Skip to main content
sharethis

คนไทยเป็นหนี้มากขึ้นไม่พอความสามารถในการจ่ายหนี้ก็ไม่มีรัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือและเปิดให้เข้าถึงเงินกู้ได้ง่ายขึ้นเพื่อไม่ให้เข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบและรัฐควรแบกรับความเสี่ยงเพิ่ม ธุรกิจรายย่อยกำลังล้มโดยที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ

14 ก.พ.2564 กลุ่มแคร์จัดเวทีนำเสนอแนวคิดทางนโยบายเรื่อง "รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า" (Universal basic income – UBI) ที่เป็นนโยบายสวัสดิการที่ทำให้ประชาชนได้รัฐสนับสนุนทางการเงินให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อย สภาวะความยากจนและรองรับวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่อาจทำให้คนสูญเสียรายได้ เช่น การระบาดของโรคติดต่อ หรือวิกฤติทางเศรษฐกิจ

ดวงฤทธิ์ บุญนาค

ดวงฤทธิ์ บุญนาค

ดวงฤทธิ์ บุญนาค ในฐานะผู้ประสานงานของกลุ่มแคร์ กล่าวถึงธุรกิจรายย่อยหรือ SMEs ที่กำลังเผชิญปัญหาต่างๆ โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐเท่าที่ควร แต่คนไทยก็มีทั้งความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ มีสติปัญญา แต่แล้วก็มีความอดทนมากไม่โวยวายทั้งที่ไม่จำเป็นต้องอดทนปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้น เราก็ยังทนและจนต่อไป

ดวงฤทธิ์กล่าวว่าขณะนี้ประเทศกำลังเผชิญปัญหาคือตอนนี้ไม่มีเงินเหลือในประเทศแล้ว แต่เราก็อยากให้มีใครสักคนเติมเงินเข้ามาในประเทศ เขาเสนอว่าค่าเงินของไทยแข็งค่าขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว 2544 จากที่เคย 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบันอยู่ที่ 29 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ อีกทั้งการลงทุนจากต่างประเทศก็ลดลงมาโดยตลอดการลงทุนกล่าวคือตั้งแต่ปี 2544-2549 มีการลงทุนจากต่างประเทศคือ 41% จากกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมดแต่ในปี 2559-2561 เหลือการลงทุนจากต่างประเทศแค่ 14% จากกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมดแต่มีการย้ายการลงทุนไปตามประเทศเพื่อบ้านเพิ่มขึ้น ไม่เพียงเท่านี้นักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศก็มีมากขึ้นโดยมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นเป็น 4 เท่าตัวในช่วง 2558-2561 นอกจากนักลงทุนจากต่างประเทศจะไม่อยากมาลงทุนในไทยแล้วนักลงทุนไทยก็ไม่อยากลงทุนในประเทศตัวเองเช่นเดียวกัน

ยิ่งไปกว่านั้นตลาดหุ้นไทยในช่วงปี 2556-2562 นักลงทุนจากต่างประเทศที่เคยเอาเงินมาลงทุนในไทยมีการขายหุ้นทิ้งออกไปจากตลาดหุ้นไทยแล้วถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นความจริงที่ว่าเราไม่เหลือเงินในประเทศนี้เลยจนทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยต่อปีลดลงมาเหลือต่ำกว่า 3% แล้วในขณะนี้และมีแนวโน้มจะลดลงไปตามลำดับ แต่การจะทำให้เกิดการลงทุนจะต้องไม่ใช่การกู้เงินแต่ประเทศไทยก็แก้ปัญหาด้วยการกู้เงินมาแม้ว่าจะมีความจำเป็นบางประการ แต่คนที่หาเงินเป็นก็จะไม่จำเป็นต้องกู้เงิน เมื่อคนไทยจนรัฐเก็บภาษีไม่ได้ก็ใช้วิธีกู้เงิน ถ้ามองจากมุมคนทำธุรกิจทำการค้าหากต้องใช้วิธีกู้อย่างเดียว ในอนาคตคนไทยทุกคนก็จะเป็นหนี้กันถ้วนหน้า

ดวงฤทธิ์กล่าวว่าทางกลุ่มแคร์เคยมีข้อเสนอและมาตรการไปเมื่อปีที่แล้วทั้งการการกู้เงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในรูปพันธบัตรดอกเบี้ยต่ำเพื่อดึงเงินที่เรามีอยู่มาทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบ ซึ่งตอนที่ทำกันก็เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงการคลังพอดีแล้วผู้ว่า ธปท.ก็กำลังเปลี่ยนพอดี เราเสนอแล้วก็ไม่มีใครฟัง

