สุรพศ ทวีศักดิ์: นักบวชพุทธกับการวิจารณ์ประชาธิปไตยบนจุดยืนทศพิธราชธรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อเร็วๆ นี้ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ใช้เฟสบุ๊ค Hansa Dhammahaso ที่ตั้งค่าเป็นสาธารณะโพสต์วิจารณ์ปัญหาการเมืองในอเมริกา กรณีโดนัลด์ ทรัมป์ปลุกม็อบบุกสภาคองเกรส โดยใช้จุดยืน “ทศพิธราชธรรม” ในการวิจารณ์ตัดสินสถานการณ์และประชาธิปไตยว่า

#ประชาธิปไตยที่ไร้ธรรม
#จึงกลายเป็นประชาธิปตาย

วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศอังกฤษกล่าวว่า "ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่ดีที่สุด หากแต่เป็นระบอบที่เลวน้อยที่สุด" พระพุทธเจ้าแม้จะไม่เคยตรัสชื่นชมระบอบการปกครองเอาไว้อย่างชัดแจ้งว่าระบอบใดดีที่สุด แต่พระองค์ทรงชี้ไว้ว่าผู้นำเช่นใดที่ดีที่สุดหรือเลวที่สุด
.
ผู้นำที่จะสามารถบริหารจัดการการเมืองการปกครองได้ดีที่สุด ต้องเป็นผู้นำที่ทรงทศพิธราชธรรม เริ่มจากการรู้จักแบ่งปัน มีศีล เสียสละ ซื่อตรง อ่อนโยน ข่มกิเลส ไม่โกรธ ไม่เบียดเบียน อดทน และมีความยุติธรรม ทั้ง10 ข้อ คือคุณสมบัติในการระมัดระวังพฤติกรรม และจัดการอารมณ์ของผู้นำมิให้หลงไหลไปตามกระแสของกิเลสที่เข้ามายั่วยวน
.
หลายครั้งมักจะมีการถกเถียงกันว่า ระบอบหรือระบบดีกว่าคน หรือคนสำคัญกว่าตัวระบอบหรือระบบ แต่ไม่ว่าจะโต้เถียงกันอย่างไรก็ตาม ทั้งตัวระบอบหรือระบบ และคนก็ต้องอาศัยธรรมเป็นเครื่องมือหล่อหลอมและกล่อมเกลาเพื่อระบอบและคนมีหลักยึด หาไม่แล้ว ประชาธิปไตยที่ไร้ธรรม ก็จะกลายเป็นประชาธิปตายในที่สุด คือตายทั้งคนและตายทั้งระบอบหรือระบบ

อย่างที่เราเห็นบ่อยๆ นักบวชพุทธไทยนิยมใช้จุดยืนทางศีลธรรมแบบพุทธวิจารณ์ตัดสินปัญหาการเมืองภายในประเทศและต่างประเทศเสมอมา แต่ปัญหาสำคัญของพวกเขาคือ 1) ความไม่ชัดเจนในความคิดทางการเมืองแบบพุทธเอง 2) การไม่ยอมรับปัญหาสำคัญของการใช้แนวคิดทางการเมืองแบบพุทธในประวัติศาสตร์ของรัฐพุทธศาสนา 3) การตีขลุมว่าความคิดทางการเมืองแบบพุทธใช้ได้ดีอย่างเป็นสากลกับทุกระบบการปกครอง และ 4) การอ้างหลักทศพิธราชธรรมแบบผิดฝาผิดตัว

ประเด็นที่ 1 นักบวชพุทธเข้าใจกันว่า พุทธะไม้ได้เสนอระบบการปกครองแบบใดโดยเฉพาะ แค่เสนอคุณธรรมผู้ปกครองเท่านั้น เพราะระบบการปกครองแบบราชาธิปไตยมีอยู่ก่อนพุทธกาลแล้ว พุทธะไม่ได้เสนอให้สร้างระบบนี้ขึ้นมา 

ใช่ครับ ในยุครัฐศาสนา หรือยุคศาสนากับการเมืองไม่แยกจากกัน ราชาธิปไตยในสังคมอินเดียมีมาก่อนพุทธกาล ซึ่งเป็นราชาธิปไตยแบบพราหมณ์ฮินดู แต่การที่พุทธะเสนอว่า ราชา กษัตริย์ จักรพรรดิที่ดีต้อง “ปกครองโดยธรรม” คือใช้หลักทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร ราชสังคหวัตถุ ขัตติยพละในการปกครอง แบบนี้ไม่เรียกว่า “ราชาธิปไตยแบบพุทธ” จะเรียกว่าอะไร เพราะราชาธิปไตยแบบพราหมณ์ฮินดู เขาก็มีราชธรรม ราชนีติหรือปรัชญาการเมืองแบบพราหมณ์ฮินดูเป็นหลักการปกครองของเขาอยู่แล้ว ราชาธิปไตยที่ปกครองโดยธรรมตามปรัชญาการเมืองแบบพุทธ ก็ต้องเป็นราชาธิปไตยแบบพุทธจริงไหม  

ในจักกวัตติสูตรพูดชัดเจนว่า จักรพรรดิธรรมราชาต้องปกครองโดยธรรม ถือธรรมเป็นใหญ่ ถือธรรมเป็นธงชัย เคารพธรรม เชิดชูธรรม นอบน้อมธรรม สอนธรรมแก่ผู้ใต้ปกครอง และต้องอุปถัมภ์คณะสงฆ์และส่งเสริมการเผยแพร่พุทธศาสนา ขณะที่ฝ่ายคณะสงฆ์เองก็ต้องสนับสนุนการปกครองโดยธรรมของจักรพรรดิธรรมราชา และสอนประชาชนให้มีศีลธรรม พุทธะก็ยืนยันว่ามีธรรมราชาสองประเภทที่เกิดมาเพื่อประโยชน์สุขของชาวโลกคือ “จักรพรรดิธรรมราชา” กับ “พุทธธรรมราชา” ทั้งสองทำหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมกัน นี่คือไอเดียรองรับความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์และสนับสนุนกันระหว่าง “อาณาจักร” กับ “ศาสนจักร” ของ “รัฐพุทธศาสนา” (Buddhism State) ชัดเจน 

ดังนั้น เมื่อมองระดับไอเดียหรือแนวคิดที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนา จึงชัดเจนว่ามีไอเดีย “ราชาธิปไตยแบบพุทธ” และ “รัฐพุทธศาสนา” ที่ถือว่าเป็นราชาธิปไตยที่ยึดหลักการปกครองโยธรรม และรัฐกับศาสนาไม่แยกจากกัน มีความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์และสนับสนุนส่งเสริมกัน

เปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ ในระดับคัมภีร์ของคริสต์ศาสนาไม่มีคำสอนเกี่ยวกับราชาธิปไตยว่าควรยึดหลักธรรมอะไรปกครองเลยด้วยซ้ำ แต่ในยุคกลางการที่กษัตริย์ใช้อำนาจเทวสิทธิ์ปกครองและรัฐกับศาสนจักรมีความสัมพันธ์เชิงสนับสนุนกัน กษัตริย์ ขุนนาง และนักบวชเป็นชนชั้นสูงเหมือนกัน เขาก็เรียกตนเองว่าเป็น “รัฐคริสเตียน” (Christian State) แต่พุทธศาสนามีทั้งไอเดียว่าราชาธิปไตยควรยึดหลักธรรมอะไรบ้างในการปกครอง และมีไอเดียความสัมพันธ์แบบสนับสนุนกันระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาชัดเจนมาก อีกทั้งยังมีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันการเกิดขึ้นและพัฒนาการของรัฐพุทธศาสนาชัดเจน ทว่านักบวชและชาวพุทธบ้านเรากลับเลี่ยงที่จะพูดถึงข้อเท็จจริงและปัญหาคล้ายๆ กันที่เกิดขึ้นกับรัฐศาสนาแบบคริสต์ แบบอิสลามและแบบอื่นๆ แม้แต่ปัญหาระบบชนชั้น การกดขี่ที่เกิดขึ้นในรัฐพุทธไทยที่สืบเนื่องมาแต่อดีต ก็มัก “โยนขี้” ให้กับพราหมณ์ฮินดู นักบวชและพุทธศาสนา “ลอยนวล” เหนือปัญหาและความรับผิดชอบใดๆ ตลอดมา เอาแต่ชี้นิ้วไปที่ความเชื่ออื่นๆ แม้กระทั่งปัจจุบันยังชี้นิ้วไปที่ปัญหาของระบบประชาธิปไตย

ประเด็นที่ 2 ในทางประวัติศาสตร์มีการนำไอเดียราชาธิปไตยแบบพุทธและรัฐพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้จริง อย่างน้อยตั้งแต่ยุครัฐพุทธศาสนาแบบอโศกเป็นต้นมา ในสยามไทยก็อ้างว่าใช้ “การปกครองโดยธรรม” ตั้งแต่สุโขทัย มีหลักฐานที่ยืนยันว่ากษัตริย์เป็นธรรมราชา สมมติเทพ เทวราช พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้อายู่หัว รัฐกับคณะสงฆ์ก็มีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์และส่งเสริมกันมาตลอด ชื่อยาวๆ ของกษัตริย์ เครือญาติกษัตริย์ ชื่อยศขุนนางชั้นต่างๆ และชื่อสมณศักดิ์ฐานันดรของนักบวชก็ขึ้นต้นด้วยคำว่า “พระ” และยาวหลายบรรทัด ล้วนเป็นภาษาพุทธศาสนาแทบทั้งนั้น แปลออกมาแล้วมีความหมายสูงส่งทะลุฟ้า กษัตริย์ เครือญาติกษัตริย์ ขุนนางและนักบวชก็คือกลุ่มชนชั้นสูงเหนือหัวพวกไพร่ ทาส หลักฐานที่แสดงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองก็คือความอลังการของวังกับวัด และศาสนสถานต่างๆ 

แต่ในยุคราชาธิปไตยแบบพุทธหรือยุครัฐพุทธศาสนารุ่งเรืองมาหลายศตวรรษนั้น ก็คือยุค “รัฐพุทธศักดินา” และตามมาด้วยยุค “รัฐพุทธราชาชาตินิยม” ที่ยังมีมรดกความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์และสนับสนุนกันระหว่าง “ราชา” กับ “พุทธศาสนา” ตกทอดมาถึงปัจจุบัน ภายใต้ระบบเช่นนี้ประชาชนไม่เคยมีสิทธิ เสรีภาพ ความสเมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างที่เขามีกันได้ในระบบประชาธิปไตยแต่อย่างใด

ดังนั้น ที่นักบวชพุทธอ้างคำพูดของอดีตผู้นำอังกฤษว่า “ประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด” คุณฉุกคิดหรือไม่ว่า ประชาธิปไตยก็เลวน้อยกว่าราชาธิปไตยแบบพุทธ หรือรัฐประชาธิปไตยย่อมดีกว่ารัฐพุทธศาสนาที่รุ่งเรืองมาควบคู่กับความรุ่งเรืองของระบบศักดินาที่ปกครองโดยทศพิธราชธรรม

ประเด็นที่ 3 นักบวชพุทธคงลืมหรือแกล้งลืมไปว่า ในรัฐพุทธไทย ทั้งชนชั้นปกครอง นักบวช และผู้คนทั่วไปท่อง “ทศพิธราชธรรม” กันขึ้นใจมาตั้งแต่ยุคสุโขทัย ปัจจุบันก็ยังบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า “กษัตริย์ต้องทรงเป็นพุทธมามกะ” และกษัตริย์ก็ยืนยันว่า “ปกครองโดยธรรม” และยังมีการบังคับเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในหลักสูตรการศึกษาของรัฐ ให้ท่องทศพิธราชธรรมและหลักศีลธรรมอื่นๆ ของพุทธศาสนากันอยู่ แต่การเมืองไทยก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ยังทำรัฐประหารและใช้ความรุนแรงกดปราบและเข่นฆ่าประชาชนซ้ำซาก หลายๆ ครั้งมีนักบวชและชาวพุทธอ้าง “ธรรมะ ธรรมาธิปไตย” สนับสนุนรัฐประหารและความรุนแรงด้วย 

ดังนั้น นักบวชพุทธจะเคลมว่า ปัญหาการเมืองอเมริกาเกิดจากตัวบุคคลหรือผู้นำไม่มี “ทศพิธราชธรรม” หรือทั้งบุคคลและระบบไม่มี “ธรรมะ” ได้อย่างไร ความจริงก็คือสังคมประชาธิปไตยอเมริกันไม่เคยรู้จักทศพิธราชธรรม หรือธรรมะที่นักบวชพุทธสอนเลย แต่การเมือง เศรษฐกิจ และอื่นๆ ของเขาก็ก้าวหน้ากว่าไทยที่รู้จักทศพิธราชธรรม, ธรรมะขึ้นใจหลายร้อยปี ปัญหากรณีทรัมป์และกรณีอื่นๆ นับไม่ถ้วนที่เคยเกิดขึ้นเขาก็แก้ไขตามระบบประชาธิปไตย หรือตัวระบบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งนั่นเองที่ถูกนำมาแก้ปัญหาต่างๆ ได้เสมอมา ชาวอเมริกันจึงไม่เรียกร้องให้คนดีมีธรรมะมาทำรัฐประหารล้มระบบประชาธิปไตยเหมือนสังคมพุทธไทย ที่สุดท้ายแล้วก็พังระบบทิ้ง ส่วนที่อ้างกันว่าเป็นคนดีมีคุณธรรมก็จอมปลอมทั้งนั้น

