Skip to main content
sharethis

กนกรัตน์ นักรัฐศาสตร์เปิดรายงานผลการสำรวจเบื้องต้นการชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทย ช่วงเดือนตุลาคม 2563 มองขบวนการคนรุ่นใหม่ ชี้ทางออกคือรับฟังข้อเรียกร้องและเสนอแนวทางปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม 

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

ในเวทีเสวนาหัวข้อ “ม็อบที่ไม่ใช่ม็อบ รายงานผลการสำรวจเบื้องต้นการชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทย ช่วงเดือนตุลาคม 2563” ของโครงการรัฐศาสตร์เสวนา ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ ร่วมกับสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กนกรัตน์ เลิศชูสกุล กล่าวว่าการสำรวจครั้งนี้เป็นการพูดคุยกับผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนกว่าสองร้อยคนในพื้นที่แปดจังหวัดทั่วประเทศ โดยผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนมากอายุไม่เกิน 25 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจการพัฒนาการเคลื่อนไหวของขบวนการนักเรียนนักศึกษาในปัจจุบันมาสู่ขบวนการที่ไม่มีแกนนำ ไปจนถึงทำความเข้าใจการเติบโตขึ้นถึงขบวนการที่ไม่เห็นด้วยกับขบวนการนักศึกษา และค้นหาทางออกของสถานการณ์ปัจจุบัน

กนกรัตน์เสนอว่า ถึงแม้ว่าจะมีข้อเสนอไม่ควรมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องความแตกต่างระหว่างรุ่น แต่กนกรัตน์คิดว่าท้ายที่สุดแล้วเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการอธิบายว่าคนรุ่นนี้ถูกหล่อหลอมด้วยสิ่งที่ทำให้คนเหล่านี้แตกต่างจากคนรุ่นก่อนในหกมิติ ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้อาจช่วยอธิบายภาพของขบวนการนักเรียนนักศึกษาในปัจจุบันได้ว่าทำไมขบวนการจึงยังอยู่ได้ถึงแม้จะไม่มีแกนนำ หรือแม้จะเสนอประเด็นที่น่าจะทำให้เสียผู้สนับสนุน

กนกรัตน์เสนอว่าคนรุ่นนี้อยู่ในครอบครัวที่ซับซ้อนมากขึ้นและคุ้นเคยกับความขัดแย้งในครอบครัวและในสังคมที่เกิดจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เยาวชนเหล่านี้มีประสบการณ์กับการถกเถียงและการต่อสู้ทั้งในครอบครัวและในสังคมวงกว้าง และอยู่ในโลกที่ไม่ได้มีความจริงแท้หนึ่งเดียว

“คนเหล่านี้เติบโตมาท่ามกลางโลกที่ไม่เชื่อว่ามันมีสิ่งที่ถูกต้องแบบเดียว เขาเติบโตมาท่ามกลางโลกที่ทุกฝ่ายพยายามที่จะหาข้อมูลและเหตุผลสนับสนุนจุดยืนทางการเมืองของตัวเอง ผลที่ตามมาก็คือเขามองโลกซับซ้อนขึ้น โลกของเขาไม่มีใครขาวดำ ละครที่เขาดู หนังที่เขาดูในเน็ตฟลิกซ์ โลกที่เขา socialize ขึ้นมามันซับซ้อนกว่าคนรุ่นก่อนหน้านี้ ในโลกที่มีทีวีเพียงห้าช่อง ในโลกที่มีแต่สื่อบนกระดาษ​ ในโลกที่มีแต่ละครวิทยุ ในโลกที่มีแต่ข่าวที่มาจากวิทยุ โลกของเขามันซับซ้อนมากขึ้น” กนกรัตน์ ระบุ

นอกจากนี้ กนกรัตน์ยังเสนอว่าคนรุ่นใหม่มีอัตลักษณ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยผู้ให้สัมภาษณ์กว่า 20% ระบุว่าตนเองเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศและระบุว่ารสนิยมทางเพศเป็นสิ่งที่ลื่นไหล เพศสภาพในยุคนี้จึงเป็นสิ่งที่ลื่นไหลมากกว่าความเข้าใจของคนรุ่นก่อน  ไม่เพียงเท่านั้น คนรุ่นนี้ยังเผชิญกับสภาวะที่คุณค่ากระแสหลักที่ถูกสอนในโรงเรียนและถูกพูดถึงในสังคมไม่สอดคล้องกับชีวิตของพวกเขา โดยกนกรัตน์ยกตัวอย่างว่าผู้ในสัมภาษณ์ราว 10 – 20% มาจากครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งทุกคนจะมีประสบการณ์ถูกกระทำ ทั้งจากโรงเรียน ที่บ้าน ในครอบครัว ในฐานะคนที่อยู่ในครอบครัวที่แตกต่างจากคนอื่น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสังคมกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ครอบครัวสมบูรณ์แบบที่มีพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวกลายเป็นกระแสหลักของคนรุ่นนี้ ในขณะที่คำอธิบายในสังคมยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับชีวิตของพวกเขา

ไม่เพียงเท่านั้น คนรุ่นเก่ายังมักจะมีภาพเชิงลบของคนรุ่นใหม่หรือ Generation Z ว่าเป็นคนรุ่นที่เต็มไปด้วยความโกรธ ไม่มีความอดทน ไม่เคยพอใจในสิ่งที่มีหรือต้องการ ซึ่งกนกรัตน์ระบุว่าผู้ให้สัมภาษณ์ทุกคนบอกว่าผู้ใหญ่มักจะดูถูกเขาว่าไม่มีความอดทน แต่กนกรัตน์เสนอว่าโลกทัศน์ของคนรุ่นนี้ต่อความคาดหวังในชีวิตต่างไปจากคนรุ่นก่อน พวกเขาเป็นคนรุ่นที่มองไม่เห็นอนาคตของตนเอง โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ เนื่องจากยุคเศรษฐกิจเติบโตในยุคสงครามเย็นหรือในช่วงทศวรรษที่ 2530 ได้หมดไปแล้ว ในขณะที่รัฐบาลเองก็ไม่ได้สร้างความหวังอะไรให้กับพวกเขา ดังนั้นการลุกขึ้นมาของคนรุ่นนี้จึงเป็นการแสดงออกต่อความกลัวและความกังวลต่ออนาคตที่ไม่อาจคาดเดาได้ของพวกเขา

นอกจากนี้คนรุ่นนี้ยังเติบโตมาในสังคมที่กระตุ้นให้พวกเขาตั้งคำถามกับทุกเรื่อง คนรุ่นก่อนพยายามสร้างพวกเขาให้เป็นคนกล้าแสดงออก ความรู้สึกรักชอบ ไม่พอใจ พอใจ ถูกแสดงออกมามากกว่าคนรุ่นก่อน ไม่ว่าจะเป็นภาษา หรือการแสดงตัวตน กนกรัตน์ตั้งข้อสังเกตว่าในการชุมนุมในวันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม ผู้ชุมนุมมีการแสดงออกที่แตกต่างจากการแสดงออกในการชุมนุมครั้งก่อน ๆ ซึ่งหลายคนอาจจะบอกว่าเป็นเพียงการแสดงออกเพื่อจะสื่อสารปัญหาของเขา แต่ในความเป็นจริงแล้วคนกลุ่มนี้แสดงออกถึงตัวตนของเขาอยู่ตลอดเวลา โดยมีลักษณะการแสดงออกอยู่บนภาษาที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้านี้และมักมีภาษาที่ใช้สื่อสารกันเฉพาะกลุ่ม เช่น ภาษาลู

กนกรัตน์ เสนอว่าปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้คนรุ่นนี้แตกต่างจากคนรุ่นก่อนมีผลทำให้พวกเขากลายเป็นคนรุ่นที่ถูกทำให้กลายเป็นอื่นในสังคม (alienated generation) การเป็นกลุ่มคนที่แสดงออก โกรธ ไม่พอใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม การกลายเป็นคนที่ซับซ้อน เรียกร้องหาเหตุผลมากขึ้น ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง ไม่เคยพอใจต่อคำตอบที่ไม่มีเหตุผล ทำให้เขาถูกเบียดขับออกจากสังคม ซึ่งผู้ให้สัมภาษณ์ในทุกพื้นที่และชนชั้นพบปัญหาเดียวกัน คือการที่สิ่งที่เขาเรียกร้องทำให้เขาไม่มีที่ยืนในสังคม ซึ่งกนกรัตน์ระบุว่าในประวัติศาสตร์โลกมีคนรุ่นใหม่ที่ถูกทำให้กลายเป็นคนอื่นในสังคมของตัวเองอยู่เสมอมา โดยเฉพาะในภาวะที่โลกเปลี่ยนเร็วจนสังคมไม่สามารถปรับตัวทันและคนรุ่นใหม่รู้สึกหมดหวังกับสังคม เช่นในโลกตะวันตกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 หรือในช่วงทศวรรษที่ 1960  ก็มีกลุ่มคนเช่นนี้อยู่

“สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยมันเป็นสิ่งที่ล้อไปกับการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของโครงสร้างสังคมโลก พวกเขากลายเป็นคนที่อยู่ท่ามกลางสังคมที่พวกเขาไม่พอใจ พวกเขาขาดการเชื่อมโยงกับโครงสร้างทางการเมืองและโครงสร้างทางครอบครัวที่พวกเขารู้จัก” กนกรัตน์กล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น คนรุ่นนี้ยังเป็นคนรุ่นที่เป็นอิสระ (independent generation) ซึ่งกนกรัตน์ตั้งข้อสังเกตุว่าภายในหนึ่งสัปดาห์หลังการจับกุมแกนนำ มีการเติบโตของขบวนการที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบระเบียบ มีการเคลื่อนไหวแบบมียุทธศาสตร์อย่างที่คนรุ่นเก่าจินตนาการไม่ออกว่าเกิดขบวนการเหล่านี้ขึ้นได้อย่างไร ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งระบุว่าสำหรับเขา แกนนำเป็นแค่คนเริ่มคนแรกในพื้นที่สาธารณะ เป็นแค่คนที่กล้ากลุ่มแรก เป็นแค่ผู้ปราศรัยหลัก แต่แกนนำไม่ใช่ตัวแทนหรือผู้นำของพวกเขา เขาไม่รู้จักชื่อแกนนำส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ ซึ่งคำพูดนี้แสดงให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วคนรุ่นนี้เป็นคนที่จัดการชุมนุมด้วยตัวเองและพอใจที่จะชุมนุมด้วยตัวเองมากกว่าการเคลื่อนไหวที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบระเบียบโดยแกนนำด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในช่วง 6 – 7 วันที่ผ่านมา การพูดคุยกับคนในที่ชุมนุมสะท้อนว่าเขารู้สึกเป็นอิสระมากขึ้นเมื่อแกนนำอยู่ในที่ที่ปลอดภัย การเคลื่อนไหวของพวกเขาเกิดขึ้นและสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนที่เข้าร่วมขบวนการและเข้าร่วมการชุมนุมมากขึ้นเพราะว่าเป็นขบวนการที่เติบโตท่ามกลางความเป็นปัจเจกบุคคลของพวกเขามากขึ้น

นอกจากนี้ กนกรัตน์ยังเสนอว่าคนรุ่นนี้มีความสามารถในการแข่งขันเชิงเปรียบเทียบมากกว่าคนรุ่นก่อน เปรียบได้กับคนยุคสิบสี่ตุลาฯ ซึ่งเป็นคนรุ่นแรกที่จบมหาวิทยาลัย เข้าถึงโครงสร้างทางการศึกษาแบบเป็นทางการ พัฒนาความสามารถที่เป็นความสามารถเฉพาะทางเป็นกลุ่มแรกในประเทศไทย ในช่วงนั้น นิสิตนักศึกษาถูกมองว่าเป็นคนกลุ่มที่มีความสามารถในการพูด ในการวิเคราะห์การเมือง การทำสื่อใหม่ ในการสื่อสารและการจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหว กนกรัตน์ระบุว่าหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาและ 6 ตุลา บทบาทของขบวนการนักศึกษาลดน้อยลง โดยถูกแทนที่ด้วยสื่อมวลชนที่มีทักษะ นักวิชาการที่มีความสามารถในการวิเคราะห์การเมือง และองค์กร NGO ต่าง ๆ ที่เข้ามาจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวของคนในระดับรากหญ้าที่ได้รับผลกระทบ แต่หลังการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสื่อจากยุคโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ที่มีต้นทุนในการผลิตสูงมากซึ่งทำให้รัฐบาลและกลุ่มทุนเป็นกลุ่มเดียวที่ยึดครองอำนาจการผลิตสื่อ มาสู่ยุคเริ่มต้นของอินเตอร์เน็ตที่สื่อเริ่มปรับตัวมาอยู่บนอินเตอร์เน็ตมากขึ้นแต่ยังคงผลิตโดยสื่อกระแสหลักและกลุ่มทุนผ่านการส่งข้อมูลด้านเดียว และมาสู่ยุค web 2.0 หรือยุคปัจจุบันที่มีแพลทฟอร์มใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น วิกิพีเดีย เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ซึ่งไม่มีใครคนใดคนหนึ่งที่เป็นเจ้าของ ทุกคนเข้าถึงได้ กล้องมือถือที่ราคาถูกลงทำให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูล โปรแกรมตัดต่อที่ใช้ง่ายขึ้นทำให้ทุกคนตัดต่อได้ คนยุคนี้มีความสามารถในการตัดต่อ มีความสามารถในการสรุปเนื้อหาให้มาอยู่ในพื้นที่จำกัดได้อย่างรวดเร็วมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่คนยุคก่อนหน้านี้ไม่สามารถเข้าใจได้ โดยกนกรัตน์ระบุว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่สร้างความสามารถในการแข่งขันเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage) ให้กับคนรุ่นนี้

