มูลนิธิสิทธิฯ รัฐฉานเผย กองทัพพม่าโจมตีตอนกลางรัฐฉาน ชาวบ้านพลัดถิ่น 800 คน

มูลนิธิสิทธิมนุษยชนรัฐฉานเผย กองทัพพม่า 9 กองพัน บุกยึดพื้นที่ตอนกลางของรัฐฉาน ยิงระเบิด บังคับชาวบ้านเป็นแรงงาน ทำให้ประชาชนพลัดถิ่นกว่า 800 คน สะท้อนความไม่จริงใจในกระบวนการเจรจาสันติภาพ เรียกร้องนานาชาติคว่ำบาตรการทูต-เศรษฐกิจ

ธงชาติรัฐฉาน (แฟ้มภาพ)

27 มี.ค. 2563 มูลนิธิสิทธิมนุษยชนรัฐฉาน (Shan Human Rights Foundation -SHRF) รายงานว่า ทหารกองทัพพม่า (ทัตมาดอว์) ดำเนินปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ในเมืองกึ๋ง (Mong Kung) ตอนกลางของรัฐฉาน เขตปกครองของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (Restoration Council of Shan State/Shan State Army- RCSS/SSA) โดยมีทั้งการยิงระเบิดอย่างไม่เลือกหน้า ปล้นสะดม และบังคับให้คนไปเป็นแรงงาน

ปฏิบัติการดังกล่าวมีทหารพม่าเข้าปฏิบัติการทั้งสิ้น 1,500 นาย โดยเป็นกองกำลังจาก 9 กองพัน ส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 800 คนต้องพลัดถิ่นหลังสูญเสียทรัพย์สินให้ทหารที่เข้ายึดพื้นที่ และมี 17 หมู่บ้านที่ถูกบังคับให้นำไม้ไผ่ไปให้กองทัพพม่าใช้สร้างค่ายทหารอีกด้วย

กองกำลังจาก 9 กองพันมาจาก 3 กองทัพภาพ ได้แก่กองพันทหารราบอาวุธเบาจากศูนย์บัญชาการภาคตะวันออกที่เมืองตองจี ศูนย์บัญชาการตะวันออกเฉียงเหนือที่เมืองล่าเสี้ยว และศูนย์บัญชาการกลางจากเมืองโขหลำ ทางทิศตะวันออก 

ปฏิบัติการทางทหารมีจุดมุ่งหมายเพื่อยึดยอดดอยดอนที่อยู่ระหว่างอำเภอเมืองกึ๋ง อำเภอเกซี อำเภอสีป้อ เมื่อ มี.ค. 62 กองทัพพม่าก็มีปฏิบัติการทางทหารลักษณะคล้ายคลึงกันเพื่อยึดดอยปางคา ซึ่งเป็นฐานทัพของพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน-เหนือ (Shan State Progress Party/Shan State Army - SSPP/SSA) ห่างจากดอยดอนไป 10 กม. 

SHRF ระบุว่า ปฏิบัติการขยายพื้นที่ทางทหารของกองทัพพม่าถือเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงในสัญญาหยุดยิงทั้งฉบับที่ทำกับ SSPP/SSA เป็นทวิภาคี และสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement - NCA) ที่ทำกับ RCSS/SSA ทำให้เห็นถึงความไม่จริงใจต่อกระบวนการสันติภาพ นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นถึงความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนอย่างไม่มีความละอายใจ ในฐานะที่พม่าได้เอางบประมาณมาลงกับปฏิบัติการของกองทัพในขณะที่ตอนนี้ควรเอาทรัพยากรไปใช้กับการต่อสู้กับการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19

SHRF เรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติหยุดการทำธุรกิจกับพม่า เพราะหากไม่มีการคว่ำบาตรทางการทูตและเศรษฐกิจที่รุนแรงแล้ว กองทัพพม่าก็จะยังเดินหน้าขยายอิทธิพลทางทหารและกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ ทำให้การเกิดสันติภาพเป็นเป้าหมายที่ยังคงห่างไกลเหมือนเดิม

ปัจจุบัน RCSS/SSA เป็นกองทัพชาติพันธุ์ติดอาวุธที่มีบทบาทสูงที่สุดในหมู่กองกำลังชาติพันธุ์ในภาคีกระบวนการสันติภาพภายใต้สัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ส่วน SSPP/SSA เป็นปีกการเมืองและกองทัพรัฐฉานอีกกลุ่มที่ไม่ได้ร่วมภาคี NCA แต่ไปร่วมกับคณะกรรมการเจรจาและปรึกษาทางการเมืองแห่งสหพันธรัฐ (Federal Political Negotiation Consultative Committee : FPNCC) หรือเรียกว่า พันธมิตรฝ่ายเหนือ

พันธมิตรฝ่ายเหนือซึ่งมีชายแดนติดต่อกับจีน ถือเป็นขั้วอำนาจที่มีกำลังต่อรองสูง เพราะนำโดยกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ที่มีกองกำลังมากกว่า 3 หมื่นคน โดย UWSA ยังไม่มีท่าทีจะร่วมโต๊ะเจรจาสันติภาพ เพราะมีจุดยืนอยากให้พื้นที่ปกครองของว้ามีลักษณะเป็น ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ อย่างที่ฮ่องกงเป็นกับจีน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท