Skip to main content
sharethis

ผู้ตรวจการแผ่นดินเผย รับเรื่องศรีสุวรรณ ร้องเรียนการตั้งอดีต สนช. เป็น ป.ป.ช. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ไว้พิจารณา พร้อมรับเรื่องจากโฆษกเสรีรวมไทย กรณี 90 ส.ว. เคยเป็น สนช. มาก่อน ถือเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

9 มิ.ย. 2563 รักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติรับเรื่องที่ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่น ขอให้ตรวจสอบและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง วินิจฉัยว่าการที่สำนักเลขาธิการวุฒิสภา และคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ส่งรายชื่อสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งพ้นจากตำแหน่งมายังไม่ครบ 10 ปี มีลักษณะต้องห้ามตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 11( 18)ให้วุฒิสภาเห็นชอบเป็นว่าที่กรรมการป.ป.ช. เข้าข่ายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไว้พิจารณาวินิจฉัย

ศรีสุวรรณเล็งเอาผิด 219 ส.ว. หากศาลชี้การโหวตให้อดีต สนช. เป็น ป.ป.ช. ไม่ชอบด้วย กม.

ปธ.กสม. ชี้ 'อดีต สนช.' ต้องห้ามเป็นกรรมการในองค์กรอิสระ

รักษเกชา ระบุด้วยว่า ได้สั่งให้สำนักกฎหมาย เร่งรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และดูว่ามีเหตุตามที่มีการร้องหรือไม่ ก่อนจะเสนอผู้ตรวจฯ พิจารณาวินิจฉัย ทั้งนี้ผู้ตรวจฯเข้าใจดีว่า เป็นเรื่องที่ต้องเร่งหาข้อยุติและสังคมให้ความสนใจ ก็จะรีบพิจารณาโดยเร็ว

นอกจากนี้ที่ประชุมผู้ตรวจยังมีมติรับเรื่องที่ปิติพงศ์ เต็มเจริญ โฆษกพรรคเสรีรวมไทย ยื่นขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของวุฒิสภาทั้ง 90 คน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108 ข.(1) (3) และ (9) หรือไม่ เนื่องจากเคยเป็น สนช. มาก่อน ไว้พิจารณาด้วย แต่เรื่องดังกล่าวเพิ่งจะมีการยื่นเรื่องจึงยังอยู่ในชั้นของการแสวงหาข้อเท็จจริง

ขณะที่วันนี้ ปิติพงศ์ พร้อมด้วย ชทรรศนัย ทีน้ำคำ นักกฎหมายและทนายความ อุบลกาญจ์ อมรสิน องค์กรตรวจสอบธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม เข้ายื่นหนังสือถึง กกต.ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของวุฒิสภาทั้ง 90 คนที่เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ข.(1) (3) และ (9) หรือไม่ อีกหนึ่งแห่ง

ปิติพงศ์กล่าวว่า เราต้องการให้กฎหมายเป็นกฎหมาย จึงมายื่นเรื่องเพื่อขอให้ กกต.ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ว.ทั้ง 90 คนซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง สนช. ถือว่าขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 108 รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ระบุว่า ส.ว.จะต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม คือมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 98 (17) หรือเคยเป็น ส.ส. เว้นแต่พ้นจากการเป็น ส.ส.ไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเคยดำรงตำแหน่ง ส.ว. ซึ่ง ส.ว.ทั้ง 90 คนนี้เคยดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิก สนช. จึงอาจเข้าข่ายขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ หาก ส.ว.ขาดคุณสมบัติสิ่งที่ทำมาทั้งหมดก็จะเกิดผลทางการเมือง

เมื่อถามว่า กกต.มีอำนาจตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส.-ส.ว.หรือไม่ ปิติพงศ์กล่าวว่า กกต.เป็นหน่วยงานโดยตรงที่มีอำนาจตรวจสอบคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่แล้ว เมื่อถามย้ำว่ากระบวนการเลือก ส.ว.ผ่านไปแล้ว โดยไม่มีการคัดค้านยังสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ ปิติพงษ์ยืนยันว่า ยังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบ แม้ว่ากระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติผ่านไปแล้ว แต่เมื่อมีคำวินิจฉัยของหน่วยงานอิสระอื่นว่า สนช. ไม่สามารถดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เนื่องจากเป็นคุณสมบัติต้องห้าม ฉะนั้นจึงไม่สามารถดำรงตำแหน่ง ส.ว.หลังจากนี้จะไปยื่น ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตรวจสอบอีกช่องทางหนึ่ง

ที่มาจาก : ผู้จัดการออนไลน์1 , 2

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net