“ช่วงนี้มีกระแสข่าวเยอะมากที่พูดถึงการจัดการการเคลื่อนไหวแบบที่ไม่มีแกนนำว่าจริง ๆ แล้วมันไม่จริง เพราะมันจะมีคนที่อยู่ในวอร์รูม มีคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็น professional เป็นคนที่มีความสามารถในการโปรโมทการเคลื่อนไหวเหล่านี้ผ่านการทำโปสเตอร์ที่ดูเหมือนกับทันสมัยมาก แต่ในความจริง ดิฉันอยากจะเล่าประสบการณ์ส่วนตัวที่น่าสนใจ ก็คือว่าในวันศุกร์ที่ 16 ที่มีการสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำที่แยกปทุมวัน ทางคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็พยายามเปิดพื้นที่ปลอดภัย จำได้ว่ามีกลุ่มแกนนำหลายคนเข้ามาที่คณะ มีแกนนำคนหนึ่งแบตเตอรี่โทรศัพท์หมด เขาขอยืมโทรศัพท์ดิฉันเพื่อที่จะไปตัดต่อโปสเตอร์อันหนึ่ง ซึ่งค่อนข้างจะไวรัลมากบนโลกออนไลน์ ดิฉันจำได้ว่าเขายืมมือถือดิฉันไปประมาณสิบกว่านาที แล้วโปสเตอร์นั้นก็ทำเสร็จท่ามกลางความวุ่นวายมาก แล้วโปสเตอร์นั้นก็ถูกโพสต์ไป นี่คือตัวอย่างที่ดิฉันประสบด้วยตัวเองซึ่งดิฉันตกใจมาก ด้วยมือถือหนึ่งอัน แกนนำคนนั้นสามารถทำโปสเตอร์ได้ในเวลาไม่ถึงสิบนาที และเป็นโปสเตอร์ที่อยู่ในรายการช่องหนึ่งที่เอาไปบอกว่าต้องเป็นมืออาชีพทางการตลาดทำ ซึ่งดิฉันรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่เราต้องยกระดับการทำความเข้าใจกับคนรุ่นนี้จริง ๆ”

กนกรัตน์เสนอว่าความสามารถในการผลิตสื่อของคนรุ่นนี้มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของสื่อ การมาถึงของสิ่งพิมพ์รุ่นใหม่และโซเชียลมีเดีย ซึ่งสร้างให้คนรุ่นนี้ คนรุ่นนี้มีทักษะในการจัดการข้อมูลมหาศาล เพราะเขาโตมากับการคัดรกองข้อมูล ประเมินข้อมูลทุกวัน เห็นข้อมูลที่แตกต่างหลากหลายทุกวัน อยู่กับการตรวจสอบข้อมูลในหลากหลายพื้นที่ นอกจากนี้คนรุ่นนี้ยังมีทักษะในการทำแคมเปญทางสังคมและการเมือง และเป็นกลุ่มคนถูกฝึกให้เป็นผู้จัดกิจกรรมตั้งแต่ชั้นมัธยม ในโรงเรียนมีการจัดกีฬาสี มีการจัดกิจกรรมหารายได้เข้าโรงเรียนโดยมีนักเรียนเป็นกลไกสำคัญ นักเรียนจำนวนมากมีประสบการณ์ในการจัดคอนเสิร์ต จัดกีฬาสีที่ใช้เวลาซ้อมนานสองสามเดือน ทำงานแคมเปญหาสปอนเซอร์ หรือเป็นแฟนคลับดาราที่ทำงานหารายได้เพื่อสปอนเซอร์ศิลปิน มีการจัดระบบของแฟนคลับ การทำงานหารายได้เพื่อจัดกิจกรรมที่เขาเลือกเป็นเรื่องปกติ ทักษะในการจัดอีเว้นท์เป็นทักษะพื้นฐานสำหรับคนรุ่นนี้ การจัดม็อบจึงเป็นวิถีชีวิตของเขา

“คุณนึกออกไหมว่าเด็กที่เรียนมาแปดคาบแล้วยังต้องซ้อมเชียร์จนถึงสองทุ่มกว่าเป็นเวลาสามเดือน มันเหนื่อยกว่านี้มาก สิ่งที่เขาเผชิญอยู่สำหรับหลายคนเป็นเรื่องปกติมาก เพราะฉะนั้นคุณจะเรียกมันว่าม็อบ นี่มันคือชีวิตของเขาในการ express ตัวตน ในการพยายามทำให้เป้าหมายที่เขาอยากจะเห็นมันสำเร็จได้ นี่คือเรื่องที่มันเป็น minimum มากสำหรับคนรุ่นนี้ energy ของการทำแคมเปญไม่ว่าจะเรื่องอะไรมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา” กนกรัตน์กล่าว

“เมื่อเราเห็นภาพการออกมาของคนรุ่นใหม่เมื่อวานนี้ ดิฉันคิดว่ามันมาถึงจุดที่คนรุ่นดิฉัน คนรุ่นผู้ใหญ่กว่าดิฉันคงต้องตั้งหลักและถามตัวเองจริง ๆ แล้วว่าสิ่งที่เราเคยทำอยู่มันจะเดินต่อไปยังไง เพราะทั้งหมดนี้มันกำลังท้าทายสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ที่เชื่อว่าความแตกต่างและการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่น่ากลัว ไม่ว่าจะเป็นในคนทั่วไปหรือชนชั้นนำ พวกเรากำลังปรับตัวไม่ทันต่อสิ่งที่มันกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเร็วจริง ๆ เร็วในช่วงเวลาแค่สามเดือน ดิฉันเข้าใจว่าคนรุ่นดิฉันและคนรุ่นผู้ใหญ่กว่าดิฉันทั้งในชนชั้นนำและในคนธรรมดาปรับตัวไม่ทันจริง ๆ เพราะทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมาก ภายในสามเดือน คำถามคือเราจะทำยังไง เรามีทางเลือกอะไรบ้าง”

สำหรับทางออกของสถานการณ์ในขณะนี้ กนกรัตน์กล่าวว่าวิธีการเดิมที่เคยมีการใช้กันมาอาจจะไม่ได้ผล โดยมีข้อสังเกตุว่าแม้จะใช้การสลายการชุมนุม การคุกคาม หรือการระดมมวลชนฝ่ายต่อต้านขบวนการ ผู้ชุมนุมยิ่งเพิ่มจำนวน หรือแม้ว่าจะจับกุมตัวแกนนำ แต่ขบวนการกลับยิ่งเข้มแข็งและขยายวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้กนกรัตน์ยังระบุว่าในช่วงเวลาสามเดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกในวันที่ 18 กรกฎาคม ยังไม่มีความพยายามใด ๆ ในการทำความเข้าใจผู้ชุมนุมในวงกว้าง ไม่มีการจัดเวทีสาธารณะเพื่อพูดคุยกับนักเรียนนักศึกษา ซึ่งกนกรัตน์ระบุว่าการตั้งเวทีสาธารณะหรือพูดคุยกับแกนนำในตอนนี้ไม่ใช่ทางออกอีกต่อไปแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญในช่วงวันที่ 26 – 27 ตุลาคมที่ผ่านมายิ่งทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าเสียงของพวกเขาไม่ได้ถูกรับฟังและผู้มีอำนาจไม่ได้สนใจที่จะนำข้อเสนอของพวกเขาไปสู่สิ่งที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ดังนั้นการเริ่มต้นนำเสนอการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรมที่ทำให้คนรุ่นนี้รู้ว่าปัญหาของพวกเขาได้รับการรับรู้อาจจะเป็นทางออกของสถานการณ์ในขณะนี้

“สังคมเรากำลังไปสู่ทางแพร่ง สิ่งทั้งหมดตอนนี้มันพาเราไปสู่สังคมที่ดิฉันคิดว่ามันยากมากขึ้น เราในฐานะที่เรียกตัวเองว่าผู้ใหญ่ที่อยากให้เด็กยอมรับ เราต้องทำให้พวกเขารู้จริง ๆ ว่าเราเป็นความหวังของพวกเขา” กนกรัตน์ระบุ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net