Skip to main content
sharethis

แถลงการณ์ขององค์กรภาคประชาสังคมจากทั่วโลกที่เผยแพร่ในเว็บไซต์องค์กรสตรีเอเชียวิจารณ์การที่รัฐบาลไทยใช้กำลังกับผู้ชุมนุมที่ชุมนุมอย่างสันติ รวมถึงการจับกุมตัวบุคคลต่างๆ และการใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างไม่มีเหตุอันควร เรียกร้องให้เลิกสถานการณ์ฉุกเฉินและเลิกปฏิบัติการคุกคามผู้ชุมนุมเหล่านี้

ในเว็บไซต์ของสมาคมผู้หญิง กฎหมาย และการพัฒนาแห่งเอเซียแปซิฟิก (APWLD) มีแถลงการณ์จากองค์กรภาคประชาสังคมและบุคคล 210 รายจากทั่วโลก แสดงการสนับสนุนและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย หลังจากที่ประชาชนที่ประท้วงอย่างสันติในไทยได้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในประเทศพวกเขาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในจำนวนผู้ประท้วงนับแสนคนทั่วประเทศนั้นมีผู้นำที่เป็นผู้หญิงเยาวชนและผู้คุ้มครองสิทธิสตรีด้วย

ในแถลงการณ์ที่ออกมาเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 ระบุอีกว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากรัฐบาลไทยหลังจากที่มีการใช้กำลังตำรวจปราบจลาจลแบบไม่มีเหตุอันควรรวมถึงการใข้ปืนแรงดันน้ำผสมสารเคมีฉีดใส่ผู้ชุมนุมอย่างสันติปราศจากอาวุธนั้นถือเป็นเรื่องไม่อาจยอมรับได้ แถลงการณ์ระบุว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเรื่องไม่จำเป็นเพราะการประท้วงเป็นไปอย่างสันติและไม่เข้าข่ายให้ใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินแต่อย่างใด ในขณะที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลนั้นมีความจงใจต้องการปราบปรามผผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย

แถลงการณ์ยังระบุถึงกรณีที่เคยมีผู้ประท้วงถูกจับกุมอย่างน้อย 80 ราย ในช่วงกลางเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาและถูกฟ้องร้องคดีต่างๆ รวมถึงคดีฝ่าฝืนสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วง COVID-19 เรื่องนี้นับว่าเป็นการที่รัฐบาลใช้อำนาจเกินกว่าเหตุและการใช้กำลังรุนแรงอย่างไม่เหมาะสมกับสัดส่วนต่อผู้ประท้วงอย่างสันตินั้นนับว่าเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยเฉพาะต่อผู้คุ้มครองสิทธิมนุษยชนและนักเรียนนักศึกษาที่เป็นผู้หญิง จากการที่พวกเขาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในเรื่องเสรีภาพในการชุมนุม

ก่อนหน้านี้องค์การสหประชาชาติเคยแสดงความกังวลในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการประท้วงในไทยมาก่อน โดยที่ผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นด้านเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการชุมนุมอย่างสันตินั้นเคยเรียกร้องให้รัฐบาลไทย "อนุญาตให้ผู้ประท้วงใช้สิทธิของพวกเขาและขอให้มีการเจรจาหารือแทนที่จะใช้วิธีการปราบปราม"

องค์กรภาคประชาสังคมจากทั่วโลกและบุคคลอื่นๆ รวม 210 ราย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินและทำให้ประเทศกลายเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หยุดการโจมตีและดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมอย่างสันติ รวมถึงหยุดใช้กำลังความรุนแรงใดๆ ก็ตามกับผู้ประท้วง นอกจากนี้พวกเขายังเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยทั้งหมดที่ถูกจับกุมในการประท้วงอย่างสันติโดยทันที ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนนักศึกษษคนรุ่นเยาว์ หรือผู้หญิงนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

แถลงการณ์ฉบับนี้มีการลงนามจากหลายองค์กรในประเด็นสิทธิมนุษยชนและประเด็นเพศสภาพทั้งองค์กรระดับโลกและองค์กรระดับประเทศ เช่น ในสหรัฐฯ, เนเธอร์แลนด์, ฟิลิปปินส์, อินเดีย, เกาหลีใต้ เป็นต้น

 

เรียบเรียงจาก

210 Civil Society Organisations and Individuals from Across the Globe Stand in Solidarity with Thai Democracy Movement, APWLD, 02-11-2020
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net