มันจึงเป็น “มายาคติ” (mythology) คือ เป็นการยืนยันความเท็จให้กลายเป็นความจริง หรือเชื่อความเท็จเป็นจริงเป็นจัง จนหลงยึดถือเสมือนมันเป็นความจริงแท้ไม่เปลี่ยนแปลงว่า ทั้งตัวบุคคลและระบบการปกครองทุกยุคสมัย ทุกบริบทสังคม ต้องมีธรรมะตามคำสอนพุทธศาสนาจึงจะเป็นผู้นำที่ดีที่สุดและเป็นระบบการปกครองที่ดีที่สุดได้ ทั้งๆ ที่ตามข้อเท็จจริงแล้ว พุทธะเพียงแค่สอนทศพิธราชธรรมสำหรับระบบราชาธิปไตยแบบโบราณเท่านั้น และประวัติศาสตร์ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าระบบโบราณเช่นนั้นได้ถูกโยนทิ้งไปแล้ว

ประเด็นสุดท้าย นักบวชไทยไม่เคยรู้หรือ “ไม่ตระหนักรู้” เลยว่า พวกเขาอ้างทศพิธราชธรรมวิจารณ์การเมืองแบบ “ผิดฝาผิดตัว” คุณไปอ้างทศพิธราชธรรมวิจารณ์ตัดสินการเมืองในระบบประชาธิปไตยได้อย่างไร เพราะระบบประชาธิปไตยเขามีหลักการปกครอง มีกรอบกติกาที่เป็น “สัญญาประชาคม” อันเป็นมาตรฐานตัดสินถูก ผิด ชอบธรรม ไม่ชอบธรรมชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว ระบบประชาธิปไตยไม่เคยประกาศใช้ “ทศพิธราชธรรม” (หรือหลักธรรมของศาสนาใดๆ) เป็นสัญญาประชาคมในการปกครอง คุณจะเอาทศพิธราชธรรมมาประเมินตัดสินประชาธิปไตยไม่ได้ มันไม่สมเหตุสมผล หรือไม่ make sense เลย แต่นักบวชกลับไม่เคยรู้ตัวเองว่ามั่วมาตลอด 

กษัตริย์ไทยต่างหากที่ประกาศเป็นสัญญาประชาคมว่า “จะปกครองโดยธรรม” หรือใช้ทศพิธราชธรรมปกครอง แต่แทนที่นักบวชจะใช้ทศพิธราชธรรมวิจารณ์ตัดสินผู้ซึ่งประกาศว่าปกครองโดยธรรม กลับเทศนาทศพิธราชธรรมอวยกษัตริย์อย่างเดียว แล้วไปใช้ทศพิธราชธรรมวิจารณ์ตัดสินนักการเมืองในระบบประชาธิปไตยของประเทศตนเอง กระทั่งใช้ตัดสินประชาธิปไตยในอเมริกา นี่นักบวชเคยเรียนรู้ที่จะ “ตื่นรู้” ปัญหาความมั่วของตัวเองบ้างไหม

พูดตรงไปตรงมาคือ อย่าเอาแต่อ้างทศพิธราชธรรม ธรรมะ ธรรมาธิปไตยชี้นิ้วตัดสินนักการเมืองในระบบประชาธิปไตยที่ไม่เคยประกาศใช้หลักคำสอนเหล่านี้ของพุทธศาสนาเป็น “สัญญาประชาคม” เลยครับ กลุ่มบุคคลที่ประกาศใช้หลักความเชื่อพุทธศาสนา และสอนความเชื่อพุทธศาสนา เช่น กษัตริย์ที่ปกครองโดยธรรม และระบบปกครองสงฆ์หรือมหาเถรสมาคมต่างหาก ที่ต้องถูกตั้งคำถามและวิจารณ์ตรวจสอบว่า ได้ทำตามหลักทธพิธาชธรรม ธรรมะ ธรรมาธิปไตยหรือไม่เพียงใด

หรือพูดให้ตรงกับกลุ่มคนผู้มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อหลักการพุทธโดยตรงคือ คือ ระบบของนักบวชที่สอนธรรมะ ธรรมาธิปไตย เช่น ระบบมหาเถรสมาคมได้ใช้ธรรมะ ธรรมาธิปไตยในการปกครองอย่างไรให้ดีกว่าระบบประชาธิปไตย ถ้ายังใช้ “หลักการของตนเอง” ทำให้องค์กรตนเองดีกว่าประชาธิปไตยไม่ได้ แล้วยังกล้าใช้หลักการของตนเองไปวิจารณ์ตัดสินประชาธิปไตยที่เขามีหลักการของเขาชัดเจนอยู่แล้ว มันก็เป็นเรื่อง “ผิดฝาผิดตัว” และกลายเป็นเรื่องตลกที่ขำไม่ออกสำหรับคนที่เขารู้ทัน
 

 

ที่มาภาพ: https://www.banmuang.co.th/news/politic/98468

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท