พอช.ชี้แจง ‘บ้านมั่นคงชุมชนริมคลองเปรมประชากร’

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ (พอช.) ชี้แจงความเป็นมาของการพัฒนาคลองเปรมประชากร โดยรัฐบาลเห็นชอบตามแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลอง และการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมฯ ที่จะต้องมีการรื้อย้ายชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำลำคลองซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุ เพื่อเปิดพื้นที่สร้างเขื่อนระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมและบำบัดน้ำเสียในคลองเปรมฯ โดย พอช. รับผิดชอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวทาง ‘บ้านมั่นคง’ โดยให้ชุมชนเป็นแกนหลัก มีเป้าหมาย 38 ชุมชน รวม 6,386 ครัวเรือน เพื่อให้ชาวชุมชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง เปลี่ยนจากผู้บุกรุกเป็นผู้อยู่อาศัยอย่างถูกต้อง มีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี

20 ธ.ค. 2563 ตามที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย แจ้งต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไปเป็นประธานในพิธีลงเสาเอกบ้านมั่นคง "สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงชุมชนวัดรังสิต จำกัด" (บ้านสวย คลองใส วิถีใหม่ ชุมชนริมคลอง) ณ หมู่ 7 ถนนเลียบคลองเปรมประชากร ตำบลหลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี พร้อมมอบสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ (เนื้อที่ 22 ไร่ 3 งาน 36 ตรว.) และใบอนุญาตก่อสร้างของสหกรณ์ฯ ให้แก่ประธานและกรรมการสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงชุมชนวัดรังสิต จำกัด เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา

โดยนายศรีสุวรรณอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเคยมีสภาพเป็นคลองสาธารณะมาก่อน มีความกว้างของคลองประมาณ 50 เมตร โดยมีชาวชุมชนปลูกบ้านอาศัยอยู่ตามแนวริมคลองมากว่า 77 ปีแล้ว แต่กลับมีการไล่รื้อให้ชาวบ้านดังกล่าวออกไป แล้วนำพื้นที่ดังกล่าวมาถมปรับสภาพพื้นที่ถมดิน โดยกรมธนารักษ์ให้เช่าก่อสร้างบ้านมั่นคง พร้อมกับทำเขื่อนริมคลองให้ระยะ 628 เมตร โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองด้วยงบประมาณ 64.2 ล้านบาท ทำให้คลองเปรมประชากรมีสภาพความกว้างของคลองเหลือไม่ถึง 20 เมตรเท่านั้น
 
โดยชาวบ้านที่รื้อถอนบ้านออกไปจะถูกบังคับให้ต้องเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง โดยแต่ละคนต้องไปกู้เงินจากสถาบันการเงินที่หน่วยงานรัฐประสานมาให้คนละ 5 แสนกว่าบาท โดยมีระยะเวลาผ่อนชำระ 15-20 ปี (ผ่อนชำระเดือนละประมาณ 3,000 บาท ไม่รวมค่าเช่าที่ดินที่ต้องจ่ายให้กรมธนารักษ์ในอัตราขั้นบันไดอีกต่างหาก) หากใครไม่เข้าร่วมจะถูกกรมธนารักษ์ฟ้องขับไล่ข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐ แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่ กทม. จะถูก กทม.ฟ้องฐานบุกรุกและรุกล้ำกีดขวางทางน้ำ โดยอ้างว่าเป็นเหตุให้น้ำท่วม ฯลฯ โดยไม่คำนึงว่าชาวบ้านยากจนข้นแค้นอยู่แล้ว ข้าวกรอกหม้อยังแทบจะไม่มีจะเอาเงินที่ไหนมาผ่อนชำระ 20 ปี

นอกจากนี้นายศรีสุวรรณ ยังอ้างว่าพื้นที่ดินดังกล่าวมีสภาพเป็นคลองสาธารณะตามธรรมชาติ ดังนั้นการที่หน่วยงานรัฐนำดินมาถมรุกล้ำไม่ผิดกฎหมายหรืออย่างไร?

เตรียมร้องเรียนรัฐนำดินมาถมคลองเปรมประชากรเพื่อสร้างบ้านมั่นคง ผิด กม.หรือไม่

พอช.แจงความเป็นมาโครงการพัฒนาคลองเปรมฯ

ทางด้าน นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า โครงการบ้านมั่นคง "สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงชุมชนวัดรังสิต จำกัด” เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตามแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลอง และการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 โดยมีกรอบการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ

1.ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อมของเมือง เช่น การสร้างเขื่อนระบายน้ำริมคลองเปรมประชากรเพื่อป้องกันน้ำท่วมและระบบรวบรวมบำบัดน้ำเสีย 2. ด้านการพัฒนาชุมชนริมคลอง ซึ่งมีเป้าหมายการพัฒนาที่อยู่อาศัยของทุกครัวเรือนอยู่ริมคลอง โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รับผิดชอบดำเนินการ มีกลุ่มเป้าหมายในเขตกรุงเทพมหานคร 3 เขต คือ ดอนเมือง หลักสี่ และจตุจักร จำนวน 32 ชุมชน และพื้นที่เทศบาลตำบลหลักหก อ.เมือง จังหวัดปทุมธานี 6 หมู่ กลุ่มเป้าหมายรวม 6,386 ครัวเรือน ระยะความยาวตามแนวคลองประมาณ 17 กิโลเมตร (จากความยาวทั้งหมด 50.8 กิโลเมตร) 3. ด้านการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน และ 4.ด้านกฎหมายและการขับเคลื่อนงาน
 
“การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากรนั้น พอช. ได้กำหนดแผนระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2562 – 2565 โดยใช้รูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวทางโครงการบ้านมั่นคง ลักษณะเดียวกันกับการดำเนินโครงการที่คลองลาดพร้าว โดยให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการดำเนินโครงการ เริ่มจากการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เพื่อเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ เพราะเป็นที่ดินราชพัสดุที่กรมธนารักษ์ดูแล มีการออกแบบและวางผังร่วมกันทั้งชุมชน เพื่อขออนุญาตปลูกสร้างบ้านใหม่จากกรมธนารักษ์และท้องถิ่น เพื่อให้บ้านใหม่ที่จะสร้างขึ้นมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการอยู่อาศัย เปลี่ยนจากผู้บุกรุกเป็นผู้อยู่อาศัยที่ถูกต้องตามกฎหมาย และช่วยให้การดูแลรักษาสภาพแวดล้อมคลองเปรมประชากรเป็นไปได้อย่างยั่งยืน” นายสมชาติกล่าวถึงความเป็นมาของการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมฯ

เปลี่ยนจาก “ผู้บุกรุกเป็นผู้อยู่อาศัยอย่างถูกต้อง”

นอกจากนี้นายสมชาติยังชี้แจงเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากรที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ดังนี้ 

1. ชาวบ้านริมคลองเปรมประชากร บริเวณที่รื้อย้าย 628 เมตร (เพื่อสร้างบ้านใหม่และเปิดพื้นที่ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองสร้างเขื่อนระบายน้ำ) ส่วนใหญ่เข้ามาอยู่อาศัยในช่วงการสร้างหมู่บ้านเมืองเอก (ประมาณ 30-50ปี) บางครัวเรือนมาอยู่อาศัยในช่วงประมาณสิบปีหลัง ไม่ใช่ 77 ปีตามที่กล่าวอ้าง และเป็นที่ดินราชพัสดุ กรมธนารักษ์ดูแล โดยรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาคลองเปรมประชากร ซึ่งจะต้องรื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำคูคลองเพื่อเปิดพื้นที่สร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม ขณะเดียวกันประชาชนก็จะได้พัฒนาที่อยู่อาศัย จากเดิมที่มีสภาพเป็นชุมชนแออัด บ้านเรือนทรุดโทรม สถานภาพบุกรุก เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้อง โดยจะมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชน พัฒนาสิ่งแวดล้อม และคูคลองต่อไป

2. ทุกครัวเรือนผ่านกระบวนการรับรองสิทธิเพื่อเข้าร่วมโครงการ และเกือบทั้งหมดยินดีเข้าร่วมโครงการ เพื่อจะเปลี่ยนจากผู้อยู่อาศัยไม่ถูกต้องตามกฏหมาย เป็นการอยู่อาศัยที่ถูกต้อง ด้วยการเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์และปลูกสร้างบ้านตามแบบที่ได้รับการ อนุญาตจากท้องถิ่น ตามผังที่ได้ตกลงแบ่งปันที่ดินริมตลิ่งร่วมกัน (ดำเนินโครงการเฟสแรก จำนวน 210 ครัวเรือน มีเพียง 3 ครัวเรือน ที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการและรื้อถอนบ้านเดิมที่ผิดกฎหมาย โดยมีการต่อต้าน 1 ครัวเรือน)

3. การกู้เงินเพื่อปลูกสร้างบ้านเป็นการกู้จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ (โดยสหกรณ์เคหสถานที่จัดตั้งขึ้นจากสมาชิกชุมชนในนามสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงชุมชนวัดรังสิต จำกัด) กระจายไปแต่ละครัวเรือนๆ ละ 360,000 บาท จากราคาบ้านที่ประมาณการ 460,000 บาท โดยส่วนต่างเป็นการออมสบทบของสมาชิกและเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ภาระการผ่อนครัวเรือนละ 2,580 บาท/เดือน ระยะเวลา 20 ปี นอกจากรัฐอุดหนุนเรื่องก่อสร้างบ้านเพื่อให้ชาวบ้านกู้เงินไม่สูงมากจนเกินภาระของครัวเรือนแล้ว ยังมีงบช่วยเหลือเรื่องระบบสาธารณูปโภค และค่าเช่าบ้านในช่วงรื้อย้ายบ้านเดิมและสร้างบ้านใหม่ (รวมงบอุดหนุนให้แต่ละครัวเรือน 147,000 บาท)

การกำหนดแบบบ้านจะพิจารณาจากความสามารถในการรับภาระของครัวเรือนด้วย (ดูจากเงินออมทรัพย์สมทบต่อเดือน) โดยมีสมาชิก 10 ครัวเรือน ที่เลือกแบบบ้านชั้นเดียว เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพรายได้ โดยมีภาระผ่อนชำระประมาณ 1,500 บาท/เดือน 

ส่วนภาระค่าเช่าที่ดินของกรมธนารักษ์ กรมธนารักษ์จะคิดค่าเช่าในอัตราผ่อนปรน ปัจจุบันเฉลี่ย 60 บาท/ครัวเรือน หรือปีละ 720 บาท (ขนาดที่ดินต่อครัวเรือน 4X7 ตารางเมตร ไม่รวมพื้นที่ส่วนกลาง) มีการปรับค่าเช่า 3 ปี/ครั้ง ๆ ละ 9% โดยประมาณการว่าค่าเช่าในปีที่ 28-30 จะอยูที่ครัวเรือนละประมาณ 120 บาท/เดือน (ค่าเช่ารวม 30 ปีต่อครัวเรือนรวมไม่เกิน 30,000 บาท)

“การดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากรนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาให้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนเห็นประโยชน์ร่วมกันทั้งส่วนตนและส่วนรวม และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาไปพร้อมกับภาครัฐ เพื่อให้ชาวชุมชนริมคลองเปรมฯ และลูกหลาน มีคุณภาพชีวิต มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ขณะเดียวกันส่วนรวมก็จะได้ประโยชน์จากการสร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งบำบัดน้ำเสียได้ด้วย” นายสมชาติกล่าวในตอนท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท