Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความล้มเหลวหรือความสำเร็จของรัฐบาลพิจารณาได้หลายด้าน แต่ด้านที่เป็นรูปธรรมที่สุดก็คือด้านเศรษฐกิจ หากประชาชนอยู่ดีกินดี แสดงว่ารัฐบาลทำงานสำเร็จ แต่หากประชาชนอดอยากข้นแค้นมากขึ้น ก็แสดงว่ารัฐบาลพบกับความล้มเหลวในการบริหารประเทศ

ที่ผ่านมารัฐบาล คสช. ที่มีอำนาจตั้งแต่กลางปี 2557 - 2562 และยังคง “สืบทอดอำนาจ” ต่อมาจนถึงปัจจุบัน อ้างว่าได้บริหารประเทศประสบความสำเร็จต่างๆ นานา แต่สังคมกลับไม่รับรู้สึกได้ถึงความสำเร็จดังอ้าง ผมจึงใช้ประจักษ์หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดในการวัดความสำเร็จหรือความล้มเหลวของรัฐบาล โดยพิจารณาจากรายได้ต่อครัวเรือนที่สำรวจทุก 2 ปีโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลของภาครัฐเอง

สํานักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทําการสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ ค่าใช้จ่าย ภาวะหนี้สิน และทรัพย์สินของครัวเรือน ตลอดจนลักษณะที่อยู่อาศัย โดยทําการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกเดือน (มกราคม - ธันวาคม) จากครัวเรือนตัวอย่างในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล ในเบื้องต้นสำหรับปี 2562 สํานักงานสถิติแห่งชาติได้จัดทําสรุปผลการสํารวจเบื้องต้นเพื่อนําเสนอข้อมูล ในระดับหนึ่งก่อนที่รายงานฉบับสมบูรณ์จะแล้วเสร็จ โดยใช้ข้อมูลจากการสํารวจ 6 เดือนแรก (มกราคม - มิถุนายน 2562) จํานวนครัวเรือนตัวอย่าง 27,927 ครัวเรือน 

สำนักงานสถิติแห่งชาติ: สรุปผลเบื้องต้นการสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม
ของครัวเรือนในช่วง 6 เดือนแรก ของปี 2562

จากการเปรียบเทียบข้อมูลปี 2562 และปีก่อนหน้าที่ทำการสำรวจทุกรอบ 2 ปี โดยย้อนกลับไปปี 2556 พบว่า ในตลอดระยะ 6 ปีที่ผ่านมา พบว่าในระดับประเทศ รายได้ต่อครัวเรือนเป็นเงิน 25,194 บาทในปี 2556 และเพิ่มเป็น 26,602 บาทในปี 2562 จะเห็นได้ว่า รายได้โดยรวมเพิ่มขึ้น 6% หรือเพิ่มขึ้นปีละ 1% เท่านั้น ถ้าหากนำตัวเลขเงินเฟ้อที่ราว 1% ต่อปีมาพิจารณาด้วย อาจกล่าวได้ว่าประชาชนไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นเลยในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้โดยเฉพาะในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-62) รายได้ต่อครัวเรือนทั่วประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน (26,946 บาท เป็น 26,602 บาท หรือลดลง 1% ด้วยซ้ำไป

สำหรับรายเขตกรุงเทพมหานครและ 3 จังหวัดโดยรอบ (นนทบุรี ปทุมธานีและสมุทรปราการ) ปรากฏว่า รายได้ในปี 2556 เป็นเงิน 43,058 บาทต่อเดือน ลดลงเหลือเพียง 38,234 บาทต่อเดือนในปี 2562 หรือลดลงอย่างชัดเจนถึง 11% หรือลดลงเฉลี่ยปีละ 2% โดยเฉพาะใน 2 ปีล่าสุด (ปี 2560-62) พบว่ารายได้ต่อครัวเรือนต่อเดือนลดลงจาก 41,897 บาท เหลือเพียง 38,234 บาท หรือลดลงถึง 9% ถ้าหากนับรวมเงินเฟ้อ 1% ก็เท่ากับรายได้ลดลงไปถึง 10% ซึ่งเป็นภาวะที่น่ากลัวเป็นอย่างมาก

ปกติรายได้ต่อครัวเรือนมีแต่จะเพิ่มขึ้นโดยตลอด ไม่มากก็น้อย แต่ในกรณีประเทศไทยในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาที่รัฐบาล คสช. เข้ามามีอำนาจ ประชาชนกลับยากจนลงหรือไม่ก็ไม่มีรายได้เพิ่มขึ้น กรณีนี้จึงแสดงชัดถึงความล้มเหลวของการบริหารราชการของรัฐบาล คสช. ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนตัวเลขทางเศรษฐกิจในด้านอื่น ไม่สามารถนำมาหักล้างกับความเป็นจริงข้อนี้ได้

อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับรายได้ประชาชาติต่อหัว รายได้กลับเพิ่มขึ้น 24% ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมาหรือเพิ่มขึ้นถึงปีละ 4% โดยเฉลี่ย อย่างไรก็ตาม รายได้ประชาชาติต่อหัวหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวประชากร ตัวชี้วัดนี้ใช้เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงมาตรฐานความเป็นอยู่ หรือความกินดีอยู่ดีของประชาชนโดยเฉลี่ย (https://bit.ly/32p4sMM) ได้ระดับหนึ่งเท่านั้น การที่ตัวเลขรายได้ประชาชาติต่อหัวเพิ่มแต่รายได้จริงลด แสดงว่ารายได้ส่วนสำคัญคงไปสู่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ภายในประเทศที่ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป

จะเห็นได้ว่าในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา สินทรัพย์ของอภิมหาเศรษฐี 4 อันดับแรกซึ่งยังคงเป็น 4 ตระกูลเดิมนั้น มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จาก 1,342,300 ล้านบาท เป็น 2,684,600 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัว หรืออาจกล่าวได้ว่าเพิ่มขึ้นถึงปีละ 12% การสั่งสมทุนและความมั่งคั่งของอภิมหาเศรษฐีไทย จึงทำให้รายได้ต่อครัวเรือนของประชาชนทั่วประเทศแทบจะไม่ได้ขึ้นเลย โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและ 3 จังหวัดโดยรอบกลับลดลงปีละ 2% ด้วยซ้ำไป นี่จึงเป็นปรากฏการณ์ “รวยกระจุก จนกระจาย” อย่างชัดเจนในยุครัฐบาล คสช. นี้

รัฐบาลก็พยายามจะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่แท้จริงแล้วเป็นการเพิ่มรายได้ให้กลุ่มทุนใหญ่มากกว่า เช่น การลดภาษีค่าธรรมเนียมโอนจาก 3% เหลือ 0.02% นั้น ก็ให้เฉพาะกรณีการซื้อบ้านกับบริษัทพัฒนาที่ดินเท่านั้น ไม่ได้ให้กับผู้ซื้อบ้านอันไพศาลเลย และอุปทานในตลาดประมาณ 204,000 หน่วยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น สองในสามก็อยู่ในมือของบริษัทพัฒนาที่ดินในตลาดหลักทรัพย์ แสดงว่าต้องการช่วยนายทุนใหญ่มากกว่านายทุนระดับ SMEs หรือประชาชนทั่วไป

ยิ่งกว่านั้นเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลยังลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% (https://bit.ly/2qwcyWI) อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่เคยคิดหาทางลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เลย รัฐบาลไม่เคยแตะต้องสถาบันการเงินที่คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงถึง 4-6 เท่าของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก การที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่างจากดอกเบี้ยเงินฝากมากมายขนาดนี้เป็นปล่อยให้มีการค้ากำไรเกินควรหรือไม่ ธนาคารต่างๆ ก็ได้ค่าธรรมเนียมจากกิจการต่างๆ อยู่แล้ว หากสามารถลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงได้สัก 1-2% จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มหาศาล

ในทางตรงกันข้าม จะเห็นได้ว่ารัฐบาลพยายามโอมอุ้มข้าราชการ โดยได้มีการปรับเพิ่มเงินเดือน มีเงินโบนัส มีวันหยุดพักผ่อนมากกว่าเอกชน มีสวัสดิการมากมาย มีอภิสิทธิ์หลากหลาย แต่สำหรับประชาชนทั่วไป กลับได้รับการดูแลใส่ใจน้อยกว่ามากยิ่งโดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลเจ้าหน้าที่ของภาครัฐได้ เช่น ข้าราชการ 4.3 คน มีค่ารักษาพยาบาล 71,000 บาท หรือได้ถั่วเฉลี่ยคนละ 16,512 บาทต่อปี ในขณะที่ประชาชนทั่วไป 48.7 คน มีเงินกองทุน 30 บาท อยู่ 128,020 ล้านบาท หรือได้ค่ารักษาพยาบาลปีละ 2,629 บาทเท่านั้น (https://bit.ly/2PTTMU4)

ดูตามข้อมูลข้างต้นแล้ว ดูเหมือนรัฐบาลอาจมียุทธศาสตร์ทำให้คนไทยยากจนลง จะได้ขาดอิสรภาพทางการเงิน ซึ่งจะทำให้ขาดอิสรภาพทางความคิด จะได้ปกครองง่าย และต้องพึ่งพิงระบบเจ้าขุนมูลนาย ต้องพึ่งพึงการแจกเงินผ่านบัตรคนจน และบัตรขอทานในอนาคต ซึ่งเป็นการให้ปลาให้กว่าให้เบ็ด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net