันที่ 10 ของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ประชาชนในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ต่างดำเนินชีวิตไปตามปกติ แต่เช้าวันนั้นไม่เหมือนเดิม เพราะมีการชุมนุมที่หน้า สภอ.ตากใบ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คน ที่ถูกตำรวจจับกุมดำเนินคดีโดยตั้งข้อหาแจ้งความเท็จและยักยอกทรัพย์

ขณะที่การชุมนุมของประชาชนจำนวนมากที่อยู่ใกล้ก็เริ่มจากไปมุงดู ส่วนที่อยู่ไกลออกไปหลังทราบว่า มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นหลายคนต่างขึ้นรถไปกับเพื่อนบ้านเพื่อไปมุงดูเหตุการณ์เช่นกัน โดยที่พวกเขาไม่รู้ว่าเหตุการณ์นี้จะเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล

ต่อมา แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้นได้อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกมีคำสั่งสลายการชุมนุม พร้อมกับควบคุมตัวผู้เข้าร่วมชุมนุมนำขึ้นรถยนต์บรรทุกทหารไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ในการขนย้ายผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้ใช้วิธีการจับมัดมือเรียงคว่ำซ้อนทับกัน จนเป็นเหตุให้มีคนเสียชีวิตรวม 78 ศพ (ไม่รวมผู้เสียชีวิตอีก 7 รายจากการสลายการชุมนุมก่อนการขนย้ายผู้ที่ถูกจับกุม) และมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมาก

กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลของเหตุการณ์นี้จบลงตรงที่ศาลจังหวัดสงขลาได้ทำการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ และมีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ช.16/2548 และคดีหมายเลขแดงที่ ช.8/2552 ว่าผู้ตายทั้ง 78 รายขาดอากาศหายใจในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการตามความจำเป็นแห่งสภาพการณ์เท่าที่เอื้ออำนวย และคำสั่งนี้ถือเป็นที่สิ้นสุด ไม่สามารถอุทธรณ์ได้

คำสั่งของศาลนำมาสู่การตั้งคำถามอย่างหนักจากสังคมว่า ได้มีการพิจารณาถึงการสั่งการจากผู้บังคับบัญชาและการปฏิบัติที่ประมาทจนทำให้ประชาชนเสียชีวิตหรือไม่ อีกทั้งคำสั่งของศาลนี้หมายความว่าไม่มีผู้ใดเลยแม้แต่คนเดียวถูกลงโทษทางอาญาจากการตายของประชาชน 78 ราย

อ่านเรื่องราวเหตุการณ์ตากใบ

14 ปี ตากใบ 'ประชาชาติ' หวังการพูดถึงนำมาซึ่งการรื้อฟื้นก้าวพ้นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

ประทับจิต นีละไพจิตร: 13 ปีตากใบ ความยุติธรรมยังติดเพดาน

12 ปี ตากใบ บาดแผลที่ยังไม่เลือน ความยุติธรรมที่ยังไม่มา

7.) 31 ต.ค. 2549 นวมทอง ไพรวัลย์ ฆ่าตัวตายประท้วง

นวมทอง ไพรวัลย์ อดีตพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อ.บางกรวย วัย 60 ปี ขณะนั้น คนขับแท็กซี่ขับรถแท็กซี่โตโยต้า โคโรลล่า สีม่วง เครื่องมือทำมาหากินของเขาพุ่งชนรถถังของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) คณะบุคคลที่แปรสภาพจากคณะรัฐประหาร คปค. เมื่อ 19 ก.ย. 2549  ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จนได้รับบาดเจ็บสาหัส 

หนึ่งเดือนต่อมา (คืนวันที่ 31 ต.ค.49) ได้ปรากฏว่าเขาผูกคอตายกับราวสะพานลอยบริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก เยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยต่อมาจุดตรงนั้นมีการจัดสร้างสดมภ์อนุสรณ์ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

จดหมายลาตายของนวมทอง ระบุไว้ด้วยว่าต้องการลบคำสบประมาทของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ที่ว่า "ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้" มีใจความว่า

"สุดท้ายขอให้ลูกๆ และภรรยาจงภูมิใจในตัวพ่อ ไม่ต้องเสียใจ ชาติหน้าเกิดมาคงไม่พบเจอการปฏิวัติอีก ลาก่อน พบกันชาติหน้า ปล. ขอแก้ข่าว ขวดยาที่พบในรถภายหลังเกิดเหตุคืออาหารเสริมแคปซูลใบแปะก๊วยไม่ใช่ยาแก้เครียดตามที่ลงข่าว นสพ. ผมไม่เครียดแต่ประท้วงจอมเผด็จการ"

จดหมายของนวมทอง

เสื้อที่นวมทองใส่ในวันเสียชีวิต ด้านหลังสกรีนข้อความเป็นบทกวีของศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ที่ถูกใช้ในการต่อสู้ทางการเมือง มีใจความว่า “อันประชา สามัคคี มีจัดตั้ง เป็นพลัง แกร่งกล้า มหาศาล แสนอาวุธ แสนศัตรู หมู่อันธพาล ไม่อาจต้าน แรงมหา ประชาชน”

ปัจจุบัน ยังมีกลุ่มประชาชน นักกิจกรรมมาทำพิธีรำลึกถึง “ลุงนวมทอง” ที่สดมภ์นวมทองอยู่ทุกปี ทั้งในช่วงวันที่นวมทองขับรถแท็กซี่พุ่งชนรถถัง และวันที่นวมทองฆ่าตัวตาย 

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับนวมทอง ไพรวัลย์

จุดเทียนรำลึก 13 ปี วัน 'ลุงนวมทอง' ขับแท็กซี่ชนรถถังจนตัวเองบาดเจ็บสาหัส ประท้วงรัฐประหาร

10 ปี ลุงนวมทองขับแท็กซี่ชนรถถังคณะรัฐประหาร สัญลักษณ์ที่ยังมีชีวิต

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก: ผศ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, การเมืองไทยร่วมสมัย, สถาบันพระปกเกล้า, 2560

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net