ปัญหาต่อมาของธุรกิจรายย่อยคือไม่มีทุนหมุนเวียน แม้ว่าจะมีเงินอยู่แต่เมื่อต้องเจอกับโควิด-19 แล้วรัฐก็บอกว่าให้ปิดธุรกิจแต่เมื่อธุรกิจรายย่อยไม่มีรายได้ไม่ได้มีเงินสำรองเหมือนบริษัทใหญ่เมื่อต้องปิดธุรกิจเงินหมุนเวียนของเราก็หมด เพราะเรายังต้องจ่ายเงินเดือนพนักงานทั้งใช้เงินเก็บของผู้บริหารและของบริษัทมาจ่ายอออกไป แล้วพอไม่มีเงินจ่ายค่าไฟการไฟฟ้าก็โทรมาขู่ตัดมิเตอร์ ก็ต้องเอาเงินเดือนพนักงานไปจ่ายค่าไฟ พอเอาไปจ่ายค่าไฟก็ไม่มีเงินจ่ายพนักงาน สรรพากรก็มาเก็บภาษีต่ออีกแล้วก็ต้องจ่ายถ้าไม่จ่ายก็ถูกอายัดบัญชีก็ไม่มีเงินมาทำธุรกรรม แล้วพอพนักงานที่ไม่ได้เงินเดือนก็ลาออกไปเอาเงินประกันสังคม แล้วก็มาฟ้องกรมแรงงาน ธุรกิจรายย่อยก็ก็โดนฟ้องเป็นคดีกันที่ 20-30 คดี ไม่มีหน่วยงานของรัฐไหนที่เมตตาเรามีแต่มาขยี้ให้ตายคามือ เราอยู่ในรัฐประเภทไหนกัน

ดวงฤทธิ์เสนอว่าให้ธนาคารปล่อยกู้แก่ธุรกิจรายย่อยแล้วก็ให้รัฐบาลค้ำเงินกู้ เพื่อให้เอสเอ็มอีมีเงินเข้ามาในระบบเพื่อแก้ปัญหาไปได้ หรือเสนอให้รัฐบาลมาถือหุ้นร่วมกันเพื่อให้ธุรกิจรายย่อยผ่านพ้นวิกฤติไปได้ แต่พอเสนอไปแล้วรัฐก็เงียบกริบ

นอกจากนั้นรัฐต้องพักการชำระภาษี เพราะตอนนี้ประชาชนก็จน เมื่อคนไม่มีเงินก็จ่ายภาษีกันน้อยลง แต่เมื่อรัฐบาลไม่มีเงินในกระเป๋า รัฐก็ใช้วิธีเก็บภาษีหนักขึ้นไปอีกก็ทำให้ประชาชนจนหนักเข้าไปอีก เป็นวงจรอุบาทว์จนกว่าจะมีใครสักคนตายไปข้างหนึ่งว่าจะเป็นประชาชนหรือรัฐ ซึ่งรัฐคิดแต่ต้องรีดภาษีจากประชาชน ประชาชนไม่มีเงินจ่ายภาษีรัฐบาลก็กู้รัฐบาลก็ทำอยู่สองอย่าง

ดวงฤทธิ์ยังบอกอีกว่าที่ผ่านมารัฐทำให้เรากลัวเพราะความกลัวทำให้ปกครองได้ง่าย การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็เพื่อให้เรากลัวแต่ต่างประเทศก็กลัวไปด้วยพอเขาเห็นเขาก็ไม่มาลงทุน แล้วการนำเสนอข้อมูลที่สับสนว่าตกลงจะได้วัคซีนมาหรือไม่ก็สร้างความกลัวอีกเพราะอย่างในรายงานของดิอิโคโนมิสต์ก็บอกว่าไทยจะได้ฉีดวัคซีนครบทั้งประเทศก็ปลายปี 2022 ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ข่าวดีอันนี้ก็เป็นความกลัวว่าเราจะอยู่กันอย่างไรกว่าจะถึงเวลานั้น

ดวงฤทธิ์ระบุว่า เราแค่ต้องการความมั่นใจสำหรับก้าวไปข้างหน้า สำหรับนักลงทุน เราต้องการข้อมูลที่พูดแต่เรื่องจริง ไม่ใช่เอาทัศนคิตตัวเองมาพูด แล้วก็พูดให้เคลื่อนไปข้างหน้าได้ไม่ใช่กล่าวโทษทุกคนโดยที่ไม่โทษตัวเองเลย

สฤณี อาชวานันทกุล

สฤณี อาชวานันทกุล

สฤณี อาชวานันทกุล กล่าวถึงการพูดเรื่องความจนหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงเรื่องหนี้ซึ่งข้อมูลธนาคารโลกจะมีคนที่มีรายได้ต่อวันไม่ถึง 170 บาทต่อวันเพิ่มขึ้นถึง 3 ล้านคนและจะเพิ่มเป็น 7.8 ล้านคน เพราะปัญหาการระบาดของโควิด แต่ปัญหาเรื่องหนี้มาตั้งแต่ก่อนโควิดแล้วเพราะว่าเรามีปัญหาทางเศรษฐกิจตั้งแต่ก่อนโควิดแล้ว และเมื่อเกิดวิกฤติโควิดแล้วก็ไม่ใช่วิกฤติเศรษฐกิจถดถอยทั่วไปการที่เรารายได้หายเราจ่ายหนี้ไม่ได้ก็ไม่ใช่ความผิดของเรา เพราะฉะนั้นถ้ารัฐที่เป็นผู้ดำเนินนโยบายต้องดูเรื่องการเยียวยาการสร้างอาชีพและการรักาางานและแบ่งเบาภาระ อย่างน้อยต้องรักษาให้มีรายได้เท่าเดิมและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายทั้งหลายไม่เพียงแต่จะกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเท่านั้น

หนี้ครัวเรือน จาก ธปท. ณ ไตรมาสสามปีที่แล้วถ้าดูหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเกิน 86% ไปแล้วซึ่งเป็นยอดที่สูงสุดตั้งแต่ ธปท.เก็บข้อมูลมา 18 ปี

สฤณีกล่าวว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นอาจจะไม่เป็นไรหากเรามีความสามารถในการชำระหนี้ แต่ความสามารถในการชำระหนี้ของเราไม่ได้สูงตามหนี้ไปด้วย ซึ่งถ้าดูข้อมูลของธนาคารโลกความสามารถในการชำระหนี้ของบุคคลมีรายได้น้อยคือคนไทยที่มีหนี้มีรายได้ระหว่าง 5,000-10,000 บาทต่อเดือนคือรายได้ 40% จะต้องนำมาชำระหนี้และสำหรับผู้มีรายได้ไม่ถึง 5,000ต่อเดือนนี้รายได้จะต้องนำมาจ่ายหนี้ 84% หรือก็คือรายได้ทุก 100 บาทของเขาจะต้องนำมาจ่ายหนี้ถึง 84 บาท เหลือเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ 16 บาท ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วเพราะเรายังมีค่าใช้จ่ายอื่นในชีวิตประจำวันอีกหลายอย่าง

ข้อมูลจาก ธปท.ยังพบอีกว่า 1 ใน 6 ของคนไทยเป็นหนี้เสียคือผู้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้และมีแนวโน้มสูงขึ้น ถ้าดูลูกหนี้ทั้งหมดที่เป็นรายย่อยแล้วก็จะพบว่าเป็นสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลระยะสั้น ธปท.ก็มองว่าหนี้ก้อนนี้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่เพราะว่าประเทศไทยเรามีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยคือ SMEs ไม่สามรถขอกู้ธนาคารได้เลยต้องใช้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลมทำธุรกิจแทนดังนั้นหนี้บางส่วนจึงไม่ใช่ในส่วนของบุคคลแต่เป็นหนี้ธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ ด้วยตัวเลขนี้ประมาณ 80% แล้วที่น่าสนใจอีกอย่างคือครึ่งหนึ่งในนั้นมีบัญชีหนี้ 5 บัญชีเพราะคนจำนวนมากไม่ได้มีหนี้แค่แบบเดียวเช่นบัตรเครดิตก็ไม่ได้มีบัตรใบเดียวแล้วก็มีหนี้หลายรูปแบบด้วย

สฤณียกข้อมูลการวิเคราะห์ผังลูกหนี้ที่สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ วิเคราะห์แล้วเห็นว่าลูกหนี้ 24% ของผู้ที่เข้าร่วมมาตรการนี้ลูหนี้มีหนี้เฉลี่ย 4 บัญชีและผู้ที่เข้าร่วมโครงการพบว่ามีหนี้ค่อนข้างสูงคือ 500,000 บาท คนที่เข้ามาตรการก็มักจะมีหนี้มากกว่าคนที่ไม่เข้าก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่เมื่อดูประเด็นข้อจำกัดของข้อมูลที่ทำให้วิเคราะห์ไม่ได้ชัดเจนนักส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ คนจนที่มีรายได้น้อยเขาเข้าไม่ถึงเงินกู้ในระบบแต่กู้จากนอกระบบ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ไม่มีการทำสำรวจปัญหาหนี้นอกระบบอย่างเป็นระบบในช่วงการระบาดของโควิด

สฤณีกล่าวว่าสิ่งที่ใกล้เคียงพอให้ดูได้คือข้อมูลจากโรงรับจำนำเพราะเป็นช่องทางแรกๆ ที่คนมีรายได้น้อยจะเข้าถึงได้ พบว่าช่วงโควิดคนไปใช้บริการโรงรับจำนำมากแต่สิ่งที่นำไปจำนำเป็นสิ่งของที่ใช้ทำมาหากินหรือสิ่งที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้เมื่อคนไม่เหลืออะไรให้นำไปจำนำได้แล้ว แต่ไม่ใช่สินทรัพย์อย่างทองคำหรืออัญมณีเพราะทางโรงจำนำก็ให้ข้อมูลว่าสินทรัพย์เหล่านี้ถูกไถ่ถอนไปขายหมดแล้วในช่วงที่ทองคำมีราคาสูงขึ้นก่อนหน้านี้ และข้อมูลจากโรงจำนำในกรุงเทพเมื่อช่วงครึ่งปีแรกของ 2563 มีคนมาใช้บริการ 330,000 ราย คิดเป็นวงเงินรวม 5 พันล้านบาทตัวเลขนี้สูงขึ้นกว่าช่วงปลายปี 62 ก่อนเกิดโควิด 17 เท่า ตอนนั้นคนที่เอามาจำนำ 19,000 คนเท่านั้นเองและมูลค่าของที่เอามาจำนำก็ต่างกันมหาศาลมากก็เห็นได้ว่าคน่าจะเดือดร้อนกันจริงๆ ในช่วงโควิดระบาด

สถาบันป๋วยฯ มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้กู้ที่มีปัญหาชำระหนี้ไม่ได้ประมาณ 2 ล้านคน อันนี้ยังเป็นตัวเลขที่เป็นการคาดการณ์ซึ่งอาจจะดีกว่าหรือแย่กว่าแต่เมื่อลองลดทอนลงมาสัก 4-5 เท่า ก็ยังถือว่าเยอะอยู่ดีเพราะเป็นจำนวนหลายแสนคนอยู่ดี แต่หากดูที่สถาบันการเงินตอนนี้ก็ยังไม่เป็นปัญหาแต่ว่าปัญหาตอนนี้จะอยู่ที่ลูกหนี้มากกว่าเจ้าหนี้

สฤณีอธิบายถึงสาเหตุที่คนต้องไปกู้หนี้นอกระบบว่าถึงแม้จะมีดอกเบี้ยแพงแต่ปัจจัยที่ทำให้คนเลือกสินเชื่อ คือการกู้ได้ง่ายและรวดเร็วโดยไม่มีเอกสารไม่ต้องมีหลักประกัน แล้วก็อีกเหตุผลคือสามารถผ่อนชำระหนี้ได้ แม้ว่าสุดท้ายแล้วหากคำนวนมาอาจจะต้องจ่ายเป็นดอกเบี้ยทั้งปีถึง 2,000% จากเงินต้น หนี้นอกระบบถึงจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ก็ตอบโจทย์อุปทานของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินของคนจำนวนมากโดยเฉพาะคนจน

ธปท.ก็พยายามแก้ปัญหาเหมือนกัน แต่เมื่อต้องแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำคือ ก้ต้องมีการปล่อยสินเชื่อที่เป็นธรรม ดูแลการเข้าถึงบริการทางการเงินให้คนเข้ามาใช้บริการได้ หลังเป็นหนี้ก็ต้องดูแลให้คนไม่รู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบเรื่องก่อนและหลังเป็นหนี้ ธปท.ก็ทำนโยบายและกฎหมายหลายตัวไว้ในช่วงที่ผ่านมา ก็มีกลไกที่ขาดไม่ได้คือการปรับโครงสร้างหนี้ การไกล่เกลี่ย และกลไกยื่นล้มละลาย ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องทำให้มีกลไกล้มละลายโดยสมัครใจเพิ่มเข้ามาโดยการออกเป็นกฎหมาย

สฤณีกล่าวถึงการช่วยเหลือธุรกิจรายย่อยหรือ SMEs คือการให้ซอฟท์โลนซึ่งรัฐบาลก็มีการบอกว่าตั้งวงเงินไว้ 500,000 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมาหลายเดือนใช้ไปแค่แสนล้านบาทแสดงว่าที่ผ่านมาเงื่อนไขยุ่งยากจนทำให้คนไม่กล้ามาใช้บริการก็ควรจะต้องปลดล็อกเสีย แล้วก็การชดเชยความเสียหายทำให้มันจูงใจมากกว่าเดิมได้หรือไม่ ซึ่งถ้ามองมุมธนาคารที่ธนาคารต้องมาดูว่าค่าความเสียหายยังต้องมาหักค่าหลักประกันออก ซึ่งเรื่องนี้รัฐก็ต้องแบกรับความเสี่ยงตรงนี้เพราะถ้าธุรกิจรายย่อยในไทยล้มเสียหายก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยแย่ยิ่งไปกว่านี้

สฤณีระบุว่าปัญหาอีกอย่างคือการเข้าถึงบริการทางการเงิน ถ้าดูจากข้อมูลการใช้บัตรเครดิตเอาไปทำธุรกิจรายย่อยก็จะเห็นว่าธุรกิจรายย่อยมีปัญหาในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ซึ่งก็มีกลไกเชิงโครงสร้างที่รัฐสามารถทำได้เช่น 2558 ก็มีการออกกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ก็เจตนาก็ดีก็คืออยากให้เอาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ อุปกรณ์ทำมาหากินต่างๆ มาเป็นหลักประกันได้ แต่มีปัญหาในทางปฏิบัติว่าจะทำให้เกิดการจดทะเบียนให้มีการบังคับใช้ได้จริง ในต่างประเทศก็มีเครื่องมือเป็นทะเบียนหลักประกันแห่งชาติที่เป็นระบบซอฟท์แวร์ออนไลน์และรักษาความปลอดภัยด้วยเทคโนโลยบล็อกเชน คือการทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไปลงทะเบียนเข้าไปดูได้เลยว่าจะปล่อยกู้ให้กับใครสินทรัพย์ที่เขาใส่ในระบบออนไลน์เพื่อให้เจ้าหนี้ดูได้นั้นถูกใช้ในการค้ำประกันเจ้าหนี้รายอื่นแล้วหรือไม่โดยที่ไม่จำเป็นต้องส่งมอบหลักประกันจริงๆ ซึ่งก็มีงานวิจัยแล้วว่าใช้ได้ผลดีในการให้สินเชื่อกับธุรกิจรายย่อยทั้งระบบ

สฤณีกล่าวทิ้งท้ายว่าหวังว่าข้อเสนอเหล่านี้จะเป็นประโยชน์เพราะว่าปัญหาเรื่องหนี้เป็นเรื่องซับซ้อนและก็ยังต้องคุยกันอีกหลายรอบและหวังว่าจะมีการผลักดันต่างๆ ให้มีมากกว่าที่เป็นอยู่

รัศม์ ชาลีจันทร์
รัศม์ ชาลีจันทร์

รัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตประจำประเทศโมซัมบิกและข้าราชการประจำสถานทูตในประเทศต่างๆ กล่าวถึงประสบการจากต่างประเทศที่เขาเคยทำงานทั้งประเทศเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างแคนาดา โปแลนด์ และประเทศกำลังพัฒนาอย่างคาซัคสถาน ลาว เวียดนาม และโมซัมบิก ว่าแต่ละประเทศมีการจัดการความยากจนอย่างไร ในสภาพที่แตกต่างกันทั้งทางเศรษฐกิจและรูปแบบการปกครองตามอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือประเทศคอมมิวนิสต์

รัศม์กล่าวว่าในประสบการณ์ของเขาประเทศที่เจริญที่สุดและอยู่ดีกินดีที่สุดคือแคนาดาที่เป็นประชาธิปไตย และหลายประเทศที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตยก็พัฒนามาได้อย่างน่าพอใจ แต่อย่างเวียดนามที่ยังเป็นคอมมิวนิสต์ก็มีการพัฒนาสร้างความกินดีอยู่ดีได้เหมือนกัน แต่โมซัมบิกที่เปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตยก็ยังเป็นประเทศยากจนหรือแม้แต่ลาวที่เป็นคอมมิวนิสต์ก็เป็นประเทศที่ยากจนที่สุดเช่นกัน

มันบอกอะไร ไม่ว่าจะระบอบไหน ก็สร้างความเจริญได้ แล้วปัจจัยที่ทำให้กินดีอยู่ดคืออะไรกันแน่ ก็พูดมาหลายร้อยปี ก็พูดตั้งแต่อดัม ชมิด แต่ทุกวันนี้ก้ยังมีประเทศร่ำรวยและยากจน ก็มีทั้งเรื่องที่ตั้งว่าอยู๋ไหน เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรมนุษย์ก็สำคัญช่นกันที่ทำให้ประเทศเจริญ ได้ อีกอย่างที่ทำให้ประเทศร่ำรวได้ เช่นการมีสถาบันที่แข็งแรง ไม่ว่าจะตลาดเสรีหรือหลักยุติธรรม

รัศม์กล่าวว่ามีงานวิจัยศึกษาปัจจัยที่ทำให้ประเทศเจริญได้ คือการมีรัฐบาลที่ดีและมีความสามารถ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งก็น่าจะมาพิณาว่าเราจะมีรัฐบาลที่ดีเราควรมีอย่างน้อยสามอย่างคือ อุดมการณ์ที่ทำเพื่อประชาชน วิสัยทัศน์ความสามารถในการบริหาร และสุดท้ายคือมีความตระหนักในพันธะหน้าที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนส่วนใหญ่ ทั้งสามสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้นำหรือผู้บริหารประเทศต้องมีและผลักดันให้ประเทศชาติก้าวหน้า

รัศม์กล่าวว่าสำหรับประเทศไทยไม่ได้ยากจนขนาดนั้นและเราก็มีกองทุนสำรองระหว่างประเทศสูงพอสมควร รายได้เฉลี่ยต่อหัวก็ไม่ได้ต่ำ แต่เรามีความเหลื่อมล้ำในสังคมมาก และที่เขาเห็นคือปัญหาในการบริหารงบประมณแผ่นดินค่อนข้างมาก ซึ่งบางเรื่องนักการทูตเรามีเรื่องที่ตอบกับต่างประเทศไม่ได้ค่อนข้างมาก

รัศม์ยกตัวอย่างของคณะดูงานจากไทยที่เดินทางไปดูงานต่างประเทศบ่อยๆ แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าการเดินทางดูงานเล่านั้นหลังจากกลับมาแล้วได้นำมาใช้อย่างไร แต่งบประมาณที่ใช้ไปก็ไม่ได้ใช้น้อยๆ แต่เมื่อเทียบกับงบประมาณอื่นๆ ที่เสียไปแล้วเราก็ตอบไม่ได้ว่าได้ประโยชน์อะไร ก็ไปวนกลับมาเรื่องที่เราไม่สามารถเอางบประมาณแผ่นดินมาแก้ปัญหาในเรื่องความเหลื่อมล้ำได้เพราะเรามีปัญหาเรื่องความตระหนักในพันธะหน้าที่ที่จะเอางบประมาณมาใช้ได้อย่างถูกต้อง รัศม์ได้ตั้งคำถามว่าแล้วประเทศไทยจะต้องทำอย่างไรถึงจะมีผู้นำที่ดีมีคุณสมบัติทั้งสาม

เมื่อย้อนไปดูประเทศต่างๆ เราก็คงไม่สามารถเปลี่ยนประเทศเป็นสังคมนิยมไม่ได้เพราะบริบทของไทยเองก็เหลือรูปแบบเดียวที่เราจะสามรถได้มาซึ่งรัฐบาลที่จะมีคุณสมบัติดังกล่าวทั้งสามข้อคือการมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

“ประชาชนไร้จนได้ถ้าเรามีรัฐบาลที่ดี เรามีรัฐบาลที่ดีได้ถ้าเรามีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ผมไม่อาจถือว่าการมี ส.ว. 250 คนเป็นการมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้” รัศม์กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net