Skip to main content
sharethis

อีกประเด็นสำคัญที่ควรคำนึงถึงในเรื่องกรณีการควบคุมโรคระบาด COVID-19 คือเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว จากที่ถึงแม้ว่ารัฐบาลหลายแห่งจะใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อผลประโยชน์ทางการแพทย์ในการควบคุมโรค แต่ก็ควรตั้งคำถามว่าขอบเขตการเก็บข้อมูลส่วนตัวของประชาชนอยู่ที่ระดับใด ในบางประเทศจะถือเป็นการละเมิดกฎหมายเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือไม่ และเราจะคืนความเป็นส่วนตัวทางข้อมูลให้กับประชาชนได้อย่างไรหลังจากพ้นวิกฤตนี้ไปแล้วได้อย่างไร

รายงานของเวิร์ลด์อิโคโนมิคฟอรัม ตั้งคำถามสำคัญเกี่ยวกับการรับมือวิกฤต COVID-19 ที่อาศัยการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนเพื่อการควบคุมโรค โดยระบุว่า "โดยทั่วไปแล้ว การเก็บข้อมูลในเชิงสอดส่องแบบหว่านแหที่มาจากคำสั่งของรัฐบาล ไม่ว่าจะมีเจตนาดีแค่ไหนก็ตาม จะทำให้เกิดคำถามสำคัญคือ จะมีวิธีการใช้ข้อมูลที่อ่อนไหวเหล่านี้อย่างไร ใครเข้าถึงข้อมูลนี้ได้บ้าง ข้อมูลของพวกเราเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือถูกแฮ็กได้มากน้อยเพียงใด มันจะถูกนำไปใช้หาผลประโยชน์เข้าตัวโดยบริษัทเอกชนในอนาคตหรือไม่ และแน่นอนว่า มีวิธีการที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวหรือไม่"

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันผู้คนจะยังคงคำนึงถึงเรื่องการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือ COVID-19 แต่เวิร์ลด์อิโคโนมิคฟอรัมก็นำเสนอว่าเมื่อกระแสในเรื่องโรคระบาดนี้ผ่านไปแล้ว คำถามข้างต้นเกี่ยวกับเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวทางขอมูลของประชาชนจะกลายมาเป็นคำถามสำคัญ

พวกเขาไม่ปฏิเสธว่าการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้คนในแบบเรียลไทม์หรืออัพเดทตามเวลาจริงนั้นมีส่วนช่วยในการคัดกรองและลดการระบาดของโรคได้ แต่ขอบเขตการเก็บข้อมูลของประชาชนควรอยู่ที่จุดไหน และกฎหมายในหลายประเทศ เช่น ประเทศสหภาพยุโรปมีการคุ้มครองข้อมูลเหล่านี้อย่างไร

ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปหรืออียูนั้นมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เรียกว่า GDPR ขณะที่ในรัฐแคลิฟอร์เนียก็มีกฎหมายว่าด้วยความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคหรือ CCPA ที่คอยคุ้มครองในเรื่องนี้ โดยในวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมากลุ่มแนวร่วมนักเทคโนโลยีและนักวิทยาศาสตร์จาก 8 ประเทศของยุโรปก็เปิดเผยว่าพวกเขากำลังพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด COVID-19 ในแบบที่เป็นไปตามกฎหมายความเป็นส่วนตัวของยุโรป

วิธีการของคณะกรรมาธิการยุโรปนั้นคือการขอข้อมูลจากบริษัทโทรคมนาคมในพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับที่อยู่เพื่อติดตามเรื่องการระบาดของ COVID-19 แต่ว่าเป็นไปในแบบที่ไม่เปิดเผยชื่อและเน้นข้อมูลแบบรวบยอด พวกเขาเรียกวิธีการเก็บข้อมูลการติดต่อแบบยังรักษาความเป็นส่วนตัวว่า PEPP-PT พวกเขาอาศัยให้สมาร์ทโฟนเป็นตัวทำหน้าที่เตือนแทน โดยจะสั่นเตือนด้วยระบบบลูทูธเมื่อมีผู้ใช้มาร์ทโฟนรายอื่นที่เป็นผู้ติดเชื้อเข้าใกล้พื้นที่นั้น เป็นการที่อียูพยายามออกห่างจากวิธีการสอดแนมประชาชนในแบบจีน

ปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวนอกจากจะกระทบเรื่องการถูกบริษัทหรือรัฐนำไปใช้หาผลประโยชน์หรือเพิ่มอำนาจให้ตัวเองแล้ว ยังมีอีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องความเสี่ยงของการล่าแม่มด มีการพูดถึงปัญหานี้ที่เกิดขึ้นในประเทศแถบคาบสมุทรบอลข่าน โดยที่กลุ่มเครือข่ายการรายงานข่าวสืบสวนสอบสวนบอลข่าน (BIRN) ที่มีสำนักงานในเซอร์เบีย ร่วมมือกับกลุ่มองค์กรสิทธิดิจิทัลคือมูลนิธิ SHARE ในการบันทึกติดตามเรื่อง "สิทธิดิจิทัลในยาม COVID-19"

องค์กรด้านสิทธิข้อมูลข่าวสารระบุว่า รัฐบาลบางส่วนโต้ตอบวิกฤตการระบาดหนักของ COVID-19 ด้วยการเพิ่มการสอดแนม เพิ่มการเซนเซอร์ และจำกัดการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร และในหลายกรณีก็มีจำกัดที่ละเมิดมาตรฐานสิทธิมนุษยชน มีหลายประเทศมีคนถูกจับกุมเพราะถูกกล่าวหาเรื่องเผยแพร่ข่าวปลอม ในกรณีของเซอร์เบียหลังจากที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ประธานาธิบดีก็ประกาศให้ตำรวจ "คอยติดตาม" เบอร์โทรศัพท์ของอิตาลีซึ่งเป็นแหล่งที่มีการระบาดหนักอีกแหล่งหนึ่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อคอยติดตามชาวเซอร์เบียพลัดถิ่นที่กลับมาจากอิตาลี

ประเทศที่มีปัญหาเรื่องการล่าแม่มดคือมอนเตรเนโกร ซึ่งองค์กรประสานงานด้านโรคระบาดแห่งชาติใช้วิธีการเผยแพร่ชื่อและนามสกุลของคนที่ถูกสั่งให้กักตัวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคในทางออนไลน์หลังจากที่กลุ่มคนเหล่านี้ถูกมองว่าไม่ทำตามมาตรการ เรื่องนี้ถูกต่อต้านจากภาคประชาสังคมที่ร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญของมอนเตรเนโกร ทั้งนี้ โบจัน เปอร์คอฟ นักวิจัยนโยบายของ SHARE ยังเปิดเผยอีกว่ากลุ่มผู้ติดเชื้อที่ถูกเผยแพร่ตัวตนในโลกออนไลน์ตกเป็นเหยื่อของการใช้วาจาข่มเหงด้วยความเกลียดชังหรือเฮทสปีช

ทางเวิร์ลด์อิโคโนมิคฟอรัมระบุถึงการนำเทคโนโลยีเสริมความเป็นส่วนตัว (PET) ที่ถูกนำมาใช้ในวงการธุรกิจ ทำให้พวกเขาสามารถได้รับข้อมูลโดยที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว รวมถึงห้ามไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อสาเหตุด้านเชื้อชาติ, กฎหมาย หรือสาเหตุทางธุรกิจได้

เวิร์ลอิโคโนมิคฟอรัมระบุว่าในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ ในขณะที่รัฐบาลพยายามค้นหาวิธีการเชิงข้อมูลเพื่อยับยั้งการระบาดระดับโลก ประชาชนทั่วไปอย่างพวกเราเองก็ควรจะช่วยกันดูว่าข้อมูลของพวกเราจะถูกจัดการอย่างไรในช่วงหลังผ่านพ้นการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ไปแล้ว หลังจากวิกฤตโรคระบาดสิ่งที่จะกลายเป็นปัญหาท้าทายคือเรื่องข้อมูลบุคคล เทคโนโลยีเพื่อความเป็นส่วนตัวจึงควรจะกลายเป็นมาตรฐานสำหรับทั้งผู้ประกอบการและรัฐบาลในการที่จะใช้ข้อมูลตามที่จำเป็นเพื่อเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตอื่นในอนาคต


เรียบเรียงจาก

How to restore data privacy after the coronavirus pandemic, World Economic Forum, 31-03-2020

An EU coalition of techies is backing a ‘privacy-preserving’ standard for COVID-19 contacts tracing, Tech Crunch, 02-04-2020

COVID-19 pandemic adversely affects digital rights in the Balkans, Global Voices, 30-03-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net