องค์กรสิทธิร่วมกันดันร่างพ.ร.บ.ป้องกันทรมานและอุ้มหาย ท้วงรัฐไม่จริงใจแก้ปัญหา

ครอบครัวและเพื่อนของผู้สูญหายได้เล่าความรู้สึกที่คนในครอบครัวต้องถูกบังคับสูญหาย ทางด้านนักสิทธิเล่าสภาพปัญหาที่ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายออกมาป้องกันการอุ้มหายและการซ้อมทรมานและร่างกฎหมายของรัฐบาลก็ยังมีปัญหาที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รัฐบาลก็ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาทั้งที่สมารถทำได้ทันทีโดยยุติการใช้มาตรการและนโยบายที่ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดการอุ้มหายและซ้อมทรมานได้ทันที

27 ส.ค.2563 ที่ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย องค์กรสิทธิ 5 แห่ง ได้แก่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (UCL) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) ร่วมกันจัดเสวนาวันรำลึกถึงบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย โดยมีทั้งครอบครัวของผู้สูญหายและนักสิทธิมนุษยชนมาร่วมเวที

อดิศร โพธิ์อ่าน อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และเป็นลูกชายทนง โพธิ์อ่าน อดีตผู้นำแรงงานที่ถูกบังคับสูญหายภายใต้รัฐบาลรัฐประหาร รสช. เมื่อปี 2534 เขาเริ่มเล่าว่า พ่อของเขาไม่ได้อยู่เห็นผลงานที่ได้เริ่มเอาไว้ เช่น กฎหมายประกันสังคม และกระทรวงแรงงานที่แยกออกมาจากกระทรวงมหาดไทย สุดท้ายพ่อของเขาก็ถูกอุ้มหายไปเพราะว่าคัดค้านการยกเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลก่อนที่ทนงจะถูกอุ้มหายไปในวันที่ 19 มิถุนายน 2534 ก็มีทหารมาติดตามถึงที่บ้านทุกวันอยู่ถึง 2 เดือน

“ตอนนั้นผมอายุแค่ 17-18 ปี ผมเข้าใจไม่ได้หรอกครับพ่อเป็นคนที่ทำเพื่อสังคมและส่วนรวมทำเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ แต่ผลที่ได้รับกับครอบครัวเป็นอย่างนี้หรือเป็นคำถามที่ได้ถามตัวเองมาโดยตลอดเกือบถึง 10 ปี” อดิศรเล่าความรู้สึกหลังจากพ่อของเขาถูกอุ้มหายไป และเขาเล่าต่อไปว่า ส่วนการค้นหาความจริงในตอนนั้นทั้งหน่วยงานด้านแรงงานต่างๆ และเอ็นจีโอต่างๆ ก็ร่วมกันทวงถามรัฐบาลแต่ก็ไม่เคยมีความคืบหน้าไม่ว่ารัฐบาลไหน เมื่อเป็นรัฐบาลทหารการอุ้มฆ่าคนเมื่อจะไปตรวจสอบก็อ้างความมั่นคงเข้าไปไม่ได้ การหวังความช่วยเหลือจึงเป็นไปได้ยาก

จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หรือ อั๋ว ประธาน สนท.หลานของเตียง ศิริขันธ์ เล่าว่าก็รู้ว่ามีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้วก็คนในครอบครัวของเธอถูกอุ้มหายไปแต่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต จนเกิดกรณีวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมชีวิตของคนๆ หนึ่งถึงถูกทำให้หายไปได้

จุฑาทิพย์กล่าวว่าพอเธอพยายามเริ่มทำให้ประเด็นการอุ้มหายได้รับรู้มากขึ้นทั้งในออนไลน์และไปผูกโบว์ขาวเพื่อตามหาผู้สูญหายและความยุติธรรม เธอก็ถูกดำเนินคดีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาไม่ว่าจะเคลื่อนไปทางไหนก็มีคดีหมดไม่ว่าเล็กหรือใหญ่และยังมีคนมาติดตามถึงหอพักแล้วก็ไปบอกกับแม่บ้านที่หอว่าครอบครัวของเธอเป็นคอมมิวนิสต์จ้องล้มล้างสถาบันกษัตริย์

จุฑาทิพย์ยังเล่าอีกว่าในแบบเรียนไทยเรื่องราวของเตียงก็ถูกลดทอนลงไป ตอนนี้เรามีข้อมูลความจริงมากขึ้น วิธีที่จะทำให้เราเป็นผู้สูญหายอีกคนมันใช้ไม่ได้แล้ว การทำลายตัวตนเราและคนรอบข้างด้วยข้อมูลจึงเป็นขั้นตอนหนึ่งของรัฐเผด็จการและปรสิตในประเทศนี้

ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือป้าน้อย ภรรยาของสุรชัย แซ่ด่าน กล่าวว่า ตั้งแต่ขาดการติดต่อกับสุรชัยธันวาคมนี้ก็จะครบสองปีเต็ม ที่สามีของตนต้องลี้ภัยออกไปจนกระทั่งถูกอุ้มหายไปก็เพราะสุรชัยต่อต้านการรัฐประหารและวิจารณ์การรัฐประหารตลอด หลังจากนั้นก็มีคนพบศพ 3 ศพที่ริมแม่น้ำโขงฝั่งไทย

ปราณีกล่าวว่าศพแรกคิดว่าเป็นศพของสุรชัยเพราะต่อมาก็พบว่าศพหายไป จากนั้นจึงพบศพของกาสะลองและภูชนะที่หายตัวไปพร้อมกับสุรชัยโดยที่สภาพศพถูกห่อด้วยกระสอบและถูกควักไส้ออกมาแล้วยัดแท่งปูนเอาไว้ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลไทยไปประชุมในประเทศเพื่อนบ้านช่วงนั้นพอดี จากนั้นเธอก็ไปติดตามที่สถานีตำรวจที่พบศพก็ไม่ได้รับความคืบหน้า ไปถึงหน่วยงานต่างๆ ไปเรียกร้องกับรัฐบาลก็ไม่มีอะไรคืบหน้า มีแต่ข่าวบอกว่าสุรชัยยังมีชีวิตอยู่และเคลื่อนไหวในประเทศเพื่อนบ้าน แต่สองปีที่ผ่านมาเธอก็ไม่เคยได้รับการติดต่อมาจากสามีหรือเห็นการวิจารณ์รัฐบาลของสามีอีกเลย

ปราณีกล่าวว่าเธอหวังอย่างยิ่งว่าจะมีกฎหมายที่สามารถหาตัวคนทำผิดและผู้สั่งการมารับโทษในฐานะอาชญากรได้ และครอบครัวจะได้รับการเยียวยาตามสมควรเพราะเมื่อคนที่ถูกอุ้มหายไปเป็นกำลังหลักของครอบครัวก็ได้รับผลกระทบทั้งด้านจิตใจและเศรษฐกิจมาก และตอนนี้ครอบครัวก็ยังต้องหาเงินมาจ่ายค่าเงินประกันตัวสุรชัยคืนให้กับผู้ที่ให้หยิบยืมมาเพราะถูกยึดเงินประกันตัวเพราะศาลเห็นว่าสุรชัยหนีประกัน ทั้งที่คดีชุมนุมหน้าการประชุมอาเซียนตอนยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ที่สุรชัยถูกดำเนินคดีด้วยนั้นตอนเกิดเหตุสุรชัยก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ศาลก็ยังอ้างว่าไม่มีหลักฐานว่าสุรชัยได้เสียชีวิตไปแล้ว เธอบอกว่าอยากให้ศาลมีมนุษยธรรมบ้าง

สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์กล่าวว่า กรณีของวันเฉลิมเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตอนนี้ก็ หายไป 81 วันแล้ว  เธอเดินทางค้นหาน้องยื่นหนังสือตามหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่ผ่านมา ถามว่ารัฐบาลจริงใจแค่ไหนในการติดตามวันเฉลิม ข้อมูลที่รัฐให้มาก็บอกว่ามีการยื่นหนังสือไปตามที่ต่างๆ จริง แต่ไม่มีการแจ้งว่าสืบสวนสอบสวนไปถึงไหนแล้ว ทางการกัมพูชาก็เช่นกัน

สิตานันท์กล่าวว่า ที่เราต้องมาผลักดันกฎหมายเพราะคิดว่าสำคัญมากที่ผ่านมาไม่มีความคืบหน้าจากรัฐให้กับญาติพี่น้อง สงสัยว่าใครเป็นคนทำทำไมถึงไม่มีความคืบหน้า ทำไมคนถึงหายไปอย่างไร้ร่องรอย วันเฉลิมก็เป็นกรณีที่ 86 แล้ว ประเทศไทยควรจะตื่นตัวเรื่องนี้และผลักดันกฎหมายให้ออกมาจริงๆ เพื่อให้สามารถเอาตัวคนผิดมาลงโทษ ถ้ามีกฎหมายจะได้อุ่นใจมีกฎหมายคุ้มครอง

กัญญา ธีรวุฒิ แม่ของสยาม ธีรวุฒิเล่าความรู้สึกของเธอว่า เธอเจ็บปวดทุกครั้งที่ลืมตาเพราะคิดถึงลูก ทางการไม่ใส่ใจไม่มองเห็นเราเป็นคนเหมือนกับเขาหรือเปล่า ไม่รู้จะอธิบายยังไงดี มันเจ็บปวดตลอดเวลา เหนือที่จะกล่าว เขาทำร้ายลูกแม่ด้วยเหตุใด เล่นละครเจ้าสาวหมาป่าล้อเลียนการเมืองก็โดนคดี 112 ลูกก็ต้องหนี สยามเขาบอกว่าไม่อยากติดคุกขอหนีไปตามยถากรรมแล้วกัน  ไปได้ 5 ปีก็มีข่าวว่าถูกจับพาสปอร์ตปลอมที่เวียดนาม ไม่มีใครกล้าตามหา เหมือนโยนเข็มลงไปในทะเล ถามใครก็บอกไม่รู้ไม่ทราบ

“มันเจ็บปวดถึงแม่คิดว่าการแสดงออกของเขาแค่นี้ทำให้เขาต้องดิ้นรนตะเกียกตะกายหนีไปต่างเมือง ก็ไม่เข้าใจว่าคนที่มีชื่อเสียงมีจิตใจที่พัฒนาไปสูงแล้ว เหลียวมองคนที่ใส่รองเท้าแตะบ้างหรือเปล่า” กัญญาพูดความรู้สึกของตัวเอง

กิตติทัช ตัวแทนจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้เล่าในฐานะที่เป็นเยาวชนที่ใช้ชีวิตในสามจังหวัดชายแดนใต้ก็ระแวงความรุนแรงที่เกิดขึ้นตลอดเวลามีการบังคับสูญหายในพื้นที่จะเยอะที่สุดในประเทศ พื้นที่นี้ถูกบิดเบือนความจริงมาตลอด จะพูดความจริงก็ไม่ได้อาจจะถูกรัฐบาลรังแก เยาวชนในพื้นที่ต้องออกไปเรียนหรือหางานทำที่อื่นจะเห็นว่าพื้นที่นี้อยู่ด้วยการไม่มีสันติภาพเลย

กิตติทัชเล่าว่าเขายังมีรุ่นพี่ที่เรียนรามคำแหงที่ไม่สามารถเอ่ยชื่อได้ก็ถูกอุ้มหายไปด้วยคนในพื้นที่ยังระลึกและคิดถึงตลอด อย่างภรรยาของรุ่นพี่ก็ยังคงคิดถึงตอนหายไปเขาก็เพิ่งมีลูกกับภรรยาแต่ลูกยังไม่ทันคลอดก็ถูกบังคับสูญหายไป

จากนั้นในช่วงที่สองของการเสวนา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันให้มีกฎหมายเพื่อป้องกันการบังคับสูญหายและการทรมาน มาแลกเปลี่ยนสภาพปัญหาที่ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายออกมาป้องกันทั้งร่างกฎหมายของรัฐบาลที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และบุคลากรจากหน่วยงานความมั่นคงอย่างเช่นกองทัพและตำรวจก็เข้าไปเป็นวุฒิสมาชิกซึ่งมีส่วนในการพิจารณาการผ่านกฎหมายฉบับออกมาใช้ อีกทั้งกฎหมายและนโยบายของรัฐก็เปิดให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในการคุมตัวบุคคลไปไว้ในสถานที่ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้จนเกิดความเสี่ยงต่อการอุ้มหายและซ้อมทรมาน

สัณหวรรณ ศรีสดจากคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลหรือ ไอซีเจ กล่าวว่าตอนที่พูดถึงร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายต้องเข้าใจก่อนว่าปัจจุบันมี 4 ร่าง คือ ร่างที่รัฐบาลร่างขึ้นมา 1 ร่าง และของพรรคการเมืองและกรรมาธิการอีกสามร่าง โดยที่มาของกฎหมายนี้มาเริ่มขึ้นมาเมื่อ 12 ปีที่แล้วก็เป็นกฎหมายที่ระยะเวลาในการร่างยาวนานที่สุดซึ่งก่อนหน้านี้มีความพยายามแก้ประมวลกฎหมายอาญาแต่สหประชาชาต(ยูเอ็น) ก็เห็นว่าว่าการแก้กฎหมายเดิมยังไม่พอเพราะไม่ครบองค์ประกอบ ทำให้มีการเอา 2 อาชญากรรมนี้มารวมกันเป็นกฎหมายฉบับเดียวแต่ร่างของรัฐบาลนี้ก็ถูกส่งไปส่งกลับหลายรอบมาก

สัณหวรรณกล่าวต่อว่า เมื่อปีที่แล้วร่างกฎหมายเหลือแค่ให้ สนช.พิจารณายื่นไปลงพระปรมาภิไธย แต่ก่อนที่ สนช.จะหมดวาระเพียงหนึ่งวันก็ถูกถอนออกจากตารางกฎหมายที่จะต้องพิจารณา ทำให้ตอนนี้กลับไปเริ่มใหม่จากกระทรวงยุติธรรมรับฟังความเห็น ส่งให้คณะรัฐมนตรีตอนนี้ส่งให้กฤษฎีกาแล้วก็ส่งกลับมา ครม.อีกรอบแล้วก็จะไปเข้าสภาซึ่งจะต้องมาเจอกับร่างอีก 3 ฉบับของพรรคการเมืองและกรรมาธิการ

สัณหวรรณ อธิบายร่างกฎหมายของรัฐบาลว่า มีการกำหนดให้การทรมานและบังคับสูญหายเป็นความผิด จะมีการลงโทษกับผู้กระทำความผิด ผู้สมคบหรือผู้ให้ความร่วมมือและผู้บังคับบัญชาที่ทราบเรื่องแต่ไม่ห้ามปราม และการดำเนินคดีจะมีการให้ดีเอสไอเป็นหน่วยงานหลักยกเว้นดีเอสไอถูกสงสัยว่าเป็นผู้กระทำก็ส่งสำนวนมาให้ตำรวจสืบสวนสอบสวนแทน จากนั้นสำนวนก็จะถูกยื่นให้ศาลทุจริตและประพฤติมิชอบซึ่งเป็นศาลใหม่ของไทย ใช้ระบบไต่สวนที่ผู้พิพากษาจะมีอำนาจในการค้นหาความจริงมากกว่าระบบศาลทั่วไปมาเป็นผู้ดำเนินคดีและร่างนี้ยังมีการกำหนดมาตรการป้องกันไว้คือ

  1. จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำหนดการเยียวยา
  2. ทุกหน่วยงานที่จะควบคุมบุคคลจะต้องเก็บข้อมูลของผู้ที่ถูกควบคุมตัวเพื่อป้องกันไม่ให้คนที่ถูกคุมตัวอยู่ดีๆ ก็หายไป
  3. คนที่สงสัยว่าญาติถูกอุ้มหายทรมานหรือเปล่าไปฟ้องศาลได้ก็ไปบังคับให้รัฐเปิดเผยข้อมูลได้ รวมถึงศาลก็ออกคำสั่งให้มีมาตรการชั่วคราวเช่นให้พาคนมา ย้ายที่คุมขังหรือเรียกเจ้าหน้าที่มาให้ข้อมูล

สัณหวรรณอธิบายต่อว่าร่างของรัฐบาลนี้ยังทีส่วนที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหวา่งประเทศที่ไทยเป็นภาคีอยู่ซึ่งมีข้อน่าห่วงกังวล 6 ประเด็นดังนี้

  1. บทนิยาม ถ้านิยามของการบังคับสูญหายและทรมานมันยังไม่ใช่ บางครั้งที่เกิดกรณีขึ้นมาแล้วมันควรเป็นแต่สุดท้ายแล้วมันเอาเข้าสู่ระบบเพื่อดำเนินการพิจารณาไม่ได้เพราะไม่ตรงกับนิยาม
  2. ศาลที่ใช้พิจารณาคดีเป็นศาลใหม่ คือ ศาลทุจริตและประพฤติมิชอบ ศาลนี้เปิดโอกาสให้ใช้ศาลทหารได้ซึ่งขัดต่อหลักการที่จะต้องให้คดีขึ้นศาลพลเรือนเท่านั้น เช่นคดีที่ผู้เสียหายเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งที่จริงแล้วศาลพลเรือนมีความเชี่ยวชาญในคดีอาญามากกว่า ส่วนศาลทหารจะเชี่ยวชาญแต่คดีวินัยทหาร
  3. นอกจากนั้นร่างของรัฐบาลก็ไม่มีหลักการห้ามผลักดันผู้ลี้ภัยที่มีแนวโน้มจะถูกบังคับสูญหายหรือทรมานเมื่อถูกส่งกลับประเทศต้นทาง แต่เรื่องนี้รัฐบาลก็เพิ่งบอกว่าร่างล่าสุดมีประเด็นนี้ แต่ที่ผ่านมาก็เป็นเรื่องที่ถูกใส่เข้าไปแล้วถูกดึงออกทุกรอบ
  4. นอกจากการทรมานแล้วยังมีเรื่องการปฏิบัติที่โหดร้ายคือการทำร้ายร่างกายแบบเดียวกับการทรมานแต่ไม่เห็นบาดแผลเนื่องจากเจตนาของผู้กระทำคือต้องการทรมานเป็นเจตนาทุจริต ซึ่งในหลักการระหว่างประเทศจะต้องมีบทลงโทษกับการกระทำลักษณะนี้ด้วยแต่ในกฎหมายไทยไม่มี
  5. เรื่องความผิดต่อเนื่องของการบังคับสูญหาย เพราะหลักระหว่างประเทศการที่ยังไม่ทราบชะตากรรมของบุคคลที่ถูกบังคับสูญหาย ซึ่งร่างกฎหมายของรัฐบาลไม่ครอบคลุมประเด็นนี้
  6. เรื่องของอายุความ ยูเอ็นมีข้อเสนอแนะว่าให้อาชญากรรมลักษณะนี้ไม่มีอายุความในความผิดฐานแต่ของไทยมีกำหนดให้คดีอาญาสูงสุดที่ 20 ปีเท่านั้น

สมชาย หอมละออ กล่าวว่าร่างกฎหมายนี้ใช้เวลายาวนานมากตั้งแต่ปี 2550 ถึงตอนนี้ก็ 10 กว่าปีแล้วสุดท้ายร่างกฎหมายก็ถูกดึงกลับไปมา ทำให้ภาคประชาชนร่างขึ้นมาเองแล้วเสนอให้กับกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีประชาธิปไตยเต็มใบก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่มี ส.ส. ทั้งพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านในกรรมาธิการเห็นด้วยแล้วรับไปปรับปรุงและมีส.ส.หลายคนร่วมลงชื่อเสนอถึงประธานสภาตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนที่เปิดให้ประชาชนเสนอความเห็น

นอกจากร่างของภาคประชาชนแล้วก็ยังมีพรรคการเมืองหลายพรรคที่ตื่นตัวในเรื่องนี้แล้วทำร่างกฎหมายขึ้นมา ซึ่งก็มีพื้นฐานมาจากร่างของภาคประชาชนและเป็นร่างที่ให้ส.ส.ลงชื่อ 20 คนแล้วเสนอให้ประธานสภาแล้ว ตอนนี้ก็จะมีแต่ร่างของรัฐบาลเท่านั้นที่ส่งไปกฤษฎีกา ซึ่งถ้าร่างของภาคประชาชนและพรรคการเมืองไปถึงสภาก็น่าจะทำให้รัฐบาลต้องเร่งเสนอเข้ามาสู่สภาด้วยเหมือนกัน

สมชายกล่าวว่าเกี่ยวกับร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามอุ้มหายและการทรมาน ยอมรับว่าตอนนี้ไทยไม่มีข้อหาความผิดฐานอุ้มหายและทรมานเพราะว่าอย่างเช่นในกรณีที่มีตำรวจจับแล้วทำร้ายอาจมีความผิดฐานทำร้ายแต่ไม่มีความผิดฐานทรมาน หรือกรณีสูญหายก็มีหลักฐานชัดเจนที่เป็นเจ้าหน้าที่จับตัวไปแล้วหายแล้วไม่ได้กลับมาหลายปีแล้ว ก็ไม่สามารถดำเนินคดีร้ายแรงกับเจ้าหน้าที่ได้นอกจากจะเป็นการดำเนินคดีทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ ถ้าจะดำเนินคดีร้ายแรงได้ก็ต้องพบศพก่อนหรือมีหลักฐานว่าเสียชีวิตแล้ว

นอกจากนั้นการกระทำตามฐานความผิดฐานนี้คือต้องเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเจ้าหน้าที่นอกจากจะมีอำนาจมากมายทำให้ญาติพี่น้องไม่สามารถร้องเรียนติดตามดำเนินคดีได้ เจ้าหน้าที่เหล่านี้ยังเชี่ยวชาญในการทำลายร่องรอยหลักฐานต่างๆ เช่น การผ่าท้องยัดซีเมนต์ถ่วงน้ำ หรือ การเผาในถังแดงที่เป็นถังน้ำมัน 200 ลิตร เผาจนไม่เหลือเถ้าถ่านเลย ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นศพใคร

สมชายให้ข้อมูลว่าตอนนี้ที่มีการร้องเรียนถึงยูเอ็นแต่ก็พบว่ายังมีอีกมากแต่ญาติของคนเหล่านี้ไม่ได้ร้องเรียนด้วยสาเหตุหลายประการ

1. ผู้กระทำความผิดยังมีอิทธิพลอยู่ แม้บางคนจะตายไปแล้วแต่หน่วยงานที่เขาสังกัดและรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ก็ยังมีอำนาจอยู่

2. คนที่มาร้องเรียนก็ไม่เชื่อมั่นว่าร้องเรียนแล้วจะเอาผู้กระทำมาลงโทษได้เพราะไม่มีกฎหมายหรือไม่มีหลักฐาน หรือหวาดกลัว ถ้าไทยมีบรรยากาศของประชาธิปไตยมากขึ้นและมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมก็และผลักดันกฎหมายฉบับนี้สำเร็จ เชื่อว่าจะมีคนอีกจำนวนมากทั้งที่เป็นเหยื่อทรมานและอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่ มาร้องเรียนกับหน่วยงานที่มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนจนสามารถเอาเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้

ดังนั้นผู้ที่มาร้องเรียนและเปิดเผยเรื่องราวตนคิดว่าเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญอย่างยิ่งในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและขจัดการอุ้มหายและทรมาน ในโลกนี้มีหลายประเทศที่ทำสำเร็จโดยเฉพาะอเมริกาใต้มีคนที่ถูกอุ้มหายเป็นจำนวนมากแล้วญาติและคนรอบตัวก็สามารถดำเนินคดีกับนายพลที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารได้

สมชายกล่าวว่ามีเรื่องที่อยากเสริมกรณีบังคับสูญหายว่าการพิสูจน์เพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่กระทำความผิดฐานอุ้มหายนั้นไม่ต้องถึงขั้นพบศพหรือพบตัวผู้กระทำ ถ้ามีพยานหลักฐานว่าคนใดถูกเจ้าหน้าที่คุมตัวไป เช่น มีหลักฐานแบบบิลลี่ พอละจีที่ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้เอาตัวไป หรือเจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่าไม่ได้เอาตัวไปหรือปล่อยตัวไปแล้วแต่มีหลักฐานว่ายังไม่ได้ปล่อย และแม้เวลาผ่านไปไม่รู้ว่าคนที่ถูกอุ้มมีชะตากรรมอย่างไรก็ยังดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่อุ้มหายไปได้จะทำให้มีประสิทธิภาพในการดำเนินคดีมากขึ้น

สุณัย ผาสุขจากฮิวแมนไรท์วอชท์กล่าวว่า ต้องดูว่าที่ไทยได้มีคำสัญญาไว้กับประชาคมระหว่างประเทศในการที่จะยุติอาชญากรรมที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงมากๆ อย่างการซ้อมทรมานเป็นคำสัญญาที่รัฐบาลไทยให้ไว้ต่อเนื่อง แต่ไทยไม่ได้ทำให้คำสัญญานั้นเข้าใกล้เคียงกับความเป็นจริงเลย แล้วเวลานี้นานาชาติมองทะลุคำโกหกนี้แล้วว่าไทยดีแต่ตอแหลไม่รักษาคำพูดของตัวเอง

สุณัยให้เหตุผลว่า เพราะขณะที่รอร่างกฎหมายถูกส่งกลับไปกลับมาอยู่ 8 รอบ รัฐสามารถยุติมาตรการที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐคุมตัวบุคคลในสถานที่ไม่เปิดเผย สามารถสอบสวนได้โดยไม่มีทนาย ไม่เป็นตามหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งสามารถทำได้ทันทีเพื่อลดความเสี่ยง

สุณัยอธิบายว่ามาตรการดังกล่าวอยู่ภายใต้มาตรการปราบปรามยาเสพติดที่ให้เจ้าหน้าที่นำตัวคนไปเซฟเฮาส์ หรือกรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็มีทั้งการใช้กฎหมายพิเศษมากมายทั้งอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ กฎหมายเหล่านี้อนุญาตให้เอาตัวบุคคลไปโดยไม่ต้องตั้งข้อหาคุมในสถานที่ปิดลับได้ สอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้เป็นตำรวจแต่เป็นกอ.รมน.ที่บอกว่าเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษากฎหมายก็ไม่ได้อยู่ในกรอบการคุ้มครองที่ไม่ให้มีการซ้อมทรมาน

“สิ่งเหล่านี้ถ้ารัฐบาลจริงใจอยากจะยกเลิกไม่ให้เกิดการซ้อมทรมานไม่ให้เกิดการบังคับสูญหายในระหว่างที่ไทยยังไม่ผ่านกฎหมายก็สามารถทำได้ทันทีแต่ไม่ทำ นี่คือการไม่มีความจริงใจนี่คือความตอแหลนี่คือคำโกหกคำโต” สุณัยกล่าว

สุณัยยังบอกอีกว่าร่างกฎหมายของรัฐบาลนั้นห่วยและไม่สอดรับกับมาตรฐานสากลจึงไม่ควรสนับสนุนให้ร่างของรัฐบาลผ่าน คนไทยควรจะสนับสนุนร่างที่มาจากข้อเสนอของประชาชนและพรรคการเมือง เพื่อเสนอให้เข้าสู่รัฐสภาเพราะเป็นกฎหมายที่สำคัญต่อสิทธิในการมีชีวิตอยู่ให้ผ่านออกมารับกับมาตรฐานสากล

กรณีของผู้ที่ถูกบังคับสูญหายและซ้อมทรมานที่ผ่านมาก็ไม่เคยมาจากการสืบสวนของทางราชการเลย แต่มาจากการสืบสวนขององค์กรสิทธิมนุษยชนโดยญาติและภาคประชาสังคม ซึ่งประเด็นนี้ นานาชาติก็ต้องเข้าใจว่าที่รัฐบาลบอกว่ามีการตั้งหน่วยงานมาติดตามเรื่องเหล่านี้ก็ไม่ได้นำไปสู่ความคืบหน้าหรือเบาะแสอะไรเลย แล้วภาระก็กลับมาตกที่ญาติต้องมาสืบหาข้อเท็จจริงเองซึ่งนานาชาติก็ต้องมาร่วมกดดันว่ารัฐบาลตั้งกลไกขึ้นมาก็ต้องทำให้กลไกมันทำงานได้จริง

สุณัยยังกล่าวอีกว่าคณะทำงานในเรื่องการบังคับสูญหายที่มี 86 คน ซึ่งขณะนี้ก็มากกว่านั้นแล้ว คณะกรรมการก็ไม่ได้ทำอะไร ทางการกัมพูชาโกหกรายวันโดยบอกว่าวันเฉลิมไม่อยู่ในพนมเปญในวันที่หายไปทั้งที่มีพยานบุคคลและภาพกล้องวงจรปิดเอกสารการเช่าห้องในพนมเปญ คณะกรรมการก็ไปรับคำโกหกของรัฐบาลกัมพูชาแล้วก็ไม่ติดตามเรื่อง ซึ่งรวมถึงกรณีคนอื่นๆ ที่หายไปด้วย เช่น สุรชัย แซ่ด่าน ลุงสนามหลวง ฯลฯ

สุณัยกล่าวอีกว่ารัฐไทยมองว่าคนที่เห็นต่างเหล่านี้เป็นศัตรูของรัฐเช่นเดียวกับกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นคนชายขอบ เช่นเดียวกับกรณีของบิลลี่ที่รัฐไทยตัดความรับผิดชอบออกไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ทำให้ตนไม่รู้สึกแปลกใจที่ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองขนาดใหญ่ในยุคนี้จะมีการชูโปสเตอร์ของผู้ที่ถูกบังคับสูญหาย ความไม่เท่าเทียมกันของรัฐที่ปฏิบัติต่อประชากรของตัวเองว่าถ้าเป็นของในฝ่ายรัฐก็ได้รับการคุ้มครองแต่ถ้าเป็นคนเห็นต่างหรือเป็นคนที่ถูกถือว่าเป็นศัตรูของรัฐก็ต้องห้ำหั่นแม้ตัวตนก็ไม่ถูกทำให้เหลืออยู่บนโลกใบนี้เกิดอะไรขึ้นก็ไม่ติดตามไม่เรียกร้องความยุติธรรมให้ ถ้ากระบวนการยุติธรรมยังมี 2 มาตรฐานการอุ้มหายก็ไม่สิ้นสุด

อังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ความรุนแรงในไทยจะเห็นว่าการบังคับสูญหายเกิดขึ้นมานานมากแล้ว การบันทึกข้อเท็จจริงเริ่มเมื่อปี 2490 ตอนที่เตียง ศิริขันธ์และเพื่อนๆ ของเขาถูกอุ้มไปฆ่า เรื่องเหล่านี้กลับไม่ได้ถูกบันทึกประวัติศาสตร์โดยรัฐแต่เป็นการบันทึกโดยนักหนังสือพิมพ์และคนท้องถิ่นเพราะรัฐไม่เคยยอมรับว่ามีการบังคับสูญหายในประเทศไทย

นอกจากการอุ้มคนที่เห็นต่างจากรัฐแล้วนโยบายบางอย่างของรัฐทำให้เกิดขึ้น เช่น นโยบายการปราบคอมมิวนิสต์ทำให้มีคนหายจำนวนมากในพัทลุงและภาคใต้ตอนบนจนชาวบ้านสร้างอนุสรณ์ถังแดงขึ้นเพื่อประจานรัฐบาลว่ามีการอุ้มฆ่าเผาจริง และมีคนหายร้อยกว่าคนในการปราบปรามประชาชนในพฤษภาคม 2535 และนโยบายปราบปรามยาเสพติดและการก่อการร้ายที่เริ่มขึ้นในยุครัฐบาลทักษิณและยังต่อเนื่องถึงสมัยต่อๆ มาใครที่ถูกเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายแล้วทนายที่เข้าไปช่วยก็ถูกอุ้มหายไปอีก

อังคณากล่าวว่า นโยบายดังกล่าวทำให้เกิดการบังคับสูญหายอย่างเป็นระบบ แล้วก็มีการอำพรางศพและคุกคามญาติ อย่างเป็นระบบอย่างกว้างขวางโดยนโยบายของรัฐตามมาตรฐานนานาชาติระหว่างประเทศหากเกิดการกระทำลักษณะนี้จะถือเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติซึ่งเป็นคดีไม่มีอายุความ

อังคณากล่าวต่อว่าในไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็มีพลเมืองไทยที่เห็นต่างจากรัฐไทยต้องลี้ภัยไปประเทศเพื่อนบ้านถูกอุ้มหายไป หรือกรณีที่มีชาวลาวที่หลบเข้ามาขอสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR อยู่ หายไปครบ 1 ปีเต็ม รัฐบาลไทยก็ปฏิเสธว่าไม่รู้จักและไม่มีนโยบายที่จะลักพาตัวหรือดำเนินคดีกับผู้ลี้ภัย

อังคณาให้ข้อมูลว่ามีนักวิชาการต่างประเทศทำข้อมูลว่าตั้งแต่กรณีการปราบคอมมิวนิสต์อุ้มฆ่าลงถังแดงอาจมีสูงถึง 3,000 คน จนปัจจุบันยังไม่มีใครทราบชะตากรรมของคนที่ถูกอุ้มไปเลย และที่สำคัญคือไม่เคยมีการนำคนผิดมาลงโทษได้ แม้กรณีทนายสมชาย(นีละไพจิตร) ที่คนพูดกันว่ามีความก้าวหน้าทางคดีมากที่สุด แต่สุดท้ายครอบครัวต้องยอมรับว่าแพ้ราบคาบและผู้กระทำความผิดยังลอยนวล 

เมื่อปี 2559 นายกรัฐมนตรีลงนามคำสั่งตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามตรวจสอบในเดือนพฤษภาคม ครม.รับหลักการและให้สัตยาบรรณว่าจะมีกฎหมาย แต่ร่างกฎหมายถูกถอนออกในคืนสุดท้ายก่อนที่ สนช.จะยุติการทำงานแต่ไม่มีการเปิดเผยเหตุผลที่ทำให้ร่างถูกถอนออก แล้วร่างกฎหมายก็ไม่เคยเปิดให้มีภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมแม้แต่คนเดียว

อังคณากล่าวอีกว่า เธอไม่ไว้ใจรัฐบาลนี้เพราะการร่างกฎหมายไม่ใช่ว่าแค่มีร่างกฎหมายคู่ขนานเข้าสภาไปแล้วจะบอกว่าอยากให้ร่างไหนเป็นร่างหลักแต่รัฐธรรมนูญได้ระบุเอาไว้แล้วว่าร่างกฎหมายของรัฐบาลเป็นร่างหลัก การรับความเห็นที่ทำบนออนไลน์ก็มีคนที่ไม่สามารถเข้าถึงได้คือคนที่ไม่มีอินเตอร์เนต และที่สำคัญพอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณากฎหมายแล้วถูกส่งให้ สว.ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.พิจารณา ถ้า สว.ไม่เห็นด้วยกับร่างของส.ส. ก็ต้องตั้งกรรมาธิการพิจารณาร่วมกัน

ทั้งนี้ สว.บางส่วนมาจากฝ่ายความมั่นคงทั้งผู้บัญชาการทหารและตำรวจซึ่งเป็นหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนว่ามีการบังคับสูญหาย แล้วหน่วยงานเหล่านี้เองที่ไม่ยอมให้อาชญากรรมบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่องที่ไม่มีอายุความ

“ถ้าประเทศไทยยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเรายังคงมีวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ก็คงเป็นการยากที่ประเทศไทยจะสมารถพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลได้” อังคณากล่าว

อังคณากล่าวต่อว่าถึงแม้กฎหมายจะมีอุปสรรคมากมายเป็นการยากที่จะไปถึงปลายทาง แต่หลายครั้งเห็นว่าก็อาจไม่ต้องใช้กฎหมายก็ได้ ในฐานะประสบการณ์ของเหยื่อเห็นว่าอยู่ที่ความเต็มใจของรัฐบาลว่าจะทำหรือไม่ทำเพราะต่อให้มีกฎหมายแล้วถ้าไม่มีใครพูดทุกอย่างถูกปิดหมดต่อให้มีกฎหมายวิเศษแค่ไหนก็ทำไม่ได้ รัฐต้องไม่มองคนเห็นต่างเป็นศัตรู ถ้ารัฐไม่เห็นความสำคัญในการอยู่ร่วมกันและเคารพกันก็ยากที่จะทำให้คนอยู่ด้วยกันได้ นอกจากนั้นถ้าไม่มีการปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ สภาความมั่นคงแห่งชาติ คงยากที่จะยุติการบังคับสูญหายและนำคนผิดมาลงโทษ

อังคณาข้อมูลของคณะทำงานด้านบังคับสูญหายของยูเอ็นรายงานว่าตัวเลขระบุมี 87 คน แต่ถ้าถามรัฐบาลก็จะบอกไม่รู้ว่ามีกี่คนเพราะไม่มีการบันทึกดังนั้นจะมีกฎหมายไปคุ้มครองใคร คณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาผ่านมาแล้ว 3 ปี ต้องถือว่าคณะกรรมการชุดนี้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงและยังมีการส่งเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษไปหาครอบครัวของผู้สูญหายเพื่อบอกให้ครอบครัวถอนเรื่องจากคณะทำงานด้านบังคับสูญหายของยูเอ็นแทน ทำให้ญาติหลายคนกลัวจนต้องยอมถอนเรื่อง

ทั้งนี้อังคณามีข้อเสนอแนะ 4 ข้อ

  1. รัฐต้องหยุดกดดันให้ครอบครัวถอนเรื่องจากคณะทำงานด้านบังคับสูญหายของยูเอ็นทันที รัฐบาลต้องยอมรับสิทธิที่จะให้ญาติส่งเรื่องถึงสหประชาชาตได้โดยตรงและการช่วยเหลือครอบครัวที่อยู่ในฐานะลำบากต้องไม่มีข้อแลกเปลี่ยนใดๆ
  2. รัฐสภาควรมีมติให้สัตยาบรรณอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญของยูเอ็นและธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ
  3. การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องให้มีความเป็นประชาธิปไตยภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายและมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและความมั่นคง ในการร่างกฎหมายต้องให้ครอบครัวเข้าไปมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนในการร่าง
  4. ให้รัฐบาลตอบรับคำขอของคณะทำงานด้านบังคับสูญหายของยูเอ็นเข้ามาตรวจสอบสถานการณ์การบังคับสูญหายในประเทศไทยและเพื่อมีข้อเสนอแนะต่อประเทศไทย

“สุดท้าย ต้องขอขอบคุณทุกคนและครอบครัวของเหยื่อ สำหรับครอบครัวของเหยื่อเหล่านี้การอุ้มหายใครสักคนไม่ใช่แค่การพรากใครบางคนไปจากครอบครัวตลอดการแต่การอุ้มหายทำให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่เหมือนตายทั้งเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากจะรู้คือความจริง ผู็หญิงหลายคนพูดตรงกันว่าเราอยากให้คนในครอบครัวของเรากลับคืนมาแบบมีชีวิตหรืออย่างน้อยคืนศพให้เราก็ยังดี เด็กๆ จะได้หยุดรู้สึกว่าตัวเองทุกข์ทรมาน แต่ถ้าพระเจ้าไม่ประสงค์ในฐานะเหยื่อเราคงทำอะไรไมไ่ด้สำหรับครอบครัวทุกคนเหมือนถูกพันธนาการด้วยความเจ็บปวดเรามองไม่เห้นอนาคตแล้วการสูญหายของใครสักคนหนึ่งหมายถึงการสูญเสียของอีกหลายชีวิตที่เราไม่สามารถประเมินได้” อังคณากล่าวปิดท้าย

 

แก้ไขคำผิด เวลา 12.54 น. วันที่ 29 ส.ค.2563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท