‘เราต้องการวิถีชีวิตของเราคืนมา’ ฟังเสียงคนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด

พูดคุยกับประชาชนลุ่มน้ำโขงผู้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนตลอดแนวแม่น้ำโขง ส่งผลให้การประกอบอาชีพและวิถีชีวิตดั้งเดิมของประชาชนใน 7 จังหวัดริมแม่น้ำโขงต้องเปลี่ยนแปลงไป ด้านผู้แทนหน่วยงานภาครัฐพร้อมรับไม้ต่อเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่

12 มี.ค. 2564 เมื่อวานนี้ (11 มี.ค. 2564) เวลาประมาณ 15.20 น. เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) จัดกิจกรรม “เดินเท้าเว้าแทนปลา ทวงคืนชีวิตแม่น้ำโขง” เดินเท้าจากหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์มายังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ณ อาคารสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีให้เร่งแก้ปัญหาให้ประชาชน 7 จังหวัดแถบลุ่มน้ำโขง ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่างๆ เช่น การสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยภายหลังการยื่นหนังสือ ตัวแทนภาคประชาชนได้เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหากับผู้แทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจำนวน 12 หน่วยงาน เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย โดยมีเสกสกล อัตถาวงศ์ (สุภรณ์ อัตถาวงศ์) ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นผู้รับมอบหนังสือและเป็นประธานการประชุม

การประชุมดังกล่าวเปิดให้ตัวแทนภาคประชาชนบางส่วนเข้าร่วมหารือกับผู้แทนจาก 12 หน่วยงาน  โดยประชาชนบางส่วนออกมานั่งรอฟังผลการประชุมอยู่ด้านนอก

วิถีชีวิตคนร่อนทองริมโขงกำลังสูญสลาย

สุดตา อินสำราญ ประชาชนชาว ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ผู้เดินทางมาร่วมยื่นข้อเรียกร้องกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำอย่างฉับพลันของแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นผลมาจากการสร้างเขื่อนหลายแหง่ ทำให้อาชีพดั้งเดิมของคนในพื้นที่กำลังจะหายไป เช่น อาชีพร่อนทอง ซึ่งเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เคยสร้างรายได้ให้คนริมโขงในช่วงหน้าแล้ง

“ตอนหน้าแล้ง น้ำในน้ำโขงลด ชาวบ้านจะออกไปร่อนท่อง ได้ทีละครึ่งถังเล็กๆ ถังแบบที่ใช้เล่นสงกรานต์ วันหนึ่ง ถ้าโชคดีหน่อย จะได้ทองจำนวนเท่าๆ กับเมล็ดมะละกอ 1 ลูก ขายได้กรัมละ 1,200-1,300 บาท แต่เมื่อก่อน สมัยทองถูก ขายได้กรัมละ 700 บาท” สุดตากล่าว

สุดตา อินสำราญ ประชาชนจาก ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย

สุดตาเล่าว่า น้ำแห้งเป็นวิถีของทองคำริมโขง เพราะการร่อนทองต้องทำให้ที่ลุ่มต่ำ น้ำน้อย เนื่องจากแร่ทองจะซ่อนอยู่ตามดินและหินริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยช่วงเวลาทองของการขุดหาขุมทรัพย์ คือระหว่างเดือน ก.พ.-มิ.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำลดเพราะอยู่ในหน้าแล้ง แต่หลังจากเขื่อนหลายแห่งเปิดใช้งาน เช่น เขื่อนจิ่งหงในจีน และเขื่อยนไซยะบุรีในลาว ทำให้การขึ้นลงของน้ำในแม่น้ำโขงตามวิถีธรรมชาติเปลี่ยนไป ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออาชีพร่อนทองเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลกระทบต่อการทำประมง ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนริมโขงอีกด้วย

“ก่อนที่จะมีเขื่อนไซยะบุรี ปลาในแม่น้ำโขงมีเยอะมาก อยากกินปลาแบบไหนก็ได้กิน ไม่ต้องซื้อไม่ต้องขาย เราหามาก็แบ่งกันกิน เอาไปตาก ทำปลาแห้ง แล้วเอาไปแลกข้าวสาร ผมเคยจับปลาทำร้ายได้ให้ครอบครัวได้ถึงปีละแสน แต่ตอนนี้ไม่ได้เท่านั้นแล้ว ตอนเขาปล่อยน้ำเขื่อน ปลาตื่นน้ำ เพราะมันผิดธรรมชาติ ปลาหนีจนเราจับปลาไม่ได้ แล้วยังมีการระเบิดเกาะแก่งของฝั่งลาว ที่ทำให้บ้านเรือนของเราได้รับผลกระทบ กระจกแตก กระจกร้าวบ้าง” สุดตากล่าว

สุดตาเล่าต่ออีกว่า “แต่ก่อนมีแค่เขื่อนจิ่งหงของจีน ก็ยังไม่ค่อยส่งผลกระทบเท่าไร แต่พอมีเขื่อนไซยะบุรีที่อยู่ห่างออกไปแค่ 300 กว่ากิโลเมตร ทำให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรง เวลาเขื่อนปล่อยน้ำมาก็ไม่เคยบอกชาวบ้าน จะปล่อยมาก ปล่อยน้อย ปล่อยเวลาไหน ก็ไม่เคยบอกเลย บางครั้งตื่นเช้ามาก็เรือเรือตัวเองลอยอยู่กลางแม่น้ำโขงแล้ว พอเรือลอยไปกลางแม่น้ำจะไปเอาก็ไม่ได้ ต้องปล่อยให้เรือลอยหนีไป เราก็เสียทรัพย์สิน เสียเงินทิ้งเปล่าๆ บางทีเรือลอยไปไกลต่างอำเภอ ต่างหมู่บ้านก็ต้องไปตามเอากลับคืน ถึงตามได้ก็ต้องเสียเงินค่าไถ่เรือประมาณ 1,500 บาท”

สุดตาบอกว่าประชาชนใน อ.สังคม เคยร้องเรียนไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องใน จ.หนองคาย หลายครั้ง แต่ไม่ได้รับความสนใจ เนื่องจากภาครัฐมองว่าระดับน้ำที่ผันผวนเป็นเรื่องของธรรมชาติ

“เวลาน้ำขึ้นน้ำลงมันส่งผลต่อน้ำประปา น้ำกิน น้ำดื่มด้วยนะ ถ้าวันดีคืนดีน้ำขึ้นเร็ว น้ำมาแรงๆ ก็ซัดท่อประปาของชาวบ้านที่อยู่ริมฝั่งพังเสียหาย ค่าซ่อมก็เป็นชาวบ้านที่ออกเอง” สุดตากล่าว

สุดตา กล่าวทิ้งท้ายว่าหากขอได้หนึ่งอย่าง ตนอยากขอให้วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในพื้นที่กลับคืนมา แต่ถ้าเอากลับคืนมาไม่ได้ ภาครัฐก็ต้องชดเชยเยียวยาเพื่อทดแทนสิ่งที่คนในพื้นที่ต้องสูญเสียไป

“อยากให้ทุกอย่างคืนมาเหมือนเดิม มีปู มีปลาเหมือนเดิม เรียกซะว่าปล่อยปลาคืนถิ่นให้ชาวบ้าน” สุดตากล่าว

น้ำโขงแห้งส่งผลรุนแรงต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจชุมชน

ธัญพร บุปผาถา ประชาชนจาก ต.สองคอน อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี

ธัญพร บุปผาถา เกษตรกรคนรุ่นใหม่ จาก ต.สองคอน อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี เล่าว่า พืชเศรษฐกิจของการเกษตรริมโขงบริเวณ จ.อุบลราชธานี คือ ฝ้าย คราม ถั่วลิสง และมันเทศ ซึ่งเกษตรกรจะปลูกสลับกับการทำนา สร้างรายได้เฉลี่ยปีละ 30,000-50,000 บาท

“เวลาน้ำท่วม มันจะท่วมถึงตลิ่ง พอน้ำลดดินบริเวณที่ลุ่มริมน้ำก็จะอุดมสมบูรณ์ ชุ่มชื้น เต็มไปด้วยแร่ธาตุ เวลาเราปลูกพืชก็ไม่ต้องใช้ปุ๋ยหรือสารเคมี ผลผลิตที่ได้เลยเป็นผลผลิตที่ปลอดสารพิษ สะอาด ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ อย่างฝ้ายหรือคราม เราจะปลูกกันริมโขง แล้วเอามาทอเป็นเสื้อผ้า ผ้าขาวม้า ใช้ครามย้อมเป็นสีน้ำเงินธรรมชาติ ใส่แล้วไม่เป็นอันตราย ไม่ระคายเคืองต่อผิว เพราะเราเน้นสีจากธรรมชาติ ใช้สีจากเปลือกไม้ ไม่ใช้สารเคมี” ธัญพรกล่าว

ฝ้ายอุบล พืชเศรษฐกิจของเกษตรริมโขงที่สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่

ธัญพรบอกว่าในอดีต คนรุ่นพ่อแม่หรือปู่ยาตายายมักทอผ้าฝ้ายไว้ใช้เอง แต่ตนซึ่งเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ได้นำความรู้ด้านการตลาดเข้ามาช่วยปรับปรุงคุณภาพสินค้าที่ทำจากผ้าฝ้ายให้มีมูลค่าเชิงพาณิชย์มากขึ้น

ธัญพรเล่าว่าพื้นที่การทำนาใน ต.สองคอน อ.โพธิ์ไทร เพิ่งขยายในช่วงหลัง เพราะระดับน้ำและปริมาณปลาในแม่น้ำโขงลดลง ทำให้ประชาชนบริเวณนั้นต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต จากเดิมที่เน้นการทำประมงเป็นหลักแล้วนำผลผลิตที่ได้ไปแลกกับข้าว แต่ในปัจจุบันต้องเอาปลาที่หาได้ไปขายเพื่อหารายได้มาเป็นจุนเจือค่าใช้จ่ายในครัวเรือนแทน แต่จากการประเมินรายได้ต่อครัวเรือนพบว่าประชาชนในพื้นที่มีรายได้ลดลง และมีหนี้สินเพิ่มขึ้น

ธัญพรบอกว่าชุมชนริมโขงใน อ.โพธิ์ไทร มีต้นทุนทางธรรมชาติที่ดีอยู่แล้ว และสามารถต่อยอดเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้คนในพื้นที่ได้มากกว่าการทำการเกษตร ซึ่งหนึ่งในโครงการที่ตนเป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้นในพื้นที่ คือ การท่องเที่ยววิถีชุมชน

“เรามีต้นทุนทางธรรมชาติอยู่แล้ว เราอยากฟื้นฟูอาชีพดั้งเดิมของพ่อแม่เรา เราทำกลุ่มทอผ้าด้วย และผลักดันเรื่องท่องเที่ยววิถีชุมชน” ธัญพรกล่าว

ธัญพรบอกว่าตั้งแต่มีการสร้างเขื่อน ระดับน้ำในแม่น้ำโขงผันผวนรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้พืชเศรษฐกิจของคนในพื้นที่มีผลผลิตน้อยลง ผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ก็ไม่ดีเท่าในอดีต ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ไม่กล้าลงทุนเพราะไม่สามารถรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ผิดแผกไปจากการขึ้นลงตามธรรมชาติ

“บางสวนมีน้ำท่วมไม่ถึง ทำให้ต้นทุนในการเพาะปลูกสูงขึ้น ชาวบ้านก็ไม่ได้มีเงินทุนมากพอที่จะเอามาลงในการไถวัชพืชหรือสูบน้ำ หรือบางทีปลูกพืชผลไปใกล้ช่วงเก็บเกี่ยว แต่น้ำขึ้นจนท่วม ยังไม่ทันได้ผลผลิตเลย ชาวบ้านก็ขายไม่ได้ แล้วก็ไม่มีใครมาเยียวยา” ธัญพรกล่าว พร้อมบอกว่าการสร้างเขื่อนส่งผลให้ปัญหาขาดน้ำในหน้าแล้งรุนแรงยิ่งขึ้น

“หน้าแล้งก็แล้งหนัก บางทีเจาะน้ำบาดาลลงไปถึง 10 เมตรก็ไม่เจอน้ำ แล้วถ้าดูดมากๆ ดินก็ทรุดเพราะเป็นดินทราย ไม่กักเก็บน้ำ น้ำในสระตามที่นาก็หมดก่อนถึงหน้าแล้ง พอไม่มีน้ำ เราก็ทำโฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยวไม่ได้ มันส่งผลกระทบไปหมด” 

ธัญพรบอกว่าหากจะขอให้ทุกอย่างกลับมาเป็นเหมือนเดิมคงทำไม่ได้ ดังนั้นตนจึงขอให้ภาครัฐมีการชดเชยเยียวยาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และช่วยอนุรักษ์วิถีชุมชนให้ใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“เราอยากให้เยียวยา อยากให้มีความมั่นคงทางอาหาร เพราะประมงและเกษตรริมโรง คืออาชีพหลักของคนในพื้นที่ และอยากให้มีการอนุรักษ์พันธุ์ปลา เพราะปลาบางชนิดที่เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นก็หายไปแล้ว เราอยากให้วิถีชุมชนคงอยู่และใกล้เคียงแบบเดิมมากที่สุด”

