“Disruptive” และ “Disruption” ในทางเทคโนโลยีใหม่เป็นอย่างไร?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ระยะหลังมานี้ได้ยินคนพูดถึงคำว่า “disruptive” และ “disruption” บ่อยครั้ง โดยสองคำนี้ปรากฏในข่าวและบทความทั้งด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ และสังคม โดยไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย บทความนี้จึงสนใจคิดและตอบคำถามว่า ทั้งสองคำนี้เมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่แล้วจะมีบริบทความเข้าใจอย่างไร มีความหมายเหมือนหรือต่างกัน มีการแปลสองคำนี้ในภาษาไทยว่าอย่างไร และคำแปลภาษาไทยเหล่านั้นสามารถสื่อความเข้าใจสองคำนี้ได้ตรง ชัดเจน และครอบคลุม หรือไม่

คำว่า “disruptive technology” เกิดขึ้นตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20  มันเป็นคำที่วงการวิทยาศาสตร์และธุรกิจนำมาใช้เรียกเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3  โดยเริ่มต้นจากเทคโนโลยีด้าน IT จากนั้นก็มีการผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับการค้นพบด้านวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ เรื่อยมา จนพัฒนาเป็นเทคโนโลยีใหม่พร้อมการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในศตวรรษที่ 21

เทคโนโลยีใหม่นี้ได้รับการอธิบายว่า เป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ไม่เพียงแทนที่เทคโนโลยีเก่าด้วยคุณลักษณะที่ยืดหยุ่นต้นทุนต่ำกว่า หากยังขับเคลื่อนสู่โลกยุคใหม่ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนและทำให้รูปแบบของสังคมยุคก่อนค่อย ๆ ล่มสลายไปอีกด้วย อาจเรียกเทคโนโลยีแบบนี้สั้น ๆ ว่า “เทคโนโลยีสร้างความพลิกผัน” (บางแห่งเรียกเทคโนโลยีพลิกโลกหรือเทคโนโลยีทำลายล้างก็มี)  เทคโนโลยีใหม่มีหลายชนิด เช่น อินเทอร์เน็ตไร้สาย หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ในวงการแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อปรับปรุงพันธุกรรม ยานยนต์ไร้คนขับ เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ หรือเทคโนโลยีพลังงานทดแทน

คำคุณศัพท์ว่า “disruptive” แปลได้หลายอย่าง ที่ผ่านมามีการแปลคำนี้ว่า พลิกผัน ผันผวน หรือแม้แต่ทำลาย เมื่อนำมาประกอบเข้ากับคำว่า “เทคโนโลยี” เทคโนโลยีแบบ disruptive จึงถูกมองว่ามี “ลักษณะ” แบบพลิกผัน  หรือไม่ก็สร้าง “ผลลัพธ์” แบบที่เป็นความพลิกผันและทำลายของที่มีอยู่เดิม ความยากของการแปลคำนี้อยู่ตรงที่เราควรจะเข้าใจเทคโนโลยีแบบนี้ในบริบทใด จะอธิบายคำนี้ให้มันเป็นลักษณะของเทคโนโลยีใหม่ หรือเป็นผลลัพธ์ที่เทคโนโลยีใหม่ทำให้เกิดขึ้น    

ถ้า “disruptive technology” แสดงถึง ลักษณะ ของเทคโนโลยีใหม่  ก็จะหมายความว่า  เทคโนโลยีแบบนี้มีลักษณะภายใน (หรือธรรมชาติ) ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันในตัวเอง มันเป็นเทคโนโลยีที่พลิกผันจากเนื้อใน คือสามารถเปลี่ยนแปลง พัฒนา และแทนที่ตัวเองไปได้เรื่อย ๆ หากเทคโนโลยีคือผลิตผลจากการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ หรือเป็นกระบวนการเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อแก้ปัญหา ผลิตผลหรือกระบวนการนี้จะมีธรรมชาติแบบที่สร้างความพลิกผันในตัวเองได้อยู่ตลอดเวลา เราจึงเรียกเทคโนโลยีแบบนี้ด้วยคำแปลสั้น ๆ ได้ว่า “เทคโนโลยีพลิกผัน”

