คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนสะเอียบระบุหมดยุคสมัยของการสร้างเขื่อนแล้ว

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ออกแถลงการณ์ 'วันหยุดเขื่อนโลกหมดยุคสมัยของการสร้างเขื่อนแล้ว จงใช้ปัญญาและความรู้ที่เคารพต่อธรรมชาติ สู่ยุคการพัฒนาที่ยั่งยืน 14 มี.ค. วันหยุดเขื่อนโลก'

14 มี.ค. 2563 คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ออกแถลงการณ์ 'วันหยุดเขื่อนโลกหมดยุคสมัยของการสร้างเขื่อนแล้ว จงใช้ปัญญาและความรู้ที่เคารพต่อธรรมชาติ สู่ยุคการพัฒนาที่ยั่งยืน 14 มี.ค. วันหยุดเขื่อนโลก' ระบุว่าผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนทั่วโลก หลายสิบล้านคนได้ร่วมกันบอกกล่าวความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนทั่วโลก ว่า “หมดยุคสมัยของการสร้างเขื่อนแล้ว จงใช้ปัญญาและความรู้ที่เคารพต่อธรรมชาติ สู่ยุคการพัฒนาที่ยั่งยืน” เขื่อนได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ ของความล้าสมัย ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ วิถีวัฒนธรรมและชุมชน

ประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก ได้ตระหนักและเรียนรู้ผลกระทบของการสร้างเขื่อน จนนำไปสู่การรื้อเขื่อนหลายต่อหลายเขื่อนแล้ว แต่ประเทศไทยและภูมิภาคนี้ยังไม่ตระหนัก ส่วนประชาชนคนต้นน้ำไม่ยินยอมให้มีการสร้างเขื่อนอีกต่อไปได้ เพราะพื้นที่เหล่านั้นเป็นที่อยู่อาศัยที่จะกระทบต่อชุมชนและป่าต้นน้ำ

ควรหาการจัดการน้ำและมีทางเลือก ให้มีการดูแลป่าต้นน้ำและคืนธรรมชาติให้ลำน้ำ ได้เป็นทางไหลของน้ำอย่างอิสระ หาแหล่งเก็บน้ำใต้ดิน เพื่อนำไปสู่การจัดการอย่างยั่งยืนต่อไป

ชุมชนชาวตำบลสะเอียบ ขอยืนหยัดในการต่อสู้เรื่องการสร้างเขื่อน การผันน้ำที่ฝืนธรรมชาติทุกรูปแบบ และขอประณามทุกผู้ทุกคนที่ยังสนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อน ไม่ว่าจะเรียกนามว่า อ่างเก็บน้ำ ฝาย ประตุระบายน้ำ อะไรก็ตามที่สุดท้ายมันคือเขื่อน

สุดท้ายนี้ ขอประณาม หน่วยงานราชการ นักการเมือง และทุกคนที่ยังสนับสนุนการสร้างเขื่อน ให้มีอันเป็นไปทุกคน และขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองพี่น้องชาวสะเอียบ และพี่น้องเราทุกพื้นที่ ลุกขึ้นปกป้องทรัพยากรของตัวเอง ให้คงอยู่ต่อไปชั่วลูกชั่วหลานต่อไปด้วยเทอญ

นอกจากนี้ยังมี 'คำประกาศชาวสะเอียบ' ระบุว่าจากการที่นายพรมงคล ชิดชอบ ผู้แทนกรมชลประทานได้เสนอแผนการจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ต่อคณะอนุกรรมาธิการบริหารจัดการน้ำการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีนายวีระกร คำประกอบ สส.จังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธาน ให้สร้างเขื่อนเตาปูน (เขื่อนยมล่าง) โดยกำชับว่าอย่าเรียกว่าเขื่อน ให้เรียกว่าอ่างเก็บน้ำเตาปูน

ข้อเท็จจริงคือ อ่างเก็บน้ำเตาปูน ก็คือเขื่อนยมล่างที่ลดระดับการกักเก็บน้ำลงมาให้เหลือ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร และย้ายสันเขื่อนมาอยู่ในเขตตำบลเตาปูน ห่างจากเขตตำบลสะเอียบลงมา 5 กิโลเมตร และห่างจากจุดที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นลงมา 10 กิโลเมตร ซึ่งน้ำก็จะท่วมเข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยมแอ่งป่าสักทองเหมือนเดิม อ่างเก็บน้ำเตาปูนหรือเขื่อนเตาปูนนี้ใหญ่กว่าเขื่อนลำตะคองซะด้วยซ้ำ(เขื่อนลำตะคองจุน้ำ 360 ล้าน ลบ.ม.) การวางแผนกันในห้องแอร์แล้วมาทำลายป่า ทำร้ายชุมชนเยี่ยงนี้ ควรเลิกได้แล้ว

เราชาวสะเอียบ ขอยืนยันว่า เราจะร่วมกันคัดค้านเขื่อนเตาปูน อ่างเก็บน้ำเตาปูน หรือเขื่อนยมล่าง ที่จะทำลายป่าสักทองจนถึงที่สุด และขอเรียกร้องให้ยุติแผนการสร้างเขื่อนแผนการทำลายป่า ไม่ต้องมาศึกษา ไม่ต้องมาทำ EIA แถวนี้ได้แล้ว พวกคุณหากินกับงบประมาณแผ่นดินโดยการศึกษา การทำ EIA มาหลายร้อยล้านบาทแล้ว พอเสียที แถวนี้ยังไงเราก็ไม่เอา

ไม่ว่าพวกคุณจะเรียกชื่อว่าอะไร เขื่อนยมล่าง เขื่อนเตาปูน อ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ (ปตร.) เขื่อนยมบน เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนห้วยสัก ฯลฯ ย้ายหัวงานวนไปวนมาอยู่แถวนี้ แล้วเกิดผลกระทบต่อป่าสักทอง อุทยานแห่งชาติแม่ยม และชุมชนสะเอียบ เรายืนยันที่จะคัดค้านโครงการเหล่านี้จนถึงที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท