Skip to main content
sharethis

สื่อ Foreign Affairs วิเคราะห์ผลกระทบจากการระบาดและมาตรการควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือ COVID-19 โดยระบุว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้างที่ไม่ใช่สิ่งที่แก้ไขได้ด้วยการปรับเศรษฐศาสตร์มหภาคแบบเดิมๆ แต่ลักษณะทางเศรษฐกิจของโลกอาจจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงหรือเกิดภาวะวิกฤตสังคมล่มสลายได้


ที่มาภาพประกอบ: pasja1000 (Pixabay License)

สื่อ Foreign Affairs ระบุว่าผลกระทบจากการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือ COVID-19 ในระดับโลกจะส่งผลกระทบระดับวิกฤตอุปสงค์กับอุปทานทางเศรษฐกิจ ระบบอุปทานจะล้มเหลวเพราะบริษัทปิดตัวลงและมีการลดภาระงานเพื่อป้องกันไม่ให้คนทำงานติดโรค COVID-19 สำหรับปัญหานี้แล้ว แค่การลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากระดับมหภาคแบบเดิมจะไม่ได้ช่วยอะไรเลยในการเพิ่มอุปทาน

นอกจากนี้แล้วปัญหาการกระทบอย่างรุนแรงในเรื่องอุปทานจะยิ่งแย่ลงไปอีกจากการที่อุปสงค์ลดลงเนื่องจากผู้คนเก็บตัวอาศัยอยู่ในบ้านมากขึ้นและสินค้ากับบริการจำนวนมากที่พวกเขาเคยจับจ่ายซื้อหาก็ไม่มีอยู่ให้จับจ่ายซื้อหา นอกจากนี้ถ้าหากมีการปิดประเทศหรือยับยั้งการสัญจรด้วยเครื่องบิน รวมถึงผู้คนไม่กล้าออกไปทานอาหารหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เพราะกลัวโรคแล้ว ความพยายามปรับอุปสงค์ด้วยวิธีใดๆ ก็ตามอย่างการจัดการราคา ก็จะส่งผลได้น้อยมาก และอาจจะไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ดีในมุมมองของสาธารณสุข

Foreign Affairs ประเมินอีกว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือการที่วิกฤต COVID-19 และมาตรการที่จัดการเรื่องนี้เป็นไปแนวทางที่ตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน ในขณะที่โลกาภิวัตน์ทำให้เกิดการแบ่งแยกแรงงานแบบไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่วิกฤตนี้กลับจะทำให้ประเทศต่างๆ ต้องหันไปใช้วิธีแบบพึ่งพาตนเองมากขึ้น มีการประเมินว่าถ้าหากวิกฤตนี้แก้ไขได้ภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปี โลกของเราก็อาจจะกลับไปสู่โลกาภิวัตน์ได้ ถึงแม้ว่าจะมีบางส่วนที่อาจจะถูกตัดแปลงแก้ไขไปบ้างเช่นห่วงโซ่การผลิตที่เน้นความแม่งยำด้านเวลามากอาจจะเปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตามถ้าหากวิกฤตนี้ยังคงดำเนินต่อไปจะเกิดอุปสรรคนานขึ้นต่อเรื่องการไหลเวียนอย่างอิสระของผู้คน สินค้า และทุน ซึ่งจะส่งผลให้มีการรวมกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะทางเพื่อตอบรับกับความกังวลเรื่องสุขภาวะ เช่นอาจจะมีการเปลี่ยนระบบการเดินทางเข้าออกประเทศที่เข้มงวดขึ้นโดยต้องอาศัยใบรับรองสุขภาพเพิ่มขึ้นด้วย เรื่องนี้จะกลายเป็นอุปสรรคต่อโลกาภิวัตน์แบบเดิมที่ประชาชนหลายล้านคนเดินทางได้อย่างอิสระ

ในแง่นี้คนที่จะได้เปรียบคือคนที่ทำอะไรหลายอย่างในแบบที่พึ่งพิงเศรษฐกิจจากข้างนอกน้อยกว่า เช่น สามารถประกอบอาหารเอง หรือซ่อมแซมสิ่งต่างๆ เองได้ ขณะที่เศรษฐกิจแบบเน้นความสามารถเฉพาะด้านแบบด้านเดียวจะเสียเปรียบเพราะต้องพึ่งพิงอย่างอื่น นอกจากนี้การเคลื่อนย้ายทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปจะไม่ได้มาจากการถูกกดดันทางเศรษฐกิจในแบบเดิมแต่จะมาจากอิทธิพลของความกังวลอย่างอื่น เช่น เรื่องความกังวลต่อการระบาดของโรคและการกลัวความตาย มาตรการทางเศรษฐกิจในการเยียวยาแบบเดิมจะเป็นแค่ยาแก้ปวดชั่วคราวเท่านั้น ผู้คนที่ยากจน ตกงาน ขาดประกันสุขภาพ จะสูญเสียสิ่งต่างๆ และส่งผลกระทบต่อเนื่องแบบเลวร้ายลงเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการถูกขับออกจากที่พักไปจนถึงวิกฤตการธนาคาร

ทั้งนี้ในกรณีเลวร้ายกว่านั้นคือการสูญเสียบุคคลจากโรคระบาดอาจจะถึงขั้นนำไปสู่การล่มสลายทางสังคม ผู้ที่ไร้ความหวัง ไม่มีงานทำ และไม่มีทรัพย์สินใดๆ จะลุกขึ้นต่อต้านคนที่มีอะไรดีกว่า โดยที่คนอเมริกันร้อยละ 30 ไม่มีความมั่งคั่งหรือมีระดับความมั่งคั่งติดลบอยู่แล้ว ถ้าหากวิกฤตในปัจจุบันทำให้ผู้คนจำนวนมากกว่านี้กลายเป็นคนที่ไม่มีเงิน, ไม่มีงาน ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการสุขภาพได้ กลายเป็นคนที่โกรธแค้นและเข้าตาจน อาจจะทำให้เกิดการออกมาปล้นชิงเป็นเรื่องปกติได้ แล้วถ้ามีการใช้กำลังทหารหรือกองกำลังผสมปราบปรามผู้คนเหล่านี้ก็จะยิ่งยกระดับกลายเป็นการจลาจลทำลายข้าวของทำให้สังคมล่มสลายได้

ดังนั้นแล้ว Foreign Affairs จึงเสนอว่านโยบายเศรษฐกิจในช่วงยุคสมัยเช่นนี้จึงควรมีเป้าหมายเน้นการป้องกันไม่ให้เกิดการล่มสลายทางสังคม พวกเขาไม่ควรหน้ามืดตามัวกับทรัพย์สินทางตลาดการเงิน แต่ควรเล็งเห็นในสิ่งที่สำคัญกว่าคือบทบาททางเศรษฐกิจในการสร้างความเชื่อมโยงทางสังคมภายใต้แรงกดดันมากเป็นพิเศษนี้


เรียบเรียงจาก
The Real Pandemic Danger Is Social Collapse, Foreign Affairs, 19-03-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net