Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

น่าสนใจว่า รีพับบลิค (republic) หรือการปกครองแบบสาธารณรัฐ ที่ฝ่ายจารีตของไทยตั้งข้อกล่าวหา ข้อรังเกียจชิงชัง แลอาจถือถึงขั้นกล่าวหาว่า มันเป็นระบบซึ่งจะนำไปสู่การแบ่งแยกประเทศออกเป็นเศษเป็นเสี้ยวไม่ขึ้นต่อกัน  แล้วกรุงเทพก็จะเสียอำนาจการปกครอง การตั้งข้อกล่าวดังกล่าวนี้ เกินจริงไปหรือไม่อย่างไร ในขณะที่หลายประเทศในโลกต่างก็ปกครองแบบสาธารณรัฐกันจำนวนมาก เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส รัสเซีย อินเดีย เนปาล ฯลฯ 

แปลว่า รีพับบลิคย่อมมีอะไรดี แต่ไฉนมันจึงไม่เหมาะสมกับประเทศไทย?? 

แม้ไม่อาจเทียบได้ แต่ผู้เขียนกลับมองเห็นว่า การกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยที่กำลังเป็นไปอย่างล่าช้ามากตอนนี้นั้น ไม่ว่าเราจะใช้คำว่า จังหวัดจัดการตนเองเหมือนที่ชำนาญ จันทร์เรืองใช้หรือไม่ก็ตาม แต่มันล้วนมีเป้าหมายนำไปสู่การเพิ่มอำนาจการบริหารตัวเองของประชาชนในท้องถิ่นทั้งสิ้น 
ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น คือ การปกครองของไทยแต่เดิม ตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนที่จะมีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่กรุงเทพนั้น ระบบการจัดการปกครองบริหารน่าจะคล้ายคลึงกับแบบแผนการปกครองแบบสาธารณรัฐเอาด้วยซ้ำ

กล่าวคือ บรรดาหัวเมืองต่างๆ ในแต่ละภูมิภาค ต่างมีความเป็นเอกเทศ เป็นอิสระไม่ขึ้นตรงต่อกรุงเทพเหมือนเช่นปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น การปกครองนครเชียงใหม่มีความเป็นเอกเทศอย่างชัดเจน ไม่ขึ้นกับกฎหมายที่บัญญัติจากส่วนกลางที่กำหนดคลุมไว้เหมือนกันทั้งหมดทั่วประเทศ โดยไม่สนใจว่าบริบททางสังคม ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรมของประชากรแต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างกันอย่างไร รัฐเชียงใหม่โบราณเป็นรัฐที่เป็นอิสระเอกเทศ แถมบางคราตกเป็นประเทศราชของพม่าก็มี ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะรัฐโบราณแบบเชียงใหม่นั้น ต้องรู้จักเอาตัวรอดท่ามกลางภัยสงครามของรัฐใหญ่ๆ เช่น ไทยรบกับพม่า เป็นต้น การแปรพักตร์เพื่อความอยู่รอดของรัฐและประชาชนย่อมเป็นเรื่องปกติวิสัย 

มองจากกรณีของสหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐที่ประยุกต์มาจากแนวคิดของมองแตสกิเออร์ (ฝรั่งเศส) ทำให้เห็นว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศที่เจริญก้าวมากเพียงใด อันเนื่องมาจากการให้ความสำคัญของประชาชนนับแต่ระดับท้องถิ่นซิตี้ เคาน์ตี้ และมลรัฐขึ้นไป รัฐบาลกลางวอชิงตันดีซี ดูแลแค่ความมั่นคงทั่วไป เช่น ความมั่นคงทางด้านการป้องกันประเทศ หรือการทหาร เป็นต้น เท่านั้น นอกนั้นจะเห็นได้ว่า ชาวอเมริกันในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ แทบไม่อนาทรเรื่องใดๆ กับการที่รัฐส่วนกลางจะเข้ามาแทรกแซงชีวิตส่วนตัวของพวกเขาเลย ภาษีระดับรัฐของพวกเขาก็เป็นผู้กำหนดเอง รัฐบาลกลางไม่เกี่ยว

แสดงให้เห็นว่า “สาธารณรัฐ” แทบไม่ต่างจากระบบจังหวัดจัดการตนเอง ต่างกันแค่ชื่อ หากแต่มีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกันโดยแท้ คือ การกระจายอำนาจการปกครองให้ประชาชนในท้องถิ่นปกครองตามแบบที่พวกเขาฝัน รายได้จากการเก็บภาษีท้องถิ่นก็ไหลกลับเข้าพระเป๋าของพวกเขาเอง เช่น สนามบินในจังหวัดใดๆ จังหวัดนั้นๆ ควรได้ประโยชน์จากผลประกอบการที่เกิดจากการบริหารจัดการของท้องถิ่นนั้นๆ เอง การท่าอากาศยานฯ จากกรุงเทพฯ ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวเอี่ยวผลประโยชน์ การอากาศยานฯส่วนกลางแค่ทำหน้าที่ แบบเดียวกับ FAA (องค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา หน่วยงานกลางด้านการคมนาคมทางอากาศ สังกัดกระทรวงการขนส่งสหรัฐฯ) เท่านั้น ถ้าเกิดระบบแบบเดียวกันนี้ท้องถิ่นย่อมได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย 

ทุกวันนี้ปัญหาความยากจนของไทย ส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่กระจายอำนาจการปกครอง การเศรษฐกิจและการศึกษา การส่งเสริมความเป็นอิสระเป็นเอกเทศของท้องถิ่นหรือรัฐท้องถิ่น จะช่วยให้เกิดการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์และก้าวหน้าเร็วมากขึ้น มากกว่าการรวมศูนย์อำนาจแบบปัจจุบันที่คอยดึงรั้งการพัฒนาประเทศให้ล้าหลังเสมือนด้ายตราสังข์มัดผี 

เพราะการกระจายอำนาจการบริหารจัดการส่วนท้องถิ่นที่รัฐไทยโฆษณานักหนานั้น แท้จริงเป็นแค่วาทกรรมต้มตุ๋นหลอกลวงเท่านั้นเอง แท้จริงแล้วยังไม่มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง การเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังเป็นอยู่นี้ ชวนตบตาให้ดูละม้ายคล้ายคลึงว่าท้องถิ่นเป็นอิสระจากส่วนกลางคือกรุงเทพระดับหนึ่งก็จริง แต่หากสาวลึกลงไปก็จะเห็นว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นหรืออำนาจใดๆ ของท้องถิ่นก็ตามเป็นมายาภาพแทบทั้งสิ้น ตัวแทนของประชาชนที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็นได้แค่ตรายางประทับปาหี่ของรัฐกรุงเทพ ขณะที่เรายังมีท่อภูมิภาคฯ ของมหาดไทย (ปกครอง) ที่คอยกำกับควบคุมอยู่อีกชั้น แม้แต่ในแง่การศึกษา ท้องถิ่นยังไม่สามารถกำหนดหลักสูตรเองได้ด้วยซ้ำ จนเรียกได้ว่า เป็นการต้มตุ๋นทุกระดับประทับใจดังนั้นแล

นัยนี้ เมื่อกรุงเทพยังคงเป็น“ไอ้ตัวดูด”คอยดูดทรัพยากรของคนต่างจังหวัดเข้ามาไว้ในเมืองหลวงเพียงอย่างเดียว การจัดสรรทรัพยากรจะเป็นธรรมและมีคุณภาพได้อย่างไรกันเล่า 

ถ้าหากเรามีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นจริงๆ แล้ว มือยาวๆ ของกรุงเทพที่คอยควักคอยล้วงกระเป๋าของคนต่างจังหวัด (แม้บางจังหวัดยากจนจะถูกล้วงน้อยก็ตาม แต่ก็ยังต้องถูกล้วงตามกลไกการส่งภาษีเข้าส่วนกลางอยู่ดี) จะต้องถูกตัดออกไป ทุกวันนี้กรุงเทพรวบทรัพยากรของคนต่างจังหวัดมาไว้ในมือตัวเองอย่างติดนิสัย ทำให้ช่องว่างการพัฒนาระหว่างกรุงเทพกับต่างจังหวัดหรือท้องถิ่นถ่างออกมากขึ้น

จากสถานการณ์ขณะนี้เราจะเห็นว่า ข้อเท็จจริงของการกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่น เป็นเรื่องปาหี่ ถ้าชาวบ้านราษฎรในท้องถิ่น มีอำนาจอยู่ในมือด้านต่างๆ จริง  ไม่ว่าจะเป็นอำนาจด้านปกครอง ด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา ฯลฯ เราคงไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า “สาธารณรัฐหรือรีพับบลิค” เลยก็ยังได้... 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net