สภาเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไข รธน. วาระ 3 ก้าวไกล-เพื่อไทยยันกระบวนการถูก กม.

ประธานรัฐสภาเปิดเผยว่า บรรจุวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมวาระ 3 วันที่ 17 มี.ค. แต่ยังไม่ทราบหลังโหวตจะดำเนินการอย่างไร ก้าวไกล-เพื่อไทยชี้กระบวนการที่ผ่านถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่โภคิน แกนนำสร้างไทย เสนอเลื่อนลงมติวาระ 3 

ประธานสภายันเดินหน้าพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมวาระ 3 วันที่ 17 มี.ค.

12 มี.ค. 2564 สำนักข่าวไทยรายงานว่า ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เปิดเผยว่า ฝ่ายกฎหมายได้ศึกษาและรายงานให้ทราบกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ทราบแล้ว ซึ่งสามารถเดินหน้าพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมวาระ 3 ที่บรรจุระเบียบวาระในวันที่ 17 มี.ค. นี้ได้ แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าหลังจากโหวตวาระ 3 แล้วจะดำเนินการอย่างไร ขอให้ผ่านกระบวนการโหวตก่อน ไม่มีปัญหา หากสมาชิกบางคนกังวลและจะไม่ร่วมโหวตด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ยังไม่ได้รับคำวินิจฉัยเต็มจากศาลรัฐธรรมนูญ แต่รัฐสภาจะยึดหลักรัฐธรรมนูญเป็นหลัก จากนั้นดูคำวินิจฉัยว่ามีผลผูกพันทุกองค์กรอย่างไร

ก้าวไกลแถลง กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทั้งหมดเป็นอำนาจเต็มของรัฐสภา

ด้านทีมสื่อพรรคก้าวไกลรายงานว่า พรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์ต่อกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อน ว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

พรรคก้าวไกลขอยืนยันว่า กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอำนาจเต็มของรัฐสภา ที่ได้ดำเนินการมาโดยตลอดจนถึงขณะนี้ ตั้งแต่การเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (3) และการพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (4) และกำลังจะมีการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามต่อไป ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. 2564 เป็นต้นไป ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่ถูกต้อง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ

ทั้งนี้ แถลงการณ์พรรคก้าวไกล ระบุว่า กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ได้ดำเนินการมาจนถึงขณะนี้ ยังอยู่ในชั้นของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เพื่อเปิดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ยังมิได้เข้าสู่ชั้นของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ใช้บังคับแล้ว

“การที่ในขณะนี้ยังไม่มีการออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จึงมิได้เป็นเหตุให้กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ต้องสิ้นผลไป การออกเสียงประชามติดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นได้ภายหลังการการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สาม ตราบที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมยังไม่ประกาศใช้ ดังนั้นการลงมติในวาระสามจะต้องเกิดขึ้น ไม่มีทางถูกตีความเป็นอย่างอื่นได้ และไม่มีทางถูกขวางกั้นโดยกระบวนการอื่นใดได้อีก” แถลงการณ์ระบุ

รวมทั้ง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ซึ่งอยู่ในหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) กำหนดเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวดดังกล่าวผ่านการลงมติเห็นชอบในวาระที่สามแล้ว ให้นำไปออกเสียงประชามติก่อน แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ต่อไป ดังนั้น แม้ไม่ได้มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญข้างต้นออกมา การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ต้องมีการออกเสียงประชามติอยู่แล้วตามความของรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) และในเมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีการเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รวมอยู่ด้วย หากผลการออกเสียงประชามติปรากฏว่าประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ก็ย่อมหมายความว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านกระบวนการจัดทำตามหมวด 15/1 ด้วย

พรรคก้าวไกลขอยืนยันว่ากระบวนการทั้งหมดที่ผ่านมาแล้ว และที่จะเดินหน้ากันต่อไปเพื่อให้มีร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) เป็นกระบวนการให้รัฐสภาและประชาชนร่วมกันใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ เพื่อเข้าแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกรอบเงื่อนไขที่กำหนดทั้งสิ้น

จากที่กล่าวมา พรรคก้าวไกลจึงขอให้สมาชิกรัฐสภาทุกคนยืนยันในอำนาจของสมาชิกรัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดไว้ โดยร่วมกันผลักดันให้มีกระบวนการลงมติในวาระที่ 3 นี้ เพื่อให้ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ได้ผ่านกระบวนการขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญในส่วนของรัฐสภา และเข้าสู่ขั้นตอนการออกเสียงประชามติของประชาชน และเมื่อถึงเวลานั้น หากการออกเสียงประชามติเป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรม ซึ่งเป็นการออกเสียงประชามติตามกระบวนการที่ถูกกำหนดใน ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .... ที่สมาชิกรัฐสภาจะได้พิจารณาลงมติกันในการประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภานี้เช่นกันแล้ว ไม่ว่าผลการออกเสียงประชามติจะเป็นอย่างไรนั้น สมาชิกรัฐสภาทุกคนย่อมยอมรับผลของกระบวนการประชามติที่เกิดขึ้น

พรรคก้าวไกลหวังว่าสมาชิกรัฐสภาทุกท่านจะร่วมกันลงมติเห็นชอบต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพื่อส่งต่ออำนาจไปให้ประชาชนได้ลงประชามติเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่งต่ออนาคตให้ประชาชนได้กำหนดด้วยมือของพวกเขาเอง

ในท้ายแถลงการณ์ พรรคก้าวไกล แสดงจุดยืนว่า เพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นการแสดงถึงเจตจำนงของประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ซึ่งอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นอำนาจขั้นปฐมภูมิที่ไม่อาจถูกทัดทานด้วยเงื่อนไขใดๆ หรือโดยองค์กรใดๆ ที่มีศักดิ์ต่ำกว่าได้ หากการลงมติในวาระที่สามถูกคว่ำลงโดยเจตนาของสมาชิกรัฐสภาที่ไม่ต้องการให้ใช้กระบวนการทางรัฐสภาในการหาทางออกให้ประเทศ คณะรัฐมนตรีจะต้องผลักดันให้มีการจัดทำประชามติโดยเร็วที่สุด โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อถามประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่ โดยที่การจัดทำรัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในครั้งนี้จะต้องไม่ถูกจำกัดมิให้จัดทำในเนื้อหาสาระใดๆ ทั้งสิ้น หากไม่ดำเนินการเช่นนี้แล้วย่อมจะไม่เหลือทางออกให้กับประเทศผ่านกระบวนการการใช้อำนาจในวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญอีกเลย และหากรัฐสภาและสถาบันการเมืองในระบบทั้งหมด ยังคงประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการแสดงเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนอยู่เช่นนี้ อีกไม่นานประชาชนย่อมต้องเรียกร้องหาทางออกด้วยวิถีทางอื่นที่พ้นไปจากโซ่ตรวนของข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

เพื่อไทยยันการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

ขณะที่พรรคเพื่อไทยรายงานว่า สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับอำนาจรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น อยากกราบเรียนว่า การยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นการ “แก้ไขเพิ่มเติม” เมื่อศาลอนุญาตให้แก้ไขได้ทั้งฉบับเราก็จะดำเนินการต่อไปโดยไม่ให้ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่ออำนาจของรัฐสภากำลังดำเนินการอยู่ในวาระ 3 การจะไปปรับเปลี่ยนใดๆ อาจจะทำให้วาระนั้นตกไป ดังนั้นในวันที่ 17-18 มี.ค. นี้ เห็นว่าประธานรัฐสภาควรนำญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมตามระเบียบวาระการประชุมต่อไป

ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค กล่าวว่าสืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยให้อำนาจหน้าที่รัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ประกอบกับรัฐธรรมนูญ ม.256(5) ที่ระบุชัดเจนว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านมติในวาระ 2 แล้ว ให้เว้นระยะไว้ 15 วัน และโหวตในวาระ 3 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ซึ่งได้บรรจุเรื่องนี้ไว้ในวาระการประชุมแล้ว จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐสภาจะต้องดำเนินการตามระเบียบวาระที่ 3 ต่อไป ในนามพรรคร่วมฝ่ายค้านขอยืนยันการลงมติในวาระ 3 จึงเป็นความชอบธรรมถูกต้องดีแล้ว

ภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความสลับซับซ้อน และมีความพยายามที่จะทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินตามระบอบประชาธิปไตย พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงคิดว่าภารกิจขั้นต้น คือผลักดันให้กระบวนการในรัฐสภาสามารถเดินหน้าได้อย่างถูกต้องจนครบถ้วนกระบวนความ เราจะติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา และจะแถลงเป็นขั้นตอนว่า ในกระบวนการเหล่านี้จะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไรจนลุล่วง

สร้างไทยเสนอรัฐสภาเลื่อนลงมติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญวาระ 3

ดิโอเพนเนอร์รายงานว่า โภคิน พลกุล แกนนำกลุ่มสร้างไทย พูดถึงแนวทางหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่ารัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องผ่านการทำประชามติ และเมื่อทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ ก็ต้องทำประชามติอีกครั้งด้วย

กลุ่มสร้างไทยจึงขอเสนอให้รัฐสภาและรัฐบาลเลื่อนการลงมติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญวาระ 3 ออกไปก่อน เพื่อรอการทำประชามติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อรักษาสมดุลแห่งอำนาจในการลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญระหว่าง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล, ฝ่ายค้าน และส.ว.

พร้อมเห็นว่า ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังพิจารณาในรัฐสภาเป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาล เป็นเรื่องกระทบประโยชน์ประเทศและประชาชน นายกฯ คณะรัฐมนตรีควรเร่งปรึกษาประธานสภาฯ และประธานวุฒิสภา เพื่อประกาศราชกิจจาฯ ให้มีการออกเสียงประชามติ และสุดท้ายเห็นว่าทางออกเดียวที่นำพาประเทศออกจากวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง คือ การคืนอำนาจให้ประชาชน โดยการเลือกตั้ง ส.ส.ร. มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นไปตามความต้องการประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ

สุดท้ายของเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งทำประชามติในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยโดยเร็ว ถ้าพิจารณาดูแล้วจะใช้เวลาทำประชามติให้แล้วเสร็จไม่เกิน 90 วันตามกฎหมายประชามติที่ยังมีผลบังคับใช้ เพื่อให้ปัญหาทางการเมืองของประเทศได้รับการคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท