Skip to main content
sharethis

คนจันทบุรีบุกกระทรวงอุตสาหกรรมคัดค้านเหมืองแร่ทองคำ หลัง “ริชภูมิ ไมนิ่ง” ปิดป้ายทำการสำรวจวันที่ 27 ส.ค. ขีดเส้นหาก 31 ต.ค.นี้ไม่ยุติสำรวจยกระดับบุกไปทำเนียบรัฐบาล ด้าน กพร. ย้ำแจ้งไปตามขั้นตอนยังไม่ได้อนุมัติ

8 ต.ค.2563 วันนี้ตั้งแต่ช่วงเช้าถึงบ่าย ประชาชนจากจังหวัดจันทบุรีเดินทางมากระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อคัดค้านการออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำในอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า วิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยภายหลังรับหนังสือจากกลุ่มคนจันทบุรีไม่เอาเหมืองแร่ทองคำราว 500 คน ที่ได้ยื่นคัดค้านการออกอาชญาบัตรสำรวจแร่ทองคำพื้นที่บริเวณ ต.พวา และ ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว เพื่อสำรวจและผลิตเหมืองทองคำ ของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง (บริษัทลูกของ บ.อัครา รีซอร์สเซส) ที่กระทรวงอุตสาหกรรมวันนี้ (8 ต.ค.) ว่า กพร.ขอย้ำว่าเรื่องดังกล่าวยังไม่ได้มีการอนุญาตให้บริษัทหรือผู้ประกอบการรายใดเข้าสำรวจพื้นที่ เพียงแต่มีการปิดป้ายประกาศว่าพื้นที่ดังกล่าวจะทำการสำรวจแร่ตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมาเพื่อให้ประชาชนรับทราบ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการโดยยังไม่ได้มีการให้ประทานบัตรดำเนินการแต่อย่างใด

“การติดป้ายดังกล่าวอาจทำให้ประชนชนไม่พอใจ ซึ่งยืนยันว่าเป็นการปิดป้ายแจ้งให้ประชาชนรับทราบเป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการที่ได้อาชญาบัตรพิเศษในการสำรวจ แต่ยังไม่ได้เข้าไปดำเนินการใดๆและยังไม่ได้อนุมัติให้ทำเหมืองแร่" วิษณุกล่าว

ทิวา แตงอ่อน แกนนำกลุ่มคนจันทบุรีไม่เอาเหมืองแร่กล่าวว่า ชาวจันทบุรีได้เดินทางมายังกระทรวงอุตสาหกรรมมายื่นคัดค้านเมื่อเวลา 13.00 น. โดยเห็นว่าหากภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้ยังไม่มีการยุติการยื่นสำรวจเหมืองแร่ดังกล่าวก็จะยกระดับการคัดค้านด้วยการเดินทางไปยื่นหนังสือกดดันรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้ คำขอของ บ.ริชภูมิ ได้ขอสำรวจรวมพื้นที่ 14,650 ไร่ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรง 22 หมู่บ้าน ใน ต.พวา และ ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ที่ทางอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรีติดประกาศแจ้งให้ทราบถึงการเข้าพื้นที่สำรวจเมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่าขั้นตอนดังกล่าวจะเป็นเพียงการขอสำรวจพื้นที่แต่ก็เป็นกระบวนการเริ่มต้นของการนำไปสู่การออกประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ในอนาคต ดังนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ชุมชนและประชาชนอย่างรุนแรงทั้งด้านสุขภาพ และผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดจันทบุรี จึงรวมตัวกันเข้ามาแสดงการคัดค้าน เพราะขั้นตอนตั้งแต่ระเบิดหิน การแต่งแร่ และการประกอบโลหกรรม มีการใช้สารเคมีที่เป็นพิษในปริมาณมาก โดยเฉพาะสารไซยาไนด์ที่จะเป็นอัตรายต่อสุขภาพชุมชน และสิ่งแวดล้อม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net