แต่ถ้า “disruptive technology” แสดงถึง ผลลัพธ์ ที่เทคโนโลยีใหม่ทำให้เกิด หมายความว่า เทคโนโลยีอาจไม่ได้พัฒนาไปแบบที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันในตัวเทคโนโลยีเอง แต่ทำให้สิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับมันเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน เช่น เทคโนโลยีมือถือไม่ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีมือถือ แต่ส่งผลทำให้วิถีชีวิตของผู้ใช้เทคโนโลยีมือถือเปลี่ยนแปลง อีกทั้งสร้างผลกระทบที่ทำให้สิ่งแวดล้อมหรือสังคมของผู้ใช้เทคโนโลยีมือถือเปลี่ยนแปลงด้วย ถ้าเข้าใจแบบนี้ก็อาจไม่สามารถเรียกเทคโนโลยีใหม่ได้ว่า “เทคโนโลยีพลิกผัน” เพราะความพลิกผันเป็นผลลัพธ์ ไม่ใช่ลักษณะของเทคโนโลยีนั้น  การแปลความว่า “เทคโนโลยีพลิกผัน” จึงเป็นคนละอย่างกับ “เทคโนโลยีที่ทำให้สิ่งอื่นเปลี่ยนอย่างพลิกผัน”

แต่ถ้า “disruptive technology” แสดงถึง “ลักษณะ” ของเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงพลิกผันแก่เทคโนโลยีเอง พร้อมแสดงถึง “ผลลัพธ์” ที่เทคโนโลยีทำให้สิ่งต่าง ๆ เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันด้วย เทคโนโลยีแบบนี้จะแปลและอธิบายความไม่ได้ เพราะทันทีที่เราพยายามจะแปลคำให้นิ่ง กำหนดคำให้แน่นอน หรือทำให้คำชัดเจนที่สุดในเวลาหนึ่ง ๆ เทคโนโลยีก็จะขับเคลื่อนพลิกผันตัวมันเองไปและสร้างผลลัพธ์ใหม่จนเราจับความชัดเจนของมันไม่ได้

หากเราสามารถนิยามเทคโนโลยีแบบนี้ออกมาได้ มันก็จะไม่ “disruptive”  ตรงนี้เองคือความยากลำบากของการใช้ภาษาไทยอธิบายคำ ๆ นี้ และอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้นักคิดหลายคนเลือกที่จะทับศัพท์คำนี้มากกว่าแปลไทย

แต่ความยากลำบากของการแปลคำนี้ก็อาจเป็นเสน่ห์ของเทคโนโลยีแบบนี้  เพราะสำหรับนักธุรกิจ start-up รุ่นใหม่ เทคโนโลยีแบบ disruptive ของยุคนี้คือเกมผจญภัยเวอร์ชั่นล่าสุด แม้จะเสี่ยงแต่ก็น่าตื่นเต้น รางวัลแห่งการพิชิตเกมได้สำเร็จมีมูลค่าสูงมาก พวกเขามองเห็นแต่ข้อดีของมันที่เป็นโอกาส ความยืดหยุ่น ความทันสมัย การมีต้นทุนต่ำ การมีแหล่งทุนมหาศาลรองรับ การไม่อยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจแนวดิ่งแบบเก่า หรือการเป็นเครื่องมือสนับสนุนศักยภาพทางความคิด ส่วนนักธุรกิจรุ่นเก่าตลอดจนนักมนุษยศาสตร์ เทคโนโลยีแบบนี้แม้จะมีประโยชน์หลายประการ แต่โทษทุกข์ที่มันนำมาด้วยก็เป็นสิ่งที่มนุษย์มองข้ามไม่ได้             

 
เนื่องจากเทคโนโลยีแบบนี้ส่งผลลัพธ์ในเชิงสร้างความพลิกผันปั่นป่วน  อีกทั้งผลลัพธ์ของมันก็ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องตามมา จากจุดนี้คำว่า “technological disruption” อาจนำมาใช้อธิบายได้ดีกว่าคำว่า “disruptive technology” เพราะคำนาม “disruption” แสดงภาพของผลกระทบที่เทคโนโลยีกระทำต่อสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดกว่าคำว่า “disruptive” ซึ่งผลกระทบที่เทคโนโลยีใหม่ทำให้เกิดขึ้นก็มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ในด้านบวกนักวิทยาศาสตร์กับนักธุรกิจกล่าวถึงไว้มากเกี่ยวกับโอกาส ความก้าวหน้า และการพัฒนา ส่วนในด้านลบคงรอให้เป็นหน้าที่ของนักสังคมศาสตร์และนักมนุษยศาสตร์

