Skip to main content
sharethis

สถานการณ์ COVID-19 วันที่ 16 มี.ค. สธ.ยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 108 ราย ประยุทธ์ มั่นใจ 'ประเทศไทยต้องชนะ' ยังไม่ประกาศระยะ 3  ขณะที่ ทบ.ยัน เจ้ากรมสวัสดิการฯ ติดเชื้อจริง ส่วน อธิบดีกรมการค้าภายใน ลาออกจากราชการแล้ว

16 มี.ค.2563 รายงานสถานการณ์ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า 1. ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 108 ราย กลับบ้านแล้ว 38 ราย เสียชีวิต 1 รายรวมสะสม 147 ราย 2. ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. – 15 มี.ค. 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 6,545 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 276 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 6,269 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 4,312 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 2,233 ราย

3. สถานการณ์ทั่วโลกใน 154 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 1 เรือสำราญ ข้อมูลตั้งแต่ 5 ม.ค. – 16 มี.ค. 2563 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 167,543 ราย เสียชีวิต 6,455 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 80,849 ราย เสียชีวิต 3,199 ราย

ยังไม่ประกาศระยะ 3

วันนี้ เวลา 15.45 น.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงถึงผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมรองรับการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 

วิษณุ ระบุว่า จากการประชุมคณะทำงานนานกว่า 5 ชั่วโมง ที่มีตัวแทนจากระดับรัฐมนตรี นักวิชาการ และทีมแพทย์ ซึ่งได้ฟังเหตุผลในแต่ละประเด็น เพราะบางเรื่องใหญ่ในระดับชาติที่ทุกคนต้องเตรียมตัว รวมทั้งประเด็นอยู่ในอำนาจของ รมว.สธ. และบางเรื่องต้องศึกษาก่อนแต่บางเรื่องจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพรุ่งนี้ (17 มี.ค.) โดยย้ำว่าที่ประชุมสรุปตรงกันว่าแม้จะมีการเตือนมาเป็นระยะเรื่องการแพร่ระบาด COVID-19 แต่ตอนนี้ยังอยู่การระบาดขั้นที่ 2 ยังไม่เข้าสู่ระยะที่ 3 โดยมีเหตุผลตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์และนิยามของไทยเพื่อให้บริหารจัดการง่าย

“รัฐจะประกาศขั้นที่ 3 ด้วยเหตุผล 3 ข้อคือ 1.เมื่อมีประชาชนชาวไทยรับเชื้อ และติดต่อกันเอง ไม่ปรากฎว่ามาจากที่ไหนชัดเจน 2.ต้องมีการติดต่อแพร่เชื้อจำนวนมาก ไม่ใช่แค่ 2-3 คน และนิยามที่ 3 ต้องปรากฎหลายพื้นที่จนไม่สามารถควบคุมได้”

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า แต่ก็ยังต้องเตรียมการเพื่อเข้าสู่ระยะ 3 โดยในด้านสาธารณสุข จะมีรายงานต่อ ครม.ว่ามีการเตรียมสถานพยาบาลของรัฐ-เอกชน ของท้องถิ่น เช่น ของกทม.และสถานพยาบาลในมหาวิทยาลัย ทหาร รวมทั้งหมอ และบุคลากรทางการแพทย์ โดยจะระดมแพทย์ที่เกษียณอายุราชการ มาช่วย 

ประยุทธ์ มั่นใจ 'ประเทศไทยต้องชนะ'

ขณะที่ 19.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยมีรายละเอียดคำแถลงดังนี้

การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2562 จนถึงวันนี้ 16 มีนาคม 2563 มีการระบาดไปแล้วถึง 154 ประเทศ มีจำนวนผู้ป่วยรวม 167,543 รายทั่วโลก และประเทศไทยเอง ด้วย จนถึงวันนี้ประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อแล้ว 146 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 38 ราย  เสียชีวิต 1 ราย และยังไม่พบมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
 
ช่วงที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยสามารถชะลอการแพร่กระจายของโรคได้ดี ด้วยระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง และด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย แต่การระบาดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสาเหตุสำคัญอาจจะเกิดขึ้นจากการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก และเป็นช่วงที่มีจำนวนผู้ป่วยเกิดขึ้นมากทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย
 
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ประชาชนย่อมมีความกังวล บางท่านอาจจะรู้สึกกลัวการติดเชื้อเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะมีการเสนอข่าวการแพร่ระบาดและผู้เสียชีวิตในต่างประเทศจำนวนมาก รวมถึงมีข่าวสารมากมายที่ไม่ได้ผ่านการคัดกรอง ได้ส่งถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว ในข่าวสารเหล่านั้นบางส่วนก็ไม่เป็นความจริง จนทำให้เกิดความตระหนกแตกตื่น เริ่มมีการกักตุนหน้ากากอนามัย และสินค้าอุปโภค บริโภค ซึ่งไม่มีความจำเป็น
 
ในสถานการณ์เช่นนี้ ผมขอย้ำว่ารัฐบาลไทยไม่เคยนิ่งนอนใจ จนถึงวันนี้ รัฐบาลและทุกภาคส่วนได้ร่วมมือร่วมใจทำงาน ในการคัดกรองผู้ป่วยตามมาตรฐานสากลอย่างมีประสิทธิภาพ มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่รวดเร็วและเชื่อถือได้ มีการจัดเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ สถานพยาบาล และเวชภัณฑ์ทั่วประเทศ อย่างเพียงพอเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อและสร้างความมั่นใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ผมถือว่าบุคคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขคือหัวใจสำคัญ ในการควบคุมการระบาดและรักษาโรค รัฐบาลจึงให้การสนับสนุนและดูแลอย่างเต็มที่ทั้งอุปกรณ์ ความปลอดภัย และสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่
 
องค์การอนามัยโลกประเมินว่าการระบาดของโรคโควิด-19 จะเป็นการระบาดเป็นวงกว้าง โดยคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และอาจมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เพื่อลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้น เพื่อหยุดการแพร่กระจายเชื้อ โดยงดกิจกรรมในสถานที่ที่มีการชุมนุมจำนวนมาก ปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น สถานบันเทิง สนามกีฬา และสถานศึกษา ยกระดับการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศอย่างเข้มข้น
 
“ประเทศไทย” จะชนะการต่อสู้กับไวรัสนี้ก็ด้วยความร่วมมือของประชาชน โดย

  • งดการเดินทางไปต่างประเทศในช่วงเวลานี้  กรณีกลับจากกลุ่มประเทศเสี่ยงต้องกักตัว อย่างเคร่งครัด 14 วัน

  • รักษาสุขอนามัยส่วนตัว เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ได้แก่ กินร้อน อาหารปรุงสุกใหม่ สะอาด ไม่กินของแปลก ช้อนเรา แก้วเรา ห้ามกินน้ำแก้วเดียวกัน สวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่เสี่ยง คนไม่ป่วยใช้หน้ากากผ้า แต่ถ้ามีอาการป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ กรณีไปที่สาธารณะแล้วต้องจับ ลูกบิดประตู ราวรถเมล์ ปุ่มกดลิฟต์ บันไดเลื่อน ห้องน้ำ เป็นต้น ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ต้องดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง กินยาอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากติดเชื้อจะมีอาการหนักและมีโอกาสเสียชีวิตสูง

  • หลีกเลี่ยงการไปสถานที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เพราะมีโอกาสจะแพร่เชื้อ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย และยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เจ็บป่วย ไม่สบาย ควรอยู่บ้าน

  • อย่ากักตุนของ อย่าวิตก กังวลจนเกินไป ขอให้มีความเชื่อมั่นในรัฐบาลจะจัดการให้มั่นใจได้ว่าจะมีหน้ากากอนามัย เครื่องอุปโภค บริโภค และสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้อย่างเพียงพอ

  • ขอความร่วมมือผู้ที่ยังไม่มีอาการ ไม่มีประวัติเสี่ยงติดเชื้อ และแพทย์วินิจฉัยแล้วว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องตรวจ ก็ขอให้สังเกตอาการต่อไป เพื่อไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และจะได้มีชุดตรวจเพียงพอสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้จริง ๆ เท่านั้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการตรวจยังมีราคาแพงอยู่ และหมอ พยาบาลผู้เข้าไปทำการป้ายจมูก ป้ายคอเพื่อเก็บเชื้อไปส่งตรวจนั้นต้องใส่ชุดป้องกันตัวอย่างรัดกุม และต้องใช้เวลาในการตรวจ ตั้งแต่เตรียมอุปกรณ์ และการใส่ชุด

  • ขอความร่วมมือหยุดการกระจายข่าวที่ไม่เป็นความจริง สร้างความแตกตื่นให้กับประชาชน และก่อนจะมีการกระจายข่าวใด ๆ ขอให้มีการตรวจสอบความถูกต้องก่อน 

การระบาดของโรคนี้เราต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่ายังคงดำเนินไปอีกระยะหนึ่ง ผมรู้ว่าพวกเราทุกคนต้องลำบาก ต้องเจ็บปวด แต่เราต้องอดทนร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน ผมขอขอบคุณผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่ายและประชาชนทุกคน
 

“ประเทศไทยต้องชนะครับ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวทิ้งท้ายพร้อมยกมือทั้ง 2 ขึ้นมา

ทบ.ยัน เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ติดเชื้อจริง

วันเดียวกัน พล.อ.ณฐพนธ์ ศรีสวัสดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก ในฐานะผู้แทนผู้บัญชาการทหารบก แถลงยืนยันความชัดเจนผลการตรวจเชื้อไวรัส COVID-19 ของ พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ว่า พบการติดเชื้อจริง ภายหลังเข้ารับการตรวจซ้ำที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งอาการล่าสุดไม่พบว่ามีไข้ และไม่พบความผิดปกติของปอด ส่วนผลตรวจของบุคคลในครอบครัวไม่พบการติดเชื้อ แต่ให้มีการกักตัว 14 วันตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมย้ำว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พลตรีราชิต ไม่มีประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ

พล.อ.ณฐพนธ์ ยังเปิดเผยด้วยว่า มี 1 ใน 5 เสือกองทัพบก คือ ระดับรองผบ.ทบ. หรือ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. หรือ เสนาธิการ ทบ. แต่ยืนยันว่า ไม่ใช่ ผบ.ทบ. แน่นอน ที่ถูกสั่งกักตัว 14 วัน เนื่องจากเคยประชุมร่วมกันกับพลตรีราชิต และยังมีนายทหาร ระดับนายพลรวมไปถึงระดับชั้นประทวนจำนวน 36 คน ที่มีความเสี่ยงสูง และมีอีก 60 คนที่อยู่ในข่ายการเฝ้าระวัง ซึ่งกองทัพบก รับทราบรายชื่อกำลังพลทั้งหมดนี้แล้ว โดยมีการสั่งการให้กับตนเองเป็นเวลา 14 วันเช่นเดียวกัน และจะมีการติดตามใกล้ชิดด้วยว่ามีการจัดตัวอย่างเข้มงวดจริงหรือไม่ หากละเว้นจะถือว่ามีความผิดทางวินัย

ผู้แทนผู้บัญชาการทหารบก ยังคาดการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ของพลตรีราชิตว่า อาจจะเกิดจากการสัมผัส หรือพูดคุยติดละอองน้ำลาย เนื่องจากพล.ต.ราชิต ได้ลงพื้นที่ที่สนามมวยลุมพินี รามอินทรา เพราะทำงานที่นั่น และต้องไปร่วมกิจกรรมดังกล่าว แต่ปัจจุบัน ได้สั่งการให้ทำความสะอาดฆ่าเชื้อในพื้นที่ และกับตัวบุคคลเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในพื้นที่แล้ว เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ เช่นเดียวกับกองบัญชาการกองทัพบก เช่นเดียวกับกองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนิน ก็มีการทำความสะอาดเช่นเดียวกัน

พลเอกณฐพนธ์ ยังเปิดเผยด้วยว่า พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เตรียมเปิดศูนย์ประสานงานทางการแพทย์ บูรณาการกระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุขและเหล่าทัพ พร้อมให้ความรู้กับกำลังพลทุกระดับ ปรับวิถีชีวิตของทหาร และสุขอนามัยส่วนบุคคล ทั้งการต่อแถว การรับประทานอาหารที่ต้องใช้ช้อนส้อมของตนเอง กำหนดมาตรฐานในการออกกำลังกายในที่โล่งแจ้ง จัดเจ้าหน้าที่ในการคัดกรองโดยตรงของหน่วยงาน

อธิบดีกรมการค้าภายใน ลาออกจากราชการแล้ว

วันเดียวกัน (16 มี.ค.63) วิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) เดินทางมายังห้องประชุมกรมการค้าภายใน ชั้น 6 กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้นโยบายและอำลาข้าราชการ หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง “ให้ข้าราชการมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี”

โดยทันทีที่มาถึงก็เดินเข้ามาทักทายสื่อมวลชนที่รอปักหลักทำข่าว เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นห่วงอะไรหลังจากนี้ ได้กล่าวติดตลกว่า “ห่วงตัวเองมากกว่า”

หลังจากนั้น วิชัย ได้เข้าไปในห้องประชุม โดยบรรยากาศการให้นโยบาย พบปะข้าราชการกรมการค้าภายในที่รอให้กำลังใจ ซึมเศร้า

สช. ระดมพลังจิตอาสา ผลิตหน้ากากผ้า สู่สังคม

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะองค์กรสานพลังภาคีเครือข่าย นอกจากจะมีมาตรการต่างๆ ภายในองค์กร และเตรียมพร้อมในการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัด “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ หนุนช่วยรัฐ สู้ภัยโควิด-19” ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งหมด 69 จังหวัดแล้ว สช. ยังได้จัดกิจกรรมภายในองค์กรภายใต้ชื่อว่า “สานพลัง จิตอาสา หน้ากากผ้า สู่สังคม” โดยมี 3 แนวคิดสำคัญคือ 1. จิตอาสา 2. การป้องกันและความรับผิดชอบต่อตนเอง และ 3. การป้องกันและความรับผิดชอบต่อสังคม “สช. มีนโยบายส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่พนักงานในองค์กรร่วมกันตัดเย็บหน้ากากผ้าใช้เอง และแจกจ่ายให้กับภาคีผู้ร่วมประชุม ช่วยกันคนละไม้ละมือ ใครช่วยทุนได้ก็ช่วย ใครลงแรงได้ก็ทำ เราจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่สู้โควิด-19 ไปด้วยกัน เรารอด ไทยรอด”

นพ.ปรีดา กล่าวเพิ่มเติมถึงกิจกรรม “สานพลัง จิตอาสา หน้ากากผ้า สู่สังคม” ว่า พนักงานทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยแต่ละวันจะหาเวลาว่างหรือใช้เวลาเย็นหลังเลิกงานมาช่วยกันตัดเย็บหน้ากากผ้า เบื้องต้นตั้งเป้าหมายไว้ที่ 500 ชิ้น แล้วเสร็จภายในวันที่ 23 มีนาคม 2563 นี้

“ในฐานะที่เป็นพนักงานและประชาชนคนหนึ่ง รู้สึกดีใจที่ สช. ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ เห็นความร่วมมือร่วมใจของเจ้าหน้าที่ทุกคน เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแบ่งเบาภาระของสังคม และช่วยทำให้โควตาหน้ากากอนามัยถึงมือแพทย์พยาบาลมากขึ้น แม้หน้ากากผ้าจะป้องกันได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังดีกว่าเราไม่ป้องกันอะไรเลย”

สำหรับวิธีเลือกใช้หน้ากากเพื่อป้องกันโควิด-19 นั้น ข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข  ระบุว่า หน้ากากผ้า  สำหรับบุคคลทั่วไปที่ยังไม่ป่วย หน้ากากอนามัย  สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไอจาม และหน้ากากN95  สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์TNNสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ และ ไทยพีบีเอส

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net