Skip to main content
sharethis

ศาลฎีกายกฟ้องทุกข้อกล่าวหาคดีสติกเกอร์โหวตโนประชามติที่บ้านโป่ง 5 จำเลยชี้คำพิพากษาสะท้อนกระบวนการประชามติไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ชอบธรรม มีคนถูกจับและดำเนินคดีถึง 212 คน หนุนปิดสวิตซ์ ส.ว. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

26 ส.ค. 2563 เวลา 09.00 น.ที่ศาลจังหวัดราชบุรี มีนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีสติ๊กเกอร์โหวตโน โดยกรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2559 ระหว่างสมาชิกขบวนประชาธิปไตยใหม่ 4 คน(ณ ขณะนั้น) ประกอบด้วย ปกรณ์ อารีกุล , อนุชา รุ่งมรกต , อนันต์ โลเกตุ และภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิชัย เดินทางไปให้กำลังใจกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งถูกออกหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาจากกรณีถ่ายรูปเปิด “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” ซึ่งการเดินทางครั้งนั้นมี ทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท ติดตามไปทำข่าวด้วย โดยทั้ง 5 คนถูกจับกุมหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และสติกเกอร์โหวตโน ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก จึงได้จับกุมแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 และขัดประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 25 กรณีไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ

โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นยกฟ้องข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 ส่วนข้อหาขัดคำสั่งไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ทั้งหมดรับสารภาพ ศาลสั่งปรับ 1000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือปรับ 500 บาท ต่อมาอัยการยืนอุทธรณ์ ศาลพิพากษายืนตามศาลชั้นต่อ

จากนั้นจำเลยยืนขอฎีกากรณีไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ เนื่องจากเห็นว่าประกาศดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา  ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 2/2562 เมื่อ 27ก.พ.2562 ศาลฎีกาเห็นว่าคำร้องของจำเลยฟังขึ้น จึงพิพากษายกฟ้อง

ปกรณ์ อารีกุล ให้สัมภาษณ์หลังจากฟังคำพิพากษาว่า คดีนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญ ที่ทำให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีความชอบธรรม ทั้งในกระบวนการร่างที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม และกระบวนการประชามติที่ไม่เป็นธรรม นอกจากกลุ่มตนแล้วยังมีผู้ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีเพราะออกมารณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 212 คน ทำให้บรรยากาศในการลงประชามติไม่มีการเสนอนำและถกเถียงประเด็นต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญอย่างทั่วถึง และที่สำคัญประชาชนหลายคนเพิ่งรู้หลังจากเลือกตั้งว่า ส.ว. 250 คนสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ส่วนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้ เห็นว่า ควรปิดสวิชต์ ส.ว. 250 คน และเปิดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

ด้านอนุชา รุ่งมรกต กล่าวด้วยว่า รู้สึกยินดีที่วันนี้ได้รับความเป็นธรรม แต่เมื่อคิดย้อนกลับไปตลอดระยะเวลาที่เกิดคดีนี้ขึ้น ยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับชีวิตอย่างมากจากเรื่องไม่เป็นเรื่อง พร้อมชี้ว่า คดีนี้ไม่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่ต้น เพราะเมื่อมีการทำประชามติก็ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เเสดงความเห็นอย่างเต็มที่ หากมีการปิดกั้นการแสดงออกไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการทำประชามติที่แท้จริง การฟ้องร้องดำเนินคดีในช่วงนั้น ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปากปิดประชาชน ซึ่งในเวลากลุ่มรณรงค์พยายามชี้ให้เห็นปัญหาของ ส.ว. 250 คนที่ได้มาจากการแต่งตั้งของ คสช. และมีอำนาจหน้าที่เพิ่มมากขึ้น ว่าจะสร้างปัญหาให้กับกระบวนการประชาธิปไตยในอนาคต ซึ่งปัจจุบันนี้ปัญหาต่างๆ ได้เกิดขึ้นแล้ว

ขณะที่ทวีศักดิ์ เกิดโภคา ระบุว่า หากพูดอย่างตรงไปตรงมาการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมานั้น หมดความชอบธรรมไปนานแล้ว ไม่เพียงแค่ปัญหาของกระบวนการร่าง และกระบวนการทำประชามติเท่านั้น แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติ กับรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญคนละฉบับ เนื่องจากมีการนำกลับไปแก้ไขก่อนประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นปัญหาที่นำไปสู่คำถามสำคัญว่า สำหรับประเทศนี้ อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของใคร หากเชื่อว่าเป็นของประชาชน ก็ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

ศุภณัฐ บุญสด 1 ในทีมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้สัมภาษณ์แนวทางหลังจากนี้ว่า ทีมทนายความและจำเลยในคดีมีการปรึกษากันถึงการดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายกับเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินคดีกับพวกตนเนื่องจากเห็นว่าเป็นการฟ้องคดีเพื่อกลั่นแกล้งและเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ

ยกฟ้องคดี ‘โรม’ ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ชี้ประกาศคณะรัฐประหารปี 49 ขัดรัฐธรรมนูญ

กรณีที่ศาลฎีกายกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาในครั้งนี้สืบเนื่องจากกรณีที่รังสิมันต์ โรม เคยต่อสู้ในคดีข้อหาไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ตามประกาศ คปค. ฉบับเดียวกับในคดีนี้ในนศาลแขวงปทุมวันมาก่อนโดยมีการยื่นคำโต้แย้งถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่าประกาศดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ จนมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาว่าประกาศ คปค.ขัดกับรัฐธรรมนูญ

โดยศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่าในขณะที่คณะรัฐประหารออกประกาศฉบับนี้ คปค.มีความต้องการให้ประชาชนอยู่ในความสงบไม่ก่อความวุ่นวายที่จะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศจึงจำเป็นต้องจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่เมื่อบ้านเมืองปกติสุขและมีการใช้รัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 ที่รับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและในคดีอาญาจะบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองไม่ได้

การพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นสิทธิพื้นฐานเฉพาะของบุคคลไม่ต่างกับการลงลายมือชื่อ แม้จะเป็นผู้ต้องหรือจำเลยแล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิดย่อมต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนจึงย่อมได้รับความคุ้มค้อง เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้ ประกาศ คปค ที่กำหนดโทษไว้ในกรณีนี้จึงเป็นการเพิ่มภาระและจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพเกินสมควรแก่เหตุไม่ได้สัดส่วนระหว่างประโยชน์สาธารณะและสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net