ผลการหารือระหว่างภาคประชาชนกับ 12 หน่วยงานรัฐ

สำนักข่าวกรีนนิวส์รายงานว่า ผลการประชุมหารือนานกว่า 3 ชั่วโมงออกมาเป็นที่น่าพอใจ โดยอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ประธานเครือข่ายฯ ระบุว่ากลุ่มขนโขงสิบ่ทน หรือเครือข่ายคนริมโขง 7 จังหวัด เสนอให้มีการตั้งคณะทำงานภาคประชาชนที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหากับหน่วยงานภาครัฐโดยตรง เช่น เปิดให้คณะทำงานโดยประชาชนเข้าร่วมทุกการประชุมหารือ และมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นหรือเสนอแนวทางแก้ไขร่วมกับภาครัฐ ซึ่งที่ประชุมทั้งหมดตอบรับในข้อเสนอนี้ อีกทั้งกระทรวงการต่างประเทศยังรับเรื่องจากเครือข่ายฯ และเตรียมจัดการเจรจาทวิภาคีเรื่องผลกระทบกับชุมชนริมฝั่งโขงไทย-ลาว

 

นอกจากนี้ อ้อมบุญ ยังกล่าวว่าเครือข่ายฯ เสนอให้รัฐจัดทำกองทุนเยียวยาประชาชนริมโขง ด้วยการเก็บภาษีจากบริษัทหรือกลุ่มทุนที่ได้ประโยชน์จากการทำธุรกิจในแม่น้ำโขง เช่น ผู้ผลิตไฟฟ้า บริษัทเหมาก่อสร้างและดูแลกิจการเขื่อน และนำภาษีดังกล่าวมาเยียวยาให้กับประชาชนใน 7 จังหวัดที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงที่ต้องสูญเสียรายได้และวิถีชีวิต ซึ่งอ้อมบุญระบุว่าลักษณะการดำเนินงานกองทุนเยียวยาที่ภาคประชาชนเสนอ คล้ายกับกองทุนภาษีบาป ที่นำเงินจากการเก็บภาษีสุราและยาสูบมาจัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชน

“เราเสนอให้ทำกองทุนชดเชยเยียวยา คล้ายๆ กองทุนของ สสส. เก็บภาษีจากคนที่ทำลายแม่น้ำโขง หรือบริษัทที่ทำลายแม่น้ำโขง โดยรัฐต้องทำอย่างโปร่งใส ไม่ใช่ให้บริษัทที่รับผิดชอบเขื่อนไปต่อรองกับชาวบ้าน จ่ายเงินชดเชยแล้วขึ้นป้าย ชาวบ้านจะไม่รับเงิน CSR จากบริษัทเด็ดขาด ต้องให้ภาครัฐทำ และทำอย่างโปร่งใส” อ้อมบุญกล่าว

ด้าน เฉวียน กงสิมมา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนครหงส์ อ.ปากชม จ.เลย กล่าวว่า นอกจากเขื่อนไซยะบุรี ยังมีเขื่อนสะนะคามซึ่ง สปป.ลาวกำลังดำเนินการก่อสร้าง หากแล้วเสร็จจะสิ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนริมแม่น้ำโขงในไทยหลายด้าน ทั้งการท่องเที่ยว วิถีชีวิต ประเพณี โดยเฉพาะคนใน อ.เชียงคาน จ.เลย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญ ทั้งยังระบุว่าเขื่อนสะนะคามในฝั่ง สปป.ลาว จะส่งผลกระทบต่อโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูลในภาคอีสานของประเทศไทยรัฐที่ลงทุนไปหลายล้านบาท จึงขอให้รัฐทบทวนความจำเป็นในการซื้อขายและผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนในแม่น้ำโขงก่อนจะดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน

ก่อนหน้านี้ เวลาประมาณ 13.00 น. กลุ่ม คสข. ได้นัดรวมตัวกันบริเวณหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และเข้าร่วมประชุมหารือแนวนโยบายแก้ไขปัญหากับคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน และผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ โดยใช้เวลาหารือนานกว่า 2 ชม.

สำนักข่าววอยซ์ทีวีรายงานว่า เมื่อเสร็จสิ้นการหารือ อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่าจะส่งต่อเนื้อหาของสิ่งที่เครือข่ายฯ เสนอมาไปยังเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้พิจารณาโดยเร็วที่สุด เพื่อช่วยแก้ปัญหาของประชาชน 7 จังหวัดริมแม่น้ำโขงได้ทันท่วงที พร้อมจะผลักดันการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจแม่น้ำโขง เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนให้ประชาชนมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท