Skip to main content
sharethis

สภามีมติ 366 : 316 เสียงส่งศาลศาลรัฐธรรมนูญตีความสภามีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ฝ่ายค้านแย้งเป็นการเตะถ่วงไม่จริงใจที่จะให้เกิดการแก้ไข "พิธา ก้าวไกล" ญัตตินี้ทำให้การแก้ไขทำได้ยากกว่าการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ เป็นการตัดอำนาจประชาชนและสภาที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

9 ก.พ.2564 เวลา 14.24 น. ที่ประชุมรวมรัฐสภา ในการประชุมพิจารณาส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 366 ต่อ 316 เสียง เห็นชอบให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย งดออกเสียง 15 คน จากผู้เข้าร่วมลงมติ 696 คน

การยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้สืบเนื่องมาจากไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พลังประชารัฐ และสมชาย แสวงการ วุฒิสมาชิก เสนอญัตติด่วนต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติขอให้ศาล รธน. ตีความว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 210 (2) รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หรือไม่

ก้าวไกลอภิปราย ญัตตินี้ตัดอำนาจประชาชนแก้รัฐธรรมนูญ

ก่อนที่จะมีการลงมติ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายในประเด็นนี้ว่า ที่ผ่านมามีความพยายามยื้อเวลาเตะถ่วงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่เป็นระยะ ตั้งแต่การตั้งกรรมาธิการศึกษาหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ของสภาผู้แทนราษฎร, การตั้งกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการฯ ของรัฐสภา แต่ในที่สุดรัฐสภาก็สามารถผ่านวาระ 1 รับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ แม้เนื้อสาระและรูปแบบที่จะแก้อาจจะไม่น่าพอใจ แต่สมาชิกพรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งฝ่ายรัฐบาลก็เห็นตรงกันว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

"สิ่งที่ท่านกำลังทำไม่ใช่การถ่วงเวลา แต่มันเป็นญัตติที่เลวร้ายยิ่งกว่า เพราะนี่คือการหาหนทางตัดทอนอำนาจของรัฐสภาและของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปตลอดกาล เป็นความพยายามแช่แข็งประเทศไทย ด้วยการทำให้รัฐธรรมนูญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นรัฐธรรมนูญฉบับนิรันดรของประเทศไทย โดยอ้างว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำได้ ก็ต่อเมื่อมีบัญญัติไว้ให้กระทำได้เท่านั้น ดังเช่นใน รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 หรือปี 2549 " พิธาแสดงความเห็นต่อการยื่นญัตติครั้งนี้

พิธา กล่าวต่อไปว่า เป็นเรื่องปกติที่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแทนที่ตัวเอง แต่ในระบอบประชาธิปไตย ก็เป็นเรื่องปกติเช่นกันที่ประชาชนในฐานะผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ และรัฐสภาซึ่งรับอำนาจมาจากประชาชน สามารถใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาได้ ดังที่รัฐสภาของไทยเองก็เคยทำมาแล้วในกรณีรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475, ฉบับ 2489, และฉบับ 2540 จึงต่างกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มาจากวงจรรัฐประหารทั้งนั้นที่มีบทบัญญัติตั้งแต่แรกให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ถ้ายอมรับการตีความแบบนี้ หมายความว่า ประเทศไทยจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ก็ด้วยการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญเท่านั้นใช่หรือไม่ นี่คือความหมายที่แท้จริงของการยื่นญัตตินี้

นอกจากนี้ พิธา ยังระบุว่า อย่าใช้ตุลาการเพื่อเพิ่มปมขัดแย้ง อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 210 (2) ที่ให้ “พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ” เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่นี้เป็นภาพสะท้อนของการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 ที่พยายามขยายอำนาจตุลาการจนล้นเกิน เพื่อให้เข้ามามีบทบาทในการควบคุมกำกับการใช้อำนาจขององค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน นี่เป็นความพยายามสร้างระบอบ 'ตุลาการธิปไตย' หรือ ตุลาการเป็นใหญ่ ทำให้ดุลอำนาจสามฝ่ายอย่างที่ควรจะเป็น พิกลพิการไป

ทั้งนี้ พิธา ย้ำว่า การแบ่งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ทั้งสามอำนาจมีขึ้นเพื่อให้ระบอบการเมืองมีการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เชื่อว่าทุกท่านเคยผ่านประสบการณ์มาแล้วว่า ที่ผ่านมาเมื่อมีอำนาจฝ่ายไหนไปล้ำเส้นของอีกฝ่าย บ้านเมืองจะวุ่นวายขนาดไหน

พิธากล่าวต่อว่า ในปัจจุบันเครือข่ายคณะรัฐประหารก็สามารถยึดกุมอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อพวกท่าน ยึดกุมระบบการเลือกตั้งได้ ยึดกุมรัฐสภาได้ พื้นที่ทางการเมืองเกือบทั้งหมดอยู่ในมือพวกท่าน แม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ หากเกิดขึ้นจริงก็ยังเป็นที่กังวลว่าจะอยู่ในมือของพวกท่านอีก แต่ก็ยังจะใช้สถาบันตุลาการเป็นเครื่องมือเพื่อกินรวบพื้นที่ทางการเมืองทั้งหมด หากยังดื้อดึง ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่มีแต่จะพาไปสู่ทางตัน

ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ควรทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นเรื่องปกติพื้นฐานสามารถกระทำได้โดยรัฐสภา โดยกระบวนการประชาธิปไตยซึางควรเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับมากกว่าการฉีกรัฐธรรมนูญโดยกองทัพ อย่าทำให้รัฐธรรมนูญถาวรฉบับต่อไปต้องทำผ่านการรัฐประหารอีก สิ่งที่ต้องยืนยันคือ รัฐธรรมนูญเป็นเจตจำนงของประชาชน การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแทนที่ฉบับของคณะรัฐประหาร ต้องมาจากเจตนารมณ์ของประชาชนผ่าน สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง

"สุดท้าย ผมขอเรียกร้องให้เพื่อนสมาชิกทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ช่วยกันลงมติไม่เห็นชอบญัตติฉบับนี้ เพื่อเป็นการยืนยันถึงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประเทศนี้เป็นของประชาชน และแสดงให้เห็นว่าสภาแห่งนี้เป็นตัวแทนของเสียงประชาชนอย่างแท้จริง" พิธา

สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ในนามกลุ่มสร้างไทยถึงการยื่นญัตติครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

แถลงการณ์ระบุว่า การขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 โดยมี สสร. เป็นองค์กรในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ (ยกเว้นการแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2) ได้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2534 ทุกประการ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเช่นกัน แต่สมาชิกรัฐสภาก็ได้ให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2539 เป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่โดย สสร. จึงกระทำได้และเป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทุกประการ

“กลุ่มสร้างไทย” เห็นว่า การใช้สิทธิของบุคคลจะต้องเป็นไปโดยสุจริต แต่พฤติกรรมที่ผ่านมาของสมาชิกรัฐสภากลุ่มนี้ส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตมาแต่แรก เริ่มจากการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากนั้นถ่วงเวลาด้วยการขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาเพื่อพิจารณาศึกษาญัตติการขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และล่าสุดคือการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของตน

“กลุ่มสร้างไทย” เห็นว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร. ฉบับที่ถูกใช้เป็นร่างในการพิจารณาในรัฐสภาขณะนี้ ได้ถูกเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรพรรคร่วมรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำและผู้ที่จะเสนอญัตติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็เป็นผู้ร่วมลงชื่อในร่างแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวด้วย อีกทั้งร่างดังกล่าวยังได้รับการลงมติเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภาในวาระแรกแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 124 ยังบัญญัติให้การออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกรัฐสภาเป็นเอกสิทธิ์เด็ดขาดที่ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดๆ มิได้ กรณีจึงไม่มีเหตุอันควรและล่วงเลยเวลาที่จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงอำนาจหน้าที่ในการลงมติแล้ว นอกจากจะเป็นไปเพื่อถ่วงขั้นตอนและเวลาการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน

นอกจากนี้ “กลุ่มสร้างไทย” ยังเห็นว่า รัฐธรรมนูญได้กำหนดขั้นตอนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไว้แล้วตามมาตรา 256 (9) ที่ให้อำนาจสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ มีสิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกเพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ดังนั้น การเพิ่มขั้นตอนจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้จึงเป็นการถ่วงเวลาการมีรัฐธรรมนูญของประชาชน

“กลุ่มสร้างไทย” เห็นว่าเมื่ออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ประชาชนจึงย่อมมีอำนาจที่จะแต่งตั้งตัวแทนเพื่อร่างรัฐธรรมนูญอันเป็นหลักประกันการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของตนได้โดยชอบ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งถูกร่างขึ้นโดยคณะบุคคลที่ถูกแต่งตั้งโดยเผด็จการที่นอกจากจะไม่มีความชอบธรรมแล้ว เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญยังขัดต่อหลักนิติธรรมและเป็นไปเพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการอันนำมาซึ่งความขัดแย้งและความล้มเหลวในการบริหารประเทศสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่าดังที่เกิดขึ้นแล้วจนถึงปัจจุบัน ยกเว้นเพียงกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากการเกื้อหนุนของเผด็จการที่อยู่บนต้นทุนของประเทศและความเดือดร้อนของประชาชน

กลุ่มสร้างไทยจึงขอประณามสมาชิกรัฐสภาทุกคนที่ถ่วงเวลาการมีรัฐธรรมนูญของประชาชน พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาท่านอื่นๆ ได้ตระหนักว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย จึงควรรีบคืนอำนาจให้กับประชาชนเพื่อให้มีการเลือกตั้ง สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ที่เป็นของประชาชนโดยเร็ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net