Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเครือข่ายจัดสนทนา 'LGBT+/ผู้หญิง/คนชายขอบ' กับความคาดหวังต่อ 'กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล' 'สุนี ไชยรส' กังวลหากถูกจัดเป็นร่างกฎหมายการเงิน ต้องให้นายกรัฐมนตรีลงนาม แล้ว 'ประยุทธ์' จะยอมลงนามหรือไม่?

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2564 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ครป. ร่วมกับสถาบันสังคมประชาธิปไตย ได้จัดการการสนทนาบนแอพพลิเคชั่น Clubhouse หัวข้อ “LGBT+/ผู้หญิง/คนชายขอบ กับความคาดหวังต่อกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ในฐานะผู้นำการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ฉบับประชาชน 12,000 รายชื่อ, สุนี ไชยรส ผู้ประสานงาน ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (We Move) / อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ , นาดา ไชยจิตต์ Human Rights Advisor Manushya Foundation / ตัวแทนประเด็น LGBT+, ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า / คนทำงานประเด็นแรงงานข้ามชาติ , อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี / ตัวแทนประเด็นผู้อยู่กับเชื้อ HIV และปัญญดา คล้ายโพธิ์ทอง Teen Asia Pacific Princess 2018 / ผู้มีประสบการณ์การดูแลนักเรียนกลุ่มเด็กพิเศษในสถานศึกษา ดำเนินรายการโดย วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
    
สุภัทรา ผู้นำการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ได้กล่าวว่าร่างกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นมาได้โดยการร่วมขับเคลื่อนของนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน คณาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตกรรมการและอดีตบุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ปัจจุบันไม่มีหน่วยงานนี้แล้ว) และเครือข่ายภาคประชาชน ทั้งกลุ่มผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV กลุ่มความหลากหลายทางเพศ กลุ่มคนพิการ กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มชนชาติพันธุ์ กลุ่มผู้ใช้สารเสพติด กลุ่มพนักงานบริการทางเพศ (Sex Worker) ในการระดมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งการรณรงค์สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนจนได้รับเสียงสนับสนุนถึง 12,000 รายชื่อ (การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนในปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 10,000 รายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา เรามีการทำให้เกิดกฎหมายที่คุ้มครองบุคคลหลายภาคส่วนจากการถูกเลือกปฏิบัติ ทั้งกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ กฎหมายส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นต้น แต่ทีนี้เราได้มองว่าการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลก็ไม่ได้เกิดขึ้นแต่กับบุคคลกลุ่มเฉพาะ มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ซึ่งสิทธิที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติถือได้ว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน จึงนำมาสู่การทำร่างกฎหมายฯนี้ให้เป็นกฎหมายกลางสำหรับทุกคน ซึ่งความคิดในการทำร่างกฎหมายฯ นี้ก็ยังสอดคล้องกับข้อเสนอในรายงานการศึกษาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) อีกด้วย 
    
เราใช้เวลา 1 ปีในการทำร่างกฎหมายนี้ และได้มีการจัดรับฟังความคิดเห็น โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 2 ให้การสนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อน เมื่อยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้รับการตีความเป็นกฎหมายหมวด 3 ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องให้มีการเข้าชื่อนำเสนอของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10,000 รายชื่อ ซึ่งเราก็รวบรวมมาได้ 12,000 รายชื่อ ซึ่งจะนำรายชื่อไปยื่นต่อประธานรัฐสภาวันที่ 24 พ.ย. ที่จะถึงนี้ 
    
สาระสำคัญของกฎหมายนี้ก็ชัดเจนตามหลักในสนธิสัญญา กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยรับรอง ซึ่งสิทธิที่จะหลุดพ้นจากการถูกเลือกปฏิบัติเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ประกอบกับรัฐธรรมนูญมาตรา 4 ที่คุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง รวมถึงมาตรา 27 ที่ห้ามการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งความแตกต่างเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ภาษา เพศ เพศสภาพ เพศวิถี อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ การเป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี (HIV) การป่วยโรคเอดส์ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม อาชีพ การทำงาน การศึกษาอบรม ศาสนา หรือความเชื่อ ความคิดเห็นทางการเมือง เป็นหลักในการร่างกฎหมายฉบับนี้ ทั้งยังระบุให้รัฐมีหน้าที่ช่วยเหลือ คุ้มครอง เยียวยา บุคคลที่ถูกเลือกปฏิบัติทั้งทางตรง ทางอ้อม รวมถึงการคุกคาม (Harassments) โดยก่อนทำการยกร่างกฎหมายฯ เราก็ได้มีการศึกษาตัวอย่างกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติของหลาย ๆ ประเทศมาเป็นแนวทางด้วย 
    
และเรายังระบุให้มีกลไก '2 คณะกรรมการ' '1 สภา' '1 สำนักงาน' ซึ่ง '2 คณะกรรมการ' ตามร่างกฎหมายนี้ประกอบด้วย 'คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล' มาทำหน้าที่เสมือนคณะกรรมการนโยบาย ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อการส่งเสริม คุ้มครองบุคคล และมี 'คณะกรรมการคุ้มครองและช่วยเหลือบุคคลซึ่งถูกเลือกปฏิบัติ (คชป.)' ที่คล้ายกับ คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) โดยที่เราได้ถอดบทเรียนข้อจำกัดของ วลพ. เอามาปรับปรุงทั้งในเรื่องผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อ คชป. ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหายโดยตรง แต่ให้รวมถึงทายาท คู่สมรส องค์กรภาคประชาสังคม ฯลฯ รวมถึงคณะกรรมการ คชป. ยังมีอำนาจในการหยิบกรณีการเลือกปฏิบัติขึ้นมาพิจารณาได้เองอีกด้วย และหากมีกรณีที่ผู้ร้องเรียนตัดสินใจถอนคำร้อง หาก คชป. เห็นว่ากรณีที่ได้มีการร้องเรียนเข้ามามีความสำคัญ คชป. ก็ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ 
    
ในส่วน '1 สภา' คือ 'สภาส่งเสริมความเท่าเทียมและขจัดการเลือกปฏิบัติ' ที่ให้มาจาการเลือกตั้งกันเองของกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ที่มีความเปราะบางต่อการถูกเลือกปฏิบัติในสังคม รวมเป็นจำนวน 50 คน ให้มีหน้าที่ในการหารือร่วมกับ 2 คณะกรรมการในการเสนอมาตรการส่งเสริมความเท่าเทียมและขจัดการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งช่วยคณะกรรมการนำเสนอ ศึกษา วิจัยปัญหาต่าง ๆ ให้เป็นข้อมูลแก่ทั้ง 2 คณะกรรมการในการขับเคลื่อน และอีกส่วน '1 สำนักงาน' คือการให้มีสำนักงานตามร่างกฎหมายฯ ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพราะเรามีบทเรียนจากการที่นำเอาการทำหน้าที่ตามกฎหมายไปฝากไว้กับหน่วยงานต่าง ๆ โดยที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่รับมา ก็ส่งผลต่อการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ
    
สุนี ผู้ประสานงานขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่าอย่างแรกตามที่คุณสุภัทราได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญที่ระบุการห้ามเลือกปฏิบัติ 12 ประการ ถ้าจะไปออกกฎหมายเฉพาะกลุ่มของแต่ละกลุ่ม มันก็จะเป็นความล่าช้าอย่างมาก ทั้งยังทำให้การแก้ไขปัญหาไม่มีพลัง ไม่มีประสิทธิภาพ เราจึงจำเป็นต้องทำให้เรื่องขจัดการเลือกปฏิบัติมีเป็นกฎหมายกลาง เนื่องจากการเลือกปฏิบัติจำเป็นต้องมีกลไกเข้ามาแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ร่างกฎหมายนี้มีข้อดีว่า นอกจาก 12 ประการตามรัฐธรรมนูญแล้ว เรายังสามารถเพิ่มเติมได้ ว่ามีการเลือกปฏิบัติในเรื่องอะไรเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และอย่างต่อมาคือมาตรการพิเศษที่เขียนไว้ 20 กว่าปีมาแล้วตั้งแต่ยุครัฐธรรมนูญ 2540 ที่จะให้ประชากรกลุ่มต่างๆได้รับความ  เสมอภาค ห้ามถูกเลือกปฏิบัติ ปรากฏว่ามาตรการที่ว่านี้ก็เดินไปได้ช้ามาก จึงเท่ากับว่าร่างกฎหมายนี้เกิดขึ้นมาช้ากว่าที่ควรจะเป็นถึง 20 ปีมาแล้ว 
     
ยกตัวอย่างเรื่องของผู้หญิง เดี๋ยววันที่ 25 พ.ย. ก็จะเป็นวันสากลยุติความรุนแรงต่อสตรี เราเรียกร้องกันมานานในการให้มีตำรวจสอบสวนหญิงที่มีจำนวนเพียงพอ แต่กระบวนการรับสมัคร จัดอัตราให้มีตำรวจหญิงเพียงพอก็เกิดขึ้นช้ามาก และอีกเรื่องในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด19 แม้เรามีกฎหมายว่าห้ามเลิกจ้างผู้หญิงตั้งครรภ์ แต่กลับมีการเลิกจ้างผู้หญิงตั้งครรภ์มากมาย โดยไม่มีใครจัดการได้ รวมถึงวันนี้ที่ศูนย์เด็กเล็กถูกปิดหมดเลยจากการระบาดของโรคโควิดแล้วผู้หญิงจะเอาลูกไปเลี้ยงไว้ที่ไหน ตกงาน เงินไม่มี ศูนย์เด็กเล็กก็ปิดอีก เป็นเรื่องที่รัฐบาลพึงตระหนักว่าการดำเนินการใดๆต้องไม่ทำให้ส่งผลเสียหาย กระทบรุนแรง หรือเรื่องเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปี ที่ตนเรียกร้องอยู่ ก็ไม่ได้ให้อย่างถ้วนหน้าทุกคน ในขณะที่เรื่องเงินผู้สูงอายุนั้นรัฐให้โดยไม่ถามความจนความรวย แต่เรื่องเงินสำหรับเด็กเล็กกลับเจอขั้นตอนพิสูจน์ความจน ความรวยมากมาย เด็กเล็กที่มีอยู่ 4 ล้านกว่าคน เพิ่งได้รับเงินอุดหนุนไปแค่ 2 ล้านคน 
    
สุนี ยังแสดงความกังวลกับกระบวนการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ ในประเด็นที่ว่าการระบุให้มีการจัดตั้งสำนักงานขึ้นมาใหม่ ทำให้ถูกจัดเป็นร่างกฎหมายการเงิน ต้องให้นายกรัฐมนตรีลงนาม ซึ่งนายกฯ จะยอมลงนามหรือไม่? การบรรจุระเบียบวาระเข้าสู่สภาจะนานแค่ไหน? ฉะนั้นการทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนและสังคมเพื่อร่วมกันเรียกร้องให้ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ตามที่ภาคประชาชนเสนอโดยไม่ถูกตัดสาระสำคัญจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง 
    
นาดา ที่ปรึกษางานรณรงค์ Manushya Foundation จริง ๆ กฎหมายนี้ควรมีมานานแล้ว เพราะเรามีทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศที่กล่าวถึงการขจัดการเลือกปฏิบัติ เช่น การห้ามใช้หลักศาสนามาเป็นเครื่องมือในการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเรื่องความแตกต่างของอัตลักษณ์ทางเพศ ทีนี้เรื่องที่สำคัญกว่าการมีกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติ ก็คือเรื่องว่าเมื่อเรามีกฎหมายแล้วจะบังคับใช้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมรอบด้าน ตัวอย่างของบุคคลข้ามเพศต้องพบเจอในเรื่องของการทำงาน ที่มักถูกเลือกปฏิบัติตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครงานแล้ว มีงานวิจัยว่าใบสมัครงานของบุคคลข้ามเพศ 80% มักจะถูกคัดออกก่อน หรือถึงแม้ได้เข้าไปถึงขั้นของการสัมภาษณ์งาน หรือการอบรม ก็ยังต้องเผชิญการเลือกปฏิบัติ ซึ่งก็มีตัวอย่างมามากมาย อันมาจากการที่องค์กรยังมีทัศนคติว่า การเป็นคนที่มีเพศตรงตามเพศกำเนิด เป็นสิ่งที่ดูดี เป็นสิ่งที่ปลอดภัย ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร หรือกรณีล่าสุดที่พัทยา ก็มีกรณีที่พนักงานต้อนรับของโรงแรมบังคับให้สาวข้ามเพศต้องเปิดเผยสถานะ การเป็นบุคคลข้ามเพศให้เพื่อนของเขาที่พักอยู่ที่โรงแรมรับทราบก่อน จึงจะอนุญาตให้พบกัน นี่เป็นทัศนคติที่คนทำงานโรงแรมถูกปลูกฝังกันมาในการตีตราว่าบุคคลข้ามเพศจะต้องเป็นผู้ขายบริการทางเพศเท่านั้น ทั้งยังมองว่าการขายบริการทางเพศเป็นอาชีพที่ต่ำต้อยด้อยค่า 
    
อีกเรื่องสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้สมาชิกรัฐสภาเข้าใจเรื่องเหล่านี้ เข้าใจความทับซ้อนกันของเรื่องอัตลักษณ์บุคคล เช่น คนข้ามเพศเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี แรงงานข้ามชาติเป็น LGBT+ เป็นต้น ซึ่งตนให้ความสำคัญในเรื่องการกำหนดบทลงโทษ ยิ่งการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อน ยิ่งควรต้องมีบทลงโทษมากขึ้นด้วย เพราะถือว่าลำดับการเลือกปฏิบัติมันมีชั้น (Layer) ที่เพิ่มมากขึ้น และให้ตระหนักว่าการเลือกปฏิบัติทำให้รัฐขาดทุน ทั้งเรื่องการคุ้มครองดูแลประชาชน ทั้งการทำให้ประชาชนได้ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ให้สมาชิกรัฐสภาได้ตระหนักว่าร่างกฎหมายนี้ไม่ควรจะถูกเอาไปดองไว้ลำดับท้าย ๆ ในสภาอย่างที่ผ่านมา แต่เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ควรพิจารณาให้เร็วที่สุด
    
ลัดดาวัลย์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) กล่าวว่าปัญหาการเลือกปฏิบัติ เป็นเรื่องที่ฝังรากหยั่งลึกอยู่ในวิธีคิดของสังคมไทย เห็นได้ชัดจากการที่สังคมไทยมีค่านิยมความชื่นชอบความเป็นตะวันตก แต่กลับมองประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างดูถูก โดยเฉพาะกับชนชาติพม่า ที่คนไทยถูกฝังหัวมาตั้งแต่เด็กว่าเป็นอริราชศัตรูของคนไทย โดยไม่เคยมีการพูดถึงความสัมพันธ์ในมิติอื่น ๆ เลย ทุกวันนี้คนพม่าในประเทศไทยมักจะเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ เป็นแรงงานราคาถูก ซึ่งหมายถึงค่าแรงถูกกว่าค่าแรงขั้นต่ำของไทย บ่อยครั้งก็โดนโกงค่าแรง โดนนายหน้าเรียกเงินค่าพาเข้ามาหางานในเมืองไทย ทั้งนี้ตนมองว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เองก็สมควรที่จะได้รับค่าแรงขั้นต่ำเท่าเทียมกับคนไทย เพราะทุกวันนี้ เศรษฐกิจของประเทศเราก็ถูกขับเคลื่อนโดยแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานที่คนไทยไม่ทำ เช่นงานก่อสร้าง งานประมง ไม่ได้มาแย่งงานที่คนไทยส่วนมากอยากทำ ซึ่งที่ผ่านมา กรพ. ก็ได้มีโครงการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติชาวพม่าด้วยการจัดให้มีการสอนภาษาไทย ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายไทย 
    
ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นชัดเจนว่าคนพม่าในไทยถูกเลือกปฏิบัติแบบโดนทอดทิ้ง ประกันสังคมไม่เข้ามาดูแล นายจ้างก็ปิดโรงงานหนีโดยไม่มีการเยียวยาใด ๆ เด็กเล็ก ผู้หญิงถูกทอดทิ้ง แคมป์แรงงานก็โดนปิดล็อคโดยที่ภาครัฐก็ไม่ได้สนใจความเป็นอยู่ของพวกเขา วัคซีนป้องกันโรคโควิดก็เพิ่งได้รับการจัดสรรมาในช่วง 2 เดือนให้หลังนี้เอง 
    
อภิวัฒน์ ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี อธิบายว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่ได้รับการรักษา ทานยาต้านเชื้อสม่ำเสมอ สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไปทุกอย่าง แต่สุดท้ายก็ยังถูกกีดกันในการสมัครงาน ถูกบังคับตรวจเลือดหาเชื้อ
    
การควบคุมโรคควรเน้นความเข้าใจ ไม่ใช่การทำให้คนหวาดกลัว ทั้งทุกวันนี้ยังมีมายาคติที่ตีตราว่าผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นพวกชอบเปลี่ยนคู่นอน เป็นพวกค้าบริการทางเพศ เป็นพวกใช้สารเสพติด เด็กๆที่มีเชื้อเอชไอวีมาตั้งแต่กำเนิด ก็มักขาดโอกาสที่จะได้ทำตามความฝันของตัวเอง เช่น การเป็นพยาบาล ก็ต้องโดนตรวจเลือดก่อน ซึ่งแม้ต่อให้ในอนาคตเรามีกฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติอย่างที่ต้องการแล้ว แต่เรื่องมายาคติก็ยังดูจะเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก
    
ด้านปัญญดา Teen Asia Pacific Princess 2018 ได้เล่าให้ฟังว่า จากการที่ตนได้มีโอกาสดูแลเด็กพิเศษในโรงเรียนในช่วงที่ตนเป็นประธานนักเรียน ก็พบเห็นการกีดกันนักเรียนกลุ่มเด็กพิเศษ เช่นการไม่ให้เด็กพิเศษได้มีโอกาสถือพานไหว้ครูอย่างนักเรียนทั่วๆไป ทั้งนี้เด็กพิเศษหลายคนเป็นคนมีความสามารถมาก แต่ก็กลับไม่มีที่ยืนในสังคม และจากการที่ตนเป็นเคยได้ประธานนักเรียนที่เป็นผู้หญิงคนแรก ๆ ของโรงเรียน ก็ประสบปัญหาเรื่องการได้รับการยอมรับจากนักเรียนชาย เพราะที่ผ่านมา ประธานนักเรียนส่วนมากมักเป็นนักเรียนชาย แต่อีกด้านหนึ่ง  อดีตประธานนักเรียนหลายคนที่เป็นLGBT+ ก็ไม่สามารถที่จะแสดงอัตลักษณ์ตามเพศสภาพของตนได้ เพราะเกรงกลัวปัญหาเรื่องการได้รับความยอมรับ 
    
จากการที่ได้เคยเป็นอาสากาชาด ปัญญดาก็ยังได้พบเห็นปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลLGBT+ ในการถูกห้ามบริจาคเลือด เพราะถูกตีตราไว้ก่อนว่าเป็นบุคคลที่นิยมมีเพศสัมพันธ์แบบเปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีความเสี่ยงติดเชื้อ เอชไอวีสูงกว่าคนที่มีเพศตรงกับเพศกำเนิด และจากการที่ตนได้เป็นผู้อำนวยการกองประกวดนางงาม ก็ได้พบเจอผู้ประกวดที่เป็นบุคคลไร้สัญชาติ ไม่มีโอกาสได้ถือบัตรประชาชนเป็นคนไทย ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยในระดับนานาชาติอย่างมากมาย 
    
ช่วงท้ายการสนทนาในครั้งนี้ แทนคุณ จิตต์อิสระ เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฏร ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ พรรคประชาธิปัตย์ ยังได้ขึ้นมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งยังแจ้งให้ทราบว่า ทางพรรคได้มีการจัดทำร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติฉบับของพรรคเพื่อเตรียมรวบรวมรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนำเสนอต่อที่ประชุมสภาต่อไป และยังมีทวีชัย วงศ์ไพโรจน์กุล จากพรรคไทยสร้างไทย ที่ได้ให้ความสนใจต่อร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ได้มาขอรับเรื่องร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อไปนำเสนอต่อทางพรรคต่อไปอีกด้วย 
    
วรภัทร กรรมการ ครป. ได้สรุปว่าขณะนี้นอกจากร่างกฎหมายฯฉบับประชาชน 12,000 ชื่อที่นำโดยคุณสุภัทราแล้ว เรายังมีร่างกฎหมายฯ ฉบับของพรรคประชาธิปัตย์เพิ่มขึ้นมาอีกร่าง อีกด้านหนึ่งพรรคก้าวไกลก็ได้รับเอามาพิจารณาด้วยเช่นเดียวกันซึ่งคาดว่าแนวทางจะไปในทิศทางเดียวกับภาคประชาชน ทั้งวันนี้ยังมีพรรคการเมืองพรรคใหม่อย่าง พรรคไทยสร้างไทยที่ได้ให้ความสนใจอีก ซึ่งการมีกฎหมายห้ามขจัดการเลือกนอกจากเป็นเรื่องมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชนแล้ว ยังเป็นการคืนทรัพยากรมนุษย์ให้กับสังคม หาใช่การเอาคนกลุ่มหนึ่งมาแย่งชิงทรัพยากรทางสังคม โอกาสจากคนหมู่มากในสังคม เรายังหวังอีกว่า ในอนาคตเราอาจจะไม่มีนิยามประชากรกลุ่มเปราะบางกันอีกต่อไป เพราะทุกคนเข้าถึงโอกาส และสามารถใช้ศักยภาพที่ตนมีอย่างเสมอกันถ้วนหน้า ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อของสหประชาชาติ (SDGs) 
    
     
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net