นักวิชาการชี้รัฐธรรมนูญ 60 อัปลักษณ์ เอ็นจีโอย้ำต้องแก้กฎหมายจากฐานราก

ชำแหละรัฐธรรมนูญ 2560 นักวิชาการชี้ เป็นฉบับอัปลักษณ์ เพิ่มอำนาจรัฐ ลดอำนาจประชาชน ด้านนักพัฒนาเอกชนชี้ ต้องแก้รัฐธรรมนูญให้มาจากฐานราก สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน

18 ต.ค.2562 เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) จัดเวทีระดมความคิดเห็น “รัฐธรรมนูญ 60 กับสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิชุมชน การแก้ไขปัญหาปากท้อง และความเป็นธรรม” ณ ห้องประชุมสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อหารือประเด็นในรัฐธรรมนูญที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน ตลอดจนแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 หากเทียบกับรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าอัปลักษณ์ที่สุดอย่างปี 2521 ก็ถือว่าอัปลักษณ์ไม่ต่างกัน โดยเฉพาะการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาล ลดทอนอำนาจของประชาชน และทำให้เกิดการหดแคบของการกระจายอำนาจ กลับไปสู่การเป็นการเมืองที่กินไม่ได้และไม่เห็นหัวคนจน

“ถ้าเราดูภาพใหญ่ๆ รัฐธรรมนูฐฉบับนี้พยายามเอาอำนาจขึ้นไปข้างบน เป็นประชาธิปไตยค่อนใบ เป็นประชาธิปไตยแบบอภิสิทธิ์ชน อันนี้ไม่ต้องรวมถึงรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมที่แย่มาก วัฒนธรรมในความหมายที่ว่าอำนาจในการออกกฎหมายหรือจัดสรรการใช้ทรัพยากรที่ไม่ได้ถูกเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว แต่มันเกิดขึ้นจากวัฒนธรรมการใช้อำนาจ ที่ควรพูดในเชิงวิชาการอย่างจริงจัง ผมว่าเราคงเห็นความหดแคบในประชาธิปไตยแบบตัวแทนหรือการหย่อนบัตรเลือกตั้ง กลายเป็นลากตั้ง ในขณะที่ในตุลาการภิวัตน์เกิดขึ้นงอกเงยอย่างมาก” รศ.ดร.ประภาส กล่าว

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ชีพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เห็นว่า มีอยู่สามขาหลักที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญที่ต้องแก้ ขาแรกคือสิทธิเสรีภาพ ขาที่สองคือการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาล และขาที่สามคือแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจนมองว่าขาที่เป็นไปได้มากที่สุดคือขาที่สองที่จะนำไปสู่การแก้ขาต่อๆ ไปภายหลัง

“ข้อเสนอในระยะ 1-2 ปีนี้เป็นไปได้ยากมากที่จะพูดเรื่องปากท้อง แต่ต้องค่อยๆ ทำ ผมไม่เห็นเลยว่ามันจะทำให้เกิดฉันทามติจนสำเร็จ ผมว่ามันหลักเลี่ยงไม่ได้ที่ตอนนี้ต้องโจมตีการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง มันจะเป็นก้าวหนึ่งที่ไปสู่อนาคตที่มีโอกาสมากกว่านี้ ถ้าไม่มีการแก้ตรงนี้จะยากมากที่จะพูดเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน แรงงาน” ยิ่งชีพ แสดงความเห็น

สุนี ไชยรส

สุนี ไชยรส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงบทเรียนการต่อสู้จนได้รัฐธรรมนูญปี 2540 ว่า ขณะนั้นมีการสร้างกระแสให้ชาวบ้านสามารถพูดคุยเรื่องรัฐธรรมนูญได้ และชาวบ้านรู้สึกจับต้องได้ สืบเนื่องมาจากการถูกกดขี่และปิดกั้นการต่อสู้กับนโยบายที่ไม่เป็นธรรมของรัฐ ในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงต้องมีเรื่องความใฝ่ฝันของชาวบ้านกับความเป็นจริงในปัจจุบันควบคู่กันไป

“สิ่งที่เราต้องทำคือเราต้องเชื่อมั่นว่ากระบวนการเติบโตของพี่น้องต้องสั่งสมจากปริมาณเป็นคุณภาพมันต้องเริ่มต้น สูตรแรกคือ ต้องทำให้พี่น้องลุกขึ้นมาพูดความต้องการของเขา สร้างความเชื่อมั่นเรื่อยๆ สองคือ ชาวบ้านพูดทีไรก็มีแต่เรื่องที่ดิน แต่พี่จะยกตัวอย่างว่าพี่ฟังการวิจารณ์มาหมดแล้ว แต่พี่ไม่ได้ไว้ใจนักกฎหมายร้อยเปอร์เซ็นต์ มันขึ้นอยู่กับว่าคุณตีโจทย์ออกมาจากสิ่งที่เป็นความเดือดร้อนของชาวบ้านได้” สุนีกล่าว

สมชาย หอมละออ ที่ปรึกษาสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ไม่ควรปิดประตูว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่อาจจะยกร่างทั้งฉบับใหม่ก็ได้ แต่ประชาชนจะพร้อมแค่ไหนในช่วงเวลาวิกฤตที่เป็นโอกาส โดยเฉพาะในเรื่องความรู้และความเข้าใจ และข้อเสนอของภาคประชาชน

“ประเด็นที่จะแก้ไขของรัฐธรรมนูญและความสำเร็จมีความสัมพันธ์กัน ถ้าเราเชื่อว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานมาให้เราก็ไม่ต้องแก้ แต่ถ้าเรามองว่ามันเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเราก็ต้องแก้ได้ แน่นอนว่าประเด็นที่จะแก้นั้น การร้อยเรียงเป็นถ้อยคำอาจเป็นเรื่องเทคนิค แต่ประเด็นที่สำคัญต้องมี เช่น การจำกัดการถือครองที่ดินจะเอาไหม ถ้าเอา จะทำอย่างไรให้ประชาชนเรียกร้องไปสู่การแก้ได้ ต้องจุดประเด็นขึ้นมา” สมชายกล่าว

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เครือข่าย People Go Network

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เครือข่าย People Go Network เห็นว่า ต้องให้ความสำคัญกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย เพราะแม้จะมีบทบัญญัติว่าด้วยหน้าที่ของรัฐในรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้เนื่องจากถูกนโยบายรัฐครอบเอาไว้

“ถ้าเราไปดูเรื่องหน้าที่ของรัฐและแนวนโยบายเรื่องที่ดินจะเห็นชัด หน้าที่ของรัฐบอกว่าจะต้องปฏิบัติเพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ไปโดนนโยบายของรัฐมาทับซ้อน คือ แผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่บอกแค่ว่ารัฐพึงกระทำ คือไม่พึงก็ได้นะ ไม่ได้บอกว่าต้องทำ เกิดเป็นปัญหาใหญ่มากที่ตัวยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศไปครอบไม่ให้ทำได้จริง ข้อเสนอคือต้องยกเลิกทั้งหมดถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญ” เลิศศักดิ์แสดงความเห็น

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย พาย้อนดูประวัติศาสตร์การรัฐประหาร 13 ครั้ง และการแก้รัฐธรรมนูญ 22 ครั้ง มีการฉีกรัฐธรรมนูญมาหลายครั้ง และยังคงไม่เกิดการกระจายอำนาจสู่ประชาชน หมายความว่าประชาชนไม่สามารถกำหนดชะตาชีวิตตนเองได้ หากประชาชนไม่เข้าใจและมองว่ารัฐเป็นศูนย์กลาง ซึ่งสุดท้ายจะไม่เกิดรัฐธรรมนูญที่ชาวบ้านเขียนเองอย่างแท้จริง

“ถ้าเราทำความเข้าใจฐานรากมาอย่างต่อเนื่อง มันจะมาจากการตกผลึกจากฐานราก ไม่ใช่พอฉีกรัฐธรรมนูญเราก็เฮ ถ้าประชาชนแข็งแรงจริงๆ การฉีกรัฐธรรมนูญทำไม่ได้หรอก การรัฐประหารก็ทำไม่ได้ เราต้องใช้โอกาสว่าในขณะที่ทุกคนพูดเหมือนกันว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ มันเป็นโอกาส เราต้องเชื่อมั่นว่าเราสามารถออกกติกาเองได้ ตัวหนังสือจะเป็นยังไงไม่เป็นไร เจตจำนงค์ต่างหากที่สำคัญ” ลัดดาวัลย์ กล่าว

ทั้งนี้ ข้อสรุปจากเวทีระดมความคิดเห็น คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีหลักประกันสี่เสาร่วมกัน ได้แก่ เสานิติธรรมและนิติรัฐ เสาสิทธิมนุษยชน เสาประชาธิปไตย และเสาลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งทางเครือข่ายจะจัดเวทีสาธารณะอีกครั้ง และยกระดับการรณรงค์ด้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระหลักร่วมกับปัญหารายกรณีต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท