Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จนถึงศตวรรษที่ 20 อาชีพในฝันของคนทั่วไปเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ได้เรียนจบมหาวิทยาลัย มีงานทำในบริษัทชั้นนำ ไต่เต้าตั้งแต่พนักงานระดับล่างไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง (หรือผู้เชี่ยวชาญขั้นสูง) รับเงินเดือนประจำ เมื่อเกษียณแล้วก็มีเงินบำนาญหรือบำเหน็จไว้เลี้ยงตัวยามแก่เฒ่า โครงสร้างของอำนาจในองค์กรลักษณะนี้เป็นแนวดิ่ง ชีวิตการทำงานของคนก็เป็นแนวตั้ง คือเหมือนเดินขึ้นบันไดไปทีละขั้นๆ ข้อดีของลักษณะอาชีพแบบนี้คือมีรูปแบบที่คาดการณ์ได้ ชีวิตดำเนินไปเรื่อยๆ แม้จะไม่แน่นอนแต่ก็คงที่และมั่นคงในระดับหนึ่ง

อาชีพในยุคก่อนสร้างคุณค่าแก่มนุษย์ใน 3 ด้าน (หนึ่ง) ความภาคภูมิใจในวิชาชีพ (profession/ expertise) อาชีพการงานให้ความหมายแก่ชีวิตของเรา มันบอกว่าเราเป็นใครและทำอะไรอยู่ (สอง) ความมั่นใจในเรื่องเวลา (duration) การมีอาชีพตอกย้ำว่ายังมีอะไรให้เราทำและพัฒนาตนเองในสายอาชีพนี้ได้อยู่ (สาม) ความมั่นคงทางการเงินและจิตใจ (financial rewards and psychological security) อาชีพทำให้เรารู้สึกมั่นคงและมีค่าต่อครอบครัว มันทำให้เรารู้สึกปลอดภัยและไม่โดดเดี่ยว การมีอาชีพจึงเป็น “เรื่องราว” ชีวิตของคนๆ หนึ่ง

อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อเรื่องราวชีวิตของคนๆ หนึ่งกำลังถูกรื้อทำลายโดยความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยไม่มีใครตั้งใจ การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีผ่านเงินทุนมหาศาลก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในทุกวงการ มันขับเคลื่อนมนุษย์จนมาถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนยุคสมัย เหมือนที่ครั้งหนึ่งไฟฟ้าและเครื่องจักรไอน้ำได้เปลี่ยนสังคมเกษตรให้เป็นสังคมอุตสาหกรรม หรือการเกิดขึ้นของรถยนต์ก็ขับเบียดเกวียนและรถม้าให้ตกขอบเรื่องราวแห่งยานพาหนะของปัจจุบัน เพราะฉะนั้น แม้ไม่อยากเปลี่ยนยุคแต่เราก็จะถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยน สิ่งที่เราทำได้คือรู้ให้เท่าทันการรื้อทำลายทางเทคโนโลยี โดยไม่ใช้เทคโนโลยีมารื้อทำลายหัวใจของมนุษย์ด้วยกันเองอีกต่อหนึ่ง
  
ยุคต่อจากนี้มนุษย์จะไม่มีทางเลือกมากนักในสายวิชาชีพแม้อาชีพประจำจะยังมีอยู่มาก เพราะแต่ละคนจะถูกบังคับให้ต้องใช้เทคโนโลยีในการทำงานไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ความเชี่ยวชาญแบบยุคอุตสาหกรรมกลายเป็นเรื่องไม่สำคัญในยุคเทคโนโลยี ส่วนคนที่รู้เทคโนโลยีลึกซึ้งก็มีเพียงจำนวนน้อย คนที่มีความรู้ด้านอื่นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เลยก็จะถูกผลักให้เป็นพลเมืองชายขอบ ผู้ที่ไม่ได้เชื่อมต่อตัวเองเข้ากับคอมพิวเตอร์ เครื่องจักรอัลกอริทึ่ม หรือโลกของดิจิตัล เขาจะถูกทำให้กลายเป็นบุคคลไร้ตัวตนในสังคมออนไลน์ แต่ผู้ที่มีตัวตนกว้างขวางอยู่ในสังคมออนไลน์ก็อาจไม่สามารถใช้ชีวิตปกติในโลกธรรมชาติได้อีก

โครงสร้างขององค์กรในยุคใหม่จะเป็นแบบแนวราบมากกว่าแนวดิ่ง เน้นการกระจายอำนาจไปตามสายผู้นำโครงงานต่างๆ การจ้างงานจะเป็นแบบไม่เน้นอยู่ยาว แต่เป็นการให้ความสำคัญแก่ทีมงานและความสำเร็จของแต่ละโครงการ ผู้คนมีแนวโน้มทำงานที่บ้านมากขึ้น รับงานและรับเงินตามโครงการที่ทำสำเร็จเป็นชิ้น คนทำงานอิสระหรือแม้แต่ลูกจ้างประจำจะสามารถกำหนดเวลาการทำงานได้มากขึ้น ส่วนคนรุ่นใหม่ก็จะไม่ผูกพันชีวิตตัวเองไว้กับองค์กรใดองค์กรหนึ่งยาวนานนัก

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ (AI) รื้อทำลายคุณค่าทั้ง 3 ด้านที่อาชีพในยุคก่อนสร้างไว้แก่มนุษย์ มันทำให้เราไม่แน่ใจว่ายังมีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพของตนอยู่หรือไม่ ทำให้เราไม่มั่นใจว่าเวลาที่ใช้ไปในการทำงานตลอดชีวิตนั้นมีความหมายอะไรเหลืออยู่ และทำให้เรารู้สึกไม่มั่นคงว่าจะมีงานและรายได้เพียงพอเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวในอนาคตได้หรือไม่และอย่างไร

แนวโน้มของอาชีพที่ต้องการในตลาดยุคปัจจุบันและสร้างรายได้สูงจะเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ปัญหาคือประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย พลเมืองวัยทำงานจำนวนมากไม่ได้เติบโตขึ้นมาในยุคเทคโนโลยี อาชีพเหล่านี้อาจเหมาะกับเด็กรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง แต่แทบไม่มีความหมายต่อประชากรส่วนใหญ่ที่เชี่ยวชาญตามสายงานอาชีพยุคอุตสาหกรรม มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนคนทำงานวัย 30 – 40 ปีให้หันมาเรียนรู้การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อประดิษฐ์หุ่นยนต์สักตัว และมันก็ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าคนๆ หนึ่งจะเข้าใจเทคโนโลยีได้ถึงระดับจะสร้างอะไรออกมาได้ ซึ่งกว่าจะถึงตอนนั้นเทคโนโลยีที่เขาทุ่มเทเรียนในวันนี้ก็อาจล้าสมัยไปแล้ว 

อาชีพที่สร้างผลตอบแทนสูงในศตวรรษที่ 21 ส่วนใหญ่เป็นอาชีพด้านเทคโนโลยี ส่วนอาชีพอันเป็นที่ต้องการโดยมากก็จะเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อเข้ากับมิติทางสังคม ที่ผ่านมามีนักคิดและสถาบันหลายแห่งพยายามคาดการณ์ถึงอาชีพในยุคใหม่ อาทิ World Economic Forum ระบุถึงอาชีพที่มาแรงในปี 2020 ได้แก่ นักวิเคราะห์ข้อมูล นักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมเมอร์ วิศวกรเฉพาะทางจำพวกเคมีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น นักออกแบบและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ นักกฎหมายด้านเทคโนโลยี นักพัฒนาองค์กร พนักงานขายเฉพาะด้าน และผู้บริหารจัดการข้อมูล
 
ตัวอย่างต่อไปนี้คืออาชีพที่อยู่รอดและไปได้ดีในยุคใหม่ โดยอาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเทคโนโลยี จักรกลอัลกอริทึ่ม คอมพิวเตอร์ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ ได้แก่ นักวิเคราะห์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ โปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่น ผู้ติดตั้งและทดสอบการใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ นักออกแบบและประเมินผลการใช้เครื่องมือและการสื่อสารออนไลน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ ผู้ฝึกการใช้หุ่นยนต์ ยูทูปเบอร์ บล็อกเกอร์ คนขับโดรน (พาหนะไร้คนขับ) และผู้จัดการอากาศยานไร้คนขับ เป็นต้น

ต่อมา อาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ซึ่งไปได้ไกล ได้แก่ วิศวกรด้านชีวเคมี วิศวกรด้านเครือข่ายข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ที่ปรึกษาด้านพันธุกรรมวางแผนครอบครัว เป็นต้น อาชีพที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับธุรกิจก็เช่น พนักงานประสานงานด้านการค้าอิเล็กทรอนิกส์ นักพัฒนาทักษะทางสังคมให้แก่องค์กรธุรกิจแนวใหม่ ผู้จัดการสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผู้จัดการองค์กรเครือข่ายดิจิตัล พนักงานรับฟังปัญหาในองค์กร นักการตลาดออนไลน์ ผู้สื่อข่าวออนไลน์ ช่างซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ไร้คนขับ ช่างออกแบบโมเดลสถาปัตย์ เหล่านี้เป็นต้น

อาชีพที่เกิดขึ้นใหม่ในศตวรรษที่ 21 จำนวนมากจะมีรูปแบบผสมผสานและยืดหยุ่น เรียกว่าอาชีพแบบลูกผสม (hybrid jobs) ส่วนใหญ่จะเป็นงานประเภทต้องใช้ทักษะด้านเทคโนโลยีผสานกับทักษะด้านสังคม คนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านใดเพียงด้านเดียว ถ้าไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ต้องฝึกฝนและอัพเกรดทักษะเชิงเทคนิคอยู่ตลอดเวลา โอกาสที่งานของเขาจะถูกแทนที่มีสูง รวมทั้งจะได้รับค่าตอบแทนการทำงานค่อนข้างต่ำ ยุคหน้าจึงไม่ใช่เวลาที่เราจะสามารถบอกลูกหลานให้เรียนและรู้วิชาเดียว (แบบเก่า) แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผลอีกต่อไปแล้ว

การงานและอาชีพใหม่ๆ แบบลูกผสมมีชื่อเรียกที่เข้าใจยากมากมาย อาทิ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักออกแบบวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ นักวางแผนธุรกิจอนาคต ผู้บริหารทรัพยากรมนุษย์และหุ่นยนต์ โค้ชออนไลน์ ครูเสมือนจริง (virtual teacher) ผู้ตรวจสอบประวัติคนทำงานไม่ประจำ (gig-economy checker) นักคอมพิวเตอร์ระบบควอนตัม ทนายความคดีอาชญากรรมโลกไซเบอร์ ผู้ประกอบการ-ผู้จัดการ-รวมทั้งนักกีฬาเกมคอมพิวเตอร์ (E-sports entrepreneur-manager-athlete) เกษตรกรเทคโนโลยี (pharmer) ผู้เชี่ยวชาญการติดตั้งและตรวจสอบระบบอัลกอริทึ่ม ฯลฯ

อาชีพเหล่านี้ต้องการความรู้แบบ “multidisciplinary” คือเอาศาสตร์ตลอดจนทักษะหลายด้านมาเชื่อมโยงใช้ด้วยกัน ซึ่งทักษะที่จำเป็นได้แก่ การคิดแบบวิเคราะห์ (คือแยกย่อย) และสังเคราะห์ (คือหลอมรวม) ข้อมูล การเป็นผู้นำการวิพากษ์เพื่อตัดสินใจและแก้ปัญหาซับซ้อน ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารหรือเจรจาต่อรอง ความเข้าใจการบริการและการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร ทักษะเหล่านี้ผู้เขียนได้สรุปออกมาเป็น 3 หมวดของการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องสัมพันธ์กัน

ทักษะการคิดวิพากษ์ การวิเคราะห์ การแก้ปัญหาซับซ้อน การตัดสินใจ จะอยู่ในหมวดของความสามารถในการปรับตัวหรือความยืดหยุ่น (resilience) ทักษะการคิดสร้างสรรค์ การสังเคราะห์ การแก้ปัญหา การบริหารจัดการ รวมทั้งการตัดสินใจ จะอยู่ในหมวดของความสามารถคิดต่างแบบสร้างสรรค์ (creativity) ทักษะการสื่อสาร การเจรจาต่อรอง การใส่ใจบริการ ความร่วมมือ และความยืดหยุ่นทางอารมณ์ จะอยู่ในหมวดของความเข้าใจรอบด้าน (empathy)

นอกจากอาชีพที่เป็นกระแสหลักและอาชีพแบบลูกผสม ยังมีอาชีพที่อยู่รอดได้ในยุคเทคโนโลยี อาชีพเหล่านี้อาจเป็นอาชีพเก่าที่รู้จักประยุกต์ใช้ทักษะต่างๆ หรือไม่ก็เป็นอาชีพที่ประชากรสูงวัยจำนวนมากของประเทศต้องการ ได้แก่ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศัลยแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาลอาชีพ นักกายภาพบำบัด ครูสอนหลักสูตรอบรมระยะสั้น ผู้ให้บริการเทคโนโลยีสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น หากเป้าหมายคือไม่เพียงอยู่รอดแต่ดำรงอยู่ได้ยาวนาน ทักษะการเรียนรู้ 3 หมวดที่กล่าวมาข้างต้นก็มีความจำเป็นต่ออาชีพเหล่านี้เช่นกัน

กล่าวโดยสรุป อาชีพที่อยู่รอดในศตวรรษที่ 21 จะเป็นอาชีพกระแสหลักคือเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี อาชีพใหม่ที่เป็นแบบลูกผสม และอาชีพเก่าที่รู้จักปรับตัวและเพิ่มพูนทักษะด้านเทคโนโลยีเข้ากับทักษะด้านสังคม ส่วนทักษะที่จำเป็นในยุคดังกล่าวนี้จะเป็นเรื่องของมนุษย์ที่ต้องเรียนรู้การปรับตัว การคิดสร้างสรรค์ และทำความเข้าใจบริบทเรื่องราว มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จึงต้องร่วมมือกันในแบบเพิ่มพูนทักษะให้แก่กัน แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายและท้าทายเป็นอย่างยิ่ง แต่หน้าที่ของนักการศึกษาจะต้องทำให้ศาสตร์ทั้งสามอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล และสร้างองค์ความรู้ที่เอื้อประโยชน์ต่อมนุษย์ สังคม และโลกมากที่สุด โดยไม่ยกศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งให้อยู่เหนือศาสตร์อื่น

ผลพวงจากการรื้อทำลายทางเทคโนโลยีทำให้เราเรียนรู้ว่า รูปแบบการทำงานของคนในอนาคตจะเปลี่ยนไป อาชีพแบบอยู่ทำจนเกษียณจะค่อยๆ ลดลง อาชีพแบบกำหนดเวลาทำงานเอง ไม่ประจำ เป็นพนักงานชั่วคราวหรือพนักงานคนนอก (outsource) จะเพิ่มมากขึ้น ความสำเร็จของงานแบบ “ไต่ขั้นบันไดสูงขึ้นไป” จะมีน้อยลง ความสำเร็จของงานแบบ “ไล่ตามคลื่นทีละลูก” จะมีมากขึ้น ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเดียวจะไปต่อยาก ความรู้ด้านทักษะที่หลากหลายจะมีโอกาสทางอาชีพสูงกว่า คนในยุคหน้าอาจไม่พูดถึง “อาชีพประจำ” และ “ชีวิตอนาคตหลังเกษียณ” แต่จะพูดถึง “การงานที่เขาทำในวันนี้” และ “ทิศทางของชีวิตในแต่ละวัน” ไม่ว่าอาชีพในปัจจุบันและอนาคตของแต่ละคนจะเป็นอย่างไร ผู้รู้ที่ปรับตัวเป็นจะใช้ชีวิตอย่างเข้าใจและอยู่อย่างมีความหวังได้มากกว่าคนอื่น  

 

เครดิตภาพ: World Economic Forum  

สุมาลี มหณรงค์ชัย: อาชีพของมนุษย์ในยุคเทคโนโลยีจักรกล (1)

หนังสือ (และข้อมูล) ประกอบการเขียน

Admin (2019). 13 อาชีพใหม่มาแรงด้านเทคโนโลยีจากประเทศจีน ยกระดับเศรษฐกิจ เงินดีอนาคตไกล. Https://campus-star.com>jobs
AHEAD.ASIA (2018). 10 สกิลที่คุณต้องมีในยุค “อยู่ยาก” เพราะหุ่นยนต์แย่งงาน. Https://ahead.asia/ 2018/07/24/10-essential-skills-to-survive/.
Bersin, Josh (2017). Catch the Wave: The 21st Century Career Deloitte Review. Issue 21. Deloitte>insights>deloitte-review>issue-21>changing-nature-of-care. 
Fry, Hannah (2019). Hello World: How to Be Human in the Age of the Machine. London: Penguin Random House.
Gordon, Claire (2011). Top 10 Jobs of the 21st Century. AOL.com>2011/12/12>the-top-10-jobs-of-the-21st-century. 
NOWASU.CO (2019). 8 อาชีพมาแรง แซงทุกโค้ง ที่บริษัททั่วโลกต้องการ!! ภายในปี 2020. Https:// nowasu.co/2019/01/03/8-jobs-company-hiring-for-2020/
Ratcheva, V. S. and Leopold, T. (2018). 5 things to know about the future of jobs. Https://www.weforum. org/agenda/2018/09/Future-of-jobs-2018
Https://uk.rs-online.com/web/generalDisplay.html?id=jobs-of-the-future
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net