Skip to main content
sharethis

ถึงตอนนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการบริหารจัดการ “น้ำ” เพื่อรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ถือเป็นความท้าทายอย่างมากว่าจะทำอย่างไรให้น้ำเพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่

แนวโน้มการขยายตัวของประชากรในEEC

เพราะ“น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องน้ำได้มีการจัดทำแผนและมาตรการรองรับ เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำ และเพื่อให้เกิดการกระจายน้ำทั่วถึงในพื้นที่ EEC ดังนั้น เพื่อสนับสนุนแผนการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างสมดุลน้ำต้นทุน การจัดการความต้องการน้ำโดยลดการใช้น้ำ ลดการสูญเสีย โดยใช้เทคโนโลยี และการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ เป็นที่มาของ การจัดทำ “โครงการวิจัยเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะสมดุลน้ำและมาตรการลดการใช้น้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” ที่มี รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นหัวหน้าโครงการและหัวหน้ากลุ่มวิจัยแผนงานการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC  ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

“ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ทำให้ในปีนี้มีปริมาณฝนลดลงมากถึง 30% มีเพียงบางจังหวัดเท่านั้นที่ฝนตกมาก เช่น สกลนคร กาญจบุรี เพชรบุรี เป็นต้น ที่เหลือเกือบทั้งประเทศฝนตกน้อยลง ฉะนั้น หากมองภาพรวมของประเทศ คือ ส่วนใหญ่ขาดแคลนน้ำ แต่จากปี 2561 เรามีน้ำเหลืออยู่ในปริมาณค่อนข้างมาก ทำให้สถานการณ์ขาดแคลนน้ำ จึงยังไม่ถึงขั้นรุนแรง” รศ.ดร. บัญชา กล่าว

ตารางเปรียบเทียบการใช้ประโยชน์ที่ดิน ปี60-80

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ EEC รศ.ดร. บัญชา บอกว่า ปริมาณเก็บกักน้ำทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2561 มีปริมาณน้ำใช้การตามแผนจัดการน้ำเพียงประมาณ 673 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่รู้ว่าน้ำที่มีอยู่จะพอเพียงหรือไม่ แม้กรมชลประทานรับประกันว่าจะไม่ขาดน้ำ โดยมีการจัดเตรียมน้ำต้นทุนรองรับการพัฒนา EEC ไว้แล้ว แต่เพื่อเตรียมการล่วงหน้าป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต มาตรการประหยัดน้ำจะต้องถูกนำมาใช้ภายในเดือนมกราคมปีหน้า ซึ่งต่อไปจะเป็นเรื่องที่ทุกคนรับรู้มากขึ้น ดังนั้น การประหยัดน้ำหรือการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้การใช้น้ำน้อยลงจึงเป็นทางออกแรก ๆ ที่เราจะนำมาใช้”

สำหรับการจัดทำ“โครงการวิจัยเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะสมดุลน้ำและมาตรการลดการใช้น้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)”นั้น มีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์สมดุลน้ำในพื้นที่ EEC ในปัจจุบัน และอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2561-2580) ศึกษาอุปสงค์และอุปทาน ศึกษาการใช้น้ำที่แท้จริงของภาคส่วนต่าง ๆ การหาแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยลดการใช้น้ำใน 4 ภาคส่วนหลัก คือ ภาคเกษตร อุปโภคบริโภค ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม การวิเคราะห์น้ำต้นทุนในลักษณะบูรณาการการใช้น้ำร่วมกันระหว่างน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน การจัดการด้านความต้องการน้ำโดยใช้หลัก 3R ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมและศึกษาศักยภาพของแหล่งน้ำต้นทุนของพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และจังหวัดเกี่ยวเนื่องคือ จันทรบุรี ปราจีนบุรี และสระแก้ว แบบมีส่วนร่วม รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการติดตามและประเมินผล ในพื้นที่ศึกษา 3 จังหวัดนำร่อง คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี โดยมีเป้าหมาย คือ การใช้น้ำจะต้องลดลงอย่างน้อย 15% ในพื้นที่ EEC

การเชื่อมโยงโครงข่ายแหล่งน้ำภาคตะวันออก EEC

รศ.ดร. บัญชา ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า เพราะในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้า อาจเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ เมื่อการพัฒนา EEC เกิดขึ้นเต็มที่ตามแผนพัฒนาฯ การลดการใช้น้ำจึงเป็นเรื่องที่จะต้องทำ เพื่อรองรับความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และจากผลกระทบของ Climate change โครงการวิจัยนี้ จึงเน้นศึกษาใน 2 ส่วนหลัก คือ 1.ประเมินการใช้น้ำ การวิเคราะห์สมดุลน้ำในปัจจุบันและอนาคต และแนวทางการใช้น้ำต้นทุนทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินร่วมกัน  2. การคาดการณ์การใช้น้ำของภาคส่วนต่าง ๆ และแนวทางการลดการใช้น้ำด้วยเทคโนโลยีทันสมัย 

“ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้น้ำต่อหัวสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน โดยไทยใช้น้ำต่อหัวสูงกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย และพื้นที่ที่ใช้น้ำมากนอกจากจังหวัดชลบุรีแล้ว กรุงเทพฯ ถือเป็นจังหวัดที่มีการใช้น้ำสูงมากเฉลี่ยถึง 300 ลิตร/คน/วัน นั่นเพราะที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้พูดกันถึงเรื่องการประหยัดน้ำมากหนักในส่วนของภาคการเกษตร นอกจากข้าวแล้วพืชสวนยังเป็นที่นิยมปลูกกันมากที่สุดในพื้นที่จังหวัดระยองและจันทบุรี ซึ่งมีความต้องการน้ำสูง งานวิจัยนี้จึงเน้นศึกษาการใช้น้ำกับพืชสวนเป็นหลัก เช่น ทุเรียน”

รศ.ดร. บัญชา กล่าวเสริมว่า ในส่วนของข้าวนั้น มีเทคโนโลยีการปลูกข้าวอยู่แล้ว อีกทั้งกรมชลประทานยืนยันว่าการปลูกข้าวสามารถประหยัดน้ำได้ โดยใช้วิธีการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งสามารถลดการใช้น้ำได้ถึง 20% ซึ่งวิธีดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วจากประเทศจีนและไต้หวันที่ปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งมากว่า 20 ปี ดังนั้น ชาวนาต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการปลูกข้าวใหม่ ต้องปรับวิธีการให้น้ำและการควบคุมน้ำ จึงเป็นเรื่องที่ต้องสร้างความเข้าใจด้วยข้อมูลในพื้นที่เพื่อปรับพฤติกรรมการใช้น้ำของเกษตรกรไทย

“ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ส่วนใหญ่มีการบัดน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ บางแห่งสามารถลดการใช้น้ำลงได้ 15% แต่จากนี้จะเพิ่มให้เป็นระบบการจัดการน้ำอัจฉริยะมากขึ้นกับทุกภาคส่วน  คือ ภาคบริการ ชุมชน เกษตร และอุตสาหกรรม โดยจะนำเรื่อง Water use efficient มาประยุกต์ใช้ หรือการจัดการน้ำด้วยหลัก 3R คือ Reduce Reuse Recycle เพื่อลดการใช้น้ำและนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ เพราะมองว่าการใช้น้ำที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่เป็นการลงทุนที่ถูกที่สุด และถูกกว่าการหาแหล่งน้ำใหม่ ซึ่งวิธีนี้แม้แต่อุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่นยังเลือกใช้ ของไทยก็จะเป็นไปในทิศทางนี้เช่นกัน”

สำหรับโครงการวิจัยภายใต้การบริหารโครงการวิจัยเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะสมดุลน้ำและมาตรการลดการใช้น้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประกอบด้วย โครงการวิเคราะห์และการบริหารจัดการสมดุลน้ำในพื้นที่ EEC , โครงการศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำสำหรับกลุ่มผู้ใช้น้ำในชุมชน , โครงการพัฒนาระบบข้อมูลบัญชีสมดุลน้ำเพื่อการเกษตรภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม , โครงการวิจัยแผนการจัดการน้ำด้านอุปสงรค์และการพัฒนาอุตสาหรรมและเมืองโดยการใช้น้ำเสียที่บำบัดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ , โครงการวิจัยแผนการพัฒนาระบบบริหารจดัการน้ำอัจฉริยะสำหรับภาคบริหาร , โครงการวิจัยแผนการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดการบริหารจัดการน้ำแบบใช้น้ำบำบัดแล้ว และโครงการวิจัยแผนการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net