Skip to main content
sharethis

นพ.ทวีศิลป์แจง ป่วยเพิ่ม 19 เสียชีวิต 1 เร่งเพิ่มมาตรการป้องกันโรคแรงงานข้ามชาติl กระทรวงพลังงานใช้งบกว่า 23,000 ล้าน หนุนใช้ไฟฟรี-ลดค่าไฟ 3 เดือนl ลุ้นต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ อังคารหน้า (28 เม.ย.)l ยอดคนยื่นทบทวนสิทธิ์เงินเยียวยา 5,000 บาททะลุล้านคนl สปสช. จับมือหน่วยบริการรุกคัดกรองค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน พร้อมขึ้นทะเบียนหน่วยแล็บโควิด-19 เพิ่มเป็น 92 แห่งl สตง.ย้ำใช้งบกองทุนสุขภาพตำบลต้านโควิด-19 หากมีเจตนาบริสุทธิ์ไม่ต้องกลัวโดนเช็คบิล

ป่วยเพิ่ม 19 เสียชีวิต 1 เพิ่มมาตรการป้องกันโรคแรงงานข้ามชาติ

21 เม.ย.2563 วันนี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ว่า  พบมีผู้ป่วย COVID-19 เพิ่ม 19 คน รวมตัวเลขสะสม 2,811 คน 2,108 คน มีผู้เสียชีวิตอีก 1 คน เป็นแท็กซี่ที่มีประวัติรับส่งคนจากสนามมวย รวมเสียชีวิตสะสม 48 คน

สำหรับผู้เสียชีวิตเป็นชายไทยวัย 50 ปี อาชีพขับรถแท็กซี่ มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวานและควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี สูบบุหรี่ มีประวัติ รับส่งผู้โดยสารไปดูมวยที่สนามมวยลุมพินี โดยวันที่ 18 มี.ค.เริ่มป่วยด้วยอาการหายใจลำบากและมีไข้ต่ำ จากนั้นเข้า รพ.แห่งหนึ่งในกทม.ได้ยากลับไปทานที่บ้านแต่อาการไม่ดีขึ้นจึงเข้า รพ.อีกครั้งในวันที่ 23 มี.ค.ด้วยอาการไข้สูง 39.5 องศาฯ ปวดเมื่อย หายใจลำบาก เสมหะเพิ่มขึ้น ซึ่งผลตรวจยืนยันติดเชื้อโควิด-19 ต่อมาอาการค่อยๆ แย่ลงจนกระทั่งเสียชีวิตลงในวันที่ 20 เม.ย.

ผู้ป่วยใหม่ทั้ง 19 คน มาจากผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 10 ราย, ผู้ที่เดินทางไปยังสถานที่ชุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 2 ราย ผู้มีอาชีพเสี่ยง 1 ราย และพิธีกรรมทางศาสนา 1 ราย และอื่นๆ จากการค้นหาเชิงรุก 4 ราย และเป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และอยู่ใน State Quarantines 1 ราย

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่ดีขึ้นในขณะนี้เป็นผลจากช่วงเวลา 14 วันที่ผ่านมา และแนวทาง Work from Home ยังเป็นมาตรการที่รัฐยืนยันอยู่

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีการถอดบทเรียนจากสถานการณ์ในประเทศสิงคโปร์แล้วพบว่าการแพร่เชื้อมาจากแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในหอพักเดียวกัน ดังนั้นจึงได้มีมาตรการดูแลกลุ่มแรงงานต่างด้าว โดยกระทรวงสาธารณสุข จะร่วมกับกระทรวงแรงงานเข้าไปดูแลแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติมในมาตรการต่างๆ ของการป้องกันโรค และจะมีการแต่งตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขคนต่างด้าว (อสต.) ซึ่งทำหน้าที่คล้ายๆ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) แล้วให้เข้าไปดูแลกลุ่มคนต่างด้าวด้วยกันเอง ซึ่งเป็นการทำงานเชิงรุกด้วยมาตรการป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อ

ส่วนการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถานและประกาศห้ามรวมกลุ่มชุมนุมหรือมั่วสุมในช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมานั้น เจ้าหน้าที่พบการกระทำผิด 672 ราย ได้แก่ ภาคเหนือ 79 ราย ภาคใต้ 112 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 126 ราย ภาคกลาง 299 ราย และ กรุงเทพ 56 ราย

ทั้งนี้รัฐบาลยังไม่มีการพิจารณายกเลิกมาตรการแต่จะมีการผ่อนปรน ซึ่งแต่ละประเทศใช้มาตรการแตกต่างกันไป โดยพื้นที่ที่ได้รับการผ่อนปรนจะพิจารณาดูจังหวัดที่มีความร่วมมือดี ผู้ติดเชื้อไม่เพิ่ม ฯลฯ โดยคำนึงถึงการให้ชีวิตอยู่ได้ก่อนแล้วเรื่องเศรษฐกิจและสังคมจะตามมา

ส่วน 10 จังหวัดที่มีการป้องกันเป็นอย่างดีและยังไม่มีรายงานการรับรักษาผู้ป่วย ประกอบด้วย กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี อ่างทอง และ สตูล

 

ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ ลุ้นอังคารหน้า (28 เม.ย.)

วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุม ครม. ว่า สถานการณ์หลายอย่างดีขึ้น สถิติผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงตามลำดับ ส่วนขั้นตอนต่อไปจะพิจารณาอย่างไร อย่าเพิ่งผลีผลาม หลายคนขอให้ปลดส่วนนั้นส่วนนี้ เราต้องรอฟังข้อมูลด้านสาธารณสุขและฟังแพทย์ก่อน และพิจารณาว่ามีมาตรการอื่นๆ รองรับเพียงพอหรือไม่ เพราะไม่ต้องการตัดสินใจจากแรงกดดันต่างๆ อยากให้การตัดสินใจของรัฐบาลเป็นไปตามข้อเท็จจริง

“ถ้าปลดเร็วไป การแพร่ระบาดเกิดขึ้นอีก มันจะล้มเหลวทั้งหมด อันนี้ผมต้องดูแลเป็นพิเศษ” กล่าว 

ส่วนจะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อหรือไม่ จะมีการพิจารณาในวันอังคารหน้า (28 เม.ย.2563) ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนและการประเมินด้านสาธารณสุข สองปัจจัยนี้เป็นตัวชี้วัดในการผ่อนปรน

เรื่องการละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังมีอยู่มาก ยังไม่น่าพอใจ แต่ขอบคุณคนที่ร่วมมือกับรัฐบาลจนทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง ส่วนผู้ประกอบการต้องเสนอมาว่าจะทำอะไรได้บ้าง เช่น มี Social Distancing และการจำกัดจำนวนคนเข้าใช้บริการ เป็นต้น

"ผมยังไม่บอกว่าเมื่อไหร่ ท่านเตรียมของท่านและเสนอมาให้ผมทราบเพื่อพิจารณา ถ้ายังไม่เหมาะสมก็ยังไม่ให้เปิด ที่ห่วงคือสุขภาพ เพราะสิ่งที่ทำมาทั้งหมด ถ้าเปิดเร็วเกินไปจากแรงกดดันจะเสียเปล่า"

"บางอย่างไม่ใช่สิ่งที่สำคัญมากนัก แต่กลับปลุกระดมให้ประชาชนวิตกกังวลหรือเกิดความไม่เรียบร้อย สิ่งที่ทำมาจะพังหมดเป็นศูนย์ ดังนั้นเรื่องนี้เป็นสิ่งรัฐบาลจะตรวจสอบอย่างรอบคอบ ก่อนที่จะมีมาตรการดังกล่าวออกมาได้"

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่สำคัญช่วงนี้ประชาชนต้องดำรงชีวิตอย่างพอเพียง และขอให้ดูมาตรการต่างๆของรัฐบาลด้วย เช่น เรายังมีมาตรการเงินกู้ ขออย่ามองเฉพาะเรื่องเงินเยียวยาอย่างเดียว นอกจากนี้ขอขอบคุณภาคเอกชนและทุกภาคส่วนที่ได้ดูแลห่วงโซ่อุปทาน ผู้ผลิต และส่วนอื่นๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน ขอขอบคุณท่านที่ทำมาพอสมควร

ส่วนการส่งหนังสือสอบถามไปยัง 20 คน เพราะอยากรู้ว่าท่านทำอะไรไปแล้วบ้าง และทำอะไรมากกว่านั้นหรือไม่ ไม่ใช่การพูดคุยเพื่อให้มีการแข่งขัน ไม่ใช่การบังคับ และไม่ใช่เรื่องการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ และตนคงไม่ได้ไปพูดคุยครับทุกคน แต่หากมีส่วนที่รัฐบาลจะช่วยอำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือประชาชนได้ก็ขอให้ส่งเรื่องมายังรัฐบาล

"การส่งจดหมายเป็นการทำงานเพื่อให้รับทราบว่าท่านได้ช่วยเหลือบุคลากร ลูกจ้าง ซัพพลายเออร์ แล้วอย่างไร ไม่ใช่รัฐบาลจะกู้เงินหรือยืมเงินจากเขา ส่วนการช่วยเหลือประชาชนอันนั้นเป็นเรื่องของท่านที่ทำอยู่แล้ว ผมก็ทราบว่าทุกคนทำหน้าที่อยู่แล้วขอขอบคุณเป็นการล่วงหน้า"

 

กระทรวงพลังงานใช้งบกว่า 23,000 ล้าน หนุนใช้ไฟฟรี-ลดค่าไฟ 3 เดือน

วันนี้ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) พิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบด้านค่าไฟฟ้าเพิ่มเติม

สรุปมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟประเภทครัวเรือนรวม 22 ล้านคน แบ่งมาตรการได้ดังนี้

1. กลุ่มประเภทอัตราค่าไฟ “ฟรีทุกหน่วย” 3 เดือน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 5 แอมป์ ตั้งแต่ มี.ค.-พ.ค. 2563

2. มิเตอร์เกินกว่า 5 แอมป์

– ใข้มากกว่า ก.พ. แต่ไม่เกิน 800 หน่วย จ่ายเท่า ก.พ.
– ใช้เกินกว่า 800 หน่วย แต่ไม่เกิน 3,000 หน่วย จ่ายเท่า ก.พ. + ส่วนเกิน 800 หน่วย (ลด 50%)
– ใช้เกินกว่า 3,000 หน่วย จ่ายเท่า ก.พ. + ส่วนเกิน 800 หน่วน แต่ไม่เกิน 3,000 หน่วย (ลด 50%) + ส่วนเกิน 3,000 หน่วย (ลด 30%)

การลดราคาค่าไฟฟ้า 3 เดือน รมว.พลังงานระบุว่า ต้องใช้งบประมาณ 23,688 ล้านบาท โดยการจัดสรรจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

 

ยอดคนยื่นทบทวนสิทธิ์เงินเยียวยา 5,000 บาททะลุล้านคน

วันนี้ (21 เม.ย.2563) ธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้ามาตรการเยียวยา 5,000 บาทว่า กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการยื่นทบทวนสิทธิ์เป็นวันที่ 2 ซึ่งมีประชาชนที่ไม่ผ่านเกณฑ์กว่าล้านคนได้ยื่นขอทบทวน ทางเจ้าหน้าที่เครือข่ายคลังจังหวัดกับทางจังหวัดจะลงพื้นที่จริง เพื่อยืนยันตัวตนและการประกอบอาชีพตามที่ลงทะเบียนไว้ในวันที่ 23 เม.ย.2563

ทั้งนี้ เพื่อความรวดเร็วขอให้ประขาชนที่ยื่นทบทวนสิทธิ์เตรียมเอกสารให้พร้อมด้วย อาทิ ภาพของผู้ทบทวนสิทธิ์ บัตรประชาชน และรูปถ่ายที่ยืนยันการประกอบอาชีพจริง หรือบิลค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่า เมื่อทบทวนสิทธิ์ผ่านจะได้รับเงินเยียวยาทันทีเป็นเวลา 3 เดือน

ธนกร กล่าวอีกว่า สำหรับจำนวนผู้ลงทะเบียน 23.5 ล้านคน สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มผ่านเกณฑ์ 4.2 ล้านคน ซึ่งในกลุ่มนี้ได้เริ่มต้นโอนเงินเข้าบัญชีแล้ว และจะได้รับเงินเยียวยาภายในสัปดาห์นี้ กลุ่มที่ต้องขอข้อมูลเพิ่มเติม 6.3 ล้านคน ซึ่งทยอยได้รับ SMS แจ้งให้นำส่งข้อมูลเพิ่มเติมและได้เข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว 4.4 ล้านคน

สำหรับส่วนที่เหลืออีก 1.9 ล้านคน ขอให้เร่งเข้าไปกรอกแบบสอบถามออนไลน์ที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com หัวข้อให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้ทราบผลการคัดกรอง และกลุ่มไม่ผ่านเกณฑ์ 10.6 ล้านคน สามารถขอทบทวนสิทธิ์ได้แล้วที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com หัวข้อยื่นทบทวนสิทธิ์ โดยจะเปิดรับผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น ไม่ต้องมาที่กระทรวงการคลัง

 

สปสช. เร่งมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด 

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในการแถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประจำวันที่ 21 เมษายน 2563 ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศแม้ว่าภาพรวมจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น แต่มาตรการควบคุมและป้องกันยังต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเพื่อยุติการแพร่ระบาด  

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ได้เล็งเห็นความสำคัญของความร่วมมือเแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสดโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมาได้เห็นชอบ 7 มาตรการ นำไปสู่การควบคุมและป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนี้  

1.ส่งยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วยรายเก่าทางไปรษณีย์ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยใช้เงินสนับสนุนจากงบกองทุนบัตรทองปี 2563 อัตราไม่เกิน 50 บาท/ครั้ง ที่เป็นข้อเสนอจากกรมการแพทย์ และกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ทั้งนี้มีหน่วยบริการเข้าร่วมโครงการแล้ว 349 แห่ง

2. ลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยขยายร้านยา “โครงการรับยาใกล้บ้าน” พร้อมการจัดทำระบบโรงพยาบาลจัดสำรองยาที่ร้านยาและระบบเติมยาผู้ป่วยที่ร้านยา

3. ผู้ป่วยโรคเรื้อรังรับยาหรือบริการทางการแพทย์ตามความจำเป็นนอกหน่วยบริการประจำได้ โดยถือเป็นความเจ็บป่วยกรณีฉุกเฉินในมิติของประชาชนภายใต้สถานการณ์โรคระบาด

4. จ่ายชดเชยค่าบริการกรณีโรคโควิด-19 ให้กับหน่วยบริการนอกระบบบัตรทอง โดยใช้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการ กำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับประชาชน

5. จ่ายชดเชยค่าบริการโรคโควิด 19 ให้โรงพยาบาลสนามหรือหน่วยงานอื่นที่ผ่านการรับรองเกณฑ์การประเมินโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้าน

6. เสนอแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับเงิน การจ่ายเงิน การรักษาเงิน และรายการของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริม การจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่น พ.ศ.2559 โดยให้รายการค่าใช้จ่ายอื่นเพื่อชดเชยค่าเสื่อมของสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ ปีงบประมาณ 2563 ใช้ซื้อครุภัณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ COVID 19 ได้ และเพิ่มอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายกรณีโควิด-19 เป็น 2 เท่าจากเดิม โดยใช้งบกลางจ่ายเพิ่มเติม

และ 7. มอบเลขาธิการ สปสช. และประธานบอร์ด สปสช. พิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข อัตราค่าใช้จ่าย และการจ่ายค่าใช้จ่ายให้แก่หน่วยบริการ เพื่อประโยชน์การบริหารกองทุนทันต่อสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว ส่วนการคัดกรองผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามสิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทองที่ให้กับคนไทยทุกคนทุกสิทธิที่เป็นมาตรการสำคัญของการค้นหาผู้ติดเชื้อเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ที่ผ่านมา สปสช.ได้เพิ่มเติมให้หน่วยบริการเอกชนสามารถร่วมเป็นหน่วยบริการคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกในชุมชนได้ ซึ่งเป็นไปตามประกาศ เรื่อง “แนวทางการให้บริการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) นอกสถานพยาบาล” ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 พร้อมกันนี้ สปสช.ได้ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (แลป) ในการตรวจเชื้อโควิด 19 ที่ผ่านเกณฑ์การประเมินโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อขยายการตรวจคัดกรองได้อย่างครอบคลุมและรวดเร็ว ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สปสช. ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการแล็บโควิด-19 แล้ว 92 แห่ง เป็นหน่วยบริการรัฐ 74 แห่งและหน่วยบริการเอกชน 18แห่ง

ขณะที่ความคืบหน้า “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” (กปท.) หรือ “กองทุนสุขภาพตำบล ในการร่วมควบคุมและป้องกันโควิด-19 ในพื้นที่ จากข้อมูลวันที่ 16 เมษายน 2563 มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ที่ใช้กลไกนี้ในการขับเคลื่อนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีจำนวน 3,264 แห่ง จัดทำ 8,220 โครงการ เป็นงบประมาณ 518.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 ที่มี อปท.ดำเนินโครงการ 1,186 แห่ง จำนวน 1,474 โครงการ นับเป็นอีกหนึ่งกลไกภายใต้กองทุนบัตรทองที่ร่วมแก้ปัญหาโควิด-19

 

สช. สานพลังพระสงฆ์ทั่วไทยร่วมสู้โควิด19 ให้ความรู้-เยียวยาประชาชน

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะข่าวเช้านี้ FM101.5 วิทยุจุฬาฯ กล่าวถึงความร่วมมือที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นว่า ชุมชนจำนวนมากมีต้นทุนความพร้อมค่อนข้างมาก ซึ่งวิกฤตเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาและความร่วมมือ รวมถึงการมีส่วนร่วมให้เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยช่วงต้นของการแพร่ระบาด เครือข่ายสาธารณสุข 7 แห่ง รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ร่วมกับหน่วยงานด้านปกครองและองค์กรด้านสังคม 12 แห่ง ขับเคลื่อนการสานพลังเพื่อเปลี่ยนประชาชนผู้ตื่นตระหนกเป็นผู้ตื่นรู้รับมือภัยโควิด19 และขณะนี้กำลังขยายความร่วมมือไปยังพระสงฆ์ทั่วประเทศด้วย

นพ.ประทีป กล่าวว่า การทำงานนี้ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่ตั้งต้นจากต้นทุนเดิมที่ท้องถิ่นทั่วประเทศมีอยู่แล้ว เพราะมีองค์กรจัดตั้งของประชาชนที่แอคทีฟ มีหน่วยงานที่ทำงานกับชุมชนจำนวนมาก เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. มีกองทุนอยู่ราว 6,000 กองทุน มีสมาชิก 5.7 ล้านคนทั่วประเทศ มีเงินหมุนเวียน 17,000 ล้านบาท มีองค์กรชุมชนทั่วทุกตำบล 7,000 กว่าแห่ง โรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ทำงานใกล้ชิดประชาชนในหมู่บ้านมากที่สุดมีอยู่เกือบ 10,000 แห่ง อาสาสมัครสาธารณสุขอีก 1 ล้านคน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีกองทุนที่ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 6,700 กองทุน งบประมาณปีละประมาณ 6,000 ล้านบาท ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาใช้ดำเนินการช่วยภัยโควิดได้ โดย สช.ทำหน้าที่สานพลังเครือข่ายและภาคประชาชนในพื้นที่ที่เคยมีกระบวนการจัดสมัชชาสุขภาพ และทำธรรมนูญสุขภาพอยู่แล้ว มาร่วมกันแก้โจทย์โควิด19 จุดที่น่าสนใจยิ่งคือ ความร่วมมือนี้กำลังกระจายสู่พระสงฆ์

เลขาธิการ คสช. กล่าวต่อว่า วันที่ 28 เมษายน 2563 จะมีการประชุมสงฆ์ทั่วประเทศ โดยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานการประชุมเพื่อส่งสัญญาณทำความเข้าใจกับพระสงฆ์ทั่วประเทศที่มีกว่า 2 แสนรูป รวมทั้ง อปท.ทั่วประเทศให้เข้าใจตรงกันว่า บทบาทพระสงฆ์ท่ามกลางวิกฤตนี้จะเป็นอย่างไร หลังจากวิกฤตคลายลงพระจะมีส่วนช่วยได้อย่างไร  โดยจะมีการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก เพจ สช. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

“พระสงฆ์มีผลต่อประชาชน โดยเฉพาะการให้ความรู้ การดูแลด้านจิตใจ เรารู้ว่าสถานการณ์นี้ส่งผลกระทบแง่สุขภาพ อาจต้องเกิดความสูญเสีย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ทำงานหนักมาก แล้วยังมีผลกระทบด้านสังคมเพราะคนตกงานย่อมเกิดความเครียด ดังนั้นพระสงฆ์จะช่วยให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชน เยียวยาจิตใจ กระทั่งมีส่วนร่วมฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของประชาชน”

สำหรับตัวอย่างรูปธรรมนั้น นพ.ประทีป เล่าว่า ธรรมนูญสุขภาพ หรือการสร้างข้อตกลงของคนในท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาในชุมชนหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนนั้น มีการทำงานในหลายพื้นที่อยู่แล้ว เมื่อมีวิกฤตโควิด19 ทำให้มีความตื่นตัวในการใช้เครื่องมือนี้มากขึ้น เช่น เครือข่ายมัสยิดแห่งหนึ่งในอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ สร้างข้อตกลงร่วมรับมือโควิด19 ซึ่งเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับภาครัฐ และปรับให้สอดคล้องกับบริบทของชาวมุสลิมด้วย เช่น การละหมาดควรทำอย่างไร บางตำบลเริ่มกำหนดมาตรการสังคมต่างๆ เช่น แนวทางการจัดงานศพ ชุมชนตำบลหนองบอน จังหวัดตราด กำหนดมาตรการเกี่ยวกับงานบุญประเพณี การจัดระเบียบตลาดนัดและล้งผลไม้ ชุมชนเกื้อวิทยา เขตบุคคโล กทม. มีการทำข้อตกลงการดูแลกันเรื่องความเป็นอยู่ การสร้างโรงทาน เป็นต้น 

“จุดสำคัญที่สุดคือ การมีส่วนร่วมจากประชาชน ซึ่งจะทำให้พื้นที่เข้มแข็งและจัดการตัวเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ ประสบการณ์ของการสู้ภัยโควิด19 รอบนี้จะทำให้ชุมชนมีข้อตกลงร่วมในการรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ หรือโรคระบาดใหม่ๆ ในอนาคตข้างหน้า เรียกว่า มีทั้งประสบการณ์ ระบบการจัดการ เกิดความไว้วางใจระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนในพื้นที่” นพ.ประทีปกล่าว

 

สตง.ย้ำใช้งบกองทุนสุขภาพตำบลต้านโควิด-19 หากมีเจตนาบริสุทธิ์ไม่ต้องกลัวโดนเช็คบิล

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดเวทีเสวนาออนไลน์ "การใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นอย่างไรเพื่อช่วยต้านภัยโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ" เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2563 โดยมี สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม นายกเทศมนตรีนครรังสิต และ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. ร่วมอภิปราย

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เป็นเวลา 3 เดือนครึ่งแล้วที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โชคดีที่ไทยมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปจนถึงโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ซึ่งการฝ่าวิกฤติครั้งนี้ สิ่งสำคัญคือต้องอาศัยพฤติกรรมทางสังคมมาเกี่ยวข้อง ประเทศไทยมี 7,500 ตำบล และไทยมีระบบสุขภาพชุมชน ถ้าพื้นที่เหล่านี้เข้มแข็งก็ควบคุมป้องกันโรคได้

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า งบประมาณที่หมุนเวียนในกองทุนสุขภาพระดับตำบลมีปีละ 3,800 ล้านบาท ขณะนี้มีกว่า 4,000 ตำบลที่ใช้งบประมาณเกี่ยวกับโควิด-19 ไปแล้วประมาณ 600 ล้านบาทในเรื่องสร้างการรับรู้ด้านสุขภาพ การป้องกัน หาเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หน้ากาก และการเฝ้าระวังในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้มาจากต่างจังหวัดหรือพื้นที่เสี่ยง

"โควิด-19 คงอยู่กับเราไปอีกนาน เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เศรษฐกิจต้องเดินหน้า กิจกรรมต่างๆ ที่จะกลับมาดำเนินการจะทำอย่างไร เรื่องเหล่านี้ต้องมีคำตอบที่เป็นรูปธรรมในการดำเนินการ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พยายามหาแนวทาง แต่คนปฏิบัติคือท้องถิ่น ถ้า 7,500 ตำบลขับเคลื่อนตามทิศทางของ สธ. และรัฐบาล ปัญหาต่างๆ จะเกิดน้อยลงและทำให้ดำรงชีวิตในสังคมร่วมกันได้" นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

ด้าน ธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม นายกเทศมนตรีนครรังสิต กล่าวถึงการใช้งบกองทุนสุขภาพในระดับตำบล ของเทศบาลนครรังสิตในเรื่องการป้องกันควบคุมไวรัสโควิด-19 ว่า เทศบาลนครรังสิตใช้งบกองทุนสุขภาพตำบลใน 3 เรื่องหลักๆ คือ 1.กิจกรรมที่มีผลกระทบกับประชนในเชิงพื้นที่ 2.กิจกรรมสนับสนุนเครื่องมือและสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ปฏิบัติที่เป็นอาสาสมัคร และ 3.สนับสนุนเครื่องมือและองค์ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ โดยใช้งบประมาณ 6 ล้านบาท โดยช่วงแรกอนุมัติผ่านคณะกรรมการ แต่ต่อมาใช้อำนาจประธานกองทุนอนุมัติโครงการวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาท ทำให้การดำเนินงานคล่องตัวมากขึ้น

ธีรวุฒิ กล่าวว่า การดำเนินงานในช่วงแรก ได้พัฒนาการสอนวิธีทำหน้ากากโดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ขอรับเงินไปดำเนินงาน ต่อมาคือการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ เฝ้าระวังในเชิงพื้นที่ จัดหาน้ำยาฆ่าเชื้อ เจลแอลกอฮอล์เพื่อส่งมอบให้ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนใช้ และเมื่อสถานการณ์ดำเนินมาถึงปัจจุบันก็มีการขับเคลื่อนเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มเสี่ยงต่างๆ ทั้งผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ก็ได้นำองค์ความรู้และอุปกรณ์ป้องกันไปให้ รวมทั้งกลุ่มอาชีพผู้ให้บริการ เช่น วินมอเตอร์ไซค์ ผู้ประกอบการรถตู้ ผู้ประกอบการร้านอาหาร ก็ต้องสร้างมาตรฐาน ให้ความรู้และให้อุปกรณ์ในการป้องกันตัวเช่นกัน และระยะต่อไปเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มากขึ้น ก็ได้เตรียมรับข้อมูลองค์ความรู้จาก สธ. และแนวปฏิบัติของรัฐเพื่อส่งต่อไปยังอาชีพต่างๆ เช่น ถ้าผ่อนคลายเรื่องร้านตัดผม จะเตรียมส่งต่อองค์ความรู้และแนวปฏิบัติอย่างไร เป็นต้น

ธีรวุฒิ ยังให้คำแนะนำด้วยว่า ในส่วนขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่อนุมัติงบประมาณไปตั้งแต่ต้นปีแล้วไม่เหลืองบประมาณมาใช้ในช่วงการระบาดนี้ จริงๆ แล้วเป็นอำนาจของคณะกรรมการกองทุนในการพิจารณา หน่วยงานที่ทำโครงการสามารถขออนุมัติเปลี่ยนแปลงโครงการได้ ยิ่งกรณีนี้เป็นโรคระบาด เป็นมิติเรื่องการป้องกันซึ่งก็เป็นอำนาจของกองทุนอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าภาคีจะหารือว่าโครงการที่อนุมัติแล้วจะปรับอย่างไร

ขณะที่ สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีผู้ติดเชื้ออยู่อันดับ 5 ในอาเซียน และอันดับ 47 ของโลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 2,733 คน รักษาหาย 1,928 คน กำลังรักษา 758 คน ผู้ป่วยอาการหนักไม่เกิน 5% เสียชีวิต 47 คน ยังไม่เกิน 2% ของผู้ติดเชื้อ ตัวเลขเหล่านี้บอกถึงความสำเร็จในระดับหนึ่งในการป้องกันการแพร่ระบาด โดยรัฐบาลวางแผนและตัดสินใจผลักดันให้คนจำนวนมากกลับไปสู่ต่างจังหวัด ในช่วงนั้นก็มีความเห็นแตกต่างกันว่าจะสร้างภาระหรือเพิ่มการติดเชื้อในต่างจังหวัดหรือไม่ ขณะที่อีกข้อมูลพบว่าการควบคุมโรคใน กทม.ซึ่งมีประชาชนหนาแน่น การสอบสวนโรคจะทำได้ยากกว่า รัฐบาลจึงตัดสินใจผลักดันให้กลับต่างจังหวัด และใช้องคาพยพของท้องถิ่นทั้งหมด จัดการการแพร่ระบาด ซึ่งรัฐบาลมั่นใจว่าท้องถิ่นทำได้สำเร็จมากกว่า

"วันนี้พิสูจน์แล้วว่าการควบคุมของท้องถิ่น ทีมงานที่เกิดจากผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน จังหวัด และกลไก อสม. ในการคัดกรองและควบคุมมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดยากขึ้น ตัวเลขก็ชี้วัดว่าการระบาดในต่างจังหวัดลดลง"

สาธิต กล่าวต่อไปว่า จากการวิเคราะห์ตัวเลขผู้ติดเชื้อกับตัวเลขทางเศรษฐกิจ พบว่าถ้าคุมการระบาดแบบล็อกดาวน์แล้วปล่อยเศรษฐกิจฟุบนานเกินไป การฟื้นตัวจะเป็นปัญหามาก ดังนั้นต้องสร้างสมดุลให้ดี ขณะนี้ สธ.กำลังทำแผนเปลี่ยนผ่านกึ่งล็อกดาวน์ เพื่อให้สังคมไทยอยู่กับโควิด-19 ในระดับที่ไม่มากนัก พร้อมไปกับการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยแผนนี้จะนำเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) และคณะรัฐมนตรีต่อไป

ด้านประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รับความเห็นและข้อสอบถามจากหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ว่าการจัดซื้อจัดหาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในช่วงสินค้าขาดแคลน ราคามาตรฐานไม่สามารถจัดซื้อได้ ถ้าซื้อแพงกว่าราคามาตรฐานจะมีการตรวจสอบภายหลังหรือไม่ ตนขอให้ความมั่นใจว่าการดำเนินการของ สตง.มีเป้าหมายเดียวกันในการป้องกันโรคระบาดเพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากการติดเชื้อ ดังนั้นถ้าผู้ปฏิบัติงานมีเจตนาบริสุทธิ์ มีเจตนาช่วยเหลือประชาชน ขอให้ดำเนินการไปเลย นอกจากนี้ตนยังสื่อสารไปยังบุคลากร สตง.ที่ทำหน้าที่เรื่องนี้ ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ การดำเนินการใดๆ ในภาวะเร่งด่วนอาจมีข้อผิดพลาดบกพร่องไปบ้าง แต่ถ้ามีเจตนาบริสุทธิ์ ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ไม่ต้องกังวลใดๆ ทั้งสิ้น

"สตง.ก็กังวลเหมือนกันว่าการตรวจสอบของเรา จะไปเป็นอุปสรรคทำให้หน่วยงานต่างๆ ไม่กล้าดำเนินงานหรือไม่ ก็ได้สื่อสารกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติให้มั่นใจว่าเมื่อเหตุการณ์จบลง จะต้องไม่ได้รับผลกระทบต่างๆ ในเรื่องการใช้จ่ายเงิน เราประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้มีหน้าที่ออกกฎเกณฑ์ว่าจะทำอย่างไรให้เขาทำงานคล่องตัว กระทรวงมหาดไทย กรมบัญชีกลาง ก็ผ่อนปรนกฎระเบียบในหลายกรณีเพื่อให้ทำงานได้ทันกับสถานการณ์ เรื่องนี้เราสนับสนุนเต็มที่ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบของเราก็พร้อมให้คำปรึกษากับหน่วยงานต่างๆ ที่มีข้อสงสัย" ประจักษ์ กล่าว

ประจักษ์ กล่าวต่อไปว่า การตรวจสอบของ สตง.จะมุ่งถึงผลสัมฤทธิ์ นั่นคือความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละท้องถิ่นเป็นสำคัญ การใช้งบกองทุนสุขภาพตำบลให้มีประสิทธิภาพก็คือต้องดูผลสัมฤทธิ์ว่าสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ตามต้องการหรือไม่ สามารถดูแลความปลอดภัยของประชาชนได้ตามเป้าที่ต้องการหรือไม่ จากตัวเลขในตอนนี้ถือว่ามีผลสัมฤทธิ์ที่ดี ส่วนประสิทธิการภายใต้การดำเนินงานอย่างเร่งด่วน คิดว่าในสถานการณ์อย่างนี้ สิ่งที่ทำมาจนถึงปัจจุบันสามารถกล่าวได้ว่ามีประสิทธิภาพพอสมควร

ประจักษ์ยังกล่าวด้วยว่า หากหน่วยงานต่างๆ มีข้อสงสัยในการใช้จ่ายงบประมาณ ก็สามารถสอบถาม สตง.ได้ ในกฎหมายฉบับใหม่ของ สตง. ได้เปิดช่องให้ สตง.ให้คำปรึกษาได้อย่างเต็มที่ และเมื่อตอบคำถามไปแล้วและมีการดำเนินการตามนั้นจะมีผลคุ้มครองตามกฎหมายด้วย

"การเตรียมการในระยะต่อจากนี้ เชื่อว่าเรามีเวลาพอในการประมวลข้อมูลต่างๆ มาบริหารจัดการวางแผนกำหนดโครงการต่างๆให้เกิดประสิทธิภาพได้ สตง.ยินดีร่วมมือกับทุกหน่วยงาน การดำเนินการใดๆ ถ้าไม่มั่นใจ ก็สามารถขอคำปรึกษาหรือคำตอบจาก สตง.ได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีมีเหตุการณ์อันเชื่อได้ว่ามีการทุจริตหรือมีกลุ่มคนฉวยโอกาสในภาวะวิกฤติหาผลประโยชน์ส่วนตน ขอให้มั่นใจว่า สตง.จะทำหน้าที่ในส่วนนั้นเช่นกัน" ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าว

 

อ้างอิง: ไทยพีบีเอส, ไทยพีบีเอส, วอยซ์ทีวี, ประชาชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net