Skip to main content
sharethis

พรรครัฐบาลไต้หวันเพิ่งจะออกกฎหมายต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศฉบับใหม่ หรือที่มีผู้เรียกว่ากฎหมาย #MeToo ฉบับไต้หวัน กฎหมายนี้จะเปิดช่องทางให้ผู้คนร้องเรียนเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานได้ รวมถึงสั่งห้ามไม่ให้ครูมีความสัมพันธ์ชู้สาวกับนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ก็มีข้อวิจารณ์ว่ากฎหมายยังไม่ครอบคลุมมากพอ

อาคารสภานิติบัญญัติไต้หวัน (ที่มา: แฟ้มภาพ/Wikipedia)

กฎหมายต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศฉบับใหม่ของไต้หวันเพิ่งออกมาเมื่อปลาย ก.ค. ที่ผ่านมา ถูกมองว่าเป็นก้าวแรกในการแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ จากที่โลกเริ่มมีกระแส #MeToo ในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และในไต้หวันเองก็มีกระแสในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามนักกิจกรรมบางส่วนก็มองว่ากฎหมายใหม่ของรัฐบาลไต้หวันยังไม่ดีพอ

พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าของไต้หวันเร่งออกกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้หลังจากที่มีกระแสการร้องเรียนเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศหลายกรณี เรื่องนี้ส่งผลให้มีคนที่ลาออกจากพรรคการเมืองหลายคน และจุดประเด็นให้เกิดการเปิดโปงร้องเรียนต่อบุคคลที่มีอำนาจในสังคมเช่นคนที่เป็นดาราด้วย

มีการตั้งข้อสังเกตว่ากฎหมายใหม่นี้ออกมาในช่วงเดียวกับที่ใกล้จะมีการเลือกตั้งครั้งสำคัญ

แครอล ลิน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติหยางหมิงเจียวทง กล่าวชื่นชมว่ากฎหมายใหม่นี้เป็นหมุดหมายสำคัญในแง่ของการบัญญัติกฎ แต่ก็ยังต้องอาศัยเวลาที่สังคมจะเปลี่ยนแปลงแนวความคิดแบบเก่าๆ ที่มองเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องปกติ

ถึงแม้ว่าไต้หวันจะได้รับการชื่นชมในแง่ของการเป็นประเทศประชาธิปไตยก้าวหน้าในทางการเมือง แต่สังคมโดยส่วนใหญ่ก็ยังคงมีแนวคิดแบบปิตาธิปไตยและแนวคิดแบบแบ่งลำดับขั้นทางสังคม

กฎหมายใหม่นี้ระบุให้ที่ทำงานทุกแห่ง รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กที่มีลูกจ้างน้อยกว่า 10 ราย ซึ่งเคยถูกงดเว้นก่อนหน้านี้ จะต้องจัดให้มีช่องทางการรายงานเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ นอกจากนี้ยังระบุให้นายจ้างต้องทำการสืบสวนเกี่ยวกับข้อร้องเรียนการล่วงละเมิดทางเพศทุกกรณีและรายงานผลการสืบสวนต่อหน่วยงานด้านแรงงานในท้องถิ่นนั้นๆ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกสั่งปรับเป็นเงิน 1 ล้านดอลลาร์ไต้หวันใหม่ (ราว 1.1 ล้านบาท)

นอกจากนี้กฎหมายใหม่ยังระบุต่อต้านการเลือกปฏิบัติและการใช้อำนาจบังคับทางเพศอีกด้วย โดยระบุว่าการใช้ ภาษาในเชิงกีดกันหรือเหยียดหยามเพศสภาพของบุคคลหรือการลงโทษบุคคลใดๆ ก็ตามในทางหน้าที่การงาน ด้วยสาเหตุมาจากการที่บุคคลนั้นๆ ปฏิเสธการขอล่วงล้ำทางเพศ จะถือว่าเข้าข่ายการล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งนี้กฎหมายใหม่ยังระบุขยายอายุความของคดีการล่วงละเมิดทางเพศด้วย

แครอล ลิน กล่าวด้วยว่า พวกเขาต้องการให้มี "เรื่องราวความสำเร็จ" ที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายนี้ต่อผู้ก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศ ถึงจะทำให้เหยื่อรู้สึกมีพลังในการที่จะกล้าออกมาเปิดเผยเรื่องราวของตัวเอง

อดีตรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของไต้หวัน หวังหรูเสวียน กล่าวว่าการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในครั้งนี้ยังมีปัญหาบางอย่างที่ไม่ครอบคลุม คือการที่มันไม่ได้ให้ช่องทางการขอความช่วยเหลือแก่เหยื่อในกรณีที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศนอกที่ทำงาน มีนักกิจกรรมบางส่วนชี้ว่ากฎหมายใหม่นี้ไม่ได้แก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศที่ฝังรากลึกในสถาบันศาสนา

นอกจากนี้หวังหรูเสวียนผู้ที่ทำงานเป็นทนายความยังเสนอให้มีการเพิ่มโทษให้หนักกว่านี้เพื่อป้องกันไม่ให้มี "การปองร้ายมุ่งแก้แค้นเหยื่อ" และบอกว่าควรจะจัดวางโครงสร้างที่เอื้อให้ผู้เห็นเหตุการณ์สามารถแทรกแซงได้เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น มันเป็นเรื่องยากที่จะให้เหยื่อเป็นผู้ให้หลักฐาน นอกจากนี้เหยื่อยังต้องเผชิญกับความกลัวจะถูกแก้แค้นและเผชิญกับแรงกดดันจากการถูกกีดกันเลือกปฏิบัติทางสังคมด้วย

อนิสซา ชาง ผู้มีอิทธิพลทางสื่อที่เป็นหนึ่งในคนที่เปิดเผยประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศบอกว่า การฟ้องร้องทางกฎหมาย "มีประโยชน์ในเชิงการสร้างความเกรงกลัว" ให้กับคนที่ลุแก่อำนาจใช้อำนาจของตัวเองในการล่วงละเมิดทางเพศต่อคนอื่น ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นเยอะมากในวงการบันเทิง ในระดับที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติถึงขึ้นเรียกว่าเป็น "กฎที่ไม่ได้พูดถึง" ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่บิดเบี้ยวมากๆ

นอกจากนี้กฎหมายใหม่ของไต้หวันยังระบุถึงเรื่องห้ามไม่ให้ครูหรือมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับนักเรียนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ด้วย ครูหรือครูใหญ่ที่ไม่ได้ส่งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศนักเรียนให้กับกระทรวงศึกษาธิการได้ทราบจะถูกสั่งปรับ

หวังยื่อหาว ผู้อำนวยการใหญ่ของมูลนิธิการ์เดนออฟโฮปซึ่งเป็นองค์กรเอ็นจีโอในไต้หวันกล่าวว่า กฎหมายใหม่ของไต้หวันควรจะต้องมาพร้อมกับการยกเครื่องการศึกษาในโรงเรียนใหม่หมดในประเด็นเรื่องเพศศึกษาและความเสมอภาคทางเพศ

หวังยื่อหาวยังชี้ให้เห็นว่าไต้หวันมีวัฒนธรรมที่ผู้น้อยถูกคาดหวังให้ต้องทำตามคำสั่งของผู้ใหญ่หรือผู้อยู่ในตำแหน่งสูงกว่า ทำให้การที่เหยื่อจะออกมาเปิดโปงเรื่องนี้ถึงได้ใช้เวลานานมาก เธอหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดนี้ไปจากเดิมด้วย

หวังยื่อหาวบอกว่าองค์กรของเธอที่ให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อความรุนแรงทางเพศ พบว่ามีกรณีการรายงานเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศเพิ่มขึ้น 20 เท่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเธอมองว่าเป็นเสมือนการที่ขบวนการ MeToo ของไต้หวันก่อตัวขึ้นในที่สุดหลังจากที่รอมานาน

มีคนมองว่าซีรีส์ Wave Makers ที่เผยแพร่ทางเน็ตฟลิก น่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว  MeToo ในไต้หวัน ซีรีส์ดังกล่าวนี้เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการที่คณะทำงานของพรรคการเมืองกำลังทำงานด้านการหาเสียงเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น แต่ก็มีฉากที่สำคัญฉากหนึ่งที่โฆษกหญิงตัดสินใจร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องที่เธอเผชิญกับการล่วงละเมิดทางเพศจากเพื่อนร่วมงาน ถึงแม้ว่าการเปิดเผยในเรื่องนี้จะส่งผลต่อชื่อเสียงภาพลักษณ์ของพรรคการเมืองก็ตาม

เรื่องราวในซีรีส์นี้กระตุ้นให้ชาวไต้หวันจำนวนมากที่เคยเผชิญกับประสบการณ์แบบเดียวกันพากันออกมาเปิดเผยเรื่องราวของตัวเอง แต่มันก็ทำให้เกิดกระแสโต้ตอบกลับด้วยเช่นกันจากการมีหลายคนตั้งข้อสงสัยกับแรงจูงใจของผู้ออกมาเปิดโปง

นักวิชาการ แครอล ลิน บอกว่ากระแสโต้ตอบเช่นนี้เองที่สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ใช่แค่กฎหมายที่ควรจะเปลี่ยนแปลง แต่ทัศนคติของผู้คนต่อประเด็นเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศก็ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน เธอบอกว่าควรจะมีการจัดให้มีเพศศึกษาที่พูดถึงประเด็นนี้ และสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงวัฒนธรรมทางสังคม

"สังคมควรจะเลิกโทษเหยื่อได้แล้ว" แครอล ลินกล่าว

 

เรียบเรียงจาก

Taiwan's new MeToo laws are welcome but activists want more, Yahoo News, 04-08-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net