Skip to main content
sharethis

ประธานสภาเผยร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนเสนอร่วมกับไอลอว์ อาจจะเข้าที่ประชุมได้ทันเดือน พ.ย. ตอนนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายชื่อของกระทรวงมหาดไทย ด้านเทพไท ส.ส. ประชาธิปัตย์ชี้รัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาหลายส่วน แก้ไขมาตราไม่ได้ ต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ โดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

 

5 ต.ค.  2563 ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการนัดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาลงมติวาระรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่า เมื่อเปิดสมัยประชุมในวันที่ 1 พ.ย.  2563 ระเบียบวาระการประชุมก็เป็นไปตามปกติ ส่วนการเสนอวาระเพื่อประชุมร่วมรัฐสภานั้นขณะนี้ยังไม่มี เพราะต้องรอการศึกษาของกรรมาธิการพิจารณาก่อน และต้องรอการบรรจุร่างแก้ไขเพิ่มเติมฉบับของประชาชน ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อเสร็จเรียบร้อย และส่งไปยักระทรวงมหาดไทยแล้ว รอให้ทางกระทรวงมหาดไทยได้ตรวจสอบและแจ้งกลับมา หลังจากนั้นต้องประกาศให้ผู้มีรายชื่อตรวจสอบว่าจะมีการคัดค้านหรือไม่ ซึ่งก็เป็นไปตามกฎหมาย

ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมของประชาชน หรือไอลอร์ จะสามารถนำเข้าบรรจุพิจารณาพร้อมกับ 6 ญัตติได้หรือไม่นั้น ชวน กล่าวว่า ขณะนี้จากการคำนวณระยะเวลา สามารถทำได้เร็ว โดยความร่วมมือ ตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อ ซึ่งหากทุกขั้นตอนสามารถทำเสร็จได้เร็วก็จะสามารถบรรจุได้ภายในเดือน พ.ยใ  แต่ขณะนี้สิ่งที่ต้องรอคือ รายชื่อที่ประชาชนเสนอว่าจะคัดค้านหรือไม่ ซึ่งมีระยะเวลา 30 วัน

ด้าน เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เหมือนการเขียนเช็คเปล่านั้นว่า เป็นการมโนกันไปเองของฝ่ายที่ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พยายามหาเหตุผล หรือสร้างกระแสต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรูปแบบต่างๆ นานา ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีจุดอ่อนมากมาย ซึ่งได้มีข้อสรุปจากผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่มี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธานฯ มาแล้ว จนมีความเห็นสอดคล้องกันทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล จึงได้มีการยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมา 2 ญัตติ คงมีแต่สมาชิกวุฒิสภาบางส่วนเท่านั้น ที่ยังคัดค้านแบบหัวชนฝา ไม่ยอมเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อบ้านเมือง ไม่เหมือนกับสมาชิกวุฒิสภาหลายคนที่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น วันชัย สอนศิริ, คำนูณ สิทธิสมาน, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และแพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ฯลฯ

เทพไท กล่าวอีกว่า การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ก็เพื่อต้องการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีการยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง ไม่มีการตีเช็คเปล่าเหมือนตามที่บางฝ่ายกล่าวหา เพราะการเขียนรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ก็ย่อมเขียนรัฐธรรมนูญที่เป็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ ไม่ใช่การเขียนรัฐธรรมนูญโดยคณะบุคคลกลุ่มหนึ่ง ที่แต่งตั้งมาจาก คสช. ซึ่งไม่ได้ยึดโยงที่มาจากประชาชนแต่อย่างใด

เทพไท ย้ำว่า อยากจะให้ทุกฝ่ายเปิดใจกว้าง ยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ที่เป็นความเห็นของประชาชนทั้งประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดอ่อนมากมาย ไม่สามารถที่จะแก้ไขเป็นรายมาตราได้ เหมือนกับการซ่อมรถยนต์ ที่ไม่สามารถปะผุ ซ่อมสีใหม่ได้ เพราะรถยนต์คันดังกล่าว แชสซีคด เสียศูนย์ ใช้งานไม่ได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เช่นเดียวกัน จึงจำเป็นต้องยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ที่มาจาก: สำนักข่าวไทย 1 , 2

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net