Skip to main content
sharethis

จากมาตรการปิดเมืองรับมือการระบาดโควิด-19 ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับช่วงใบอนุญาตทำงานแรงงานข้ามชาติหมดอายุ ทำให้แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่เผชิญความไม่มั่นคงในการใช้ชีวิตเมืองใหญ่ตัดสินใจกลับภูมิลำเนาแล้วมากกว่า 6 หมื่นราย โดยที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งปิดด่านตั้งแต่วันจันทร์นี้ ต้องอนุโลมเปิดด่านมาแล้ว 3 วันเพื่อให้แรงงานจากพม่ากลับภูมิลำเนา ด้านนักวิจัยแรงงานเสนอภาครัฐช่วยแรงงานข้ามชาติให้อยู่ต่อได้ในพื้นที่จ้างงานเดิม ผลดีช่วยชะลอการระบาดและพยุงเศรษฐกิจในระยะยาว

แรงงานจากประเทศพม่ารอข้ามแดนที่ด่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 (ที่มา:  เอื้อเฟื้อภาพจาก Sai Tun Shwe)

แรงงานอพยพกลับภูมิลำเนาที่สถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต ภาพถ่ายเมื่อ 22 มีนาคม 2563 (ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพจาก Sai Tun Shwe)

ไม่เพียงแค่แรงงานไทยจะเดินทางกลับต่างจังหวัดเท่านั้น แต่ในรอบสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาแรงงานชาวพม่านับหมื่นคนเดินทางไปที่ด่านถาวรชายแดนไทย-พม่าทุกช่องทางเพื่อรอเดินทางกลับภูมิลำเนา หลังจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 2) เมื่อวันที่ 21 มี.ค. อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อรับมือสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 รวมทั้งคำสั่งปิดสถานที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ปริมณฑล และอีกหลายจังหวัดหัวเมือง

โดยที่ชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก ช่องทางข้ามแดนไปยังเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า เริ่มคับคั่งมากขึ้น เมื่ออรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตากมีคำสั่งจังหวัดตากที่ 684/2563 เมื่อ 20 มี.ค. มีผลระงับการใช้ช่องทาง ณ จุดผ่านแดน สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 1 และระงับการเข้าออกของบุคคล ยานพาหนะ และสิ่งของทุกช่องทางตลอดแนวชายแดน จ.ตาก เหลืองเพียงช่องทางข้ามแดนแห่งเดียวคือสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 บ้านวังตะเคียนใต้ หมู่ 7 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก

และคำสั่งจังหวัดตากที่ 686/2563 ลงวันที่ 21 มี.ค. ให้มีผลระงับการเดินทางเข้า-ออก ของบุคคล ณ จุดผ่านแดนถาวรจังหวัดตากรวมทั้งที่สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. เหลือเพียงการขนส่งสินค้าเท่านั้นที่ยังทำได้

อย่างไรก็ตามแรงงานชาวพม่านับหมื่นตกค้าง ไม่สามารถข้ามแดนกลับได้ในวันที่ 22 มี.ค. ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตากมีมติผ่อนผันเปิดด่านชั่วคราวเพื่อให้ชาวพม่าที่ตกค้างเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยมีการเปิดด่านชั่วคราวในวันที่ 23 และจนถึงวันนี้ (25 มี.ค.) ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ด่านสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 2 ยังผ่อนปรนให้แรงงานชาวพม่าข้ามกลับภูมิลำเนาเป็นวันที่ 3 ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ที่อ้าง-ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยระบุว่ามีแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ จากพม่า ลาว กัมพูชา ข้ามพรมแดนในช่วงนี้แล้วมากกว่า 6 หมื่นคน

แรงงานจากประเทศพม่าเดินทางข้ามแดนที่ด่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 (ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพจากรวีพร ดอกไม้)

อพยพกลับช่วงใบอนุญาตทำงานหมดอายุ แทรกซ้อนด้วยโควิด-19 ระบาด

รวีพร ดอกไม้ ผู้ประสานงานคลินิกกฎหมายแรงงานแม่สอด ภายใต้มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ซึ่งสังเกตการณ์ภาคสนามที่ด่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ระบุว่าแรงงานชาวพม่ายังเดินทางมาเรื่อยๆ โดยทูตแรงงานของพม่าประสานให้จัดหารถจากฝั่งเมียวดีช่วยรับ-ส่งแรงงานจากด่านพรมแดน ไปยังพื้นที่ในรัศมี 2 กม. ด้วย

โดยสาเหตุนอกจากการระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แรงงานตัดสินใจกลับก็คือโรงงานและสถานประกอบการในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลหยุดในช่วงที่เกิดโรคระบาด นอกจากนี้อีกปัจจัยสำคัญก็คือ แรงงานจำนวนมากใบอนุญาตทำงานกำลังจะหมดอายุ ในวันที่ 30 มี.ค. และ 31 มี.ค. 63 

ทั้งนี้แม้มติคณะรัฐมนตรี 20 ส.ค. 62 จะอนุญาตให้แรงงานดำเนินต่ออายุใบอนุญาตทำงานแบบนำเข้าตาม MOU โดยแรงงานไม่ต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร และให้อนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไม่เกิน 2 ปี อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์ระบาดคาบเกี่ยวกับช่วงที่แหล่งงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต่างหยุดชะงัก ก็ทำให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านไม่สามารถหานายจ้างใหม่หรือหานายจ้างต่ออายุการทำงาน (work permit) ได้ภายใน 15 วัน ทำให้เงื่อนไขจ้างงานสิ้นสุด

นักวิจัยด้านสิทธิแรงงานยังพบว่า แรงงานชาวพม่าที่ตัดสินใจกลับ ยังสละสิทธิเดินทางกลับ หรือ re-entry ด้วย หมายความว่า แรงงานชาวพม่าที่เดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงนี้ตัดสินใจกลับระยะยาว ไม่ได้กลับระยะสั้นช่วงสงกรานต์แบบทุกๆ ปี ที่กระทรวงแรงงานมักจะผ่อนผันแรงงาน 3 สัญชาติ (พม่า ลาว กัมพูชา) ให้กลับภูมิลำเนาโดยได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม ซึ่งหากแรงงานชาวพม่ากลุ่มนี้จะกลับมาทำงานที่ไทย จะต้องดำเนินการผ่านระบบ MoU ภายหลัง

มติ ครม. ผ่อนผันแรงงานข้ามชาติขยายเวลาอยู่ไทยได้จนถึง 30 มิ.ย. 63

หลังใช้นโยบายปิดเมืองได้ 3 วัน ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มี.ค. คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอการผ่อนปรนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวปี 2562 – 2563 โดยผ่อนปรนให้แรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม 3 สัญชาติกลุ่มที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 20 ส.ค. 62 ซึ่งใบอนุญาตทำงานกำลังจะหมดอายุสิ้นเดือนมีนาคมนี้ สามารถดำเนินการขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปเพื่อการทำงานได้ทันภายในกำหนด โดยขยายเวลาให้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 63 และให้ยกเว้นค่าเปรียบเทียบปรับการอยู่เกินกำหนด (Over Stay)

ห่วงแรงงานแห่กลับขนานใหญ่จะผลักภาระรับมือโรคระบาดให้ประเทศต้นทาง

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) กล่าวถึงสถานการณ์เดินทางกลับของแรงงานข้ามชาติในช่วงสัปดาห์นี้ว่า มีคนส่วนหนึ่งตัดสินใจกลับเพราะไม่มั่นใจว่าจะต่ออายุการทำงานได้ และเมื่อใกล้จะถึงเส้นตายหมดอายุใบอนุญาตทำงานสิ้นเดือนมีนาคม และประกาศปิดกรุงเทพฯ ทำให้หลายคนตัดสินใจกลับ

“น่าเป็นห่วง หากการกลับภูมิลำเนา ไม่มีมาตรการรองรับ โดยเฉพาะความเสี่ยงในแง่สาธารณสุข ที่ผ่านมามีแรงงานชาวพม่าติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 2 คน จากการทำงานในร้านอาหารย่านทองหล่อ คนทำงานในร้านอาหารที่รับนักท่องเที่ยวต่างประเทศย่อมมีความเสี่ยง”

ผู้ประสานงาน MWG มีความห่วงใยมาตรการคัดกรองที่ชายแดน เพราะหากทั้งฝั่งไทยและพม่าวัดแค่อุณหภูมิ อาจคัดกรองไม่ได้มาก ที่สำคัญทุกด่านที่เป็นด่านถาวร มีปริมาณผู้คนรอข้ามแดนกลับแน่นขนัด ทั้งแม่สอด แม่สาย ระนอง ด่านพุน้ำร้อน และกระบวนการเฝ้าระวังติดตามแรงงานข้ามชาติที่กลับภูมิลำเนาก็ไม่มี จึงน่าห่วงว่า การกำหนดนโยบายในรอบสุดสัปดาห์ดังกล่าว จะกลายเป็นการผลักภาระไปให้ประเทศต้นทาง

อดิศร ประเมินสถานการณ์ในอนาคตที่ต้องพิจารณาร่วมกันว่าจะรับมืออย่างไร หากการควบคุมสถานการณ์ระบาดในไทยจบเร็ว เช่น คุมได้ภายใน 3-4 เดือน กิจการต่างๆ กลับมาเปิดและจ้างงานใหม่ แต่ในฝั่งพม่าหรือประเทศเพื่อนบ้าน สถานการณ์ระบาดจะสงบพร้อมกันหรือไม่ หรือถ้าในฝั่งพม่ายังคงมีการระบาด ก็อาจจะเกิดผลกระทบกับแรงงานข้ามชาติที่กลับมาทำงานฝั่งไทย

เสนอให้ช่วยแรงงานข้ามชาติให้อยู่ต่อได้ในพื้นที่จ้างงานเดิม ผลดีช่วยชะลอการระบาดและพยุงเศรษฐกิจในระยะยาว

เขาเสนอว่ามาตรการของรัฐบาลไทยที่ควรทำในขณะนี้ คือตรึงให้แรงงานข้ามชาติอยู่ในพื้นที่จ้างงานเดิมในไทยให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดการกระจายตัวของโรคระบาด และช่วยพยุงตัวฐานเศรษฐกิจของไทยระยะยาว และเพื่อให้นายจ้างลดความกังวล มาตรการที่รัฐบาลต้องทำคือออกมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการ และแรงงาน อยู่ต่อและอยู่รอด ทั้งนี้อดิศรเสนอว่าควรมีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายคนเข้าเมือง ที่ช่วยให้แรงงานข้ามชาติที่อยู่เกินกำหนด หรือยังไม่ได้ต่ออายุการขออนุญาตทำงาน (work permit) ให้สามารถผ่อนผันได้ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้มั่นใจในการอยู่เมืองไทยต่อ และไม่เคลื่อนย้ายกลับไปชายแดน

ที่ผ่านมาเคยมีระลอกการเดินทางกลับของแรงงานข้ามชาติขนานใหญ่ เช่น ช่วงน้ำท่วมปี 2554 หรือหลังรัฐประหาร 2557 ที่แรงงานไม่มั่นใจเรื่องนโยบายการทำงาน แต่รอบนี้มีปัจจัยหนึ่งที่ต้องระวังคือ การเดินทางกลับของแรงงานย้ายถิ่น คือการเพิ่มโอกาสที่จะเกิดการกระจายของผู้ที่มีเชื้อไวรัสหรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายต้องวางมาตรการให้ดี ตรึงคนทำงานให้ยังอยู่ในพื้นที่จ้างงานเดิม ให้มีแรงจูงใจอยู่ต่อ

“เพราะอย่างน้อยที่ผ่านมา ในเมืองไทยมีการทำงาน มีนโยบายด้านการดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติ มีคนทำงานหรือระบบอาสามัครในด้านนี้ แต่ถ้าแรงงานข้ามชาติเดินทางกลับ ข้ามพรมแดนไปแล้วในทางระบาดวิทยาการดูแลเฝ้าระวังเรื่องสุขภาพทำได้ยากกว่า” ผู้ประสานงาน MWG กล่าวในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net