ที่จริงแล้วเทคโนโลยีแบบ disruptive ไม่ใช่เรื่องใหม่เพิ่งเกิดขึ้น ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในหลายร้อยปีที่ผ่านมาก่อให้เกิดการแทนที่และรื้อทำลายสิ่งสร้างเรื่องราวของเก่ามาตลอด รถยนต์เข้ามาทำหน้าที่เป็นพาหนะแทนที่เกวียนมานับร้อยปีแล้ว ทีวีจอแบนแทนที่ทีวีจอโค้ง  อีเมล์แทนที่การเขียนจดหมาย กล้องมือถือก็แทนที่กล้องถ่ายรูปนานแล้ว เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราทั้งหลายคุ้นชินกันเป็นอย่างดี แต่เหตุใดเราจึงรู้สึกกังวลใจเวลาที่คนพูดถึงผลกระทบของเทคโนโลยีใหม่  มันสร้างความผันผวน ปั่นป่วน พลิกผัน หรือแม้แต่ทำลายอะไร

เทคโนโลยีใหม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันด้วยการแทนที่ของเดิม (displacement) แต่การแทนที่ของเทคโนโลยีใหม่มีข้อน่าสนใจหลายประการ (หนึ่ง) เทคโนโลยีใหม่ไม่ได้กำจัดหรือทำลายอะไรโดยตรง แต่มันก็ทำให้ของเดิมสูญเสียความสำคัญ จำเป็นต้องยุติบทบาทและสลายหายไปเอง (สอง) เทคโนโลยีใหม่ทำให้สิ่งที่มีอยู่เดิม (รวมทั้งเทคโนโลยีเก่า) ด้อยคุณค่าลง มันเข้ามาแทนที่ในแบบที่อยู่เหนือกว่าดีกว่า แทนที่แบบนี้คือสวมแทนโดยไม่กำหนดตำแหน่ง และผลักไสของเก่าให้หลุดออกไปจากวงโคจรของมัน (สาม) เทคโนโลยีใหม่สร้างความเปลี่ยนแปลงพลิกผันในอัตราเร่งที่ยากจะคาดเดา และ (สี่) ผลกระทบจากเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับนามธรรม  (เช่นระบบธนาคารบนมือถือสัมพันธ์กับสังคมไร้เงินสด) การปรับตัวรับมือจึงต้องเกิดขึ้นในระดับทัศนคติ ไม่ใช่ในระดับกายภาพ  (เช่นถึงจะมีเงินสดเก็บไว้ในบ้านจำนวนมากก็ไม่มีประโยชน์ต่อการทำธุรกรรมออนไลน์)     

เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่คือผลผลิตของการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่ให้ความสำคัญแก่ความเป็นจริงด้านกายภาพและการคำนวณทางคณิตศาสตร์ โดยการค้นพบนั้นผูกโยงอยู่กับตลาดซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล  การค้นพบความเป็นจริงทางกายภาพเกี่ยวกับชีวิตมากขึ้น หรือการค้นพบการทำงานของระบบประสาทในสมองมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้คนตั้งคำถามกับความเป็นมนุษย์ของตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ  รวมทั้งไม่แน่ใจในคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ของตัวเอง

เพราะถ้าหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์สามารถจำลองความสามารถทางสมองของมนุษย์ไปได้โดยที่มันไม่มีข้อจำกัดเช่นสับสน ป่วย หรือตายเช่นมนุษย์ มนุษย์จะยังเหลือคุณค่าใด หรือความรู้ของพระเจ้า (หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อทางศาสนา) ไม่ได้กว้างขวางไปกว่าความรู้ที่ได้จาก cloud technology หากความรู้สึกของคนเป็นเรื่องของการคำนวณประมวลผลเพื่ออยู่รอด ความรักเป็นเรื่องของสารชีวเคมีในสมองที่ทำปฏิกิริยาต่อสิ่งเร้า  หรือจิตเป็นผลผลิตส่วนเกินของกลไกคัดเลือกสายพันธุ์ตามธรรมชาติ เทคโนโลยีคิดวิเคราะห์หรืออินเทอร์เน็ตสารพัดประโยชน์ก็ย่อมทำหน้าที่ของมันได้อย่างมีเงื่อนไขน้อยกว่าความรู้สึก ความคิด และจิตใจของมนุษย์

มองในมุมของ “ผลกระทบ” เทคโนโลยีไม่ได้ทำลายล้าง (destruct/destroy) ร่างกายและจิตใจของใครโดยตรงก็จริง ไม่ได้รื้อสร้าง (deconstruct) ความหมายทางภาษาใด ๆ ด้วย แต่มันก็ขับเบียด “ความเป็นมนุษย์” ให้ลอยเคว้งคว้างอยู่ตรงชายขอบของตลาดการค้าเสรี คนไม่กล้าที่จะเชื่อมั่นในเทคโนโลยีใหม่ เพราะไม่แน่ใจว่าเทคโนโลยีใหม่จะทำให้ความเป็นมนุษย์ของเขาสูญหายไปหรือไม่ การรื้อทำลาย (หรือการป่วนทำลาย – disruption)*** ที่น่ากลัวที่สุดของเทคโนโลยีใหม่จึงไม่ใช่อื่นใด แต่เป็นการทำให้ “ความเป็นมนุษย์” ของผู้ใช้เทคโนโลยีรวมทั้ง “เรื่องราวชีวิต” ของเขาเสียหายด้อยค่าลงนั่นเอง

มองในมุมของ “ลักษณะ” แม้นักธุรกิจจำนวนมากก็ยังคลางแคลงใจในเทคโนโลยีใหม่ การเปลี่ยนแปลงในอัตราเร็วอันยากจะคาดเดาของมันนั้น ทำให้คนไม่แน่ใจว่า เทคโนโลยีพลิกผันจะสามารถเป็นเทคโนโลยีแบบยั่งยืน (sustainable technology) ได้หรือไม่ ยิ่งมีทุนสำหรับพัฒนาเทคโนโลยีใหม่มากเพียงใด เราก็ยิ่งไม่รู้ว่าการลงทุนลงแรงกับเทคโนโลยีใหม่ในวันนี้จะถูกสวมแทน (หรือแทนที่แบบไล่ของเก่าออกไปจากตำแหน่งเดิม – displace) โดยเทคโนโลยีที่ใหม่และพลิกผันกว่าในวันพรุ่งนี้หรือไม่ เพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ดูเหมือนมนุษย์จะถูกบังคับให้ต้องวิ่งตามคลื่นที่จับต้องไม่ได้อยู่ตลอดเวลา     

กล่าวโดยสรุป คำว่า “disruptive” แสดงลักษณะของเทคโนโลยีที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันจากภายในสู่ภายนอก ส่วนคำว่า “disruption” แสดงผลกระทบของเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันในสิ่งต่าง ๆ เทคโนโลยีโดยตัวของมันเองไม่ดีหรือร้าย ทั้งสองคำที่เกี่ยวข้องก็มีความหมายได้ทั้งในเชิงบวกและลบ แต่ตราบใดที่เรายังตอบไม่ได้ว่า เทคโนโลยีพลิกผันจะเป็นเทคโนโลยียั่งยืนได้หรือไม่ และความเป็นมนุษย์จะถูกรื้อทำลายโดยเทคโนโลยีใหม่หรือไม่ เทคโนโลยีแบบนี้ก็จะนำพาความสุขที่มองเห็นมาให้พร้อมกับความทุกข์ที่มองไม่เห็นเสมอ  

 

*** บทความนี้ขอแปลคำว่า “disruption” เท่ากับการรื้อทำลาย เพราะต้องการทำความเข้าใจบริบทแวดล้อมด้านผลกระทบที่เทคโนโลยีใหม่มีต่อชีวิตมนุษย์ การทำลายแบบนี้หมายถึงการรื้อทำลาย “สิ่งสร้าง” และ “เรื่องราว” ของชีวิตมนุษย์ในยุคที่ผ่านมา พร้อมทั้งผลักไส “ความเป็นจริง” (reality) อื่นที่เข้าไม่ได้กับความเป็นจริงกายภาพที่วิทยาศาสตร์ปัจจุบันค้นพบและรับรองให้หลุดออกไปจากวงโคจรของเทคโนโลยีใหม่    

 

 

 

รายการอ้างอิง

วราภรณ์ สามโกเศศ (๒๕๕๙). “รู้จัก DISRUPTIVE TECHNOLOGIES.” คอลัมน์อาหารสมอง.

Https://www.bangkokbiznews.com>blog>detail.

สุมาลี มหณรงค์ชัย (๒๕๖๒). “ความหมายของศาสนาผ่านการรื้อทำลายทางเทคโนโลยี.”

เอกสารวิชาการนำเสนอ งานประชุมสามัญประจำปี สมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย

วันที่ ๒๐-๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๒.

อานันท์ เกียรติสารพิภพ (๒๕๖๒). “Disruptive Technology การดำรงชีวิตจะเปลี่ยนไป.”

เอกสารวิชาการอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิชาการ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

Http://www.parliament.go.th/library

Harari, Yuval Noah (2017). Homo Deus. London: Vintage.

Rouse, Margaret (2016). Disruptive Technology.

Https://whatis.techtarget.com/definition/ disruptive/techno...

Smith, Tim (2019). Disruptive Technology.

Https://www.investopedia.com/terms/d/disruptive-technology.asp.

                  

           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท