เก็บตกวงสัมมนา ส่องการละเมิดสิทธิในค่ายทหาร เสนอยกเลิกทหารเกณฑ์ พร้อมตั้งผู้ตรวจกองทัพโดยพลเรือน

อดีตนายทหาร อดีตทหารเกณฑ์ ผู้สื่อข่าวอิสระ ร่วมเวทีสัมมนาที่ทางสิทธิมนุษชนในค่ายทหาร เผยการละเมิดสิทธิทหารเกณฑ์-ทหารชั้นประทวน ชี้ พ.ร.บ.วินัยทหารย้อนแย้งในตัวเอง ควรปรับแก้ไข เสนอยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร พร้อมตั้งผู้ตรวจการละเมิดสิทธิภายในกองทัพโดยพลเรือน

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2563 ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร จัดเวทีสัมมนาหัวข้อ “ที่ทางของสิทธิมนุษยชนในรั้วค่ายทหาร” วิทยากร ประกอบด้วย สิบเอกณรงค์ชัย อินทรกวี อดีตทหาร ศูนย์ซ่อมสร้างสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก, พริษฐ์ วัชรสินธุ  ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวอิสระซึ่งติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิของทหารเกณฑ์ โดยมีปกรณ์ อารีกุล เป็นผู้ดำเนินรายการ

สิบเอกณรงค์ชัย อินทรกวี อดีตทหาร ศูนย์ซ่อมสร้างสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก

ประตูถูกปิดตาย : เมื่อทหารชั้นผู้น้อยถูกละเมิดสิทธิฯ และกลไกร้องเรียนตาม พ.ร.บ.วินัยทหาร ย้อนแย้งในตัวเอง

สิบเอกณรงค์ชัย อินทรกวี หรือหมู่อาร์ม อดีตทหารชั้นประทวนตำแหน่งเสมียนงบประมาณ ศูนย์ซ่อมสร้างสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก กล่าวถึงนิยามของคำว่า สิทธิมนุษยชนว่าคือ การที่คนทุกคนเกิดมาพร้อมกับสิทธิที่จะคิด พูด และแสดงออกด้วยการกระทำ โดยที่การแสดงออกนั้นอยู่ภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

หมู่อาร์ม กล่าวต่อว่า สิทธิเหล่านี้โดยปกติแล้วคนมักจะมองไม่เห็นว่าตนเองมี และไม่รู้จะใช้สิทธินั้นอย่างไร โดยยกตัวอย่างจากประสบการณ์ในการเป็นทหารชั้นประทวน ซึ่งถูกผู้บังคับบัญชานำชื่อไปใช้ในการทุจริตเพื่อเบิกเบี้ยเลี้ยงการเดินทางไปราชการ โดยที่ไม่มีการเดินทางเกิดขึ้นจริง กรณีดังกล่าวนายทหารหลายคนอาจจะไม่คิดว่าเป็นการละเมิดสิทธิ แต่สำหรับตัวเขาเห็นว่านี่คือการละเมิดสิทธิที่ชัดเจนที่สุด เพราะมีการนำชื่อไปใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของชื่อ และเมื่อเริ่มต้นร้องเรียน แสดงความไม่ยินยอมกลับพบกับการกลั่นแกล้งตามมา 

อดีตนายทหารกล่าวถึง พ.ร.บ.วินัยทหาร พ.ศ. 2476 ซึ่งบังคับใช้มานานแล้ว ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เองที่เป็นสาเหตุที่ทำให้คำว่า สิทธิมนุษยชน ไม่สามารถเข้าไปในรั้วค่ายทหารได้ โดยในหมวดว่าด้วยวินัยทหาร มาตรา 5 ระบุว่า วินัยเป็นหลักสําคัญที่สุดสําหรับทหาร เพราะฉะนั้นทหารทุกคนจักต้องรักษาโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืนท่านให้ถือว่าผู้นั้นกระทําผิด 

โดยการกระทำผิดวินัยทหารข้อหนึ่งระบุว่า ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคําสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน เมื่อผนวกใช้ภายใต้วัฒนธรรมทหารที่เชื่อถือว่า คำสั่งผู้บังคับบัญชาเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอ ไม่ว่าผู้บังคับบัญชาสั่งให้ทำอะไร ทหารชั้นผู้น้อยก็ต้องทำตาม ไม่เช่นนั้นอาจมีโทษทางวินัยได้ 

“ถ้าเขาสั่งให้โกง เราต้องโกงไหม ถ้าไม่โกงกลายเป็นเราดื้อดึง ขัดขืน หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติหน้าที่ นี่แหละคือการละเมิดสิทธิฯ นี่คือความไม่เท่าเทียม”

หมู่อาร์มกล่าวย้ำว่า นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวที่ยกมาให้เห็นถึงความย้อนแย้งใน พ.ร.บ.วินัยทหาร ซึ่งเขาเห็นว่า การที่วินัยทหารเขียนไว้อย่างกว้างๆ นั้นเป็นเปิดช่องให้มีการตีความพฤติกรรมที่อาจจะเป็นการกระทำที่ผิดวินัยทหารได้หลากหลาย พร้อมยกตัวอย่าง กรณีที่เกิดขึ้นกับตัวเองซึ่งถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปพูดคุย เพื่อสั่งให้ยุติการยื่นเรื่องร้องเรียนหน่วยงาน แต่เมื่อเขาไม่ได้ยุติเรื่อง ในวันถัดมาก็ถูกสั่งขังเพราะกระทำผิดวินัยทหาร ฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้ควรได้รับการแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนที่พึงกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ

เขากล่าวด้วยว่าสิ่งที่เขาเผชิญหน้าหลังจากแสดงตัวว่าไม่ยินยอมให้ใช้ชื่อเข้าไปอยู่ในกระบวนการทุจริตของผู้บังคับบัญชานั้น ทำให้เขารู้สึกเข้าใจความโกรธแค้นในเหตุการณ์กราดยิงโคราช เพราะเข้าใจความอึดอัดนั้นดี แต่ก็รู้สึกเสียใจที่ผู้เสียชีวิตจำนวนมากคือผู้บริสุทธิ์ และหลังจากนั้นก็ได้ทบทวนกับตัวเองว่าการกระทำในเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง 

“ผมไม่ได้ต้องการประณามจ่าจักรพันธ์ และผมก็ไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาทำ แต่ผมต้องการทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเพราะอะไรเขาถึงทำอย่างนั้น เขามีแรงขับอะไร และเราสมควรทำอย่างไรต่อไป แรงขับของเขาคือ ความกดดัน เนื่องจากถูกกดขี่ข่มเหง เมื่อคนเราถูกกดขี่มันก็คือ การละเมิดสิทธิ เขาเหมือนคนไม่มีทางออกเพราะมองไปทางไหน ทหารก็เป็นพวกเดียวกัน ในเมื่อสิทธิมนุษยชนเข้าไม่ถึงรั้วทหาร เขาจะต่อสู้ต่ออย่างไร จะไปพึ่งใคร และสุดท้ายแล้วก็ไม่มีที่พึ่ง”

เขากล่าวต่อไปถึง หมวดที่ 4 ของ พ.ร.บ.วินัยทหารว่า กล่าวถึงการร้องทุกข์ของนายทหาร โดยมีข้อกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่มีลักษณะสกัดกั้นไม่ให้เกิดการร้องทุกข์ หรือร้องเรียนได้ เช่น ต้องร้องทุกข์หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 24 ชั่วโมง ซึ่งหลายครั้งไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที หรือกำหนดว่า ต้องเป็นการร้องเรียนเพียงคนเดียว ห้ามจับกลุ่มกันร้องเรียน ซึ่งบางกรณีเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะที่ทำต่อคนเป็นกลุ่ม จึงไม่มีความเป็นไปได้ที่จะไม่ให้มีการจับกลุ่มกันร้องเรียน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

สิบเอกณรงค์ชัยเชื่อว่า ประเทศไทยสามารถมีกองทัพที่เข้มแข็ง และปกป้องสิทธิมนุษยชนของทหารผู้ใต้บังคับบัญชาได้ หากมีการปกครองด้วยจริยธรรม คุณธรรม และความเมตตา แต่ปัจจุบันการปกครองของทหารเป็นระบบเผด็จการมากเกินไป พร้อมยืนยันว่าสิ่งที่ตนได้ออกมาร้องเรียนเรื่องการทุจริตนั้น คือการปกป้องกองทัพ โดยไม่ต้องการให้กองทัพมีการทุจริตคอรัปชัน ใช้ภาษีเงินประชาชนโดยไม่เกิดประโยชน์ และต้องการให้ทหารเป็นทหารของประชาชน ไม่ใช่ทหารที่รับใช้ใครคนใดคนหนึ่ง 

“การจะทำให้กองทัพเข้มแข็งได้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบุคลากร ซึ่งเราจะต้องพัฒนาบุคลากร กำลังพลในกองทัพ ให้มีความรู้ความสามารถ และหากกองทัพเลือกที่จะเปลี่ยนจุดยืน เลือกที่จะเข้าข้างประชาชน เลือกที่จะเดินตามกฎตามกติกา วันนั้นกองทัพจะเป็นกองทัพของประชาชนได้อย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่เอะอะอะไรก็จะรัฐประหาร”

ทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวอิสระ

รากเหง้าของการเกณฑ์ทหาร ไม่เคยผูกโยงกับคำว่าสิทธิมนุษยชน ทหารเกณฑ์ยังคงเป็นไอ้เณร ในวัดที่มีเจ้าอาวาสเป็นนายพล

ทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวอิสระ กล่าวถึงการเกณฑ์ทหาร กับสิทธิมนุษยชนว่า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับคำว่าสิทธิมนุษยชนอีกครั้ง เพราะเป็นคำที่เกิดขึ้นใหม่ในสังคมไทย และการที่จะเข้าใจคำนี้ได้จำเป็นต้องมีหลายสิ่งเป็นองค์ประกอบ เช่น ระบอบการเมือง โครงสร้างอำนาจทางการเมือง และวัฒนธรรมทางการเมือง ซึ่งอาจจะเรียกรวมกันได้ว่า ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน และเมื่อพูดถึงสิทธิมนุษยชนกับการเกณฑ์ทหาร ก็จำเป็นต้องย้อนกลับไปดูรากของการเกณฑ์ทหารว่ามีที่มาอย่างไร เกิดภายใต้บริบทแบบใด 

เขากล่าวต่อว่า เดิมทีในรัฐสมัยโบราณ ราษฎรไม่รู้จักคำว่า สิทธิมนุษยชน เพราะในเวลานั้นไม่ได้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รัฐสมัยโบราณไม่ได้เป็นรัฐเสรีนิยม ราษฎรล้วนเสมอหน้าเทียมกันภายใต้การมีเจ้าชีวิตคนเดียวกันคือ พระมหากษัตริย์ ฉะนั้นการเรียกเกณฑ์ทหารในสมัยโบราณจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องยินยอม และไม่ได้รู้สึกว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะเวลานั้นคำว่าสิทธิมนุษยชนยังไม่เกิดขึ้นในสังคมรัฐโบราณ แต่อย่างไรก็ตามสถานะของการเป็นทหารเกณฑ์ในสมัยนั้นตามความรู้สึกของราษฎรถือเป็นสถานะที่ต่ำที่สุดในสังคม 

“อย่างแรกที่สุด การถูกเรียกเกณฑ์ทหารนั้นหมายถึงว่าคุณจะต้องไปเป็นแนวหน้า จากเดิมที่เคยเป็นไพร่สังกัดอยู่กับมูลนาย ใช้ชีวิตอยู่กับการจับเสียมจับจอบ วันหนึ่งคุณจะต้องไปจับดาบจับปืน ไปสู้กับศัตรู ผลที่ได้ก็คือ การออกไปตาย หากไม่ได้ออกไปสู้รบก็จะถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานในการสร้างวัง ซึ่งนี่เป็นสถานะที่คนในสมัยนั้นเข้าใจว่าอยู่ต่ำเสียยิ่งกว่ากรรมกรด้วยซ้ำไป”

ทวีศักดิ์ กล่าวต่อถึง การเปลี่ยนแปลงระบบการเกณฑ์ทหารว่า เกิดขึ้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 โดยในวันเดียวกันกับที่มีการประกาศเลิกทาสอย่างเป็นทางการ ก็มีการออกกฎหมายเกณฑ์ทหารแบบสมัยใหม่เกิดขึ้น ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องที่ย้อนแย้ง เพราะเมื่อมีการเลิกทาสแล้ว กลับยังมีการเรียกเกณฑ์แรงงานทาสอยู่ในนามของทหารเกณฑ์ 

“ด้วยระบบคิดที่ทหารเกณฑ์ไม่ได้เกิดขึ้นภายใต้กรอบของคำว่าสิทธิมนุษยชน สิ่งที่ส่งต่อมายังปัจจุบันคือ ทหารเกณฑ์ก็ยังอยู่ในฐานะที่ต่ำที่สุด หากเรียกในภาษาที่ใช้กันเขาเรียกกันว่าไอ้เณร คำว่าเณรถือเป็นสถานะที่ต่ำสุดในวัดซึ่งมีพระลูกวัดและเจ้าอาวาสที่อยู่เหนือกว่า และภายใต้ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่มีลักษณะอำนาจนิยมแนวดิ่ง ทหารเกณฑ์หรือทหารชั้นผู้น้อยก็จะไม่มีสิทธิ์มีเสียง ไม่สามารถโต้เถียงด้วยเหตุผลได้ เขาสั่งอะไรเราก็ต้องทำ”

เขากล่าวถึงคำถามที่ว่า ในกระบวนการเกณฑ์ทหารมีอะไรที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนบ้าง โดยชี้ว่า สิ่งที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นอันดับแรกคือ การบังคับให้ชายไทยต้องเข้ารับการตรวจคัดเลือกเป็นทหารกองประจำการ 

“การที่เราเกิดมา แล้วถูกบังคับให้ไปคัดเลือกทหาร ต้องไปจับใบดำใบแดง นี่คือสิ่งที่สะท้อนว่าเราไม่สามารถเลือกที่จะกำหนดชีวิตตัวเองได้ ผมเคยมีโอกาสไปสัมภาษณ์คนที่เคยเป็นทหารหลายคนที่ต้องไปเป็นทหารด้วยความไม่เต็มใจ หลายคนเพิ่งเรียนจบมา และมีงานรออยู่ แต่พอจับได้ใบแดงทุกอย่างที่วางเอาไว้ก็จบลง เมื่อกลับออกมาก็ไม่สามารถที่จะทำงานเดิมได้ บางคนก็ต้องเปลี่ยนไปทำสิ่งอื่นแทน การเลือกไม่ได้นี่แหละที่มันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน”

นอกจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในขั้นต้นแล้ว ทวีศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในค่ายทหารอีกหลายกรณี เริ่มต้นเมื่อเข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ ทหารใหม่ทุกคนจะมีตารางชีวิตกำหนดไว้แบบตายตัว ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ และในช่วงกลางคืนจะมีห้องเรียน ซึ่งมีทหารยศนายร้อย นายสิบ ผลัดเปลี่ยนกันมาสั่งสอนว่าชาติคืออะไร โดยผูกโยงความรักชาติเข้ากับสถาบันกองทัพ สร้างนิยามความหมายของชาติที่ไม่ได้ผูกโยงกับประชาชน นอกจากนี้ในช่วงของการฝึก 10 สัปดาห์ สิ่งที่ทหารเกณฑ์หลายคนต่างเคยเจอคือการซ่อม บางครั้งเข้าใจได้ว่าเป็นการสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย แต่หลายครั้งก็มีการซ่อม หรือทำโทษที่ไม่สมเหตุ สมผล และไม่ได้สัดส่วนกับความผิดที่กระทำ

“ในค่ายทหารยังมีอะไรอีกเยอะแยะที่เกิดขึ้น โดยที่มายด์เซ็ทของครูฝึกหรือผู้ช่วยครูฝึกไม่ได้คำนึงถึงคุณค่าของความเป็นคนที่เท่ากันของพลทหาร แต่มองเห็นเขาเป็นแค่ผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นทรัพย์สมบัติของกองทัพ เราจะทำอะไรกับเขาก็ได้”

ทวีศักดิ์กล่าวต่อว่า ในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา พบว่าจำนวนความต้องการทหารเกณฑ์มีประมาณ 100,000 คนต่อปี แต่สิ่งที่ไม่เคยรับรู้มาตลอดคือ ทำไมกองทัพจึงต้องการกำลังพลมากมายขนาดนี้ และหากคิดในสัดส่วนของผู้ที่ต้องเข้าเกณฑ์ทหารแต่ละปี พบว่าปีหนึ่งมี 300,000 กว่าคน นั่นหมายความว่าจะต้องมีผู้ที่จับได้ใบแดงในสัดส่วน 1:2 

“ความน่าอเนจอนาถที่สุด คือเราไม่รู้ว่าความต้องการทหารหนึ่งแสนกว่าคนในแต่ละปี กองทัพต้องการเอาไปทำอะไร เอาพวกเราไปทำอะไร เอาลูกชาวบ้าน เอาหลานชาวนา คนรุ่นใหม่ที่เขากำลังจะทำธุรกิจ เอาคนรุ่นใหม่ที่ขาเรียนจบมากำลังจะทำงาน เขากำลังจะสร้างชีวิตของตัวเอง กองทัพเอาพวกเขาไปทำอะไร และเราไม่เคยได้ยินการชี้แจงที่ชัดเจนของกองทัพว่า ประเทศนี้ไม่มีภัยความมั่นคงแบบไหน ทำไมจะต้องมีทหารเกณฑ์เป็นแสนคนในแต่ละปี”

นอกจากนี้ทวีศักดิ์เชื่อว่า การยกเลิกทหารเกณฑ์แล้วเปลี่ยนมาเป็นระบบสมัครใจทั้งหมด เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายมาก ขอเพียงแค่กองทัพเปิดใจที่จะทำมัน แต่สาเหตุที่กองทัพจะไม่ทำก็น่าจะมีอยู่ 2 ประเด็นคือ หนึ่งเพราะต้องการรักษาไว้ซึ่งความเป็นมูลนายที่มีไพร่ใต้ปกครอง และสองเพราะยังต้องการสูบกินผลประโยชน์ที่ได้จากการมีทหารเกณฑ์

พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า

กองทัพไม่จำเป็นต้องมีทหารเกณฑ์ถึงแสนนายต่อปี และควรเปลี่ยนมาใช้ระบบสมัครใจทั้งหมด 

พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า กล่าวว่า ตนเองได้เข้าไปรับราชการทหารตามที่กฎหมายกำหนดให้ทำ โดยตั้งใจตั้งแต่ก่อนเข้าไปแล้วว่า จะเข้าไปศึกษาวิจัย ชีวิตในค่ายทหาร และความจำเป็นที่ต้องมีทหารเกณฑ์ จนได้ข้อสรุปว่า ในความเป็นจริงแล้วกองทัพไม่จำเป็นต้องมีทหารเกณฑ์ถึงแสนนายต่อปี และควรเปลี่ยนมาใช้สมัครใจทั้งหมด

เขากล่าวต่อถึง หลักการของการมีระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ ว่าจำเป็นจะต้องมีการเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนทุกคน ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่รับไม่ได้หากมีใครมาบอกว่าทหารเกณฑ์ส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกละเมิดสิทธิแล้ว แต่มีเพียงบางกรณีเท่านั้นที่ยังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ เพราะหลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนนั้นหมายความว่าจะต้องไม่มีใครถูกละเมิดสิทธิแม้แต่คนเดียว 

พริษฐ์ ย้ำว่า หลังกลับจากเรียนจบที่อังกฤษ ก็เริ่มมีความคิดมาตลอดว่า การบังคับเกณฑ์ทหารในขณะที่ประเทศไม่ได้มีสงครามนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย และควรเปลี่ยนไปใช้ระบบสมัครใจ และหลังจากเข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ได้ 6 เดือน ก็ยิ่งมีความชัดเจนในความคิดว่าประเทศไทยควรจะยกเลิกระบบเกณฑ์ทหาร พร้อมทั้งพบว่ามี 2 ปัจจัยสำคัญที่เป็นปัญหาต่อระบบการเกณฑ์ทหารในปัจจุบัน

เขากล่าวถึงปัญหาที่ 1 ว่า เป็นเรื่องของความจำเป็น การที่จะต้องมีการเกณฑ์ทหารเกิดขึ้นในทุกๆปีนั้นเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าเรามีคนที่สมัครใจมาเป็นทหารน้อยกว่าความต้องการของกองทัพ ฉะนั้นสิ่งที่ต้องถามต่อไปคือ ตัวเลขความต้องการทหารเกณฑ์ แสนคนในแต่ละปีนั้นคำนวณมาจากอะไร และเป็นตัวเลขที่เหมาะสมหรือไม่กับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และภัยคุกคามที่เข้ามาในประเทศไทย

“สิ่งแรกที่ผมทำตอนเข้าไปเป็นทหารคือ การเอาตัวเลขมากางดูก่อน โดยดูเปรียบเทียบกับประเทศที่มีขนาดกองทัพแต่ละขนาดว่า ประเทศนั้นๆ มีประชากรกี่คน และมีจำนวนทหารกี่คน และพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีขนาดของกองทัพใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งหากจัดอันดับเพียง 15 ประเทศที่มีกองทัพที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งมีประเทศไทยอยู่ในนั้น แล้วเข้าไปดูสัดส่วนจำนวนทหารต่อจำนวนประชากร จะพบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ เยอะมาก ประเทศที่เราตามหลังเขามีเพียง เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ อิหร่าน รัสเซีย ซึ่งประเทศเหล่านี้หากไม่ได้เป็นประเทศมหาอำนาจของโลกก็เป็นประเทศที่กำลังอยู่ภายใต้ภัยคุกคามที่รุนแรง และเมื่อเทียบสัดส่วนจำนวนทหารต่อจำนวนประชากรของประเทศไทย กับประเทศที่อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน จะพบว่าประเทศไทยมีจำนวนทหารมากกว่าประเทศเหล่านั้นถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์”

เขาเสนอว่าหากมีการลดจำนวนความต้องการทหารลงเหลือเพียง 60,000 คนต่อปี ก็จะพบว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับยอดผู้สมัครใจเป็นทหารในแต่ละปีซึ่งมีจำนวนอยู่ที่ 40,000 - 50,000 คนต่อปี ทั้งนี้เมื่อย้อนกลับไปดูตัวเลข 100,000 คนต่อปีก็พบว่า ในจำนวนนี้ไม่มีความจำเป็นต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะภายในค่ายทหารจะมีคำศัพท์ที่เรียกว่า “ยอดผี” ในที่นี้หมายถึงคนที่โดนเกณฑ์ไปเป็นทหารแต่เมื่อผ่านช่วงฝึกไปแล้วก็ได้รับการปล่อยกลับบ้าน โดยยกเงินเดือนทั้งหมดให้กับผู้บังคับบัญชา ซึ่งนี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าในจำนวน 100,000 คนต่อปี จะมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่มีความจำเป็นต่อการเป็นทหารเลย นอกจากนี้ยังมีทหารรับใช้ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ของทหารแต่เข้าไปดูแลคุณภาพชีวิตให้กับนายพลอีกจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกันยังมีพลทหารอีกจำนวนหนึ่ง ที่มีหน้าที่ประจำวันเพียงแค่เป็นคนทำความสะอาดกองร้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งในตัวเองเพราะการที่จะต้องทำความสะอาดกองร้อยนั้น เกิดจากการมีคนเข้ามาอยู่ ฉะนั้นหากกองทัพไม่รับคนเข้ามาอยู่ ก็ไม่จำเป็นที่ต้องหาคนมาทำความสะอาดกองร้อย 

“ทุกวันนี้ทหารแลดูจะเป็นอาชีพเดียวที่ไม่ต้องกังวลกับการเข้ามาแทนที่ของเทคโนโลยี มีงานวิจัยของ Oxford Economic ซึ่งประเมินว่าอีก 10 ปีข้างหน้าแรงงานในประเทศไทย จะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีจำนวน 4.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ของขนาดแรงงานไทย มีแต่หลายๆ อาชีพเขากังวลกันว่าคนจะลดน้อยลง เพราะเทคโนโลยีมันฉลาดมากขึ้น และสามารถทำงานที่เราไม่คิดว่ามันจะทำได้ แต่พอไปดูความต้องการของกองทัพเรากลับเป็นความต้องการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นมันต้องมีความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งในการคำนวณความต้องการทหารเข้าไปทำงานในกองทัพ และเป็นไปไม่ได้หรือที่เราจะนำเทคโนโลยีไปทดแทนแรงงานที่ไม่มีความจำเป็นแล้ว”

พริษฐ์กล่าวต่อไปว่า ในปัจจุบันนี้ภัยคุกคามของโลกได้เปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว หากยังเป็นภัยคุกคามแบบเดิมที่ประเทศอื่นเข้ามารุกรานเราก็อาจจะคล้อยตามว่าจำเป็นต้องมีทหารเกณฑ์จำนวนมาก แต่วันนี้ภัยคุกคามไม่ได้มาในรูปแบบนั้นแล้ว อาจจะมาในรูปแบบอื่น เช่น อาวุธนิวเคลียร์ ต่อให้มีกำลังพลมาเท่าไหร่ก็ไม่สามารถที่จะป้องกันได้ หรือภัยคุกคามทางด้านเศรษฐกิจอย่างสงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน หรือภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ที่มีการแฮ็กข้อมูลของแต่ละประเทศ ต่อให้มีพลทหารกี่คนในกองร้อยก็ไม่สามารถจะทำให้ประชาชนปลอดภัยจากภัยคุกคามเหล่านี้ได้

เขากล่าวต่อไปถึงปัญหาของทหารเกณฑ์ประการที่ 2 ว่า เป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดไว้ว่าชายไทยต้องรับราชการทหาร แต่สิ่งที่เขียนไว้ไม่ได้เป็นจริง เพราะจริงๆ แล้ว โครงสร้างในการคัดเลือกทหารมีความเหลื่อมล้ำในตัวเอง อย่างแรกคือความเหลื่อมล้ำที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ซึ่งระบุว่าในช่วงมัธยมปลายหากบุคคลใดเรียน ร.ด. ก็ไม่จำเป็นต้องไปคัดเลือกทหาร หมายความว่าคนที่มีโอกาส และมีต้นทุนทางการศึกษาดีพอที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมปลาย ก็จะมีโอกาสยกเว้นการเข้าคัดเลือกทหารเกณฑ์มากกว่าคนที่ไม่ได้เรียน

“เมื่อผมเข้าไปเป็นทหารในกองร้อยซึ่งมีพลทหารอยู่ 74 คนผมเข้าใจว่ามีคนที่เรียนจบระดับปริญญาตรีอยู่ไม่ถึง 10 คน มีคนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถ้าจำไม่ผิดมีจำนวนไม่เกิน 20 ถึง 30 คนและเกินครึ่งเป็นคนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนในระดับมัธยมปลาย ฉะนั้นมันมีความเหลื่อมล้ำในกระบวนการคัดเลือกอยู่แล้ว”

นอกจากพบความเหลื่อมล้ำทางกฎหมายแล้ว พริษฐ์ ยังพบว่าในกระบวนการคัดเลือกทหารเกณฑ์นั้นยังมีการสร้างความเหลื่อมล้ำในรูปแบบอื่น เพราะมีการทุจริตคอรัปชันในการจ่ายสินบนเพื่อให้ได้ใบดำมา ทั้งหมด ทำให้เห็นว่า คนที่ต้องเข้าไปเป็นทหารเกณฑ์จำนวนมาก คือคนที่ขาดโอกาสทั้งสังคม และเศรษฐกิจ

“หากคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์ เราก็ต้องทำให้ Demand กับ Supply อยู่ใกล้เคียงกัน ตอนนี้ Demand อยู่ที่ 100,000 หากสามารถไปตรวจสอบทุกสายงาน ทุกหน้าที่ของคนเข้าไปทำงานให้กับกองทัพ ผมเชื่อว่าตัวเลขนี้สามารถลดลงมาได้แน่นอน อาจจะอยู่ที่ 60,000 ถึง 70,000 ทีนี้ถ้าเรามาดู Supply คนที่พร้อมสมัครใจเข้าไปเป็นทหาร อยู่ที่ประมาณ 50,000 ฉะนั้นสมการง่ายมาก การทำอย่างไรก็ได้ให้ Supply มันเพิ่มขึ้น คำตอบก็คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพลทหาร รายได้ที่เขาได้รับจะพิจารณาเพิ่มขึ้นเป็น 12,000 หรือ 15,000 ได้ไหมเพื่อให้มันสอดคล้องกับค่าครองชีพ และเป็นไปได้ไหมที่เงินจำนวนนี้จะไม่ถูกหักไปกับค่าชุดค่าอาหาร และควรจะคิดถึงเรื่องสวัสดิการว่าจะเพิ่มสวัสดิการอะไรให้กับพลทหารได้บ้าง หากทำได้คนเขาก็อาจจะสมัครใจไปทำอาชีพนี้มากขึ้น”

ยกเลิกเกณฑ์ทหารอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการตั้งผู้ตรวจกองทัพโดยพลเรือนด้วย และกำหนดทิศทางกองทัพโดยพลเรือน

ทวีศักดิ์กล่าวต่อว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่องการยกเลิกทหารเกณฑ์และให้มีการใช้ระบบสมัครใจพร้อมเพิ่มสวัสดิการให้กับพลทหาร ตามที่พริษฐ์เสนอทุกประการ แต่อย่างไรก็ตามการทำเท่านี้ยังไม่เพียงพอ เพราะยังไม่มีอะไรที่การันตีได้ว่าจะไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในค่ายทหาร โดยปกติแล้วหากมีประเด็นข้อพิพาท หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในค่ายทหาร กระบวนการตรวจสอบทั้งหมดจะทำโดยกองทัพเอง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ขาดความเชื่อมั่นจากประชาชน จึงเสนอให้มีการตั้งองค์กรที่เรียกว่า ผู้ตรวจกองทัพ โดยตั้งจากความเห็นชอบของสภาฯ และเสนอบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งมีอำนาจให้คุณให้โทษได้ 

“คำถามคือ มันเชื่อใจได้แค่ไหนกับกระบวนการตรวจสอบของกองทัพเอง โอเคคุณอาจจะบอกว่าคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเป็นคนกลางที่มาจากหน่วยงานอื่นไม่ได้เกี่ยวข้องกับค่ายทหารที่มีปัญหาอยู่ แต่ว่าความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนมันด้วยสูญสิ้นไปแล้ว และมันสร้างขึ้นมาใหม่ได้ยาก เราก็เห็นกันอยู่ว่าวัฒนธรรมทหารคือ การปกป้องกันเอง ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน จะเป็นไปได้ไหมว่า หากเราจะมีการตั้งองค์กรที่เรียกว่าผู้ตรวจกองทัพ ซึ่งมาจากสภาฯ … การที่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบกองทัพโดยพลเรือน การทำแบบนี้ไม่ใช่การลดทอน ดูถูก หรือด้อยค่ากองทัพ แต่มันคือการช่วยกันจัดการปัญหาร่วมกัน เปิดเถอะครับเปิดให้คนนอกเข้าไปมีส่วน มุมมืดต่างๆ ควรจะฉาย Spotlight เข้าไปให้มันสว่าง ประชาชนจะได้เชื่อมั่น คนไทยไม่ได้เกลียดทหาร ไม่ได้เกลียดกองทัพในความหมายเชิงสถาบัน เขาเพียงแต่รู้สึกว่ามันไม่โอเคที่กองทัพยังเป็นแบบนี้ และเขาอยากเปลี่ยน เขาไม่ได้ตั้งเป้าที่จะเป็นศัตรูกับคุณ” 

ด้านพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า การตรวจสอบก็เป็นเรื่องสำคัญ และการตรวจสอบกองทัพโดยพลเรือน ก็เป็นสิ่งที่ได้ใส่เข้าไปในนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งก่อนที่จะลาออกจากพรรค ซึ่งหยิบมาจากโมเดลของเยอรมันเช่นกันคือผู้ตรวจการกองทัพที่ทำหน้าที่แทนประชาชน โดยเข้าไปตรวจสอบคุณภาพชีวิตของกำลังพล และไม่ได้ตรวจสอบเพียงแค่เรื่องสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่ยังสามารถตรวจสอบเรื่องอื่นได้ด้วย เช่น ความโปร่งใสของข้อมูล การทุจริตคอรัปชัน  แต่ปัญหาที่ติดอยู่ในปัจจุบันหากเรามีการตั้งองค์กรขึ้นนี้มา เราก็จะพบว่าโครงสร้างในรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต่างๆ นั้นล้วนมีที่มาจากวุฒิสภา และสมาชิกวุฒิสภานั้นก็ถูกแต่งตั้งโดยกรรมการสรรหาเพียงแค่ 10 คน โดยที่กรรมการสรรหาก็ถูกแต่งตั้งขึ้นโดย คสช. ทุกอย่างก็จะวนเข้าสู่ลูปเดิมและจะไม่มีการตรวจสอบที่แท้จริง

“ผู้ตรวจการกองทัพเป็นสิ่งที่ดีมากครับ ผมคิดว่ามันควรจะเกิดขึ้น แต่ว่าด้วยตัวมันเองถ้ามันจะเกิดขึ้นโดยที่ไม่ไปแตะเรื่องของโครงสร้างที่มา หรือกระบวนการสรรหากระบวนการแต่งตั้งไม่ได้ เราไม่ควรจะจำกัดเพียงแค่เรื่องการพูดการกองทัพอย่างเดียวด้วย จริงๆ แล้วหลักการในเรื่องนี้คือ การเพิ่มพื้นที่ให้กับพลเรือน ในการกำหนดทิศทางกองทัพ ผมเข้าใจว่านโยบายของกระทรวงกลาโหมถูกกำหนดโดยสภากลาโหม ซึ่งหากเราเข้าไปดูในกฎหมาย ก็จะเห็นว่าตำแหน่งที่เข้าไปนั่งอยู่ในสภากลาโหมก็ล้วนแล้วแต่เป็นตัวแทนของกองทัพทั้งสิ้น มีพื้นที่น้อยมากที่เปิดให้กับตัวแทนของภาคพลเรือนในการกำหนดทิศทางที่กองทัพควรจะเป็น” พริษฐ์ กล่าว

หมายเหตุ ขอบคุณภาพประกอบรายงานข่าวจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม' 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท