Skip to main content
sharethis

ในปากีสถานมีละครเรื่องใหม่ที่ถูกนำมาพูดถึงในแง่ที่มีความก้าวหน้าในประเด็นสตรีนิยมเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ เน้นมุมมองจากตัวละครผู้หญิง 4 คน แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าละครเรื่องนี้ยังไม่ชี้ให้เห็นประเด็นปัญหาสตรีนิยมจริงๆ แต่เป็นการทำให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นสินค้าขายฝันและจินตนาการถึงการมีพลัง (power fantasy) ขณะเดียวกันก็มีบางส่วนมองว่ามันไม่ใช่เรื่องเลวร้ายที่จะมีการนำเสนอสตรีในแบบที่ก้าวหน้าขึ้นบ้างและทำให้ผู้หญิงรู้สึกมีพลังในตัวเอง (empower) เพียงแค่ผู้ผลิตละครต้องลงลึกไปมากกว่านี้เพราะประเด็นในละครยังตื้นเขินเกินไป

ตัวอย่างละคร Churails (ที่มา: YouTube/Zee Entertainment)

ฉากหนึ่งของละครที่ชื่อ 'จูเรลส์' (Churails) ที่ผลิตในปากีสถานและฉายในช่องอินเดีย นำเสนอภาพผู้หญิง 10 คนสวมชุดบุรกาหลากสีสัน มาพร้อมกับสิ่งที่ใช้แทนอาวุธต่อสู้ในมือไม่ว่าจะเป็นไม้ฮ็อกกี, ไม้คริกเก็ต รวมถึงไหวพริบปฏิภาณของพวกเธอเอง พวกเธอเดินออกจากร้านค้าเพื่อเผชิญหน้ากับฝูงชนที่ไม่พอใจ ตลดช่วงเวลา 2 นาทีหลังจากนั้นก็เกิดเสียงทุบตีกลุ่มผู้ชายที่กีดขวางพวกเธอ เป็นฉากที่ราวกับจะแสดงให้เห็นการที่กลุ่มผู้หญิงด้วยกันช่วยเหลือกันเพื่อฝ่าฟันความยากลำบากและสถานการณ์ที่รุนแรง

แต่จูเรลส์ ที่แปลตรงตัวตามภาษาฮินดีว่า "แม่มด" ก็ไม่ใช่ภาพความจริงที่เกิดขึ้นกับปากีสถานในชีวิตประจำวัน จากการที่ปากีสถานมีปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงอยู่มาก แต่ละครเรื่องนี้ที่ออกมาเมื่อเดือน ส.ค. ก็มีความล้ำหน้าในแง่ของการนำเสนอของละครที่แหกขนบภาพเหมารวมตัวละคร และนำกลุ่มผู้หญิงที่ทรงพลังมาเป็นศูนย์กลางของเรื่อง ในเรื่องมีผู้หญิง 4 คนที่มีที่มาอาชีพและพื้นเพหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้านที่ร่ำรวย, คนวางแผนจัดการการแต่งงาน, อดีตนักโทษที่เพิ่งพ้นโทษ และนักมวยหญิง พวกเธอต่อสู้กับระบอบชายเป็นใหญ่ร่วมกันตั้งสำนักงานนักสืบเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงคนอื่นๆ

ใน 10 ตอนของจูเรลมีเรื่องราวที่ผู้หญิงเหล่านี้สืบสวนเรื่องสามีนอกใจ เผชิญหน้ากับแฟนหนุ่มที่กดขี่ข่มเหงพวกเธอ จัดการกับเจ้าที่ดิน และขุดคุ้ยการสมคบคิดขนาดใหญ่ในเรื่องการค้ามนุษย์และการสังหารผู้หญิง ถึงแม้ว่าเรื่องราวจะดูล้ำหน้าในประเด็นสตรีนิยมสำหรับเอเชียใต้ แต่ก็มีความเป็นห่วงในเรื่องประเด็นเกี่ยวกับชนชั้นและการปฏิบัติต่อคนรักเพศเดียวกัน และในแง่ที่ว่ามันกลายเป็นการทำให้สตรีนิยมกลายเป็นสินค้าด้วยการขายฝันโดยไม่ได้ชี้ให้เห็นโครงสร้างของปัญหาอย่างจริงจังหรือไม่

ตัวอย่างละคร Churails (ที่มา: YouTube/Zee Entertainment)

หนึ่งในผู้ที่พูดถึงเรื่องนี้คือ ไอเมน ริซวี ในแง่หนึ่งเธอว่าเธอชอบมากที่ได้เห็นผู้หญิงดูเก่งและทรงพลัง รวมถึงเป็นภาพที่ไม่ค่อยเห็นสำหรับบทบาทผู้หญิงบนจอละคร ทำให้ผู้หญิงรู้สึกตัวพวกเธอมีตัวแทนและรู้สึกเข้าถึงตัวละครเหล่านั้นได้ แต่ริซวีก็วิจารณ์ว่าละครเหล่านี้มีปัญหาตรงที่ยังคงที่ยังมีภาพพจน์และภาพเหมารวมเดิมๆ บางอย่างอยู่ทำให้ตัวละครดูไม่มีมิติ ไม่มีการมานั่งคิดว่ามันจะส่งผลกระทบอะไรบ้างถ้าหากพวกเราทำตัว "กล้าหาญ" ออกไป แสดงให้เห็นว่าละครเหล่านี้ไม่ได้มองภาพความจริงในเชิงโครงสร้างที่ผู้หญิงต้องเผชิญมากพอ ริซวีเปรียบเทียบกับละครเรื่องอื่นๆ ในสหรัฐฯ อย่าง "มิสซิสอเมริกา" และละครอังกฤษ "ไอเมย์เดสทรอยยู" ที่พูดถึงการเหยียดเพศในระบบได้ลึกซึ้งกว่า

อุซชาห์ กาซี นักเขียนเรื่องวัฒนธรรมบันเมิงอีกคนหนึ่งที่เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับภาพยนตร์ปากีสถานระบุว่า เธอคงไม่ถึงขั้นเรียกละครเรื่องดังกล่าวนี้ว่าเป็นเฟมินิสต์ เพราะถึงแม้ว่ามันจะมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจที่เน้นตัวละครผู้หญิง แต่ก็ยังคงมีความพยายามจะขายในระบบตลาดทำให้มีข้อจำกัดว่าจะผลักดันประเด็นไปได้ไกลแค่ไหน

นักวิจารณ์อีกคนหนึ่งที่เป็นนักข่าวอินเดียและผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการวิจารณ์ภาพยนตร์ แอนนา เอ็มเอ็ม เวตติแคด มองไปในอีกมุมหนึ่งว่า เธอคงจะเรียนละครเรื่องนี้ว่าเป็นละคร "เฟมินิสต์" ได้ แต่ถึงแม้จะเป็นละครที่มีความกล้าจากการที่ท้าชนกับกับประเด็นปัญหาที่อ่อนไหวเกี่ยวกับสตรีนิยมแต่ก็จัดเป็นละครที่ยัง "มีปัญหา" ตรงที่ในบางมุมยังมีความผิวเผิน ตื้นเขิน และถึงแม้ว่าจะพยายามพูดถึงเรื่องชนชั้นแต่ก็มองไม่เห็นว่าตัวเองมีอคติทางชนชั้นอยู่อย่างไรบ้าง และไม่ลงลึกมากพอไปในคำถามเชิงจริยธรรมที่มีความซับซ้อน กระนั้นนักสตรีนิยมก็ยอมรับว่าผลงานละครชุดนี้เป็นสิ่งที่ก้าวหน้ากว่าเดิมในจอละครภาคภาษาฮินดี/ฮินดูสตานี กระแสหลัก

ละครเรื่องนี้ยังกลายเป็นสะพานเชื่อมระหว่างประชาชนในประเทศที่มีความขัดแย้งกันคืออินเดียและปากีสถานที่มีสงครามมาเป็นวเลานานและเริ่มมีความตึงเครียดเกิดขึ้นในเรื่องพื้นที่พิพาทแคว้นแคชเมียร์ รัฐบาลสายฮินดูของอินเดียก็บีบเค้นพื้นที่ศิลปินปากีสถานในบอลลิวูดให้เหลืออยู่น้อยจนแทบจะไม่มีพื้นที่ ขณะที่ปากีสถานก็สั่งแบนภาพยนตร์และช่องโทรทัศน์อินเดีย แต่กลายเป็นว่าชาวอินเดียกลับชื่นชอบรายการโทรทัศน์ของปากีสถานที่กลายเป็นพื้นที่หลบหนีจากโลกความจริงชั่วคราวภายใต้รัฐบาลฮินดูฝ่ายขวา

เวตติแคดกล่าวว่าสองประเทศนี้มีการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม-บันเทิงในระดับประชาชนอยู่เสมอแต่เป็นฝ่ายรัฐที่พยายามสกัดกั้นพวกเขา เช่น การที่ปากีสถานเซ็นเซอร์ละครจากอินเดีย ในขณะเดียวกันช่องโทรทัศน์ออนไลน์ของอินเดีย Zee5 ที่ไม่จำกัดการเข้าถึงไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดๆ ก็ตามกลายเป็นธุรกิจพื้นที่แพร่สื่อบันเทิงที่มีจำนวนมากมาจากผู้ผลิตในปากีสถานทำให้ชาวอินเดียรับชมสื่อบันเทิงปากกีสถานได้ แม้กระทั่ง Zee5 เองก็เปิดตัวแบรนด์ใหม่ชื่อ Zindagi ที่เน้นเนื้อหาจากปากีสถานโดยเฉพาะ

กาซี กล่าวว่าในปากีสถานเองก็มีพรรคอนุรักษ์นิยมที่พยายามเซนเซอร์สื่อบันเทิงที่ไม่เป็นไปตามหลักศาสนาและประเพณีนิยมของพวกเขา รวมถึงงานบันเทิงจากอินเดีย แต่กาซีก็บอกว่าการปิดกั้นเหล่านี้ยังเน้นวิธีการของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในรูปแบบเดิมที่ต้องมีการส่งตรวจและรอการอนุญาตให้เผยแพร่และอาศัยรายได้จากการชายตั๋ว แต่ระบบสตรีมมิ่งในยุคสมัยใหม่ทำให้ไม่จำเป็นต้องฝ่าด่านเหล่านี้

อะซิม แอบบาสซี ผู้ผลิต กำกับ และเขียนบท จูเรลส์บอกว่าผลตอบรับโดยรวมต่อละครที่เขาเป็นไปในทางบวก แต่ถึงแม้ว่าจะมีเสียงสะท้อนในแบบที่ไม่ชอบใจอย่างน้อยมันก็เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงและแอบบาสซีก็มองว่าการอภิปรายกันในเรื่องนี้มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการแสดงภาพแทนของคนรักเพศเดียวกันหรือสิทธิสตรีในละคร ในแง่เรื่องที่เขาถูกวิจารณ์ว่าละครของเขายังไปไม่ลึกพอในประเด็นเรื่องชนชั้น ความรุนแรงเชิงโครงสร้างจากการเหยียดเชื้อชาติสีผิวนั้น แอบบาสซีก็แก้ตัวว่าเป็นเพราะเขาเขียนบทโดยเน้นให้มีธีมๆ เดียวคือเรื่องพลวัติทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิง-ชาย และเรื่องที่ว่าความไม่เท่าเทียมนี้ทำให้ผู้หญิงโกรธแค้นไม่พอใจได้อย่างไร

นิมรา บูชา นักแสดงบทของหญิงที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำกล่าวว่า ถึงแม้บทบาทที่ได้เล่นจะเป็นบทบาทที่แตกต่างจากบทละครอื่นๆ ทั่วไปและมีการเล่นบทบางอย่างที่ดูประหลาดแหวกแนวแต่ก็เป็นเรื่องสนุกที่จะตีความตัวละครนี้และตัวละครที่เธอเล่นก็ไม่ได้มีลักษณะ "แข็งแกร่งและนิ่งเงียบ" แบบที่เธอมองว่าน่าเบื่อ

เรียบเรียงจาก

In TV show 'Churails', Pakistani women take on society's demons, Aljazeera, 14-09-2020
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net