Skip to main content
sharethis

ตัวแทนนิสิตน.ศ. พร้อม 8 องค์กรสิทธิ ยื่นฟ้อง 'ประยุทธ์' 'ประวิตร' 'สุวัฒน์' ขอศาลแพ่งสั่งเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงและคำสั่ง-ประกาศที่เกี่ยวข้อง พร้อมขอคุ้มครองชั่วคราวและขอไต่สวนฉุกเฉินด้วย อ.นิติศาสตร์ จุฬาฯ ระบุคณาจารย์นิติทั่วประเทศเห็นตรงกันเป็นประกาศไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาศาลระบุจะมีคำสั่งว่ารับฟ้องคดีหรือไม่​ วันที่​ 22​ ต.ค. 2563 เวลา​ 09.00 น. ส่วนจะให้มีการไต่สวนฉุกเฉิน​ตามที่โจทก์​ร้องขอหรือไม่​ จะสั่งพร้อมกันในวันพรุ่งนี้​

21 ต.ค. 2563 วันนี้ เวลา 10.30 น. ที่ศาลแพ่งรัชดา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับพวกรวม 6 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา, พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้

1.) ให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และฉบับที่ 2 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ซึ่งออกตามความแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ของจำเลยที่ 1 โดยทันที

2.) ให้จำเลยเพิกถอนบรรดาประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 1/2563 ที่ 2/2563 ที่ 4/2563 ที่ 6/2563  คำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ที่ 2/2563 ที่ 3/2563 ที่ 6/2563 และประกาศฯ หรือคำสั่งฉบับที่จะออกมาในภายหลังของจำเลยที่ 3 ซึ่งออกมาเพื่อปฏิบัติตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 โดยทันที และห้ามมิให้นำมาตรการคำสั่ง และการกระทำใด ๆ ที่จำเลยที่ 3 สั่งการให้เป็นไปตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 มาใช้กับโจทก์และผู้ชุมนุมอีกต่อไป

และวันนี้โจทก์ได้ยื่นร้องขอคุ้มครองชั่วคราวและคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินด้วย เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้
มีการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รวมทั้งประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงห้ามการออกประกาศคำสั่งตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเพิ่มเติมอีกในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล

สำหรับเครือข่ายองค์กรกฎหมายสิทธิมนุษยชน 8 องค์กรที่ร่วมดำเนินการยื่นฟ้องคดีนี้ ได้แก่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม, สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์), สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ศุกรียา ในฐานะโจทก์ที่ 1 กล่าวว่า ที่ตัดสินใจฟ้องคดีวันนี้ เพราะต้องการปกป้องเสรีภาพของตนเองและของเพื่อน ต้องการให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองการชุมนุม ไม่ให้มีการสลายการชุมนุมอีกในช่วงที่ยังไม่มีคำพิพากษาออกมา ถือเป็นการปกป้องเพื่อนในทางหนึ่ง

ศุกรียากล่าวว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่ช่วงแรกก็กระทบต่อการเรียนที่มหาวิทยาลัย ทำให้ไม่สามารถไปเรียนได้ตามปกติ ต้องเรียนออนไลน์ ทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนไม่ดีเท่าที่ควร เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้มหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเลย รวมถึงมีการปิดกั้นเสรีภาพในการเดินทางของพวกเรา ทำให้ไม่สามารถใช้ BTS, MRT รวมถึงมีการปิดกั้นการจราจรบางเส้นทางที่ส่งผลต่อเสรีภาพในการเดินทางของเรา ยิ่งไปกว่านั้น ยังทำให้เราไม่มีเสรีภาพในการเสพสื่อที่เราต้องเราการ ไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก แสดงความคิดเห็นซึ่งสิ่งที่เป็นความต้องการของเรา ซึ่งไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นความต้องการที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วันนี้ได้รับความช่วยเหลือจาก 8 องค์กรรวมถึงทีมทนายความที่ไม่ประสงค์ออกนาม และคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เรายืนยันในจุดยืนของเราที่ต้องการทำสิ่งนี้เพื่อปกป้องเพื่อนของเรา นี่เป็นสิทธิที่เราจะใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อปกป้องเพื่อนของเรา” ศุกรียากล่าง

ศุกรียากล่าวอีกว่า จุดที่ทำให้ตัดสินใจมาฟ้องคดี คือวันที่มีการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน เนื่องจากเธอร่วมทำพื้นที่ปลอดภัยภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเห็นว่าทั้งประชาชน นักเรียน เยาวชน ถูกสลายการชุมนุมเข้ามาได้รับบาดเจ็บ รู้สึกไม่ปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ มันค่อนข้างส่งผลอย่างมาก

“เรารู้สึกรับไม่ได้กับสิ่งที่รัฐทำต่อเพื่อนของเรา น้องๆ ของเรา หรือประชาชนทั่วไป เขาไม่ได้ทำผิดอะไร การชุมนุมของเขาก็เป็นการชุมนุมที่สงบ ปราศจากอาวุธ (การสลายการชุมนุม) เป็นสิ่งที่ไม่สมควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง เราก็เลยทนไม่ได้แล้วค่ะ มีวิธีไหนที่ทำได้ก็จะทำ วันนี้เราจึงเลือกใช้กระบวนการยุติธรรมในการดูแลเพื่อนๆ ค่ะ” ศุกรียากล่าว

นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคาดหวังว่า ศาลที่เคารพจะสามารถให้ความยุติธรรมาได้ เพราะตอนนี้พวกเธอไม่รู้จะหันไปพึ่งองค์กรใดนอกจากองค์กรตุลาการแล้ว แต่ถ้าศาลไม่รับฟ้อง หรืไม่คุ้มครองการชุมนุมเราก็คงต้องกลับมาตั้งหลักและหาวิธีการกันต่อไป อาจจะมีวิธีการในกระบวนการยุติธรรมวิธีอื่นๆ อีก รวมถึงเราคงต้องพยายามแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพของพวกเราที่ถูกปิดกั้นอยู่ตอนนี้

“มันเป็นปรากฎการณ์ที่ทุกคนออกมาแล้ว ที่เราทำอยู่ตอนนี้ คือ เมื่อความอยุติธรรมเป็นกฎหมาย การต่อต้านก็คือหน้าที่ค่ะ” ศุกรียากล่าว

ด้านพัชร์ นิยมศิลป์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มาให้กำลังใจโจทก์ กล่าวว่า ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงออกโดยไม่ตรงเงื่อนไขของกฎหมาย ตามที่คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ทั่วประเทศลงนามกันออกแถลงการณ์ ทำให้เห็นว่านักกฎหมายส่วนใหญ่ อย่างน้อยก็กลุ่มคณาจารย์มีความเห็นตรงกันว่า การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีปัญหาเรื่องเงื่อนไข

อาจารย์นิติศาสตร์ กล่าวว่า หลักกฎหมายเบื้องต้นมีกรอบที่กฎหมายให้ไว้ เงื่อนไขที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงได้ ต้องตรงและครบตามที่กฎหมายกำหนดไว้เสียก่อน ไม่ใช่ประกาศเลย การประกาศในกรณีแบบนี้แสดงชัดว่ารัฐบาลต้องการเลี่ยงการตรวจสอบ เพราะกรณีปกติ จะเข้าสลายการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะต้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและหามาตรการที่เหมาะสมก่อน แล้วมาติดประกาศ และแม้ว่าศาลจะมีคำสั่งสลายการชุมนุม ผู้จัดการชุมนุมยังสามารถอุทธรณ์ได้ มีกลไกลแบบนี้รองรับสำหรับการสลายการชุมนุม แต่กลไกเหล่านี้หายหมดเมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อเจอสภาพที่ไม่มีสถานการณ์ฉุกเฉินและออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาใช้กับสถานการณ์ไม่ฉุกเฉิน กระบวนการตรวจสอบโดยศาลจึงหายไป

พัชร์กล่าวว่า รัฐบาลต้องตอบว่ามีเหตุฉุกเฉินอะไรในเวลานั้น ถึงมีการจลาจลเกิดขึ้นก็ยังไม่เป็นเหตุฉุกเฉิน แม้จะมีการจลาจลแต่ตำรวจสามารถควบคุมให้สงบได้ก็ไม่ฉุกเฉิน ไม่เกินกว่ากำลังตำรวจปราบจลาจลในพื้นที่นั้นจะควบคุมสถานการณ์ แบบนี้ไม่ฉุกเฉิน

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมี 2 ระดับ ระดับแรกคือที่ใช้โดยอ้างโควิด-19 แต่จริงๆ คือ ห้ามจัดการชุมนุม ตัวนั้นถกเถียงได้ แต่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงซึ่งประกาศเมื่อ 15 ต.ค. 2563 ค่อนข้างชัดว่าเกินขอบเขต

ตามความเห็นของพัชร์ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่แรก เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงก็ยังผิด แต่สิ่งที่พยายามทำกัน คือรื้อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงก่อน แล้วถ้าสำเร็จ ตนจะตามไปรื้อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงโควิด-19 ขึ้นอยู่กับกำลังและแรงสนับสนุนจากนักกฎหมายทั่วประเทศ

“ผมเห็นแล้วว่าวันนี้มาช่วยกันใหญ่เลย ทีมเบื้องหลังที่ทำไม่ใช่เพียง NGOs เท่านั้นนะครับ นักกฎหมายที่อยู่ในภาคเอกชนตามลอว์เฟิร์ม เขาก็สละเวลาอาสามาช่วยดูเคสนี้ให้ ผมคิดว่าทนายความที่อยู่ในคดีนี้มีความช่วยเหลือทั้งจากทนายความ อาจารย์ นักวิชาการ เกิน 20 คน”

เมื่อถามว่าการที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตัดอำนาจศาลปกครอง กระทบต่อการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐหรือไม่ พัชร์ตอบว่าใช่ แต่ต้องเข้าใจว่า ณ ขณะที่เริ่มใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใช้กับเรื่องภาคใต้ ศาลปกครองเพิ่งตั้ง ยังไม่มีความพร้อมในการรับคดีหรือพิจารณาคดีจำนวนมาก เลยอาจจะเขียนกฎหมายให้ไปใช้ศาลแพ่ง นี่เป็นความเข้าใจของตน อาจจะมีเหตุผลอื่นอีก แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของการใช้อำนาจทางปกครองโดยแท้ เป็นเรื่องกฎหมายปกครอง เกี่ยวกับการออกประกาศ ออกคำสั่ง และออกคำสั่งทางปกครองทั่วไปที่มีผลกระทบต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ ฉะนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องทางปกครองโดยแท้ แต่ต้องมาตัดสินโดยผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ตนไม่แน่ใจว่านิติวิธีจะคิดอย่างที่นักกฎหมายมหาชน หรือนักกฎหมายปกครองคิดหรือไม่ แต่วิธีต่อสู้เรายืนทั้งคู่ คือสู้ด้วยวิธีการทั้งแบบแพ่งและแบบปกครอง คำฟ้องครอบคลุมทั้งคู่ ขึ้นอยู่กับศาลจะใช้นิติวิธีแบบไหน​

ต่อมาเวลาประมาณ 15.50 น. ศาลระบุจะมีคำสั่งว่ารับฟ้องคดีหรือไม่​ วันที่​ 22​ ต.ค. 2563 เวลา​ 09.00 น. โดยจะสั่งพร้อมคำฟ้องของพรรคเพื่อไทย​ ส่วนจะให้มีการไต่สวนฉุกเฉิน​ตามที่โจทก์​ร้องขอหรือไม่​ จะสั่งพร้อมกันในวันพรุ่งนี้​

 

*เพิ่มเติมเนื้อหาเมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 21 ต.ค. 2563

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net