Skip to main content
sharethis

'ประยุทธ์' ยันไม่มีใครแทรกแซงกระบวนการของศาล ขณะที่ 12 องค์กรจี้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้พิพากษายะลาอ้างถูก "แทรกแซง"

สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการศาลยุติธรรม ได้เดินทางมาเยี่ยมอาการ นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา

7 ต.ค.2562 วันนี้ สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ครั้งที่ 15/2562 ซึ่งได้มีการประชุม ณ ศาลฎีกา เมื่อเวลา 13.30 น. โดยมี ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุม ว่าการประชุม ก.ต. ในวันนี้ ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 15 คนได้มาประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งหลังจากที่ได้พิจารณาระเบียบวาระการประชุมตามที่ฝ่ายเลขาได้แจ้งไปล่วงหน้าเสร็จสิ้นแล้ว ตนได้แถลงสรุปข้อเท็จจริงกรณี คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดี เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2562 ให้ที่ประชุม ก.ต. ทราบ และภายหลังจากที่ประชุม ก.ต. รับทราบข้อมูลและพิจารณาแล้ว มีมติให้ตั้งอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมวิสามัญ

ซึ่งประกอบด้วย ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 คน เป็นอนุกรรมการวิสามัญ ได้แก่ 1) วาสนา หงส์เจริญ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา (ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิในชั้นศาลฎีกา) เป็นประธานอนุกรรมการวิสามัญ 2) อนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ (ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิในชั้นศาลอุทธรณ์) เป็นอนุกรรมการวิสามัญ และ 3) สุวิชา สุขเกษมหทัย ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา (ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิในชั้นศาลชั้นต้น) เป็นอนุกรรมการวิสามัญ โดยกำหนดให้อนุกรรมการวิสามัญดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ และรายงานให้ ก.ต. ทราบภายใน 15 วัน ทั้งนี้ หากมีรายละเอียดเพิ่มเติมสำนักงานศาลยุติธรรมจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ประยุทธ์ ยันไม่มีใครแทรกแซงกระบวนการของศาล

ขณะที่ โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เรื่องของผู้พิพากษา การตัดสินคดีก็เป็นเรื่องของศาล กระบวนการยุติธรรม ก็ได้ชี้แจงไปแล้ว เลขาธิการศาลยุติธรรม ก็ได้ชี้แจงแล้ว ว่าไม่มีใครสามารถจะไปแทรกแซงกระบวนการของศาลได้ อันนี้เป็นเรื่องของศาล กระบวนการยุติธรรม ตนไม่อยากขยายความขัดแย้ง

"ส่วนกรณีที่มีการแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดีย. ก็เป็นเรื่องของโซเชียล ซึ่งวันนี้มีเยอะแยะอยู่แล้ว วิพากษ์ วิจารณ์กันไปมาอยู่แล้ว แต่ผมยึดถือตามกระบวนการยุติธรรม ทั้งหมดทุกประการ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

12 องค์กรจี้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้พิพากษายะลาอ้างถูก "แทรกแซง"

วันเดียวกัน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคประชาสังคม รวม 12 องค์กร ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลจังหวัดยะลา อ้างว่า ถูกแทรกแซงความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

ตามที่ปรากฏข่าวจากสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ว่า นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลจังหวัดยะลา ได้ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดี บัลลังก์ 4 ศาลจังหวัดยะลา ภายหลังจากที่อ่านคำพิพากษายกฟ้องคดีหนึ่ง

ต่อมาปรากฏแถลงการณ์ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขคดีดำที่ 3428/2561 ศาลจังหวัดยะลา โดยมีนายคณากร เป็นผู้ลงชื่อท้ายคำแถลงนั้น อ้างถึงเหตุการณ์ เกี่ยวกับการทำคำพิพากษาของนายคณากร ที่ต้องส่งให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ตรวจ โดยมีผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้องทำบันทึกความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับร่างคำพิพากษาของนายคณากรที่พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 5 และให้นายคณากรทำคำพิพากษาใหม่ตามความเห็นของหัวหน้าภาคกับอธิบดีผู้พิพากษาภาค ซึ่งคัดค้านและขอแก้ไขคำพิพากษานั้นไม่ได้เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11(1) และไม่มีกฎหมายรองรับให้สามารถทำได้ นอกจากนี้ ในคำแถลงยังระบุว่ามีวิธีการปฏิบัติในลักษณะเดียวกันนี้อีกในอีกหลายคดี

จากกรณีที่นายคณากรกล่าวอ้างนั้น สะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาการขาดความเป็นอิสระในการพิพากษาคดีของผู้พิพากษา ซึ่งถูกกำหนดให้ต้องรายงานและส่งร่างคำพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจสอบก่อน ตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยมาตรฐานการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ.2560 ซึ่งต่อมาถูกยกเลิกและแทนที่โดยระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกาและรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ.2562 ระเบียบดังกล่าวเป็นช่องทางให้เกิดการแทรกแซงความเป็นอิสระในการพิพากษาคดีขึ้นได้

หากข้อเท็จจริงเป็นดังเช่นแถลงการณ์ของนายคณากร ย่อมสร้างความเสียหายให้กับระบบกระบวนการยุติธรรมและก่อความเสียหายแก่ประชาชนอย่างร้ายแรง และอาจทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของประเทศได้

การป้องกันการการแทรงแซงอำนาจตุลาการในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และองค์กรภาคประชาสังคมที่มีรายชื่อด้านล่างนี้ จึงขอเสนอข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. ขอให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่นายคณากรกล่าวอ้างในคำแถลงการณ์ โดยคณะกรรมการต้องอิสระและเป็นกลาง หากพบการกระทำความผิดก็ให้ดำเนินคดีทั้งทางวินัยและอาญาตามกระบวนการต่อไปโดยเร็ว และแจ้งผลต่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น ทั้งนี้ ก.ต. ต้องดำเนินการเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของนายคณากร และครอบครัวในระหว่างที่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นายคณากรอยู่ในภาวะที่สามารถให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้อย่างอิสระ ไม่ถูกข่มขู่ คุกคามจากบุคคลใด

2. ขอให้ประธานศาลฎีกาพิจารณาทบทวนแก้ไข ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกาและรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ.2562 และสร้างกลไกอย่างเป็นทางการเพื่อให้เกิดการพิจารณาคดีอย่างถูกต้อง เป็นธรรม และป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงความเป็นอิสระของผู้พิพากษา และให้ผู้พิพากษาที่ถูกแทรกแซงสามารถร้องเรียนขอความเป็นธรรมได้อย่างปลอดภัย ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชณอาณาจักรไทย มาตรา 188

3. ขอให้ผู้พิพากษาทุกท่านมีความกล้าหาญทางจริยธรรมและไม่ยอมจำนนต่ออำนาจอิทธิพลนอกกฎหมาย รวมทั้งอคติของผู้ใด อันจะทำให้การพิจาณาพิพากษาคดีเสียความยุติธรรมไป ทั้งนี้ เพื่อดำรงไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้พิพากษาในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม

4. ขอให้สื่อมวลชนทั้งหลายนำเสนอข่าวโดยเคารพจรรยาบรรณสื่อมวลชน เสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือนให้เป็นประเด็นทางการเมือง อันอาจก่อให้เกิดความแตกแยกแบ่งฝ่าย หรือลดทอนศักดิ์ศรีของบุคคลใด และขอให้ใช้โอกาสนี้นำเสนอข่าวเพื่อให้เป็นประโยชน์ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต่อไป

ทั้งนี้ สมาคมฯ และองค์กรภาคประชาสังคมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าเกียรติศักดิ์และความมั่นคงของสถาบันตุลาการ จะดำรงอยู่และเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของประชาชนได้นั้น จะต้องอาศัยกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องรับฟังความคิดเห็นและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน

ด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

แถลงมา ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2562

กรุงเทพมหานคร

 

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม

ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

ศูนย์กฎหมายสิทธิชุมชน

ศูนย์กฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net