Skip to main content
sharethis

โฆษกศาลยุติธรรมเผย ประธานศาลฎีกาออกคำแนะนำผู้พิพากษาควรหลีกเลี่ยงส่งจำเลยคดีฝ่าฝืนเคอร์ฟิวเข้าไปรับโทษกักขังในสถานที่กักขังหรือจำคุกในเรือนจำ เพราะยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดในเรือนจำ

16 เม.ย. 2563 สุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ได้ออกคำแนะนำเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ฉบับที่ 4 ความว่า ตามที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และนายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลาที่ระบุในข้อกำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้นนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ประธานศาลฎีกาจึงออกคำแนะนำดังต่อไปนี้

การใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษแก่จำเลยซึ่งกระทำความผิดฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักร ออกนอกเคหสถานระหว่างเวลาที่กำหนดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ศาลพึงคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการออกข้อกำหนดว่าเป็นไปเพื่อป้องกันมิให้ประชาชนไปประกอบกิจกรรมไม่พึงประสงค์ อันนำไปสู่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

การกำหนดโทษแก่จำเลยในอัตราโทษที่เหมาะสมและมีผลในการบังคับโทษโดยทันทีย่อมส่งผลให้จำเลยเข็ดหลาบ ไม่กล้ากระทำความผิดอีกตลอดระยะเวลาตามข้อกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินส่งผลดีต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และส่งผลต่อประชาชนโดยทั่วไปที่จะยับยั้งชั่งใจและระมัดระวังที่จะไม่กระทำความผิดในฐานดังกล่าว แต่ในภาวะเช่นนี้ก็ควรหลีกเลี่ยงการส่งจำเลยเข้าไปรับโทษกักขังในสถานที่กักขังหรือจำคุกในเรือนจำ เพราะเป็นการเสี่ยงที่จำเลยจะเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสไปแพร่ระบาดในสถานที่กักขังหรือเรือนจำ ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อระบบสาธารณสุขโดยรวมของประเทศ จึงสมควรที่ศาลจะได้นำมาตรการที่มีอยู่หลากหลายในประมวลกฎหมายอาญามาใช้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งในทางลงโทษผู้กระทำความผิดและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง

สุริยัณห์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการทางอาญาที่ศาลจะพิจารณานำมาใช้ให้เหมาะสมตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเพื่อให้การลงโทษที่สามารถใช้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้จำเลยจะมีโอกาสเป็นพาหะนำโรคระบาดไปในเรือนจำหรือสถานกักขังก็มีการกำหนดไว้ในหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น การลงโทษปรับ การรอการลงโทษ การรอการกำหนดโทษ การกังขังในสถานที่อื่นที่กำหนด อาจจะเป็นในเคหสถาน เป็นต้น

ครบ 7 วันเคอร์ฟิวสี่ทุ่มถึงตีสี่ จับประชาชนดำเนินคดีกว่า 5 พันคน

ทั้งนี้ภาพรวมสถิติคดีสะสมตั้งแต่วันที่ 3 – 13 เม.ย. 2563 กลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง  มีคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณา ทั้งหมด 9,007 คดี พิพากษาแล้วเสร็จ ทั้งหมด 8,515 คดี (คิดเป็นร้อยละ 94.54) สำหรับผู้ถูกตั้งข้อหาที่มีการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำนวน 10,089 คน แบ่งเป็นสัญชาติไทย 9,460 คน สัญชาติอื่น 629 คน ส่วนการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 จำนวน 115 คน สัญชาติไทย 107 คน สัญชาติอื่น 8 คน และการกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 จำนวน 2 คนสัญชาติไทย

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net